ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ

วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ

วัฒนธรรม คืออะไรกันแน่ ?
หรือเข้าใจวัฒนธรรมเพียงแค่รูปแบบที่สืบทอดต่อกันมา !
แล้วเหมารวมเอากิจกรรมในวิถีชีวิตที่เคยชินของสังคมแล้วยกขึ้นมาเป็นวัฒนธรรม เช่น เรื่องการดื่มเหล้า การเล่นพนัน หรือหญิงบริการ ซึ่งถ้าคิดแบบตื้นๆ ใช้นิยามอนุมานเอากับสิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมมนุษย์ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ส่งเสริมความเจริญงอกงามของสังคม ดังนั้น ความโลภ ก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกสังคมเช่นกัน ถ้ายอมรับเรื่องนี้ได้ นิยามความหมายของวัฒนธรรมตามราชบัณฑิตยสถานที่ให้ไว้ว่า “วัฒนธรรม คือ ความเจริญ, ความงอกงาม, สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ” คงใช้ไม่ได้ตามเหตุผลข้างต้น หรืออาจจะใช้ได้กับการเจริญงอกงามในทางลบก็เป็นได้
จะอย่างไรก็ตาม เราคงไม่มาติดกับดักกันแค่เรื่องภาษาวาทกรรม ต้องเรียนรู้ไปให้ถึงความจริงที่ซ่อนอยู่หลังม่านละครชีวิต ทุกฉากการแสดงตั้งแต่เกิดจนตายเราได้เห็นความจริงของกระบวนการจิตเราหรือไม่ สิ่งที่สำคัญของชีวิตคืออะไร ความเจริญงอกงามของชีวิตคืออะไร และสิ่งประเล้าประโลมชีวิตควรมีแค่ไหนอย่างไร เมื่อตอบเรื่องนี้ได้เราก็จะตอบได้ว่าอะไรคือความเจริญงอกงามของเราและหมู่คณะ
หรือเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของคนคิดมาก แค่เรื่องรูปแบบ พิธีการ และพิธีกรรม ก็เป็นเรื่องยุ่งยากจนแทบไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น งานบุญ งานบวช งานแต่ง งานศพ ก็จัดไปตามที่เคยทำมาปรับบ้างตามความสะดวกหรือเพิ่มเรื่องทำมาหากินเข้าไปอีก เช่น เรื่องงานศพที่ไปกันใหญ่จนมีคำพูดต้องฉุกคิดที่ว่า “คนเป็นขายคนตาย” ถ้าลองทบทวนดูจะเห็นว่าวัฒนธรรมประเพณีที่เคยดีงามสร้างความเจริญงอกงามของหมู่คณะได้ย้อนศรพุ่งหัวกับเติบโตอีกทางหนึ่งเสียแล้ว
ส่วนเรื่อง วัฒนธรรมกับการจัดการสุขภาวะ ที่คนใต้กำลังสนใจอยู่นี้ จะส่งเสริมการเรียนรู้เข้าถึงการเจริญงอกงามทางปัญญาเพื่อหลุดพ้นสภาวะทุกข์ได้หรือไม่ ทำอย่างไรให้เป็นการเรียนรู้แบบสากลโลก เรียนรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วของโลกปัจจุบัน แต่โดยสาระสำคัญของการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของท้องถิ่นนั้น รับ ปรับ เปลี่ยน ขยาย อนุรักษ์ สืบสาน ความรู้ ภูมิปัญญาที่จำเป็นต่อการพ้นทุกข์ของท้องถิ่น
ประวัติศาสตร์ภาคใต้มีงานศึกษาและหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่มีอารยธรรมผู้คนอาศัยมายาวนานกว่า ๑๐๐๐ ปี มีผู้คนหลากเผ่าพันธุ์ทั่วโลกเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนตั้งแต่ยุคโบราณ จากความหลากหลายดังกล่าวก่อให้เกิดรากเหง้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมักเกี่ยวเนื่องกับการนำ “สภาวะ” ตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ตามวิสัยที่จะจัดการได้ หรือการนำ “ภาวะ” ที่เกิดจากการกระทำ การเสาะสร้างของคนรุ่นก่อน ๆ มาปรับปรุง ให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีพขั้นพื้นฐานหรือปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยาและการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ แล้วภูมิปัญญาเหล่านั้นค่อย ๆ ต่อยอดเป็นภูมิปัญญาเพื่อจรรโลงจิตใจ เป็นเครื่องประเทืองอารมณ์ ประเทืองปัญญา “ยาไส้ - ยาใจ” ก่อให้เกิดภาวะแห่งความสุข “สร้างสุขตามภาวะ”
บทสรุปจากการศึกษาวัฒนธรรมคนใต้พบว่ามีความหลากหลายทางด้านชีวภาพมีพลวัตและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดส่วนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสุขภาวะ ดังนี้

วัฒนธรรมด้านที่พักอาศัย
ในอดีตชาวภาคใต้จะมีคติในการเลือกสถานที่และบริเวณตั้งบ้านเรือนให้ “แค่บ่อ (น้ำ) แค่ท่า แค่นา แค่วัด” การเข้าใจสภาวะของดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล และความแปรปรวนของธรรมชาติได้หลอมรวมกลายเป็นภูมิปัญญาและคติทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวใต้หลายประการ วัสดุที่นำมาสร้างที่พักอาศัย คือสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น หลังคาและฝามักใช้ใบปาล์ม ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในภาคใต้และต่างกันไปตามท้องที่ องค์ประกอบของบ้านชาวใต้เป็นไปตามประโยชน์การใช้สอยและวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของครอบครัว คติความเชื่อบางประการ มีผลต่อรูปแบบ และองค์ประกอบของที่พักอาศัย เช่น สมัยโบราณ ไม่นิยมปลูกบ้าน 2 ชั้น เพราะวัฒนธรรมการยึดมั่นด้านคารวะธรรม ถือว่าถ้านั่ง นอน ยืน หรือเดิน อยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้อาวุโสเป็นบาป ไม่เป็นสิริมงคล ทำให้เครื่องรางของขลังเสื่อม คติการทำระดับพื้นระเบียงให้ต่ำกว่าระดับพื้นเรือนนอนเผื่อญาติมิตรบุตรหลานมาเยี่ยมเยียนหรือพบปะสนทนาจะได้เลือกนั่งต่างระดับกันตามฐานะและอาวุโส นิยมทำ “เชิง” (ที่เก็บวางของ) ไว้ในห้องนอนเพื่อเก็บของมีค่าและของที่เคารพนับถือไว้ในที่สูงที่ปลอดภัย นิยมทำ “ผลา” (เชิงที่อยู่เหนือเตาไฟ) เพื่อใช้เก็บอาหารแห้งโดยการรมควัน กันความชื้นเชื้อรา ที่ทำให้เน่าบูดเร็ว และกันมดแมลงกัดกิน บ้านชาวใต้โดยทั่วไปมักมี “นอกชาน” หรือชานเรือน เพื่อให้เป็นที่เก็บพักของชั่วคราว ใช้ตากผ้า ตากปลาและพืชผล และสำรองไว้ใช้เก็บพักข้าวของและสัตว์เลี้ยงในฤดูน้ำท่วม ตอนเย็นหรือค่ำคืนก็ใช้เป็นที่พักผ่อนพบปะสนทนากันและใช้ทำงาน
สำหรับบ้านชาวไทยมุสลิม มักต่อเติมติดกันเป็นหลายหลังเพราะมักเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ชาวไทยมุสลิมไม่ตกแต่งบ้านด้วยลวดลายที่เป็นรูปคนหรือสัตว์ เพราะขัดต่อหลักศาสนา แต่นิยมตกแต่งจั่ว ช่องลม ราวบันได ประตู ชานบ้านของไทยมุสลิมนิยมมุงหลังคาเพื่อใช้สอยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น บ้านชาวใต้มักยกพื้นสูง นอกจากกันน้ำท่วมแล้ว ยังใช้ใต้ถุนเป็นที่ทำงาน เช่น จักสาน ทอผ้า เย็บจาก สีข้าว เก็บเครื่องมือที่ใช้ ทำนา ทำสวน เครื่องมือจับสัตว์ เป็นที่เล่นหมากขุม เล่นสะบ้า หรือทำเป็นคอกสัตว์ ทั้งนี้แล้วแต่ระดับ และสภาพของดินใต้ถุนรวมทั้งความจำกัดด้านพื้นที่ของแต่และครอบครัว
แต่อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันนี้วัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัย หรือสถานที่บริการทางสังคมได้เปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ชุมชนชาวใต้ได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งต่าง ๆ พร้อมทั้งการนำความรู้ ความคิด และเทคโนโลยีที่นำสมัยทำให้การจัดหาวัสดุพื้นถิ่นดังที่เคยปฏิบัติในการดำเนินการดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ยังก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาหลายประการ เช่น มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขาดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม

วัฒนธรรมด้านอาหารการกิน
ภูมิประเทศภาคใต้ อากาศค่อนข้างร้อนจัดและลมแรง ทำให้การสูญเสียพลังงานในร่างกายมีสูง จึงต้องบริโภคอาหารเพื่อสร้างพลังงานชดเชย เชื่อกันว่าอาหารที่มีธาตุไฟมากๆ จะให้พลังงานและความร้อนได้มาก ช่วยกระตุ้นการสูบฉีดของหัวใจทำให้เลือดลมเดินสะดวก เหตุนี้ชาวใต้จึงนิยมอาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด และหวานจัด พืชผักที่มีธาตุไฟมากมักมีรสเผ็ด ฝาด และขมเจือปน เช่น สะตอ ลูกเนียง ลูกเหรียง ยอดหมุย ทำมัง ใบมะม่วงหิมพานต์ พาโหม (กระพังโหม) เป็นต้น อาหารแต่ละมื้อของชาวใต้จะต้องการผักเหล่านี้มาก ๆ ถ้ารับประทานคู่กับน้ำพริก เรียกว่า “ผักเหนาะ” หรือ “ผักจุ้ม” ถ้ารับประทานคู่กับอาหารประเภทแกง คั่ว ยำ ที่มีรสเผ็ดเรียกว่า “ผักแกล้ม” สิ่งที่ใช้ผสมในเครื่องแกงเป็นประจำคือ “ขมิ้น” ใช้แก้รสคาว ให้พลัง และเชื่อกันว่าเป็นพญายาที่สามารถป้องกันยาเบื่อ ยาพิษได้ส่วนหนึ่ง ภูมิปัญญาที่จะให้ได้ธาตุอาหารชนิดนี้มาก ๆ โดยตรงก็คือ การนำมาปรุงเป็น “ข้าวยำ” ซึ่งมักใช้ ใบขมิ้น ใบพาโหม ใบยอ ตะไคร้ พริกป่น น้ำบูดูหรือน้ำเคย มะพร้าวคั่ว และผลไม้หรือยอดไม้ที่รสเปรี้ยว ผสมคลุกเคล้ากัน รับประทานข้าวยำอย่างเดียว คล้ายข้าวราดแกง ชาวใต้นิยมทำอาหารแห้ง อาหารเค็มไว้รับประทานในฤดูฝนเพราะอาหารรสเค็มจะให้พลังงานความอบอุ่นเป็นพิเศษ ยิ่งอากาศเย็นยิ่งช่วยให้เจริญอาหาร เช่น ปลาทูเค็ม จิ้งจัง บูดู เป็นต้น ในฤดูแล้งซึ่งอากาศร้อนจัดนิยมรับประทานอาหารหวานจัดในมื้อเที่ยงและเย็น ยิ่งหวานจัดอย่างจุใจชาวบ้านมักจะอุทานหลังรับประทานว่า “หายแสบอก” แสดงว่ายิ่งเสียพลังงานมากจนอ่อนเพลีย อาหารรับประเภทหวานจัดจะบรรเทาได้เร็ว

วัฒนธรรมการบำบัดรักษาโรค
การบำบัดรักษาโรคของชาวภาคใต้ครั้งเมื่อประมาณ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาย้อนไปสู่อดีตนิยมอาศัยแพทย์ แผนไทย โดยใช้ยาพื้นบ้านและหมอกลางบ้าน เช่น การบริบาลครรภ์ การทำคลอด และการบริบาลทารก อาศัยวิธีการของหมอตำแย ถ้าเป็นโรคสามัญ นิยมใช้ยาสมุนไพร ถ้าเส้นเอ็นขัดเคล็ด ใช้วิธีนวดจับเส้น ถ้ากระดูกเคลื่อนหรือหักใช้วิธีจัดเส้นและต่อกระดูกแบบพื้นบ้าน ถ้าเป็นโรคร้ายและเรื้อรัง ใช้หลายหมอหลายขนานยายังไม่มีทางหาย หรือโรคทางจิตมักหันไปพึ่ง เวทมนตร์คาถา การสะเดาะเคราะห์ไล่เหนียด (เสนียด) ไล่ผี ครั้นล่วงถึงประมาณ 4 ทศวรรษเศษต่อมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นโรคสามัญไปจนถึงโรคร้ายแรง นิยมใช้ยาและแพทย์แผนปัจจุบันแต่หากแพทย์แผนปัจจุบันปฏิเสธที่จะรักษาหรือถ้าจะรักษาหมอจะต้องตัดอวัยวะบางส่วน หรือผ่าตัดที่เสี่ยงชีวิต หรือเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนให้พิกลพิการ ผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิดมักย้อนกลับไปเลือกพึ่งแพทย์แผนไทย เพื่อเลี่ยงความทุกข์ทรมานระยะยาว หรือเพื่อต่อความหวังเป็นทางสุดท้าย
วิธีการบำบัดรักษาโรคของหมอกลางบ้านมี 2 ทาง คือ “การใช้องค์ความรู้” และ “การใช้อุบาย” หมอบางรายเน้นทางแรก บางรายเน้นประการหลัง แต่ส่วนมากจะใช้ทั้ง 2 ทาง ผสมกัน การใช้องค์ความรู้ หมายถึง ใช้ตัวยาหรือใช้กายภาพบำบัด อันเป็นภูมิปัญญาที่สะสมสืบทอดกันมาประกอบกับความชำนาญและความสามารถเฉพาะราย ต้องรอบรู้คุณลักษณะและข้อจำกัดของตัวยา ส่วนการใช้อุบาย หมายถึง การใช้หลักธรรม จิตวิทยา หรือใช้มายาการเวทมนตร์คาถาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้หลายอย่างเพื่อจูงใจ ให้ผู้ป่วยศรัทธาเชื่อถืออันจะนำไปสู่การปฏิบัติทางกายและทางจิต เพื่อช่วยเสริมแรงให้การรักษาพยาบาลสมประสงค์ยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมเครื่องนุ่งห่ม
เนื่องจากภาคใต้ตั้งอยู่ในแถบศูนย์สูตรมีผลให้กลางคืนกลางวันและระยะเลาที่ได้รับแสงอาทิตย์เท่ากันเกือบตลอดปี ความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างฤดูไม่แตกต่างกันเด่นชัด ทำให้ชาวใต้ใช้เครื่องแต่งกายในลักษณะเดียวกันตลอดทั้งปี แต่งแบบง่าย ๆ เสื้อผ้าหลวมๆ มีเสื้อผ้าไม่กี่ชิ้น รูปแบบเครื่องนุ่งห่มของชาวภาคใต้ตอนล่างส่วนใหญ่ร่วมลักษณะกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะอยู่ในเขตภูมิอากาศใกล้เคียงกัน วัฒนธรรมแต่งกายมีการปรับปรนผสมผสานสูง ชาวไทยมุสลิมแต่งกายตามศาสนาบัญญัติ (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ,2542) นอกจากนี้ผ้าและเครื่องนุ่งห่มยังเป็นเป็นสื่อภาษาทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมการประเทืองปัญญา
ชุมชนวัฒนธรรมคนใต้ในอดีตได้บริโภคข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่าต่างๆ ของสังคม เพื่อประเทืองปัญญา ส่วนใหญ่จะบริโภคจากแหล่งต่าง ๆ หลายแหล่ง ที่สำคัญ เช่น บ้าน วัด ศิลปินพื้นบ้าน เป็นต้น โดยบ้านเป็นแหล่งแรกที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ให้องค์ความรู้และระบบคุณค่าแก่สมาชิกในครอบครัว โดยส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันทั้งปู่ย่า ตายาน พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน เมื่อกระทำกิจกรรมใดๆ ก็ร่วมกันทำ และทุกๆ คนมักจะอยู่พร้อมพร้อมตากัน ได้พบกันทุกวันโดยเฉพาะเมื่อจะรับประทานอาหารร่วมกัน วัตรปฏิบัติของแต่ละคน สิ่งที่มาประเทืองปัญญา เช่น การอบรมสั่งสอนผ่านการเล่านิทาน ปริศนาคำทาย คำพังเพย เพลงกล่อมเด็ก เพลงเด็กและการเล่นของเด็ก ซึ่งจะเป็นตาหนาด้วยการสื่อสารจากวาจาและท่าทางกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา นอกจากนั้นการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนให้สอดคล้องกับระบบคุณค่าของสังคมที่มีหลักยึด ง่ายๆ ว่า “ความเป็นคนดี เป็นเกียรติภูมิอันสูงสุด” คือ คนที่ประพฤติตนเป็นตาหนาที่ดี สมฐานะ เพศวัย แล้ว “บ้าน” จะเป็นแหล่งบริโภคข้อมูลองค์ความรู้และระบบคุณค่าเพื่อประเทืองปัญญาของสมาชิกในครอบครัว
วัด เป็นแหล่งสำคัญ แหล่งที่สองที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่าการประเทืองปัญญาแก่ชุมชน ปฏิสัมพันธ์ที่วัดมีให้แก่ชุมชนชาวใต้ เริ่มตั้งแต่การที่บิณฑบาตรทุกๆ เช้า เทศนาทุกวันพระ จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณค่าและความหมายประเพณีและพิธีกรรมตามเทศกาล และถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ผู้คนทุก ๆ ระดับที่เข้าวัด เช่น การสวดมนต์ การสวดพระมาลัย คำกลอน วรรณกรรมคำสอน เพื่อประเทืองปัญญาองค์ความรู้และระบบคุณค่าโดยกลั่นกรองมาอย่างดีจากพุทธศาสนา ส่วนชาวใต้ที่เป็นมุสลิม ก็ได้รับข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้เพื่อประเทืองปัญญาจากมัสยิดโดยผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติศาสนกิจ มุสลิมมีโอกาสเข้าถึงหลักธรรมคำสอน โดยการละหมาดทุกวันห้าเวลา แล้วยังมีทุกวันศุกร์ที่จะต้องละหมาดใหญ่ในแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นวัด มัสยิด และโบสถ์ของศาสนคริสต์ เป็นสถานที่ประเทืองปัญญาให้กับชาวภาคใต้ในอดีตเป็นอย่างดี
ศิลปินพื้นบ้าน หนังตะลุง โนรา เพลงบอก เพลงเรือ ลีเกฮูลู เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในชุมชนชาวภาคใต้ ผู้คนในชุมชนได้บริโภคข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่าต่างๆ จากศิลปินเหล่านี้ปีละหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในงานที่จัดขึ้นตามประเพณีเทศกาลต่างๆ พิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาหรืองานมงคลของปัจเจกชนที่เจ้าภาพค่อนข้างฐานะดี (หนังล้อมสะกำ,2541) ศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้ให้ทั้งความบันเทิงใจ สาระความรู้และคติธรรม หรือระบบคุณค่าทางสังคมแก่ผู้ชม ตามทำนองท้องเรื่อง ซึ่งศิลปินหนังตะลุง โนรา เพลงบอกรุ่นเก่า ๆ จะเน้นความบันเทิงที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมนั้น ๆ ข่าวสาร องค์ความรู้ และระบบคุณค่า เพื่อประเทืองปัญญาที่ชุมชนชาวใต้ได้บริโภคจากศิลปินพื้นบ้าน จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าเป็นสื่อที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาภูมิปัญญา ภูมิธรรมและอารมณ์สุนทรีย์ของผู้คนชาวใต้เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าผู้คนของชุมชนชาวใต้ที่นับถือศาสนาพุทธบริโภคข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่า จากศิลปินพื้นบ้านมากกว่าจากวัด ดังมีถ้อยคำสำนวนที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่ว่า “กลองหนัง กลองโนรา ดังหวากลองวัด”

ปัจจุบันผู้คนดิ้นรนหาทางพ้นทุกข์ เรียนรู้ลองผิดลองถูกกันไปเรื่อย แต่ถ้าจับหลักไม่ดี อาจเหนื่อยเปล่า หาทั้งชีวิตก็หาไม่เจอ ถ้าจะเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมประเพณีจารีตปฏิบัติของท้องถิ่นก็ต้องหาหลักให้เจอ หลักคิด หลักปฏิบัติ รูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมให้เจริญสติและปัญญา พิจารณาด้วยกาลามสูตรในการเรียนรู้กิจกรรมชีวิตทุกขั้นตอน อย่าเชื่อเพราะมีการสืบต่อกันมาหรือผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์สั่งสอน จนกว่าที่จะพิจารณาด้วยปัญญาเห็นแล้วว่าเป็นจริงเช่นนั้น และเมื่อวัฒนธรรมท้องถิ่นใดได้ผ่านการตรวจสอบเรียนรู้ด้วยปัญญา จะทำให้ท้องถิ่นนั้นมีความสงบสุขที่แท้จริง หรือจะเรียกว่ามีอารยธรรมก็ย่อมได้

เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ สิงบัน
จัดพิมพ์เผยแพร่ ในหนังสือ “สุขสร้างได้ด้วยปัญญา” งานสร้างสุขภาคใต้ ๒๕๕๒
ปรับปรุง กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever