ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข” งานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑-๒๕๕๒

“ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข”
งานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑-๒๕๕๒
วันที่ ๒๕ – ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์และสวนสาธารณะเพชบุระ
จังหวัดเพชรบูรณ์


งานสร้างสุขภาคเหนือที่หลายฝ่ายร่วมกันทุ่มเทกำลังจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มาคราวนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ มีความอลังการงานสร้างกับการจัดแสดงนิทรรทัศการนวัตกรรมสร้างสุขกว่า ๖๐ บูท และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมครบเครื่องตลอดงาน ส่วนในด้านเนื้อหาวิชาการทั้งเอกสารและสิ่งนำเสนออื่นประกอบงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยมา ถึงแม้จะมีหลายอย่างที่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ในเชิงกระบวนการที่มีทีมวิชาการจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรมาเป็นหลักชัดเจน และพยายามพัฒนาให้เป็นกลไกวิชาการของภาคคอยหนุนเสริมงานด้านนี้ โดยนักวิชาการอีกหลายมหาวิทยลัยและสถาบันการศึกษาในภาคเหนือมีกำลังและความสามารถเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นทีมวิชาการที่เข้มแข็งและสร้างผลงานทางวิชาการประกอบงานสร้างสุขอย่างยิ่งใหญ่ได้ในงานสร้างสุขครั้งหน้าที่จังหวัดเชียงรายต่อไป
และเมื่อพิจารณาจุดเด่นของการจัดงานสร้างสุขภาคเหนือกับสองครั้งแรก โดยครั้งที่หนึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกเด่นในเรื่องวัฒนธรรมสายน้ำ ภูมิปัญญาที่ล้ำค่า ครั้งที่สองที่จังหวัดแพร่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมขับเคลื่อนจริงจัง จนน่าเอาเป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่อง ส่วนครั้งที่สามนี้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเจ้าภาพที่จัดงานในรูปแบบมหหรรมกึ่งวิชาการ ภายในงานมีนิทรรศการกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ นวัตกรรมสร้างสุขที่รวบรวมจากเครือข่าย ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ กว่า ๖๐ นวัตกรรม และนำเสนอข้อมูลทางวิชาการนโยบายสาธารณะในหลายประเด็น
งานสร้างสุขภาคเหนือครั้งนี้จุดเด่นของงานก็มีมาก จุดด้อยก็มีให้พบเป็นบทเรียนเพื่อการแก้ไขในครั้งต่อไป และในฐานะที่ภาคเหนือจัดขึ้นเป็นภาคแรกของประเทศ บทเรียนของภาคเหนือจึงเป็นครูให้กับการจัดงานของภาคอื่น อย่างกรณีของภาคอีสานที่เตรียมจะจัดต่อจากภาคเหนือ ได้ส่งทีมคณะทำงานมาร่วมสังเกตการณ์ ศึกษาบทเรียนของภาคเหนือและมีรายงานในที่ประชุมเตรียมงานสร้างสุขภาคอีสาน บอกจึงจุดอ่อนที่ควรปรับ และจุดเด่นที่น่าเอาอย่างหลายเรื่อง และอีกส่วนหนึ่งได้รับการสังเกตการณ์จากทีมงานสนับสนุนงานสร้างสุข ๔ ภาค โดยได้สรุปรายงานการเตรียมการและผลการจัดงานส่งให้กับคณะทำงานของทุกภาคอย่างรวดเร็วทันท่วงที
ดังนั้นเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จึงเป็นเสมือนต้นแบบของงานสร้างสุข ๔ ภาค ในปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ จึงควรพิจารณาด้วยสายตาที่เป็นธรรม เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงหลายเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่องานสร้างสุขในครั้งนี้ ตามความรับผิดชอบร่วมกันในแต่ละดับของทุกฝ่าย ไม่ใช่จากความรับผิดชอบของภาคเหนือเพียงฝ่ายเดียว การที่ภาคเหนือต้องจัดงานก่อนภาคอื่นก็เป็นการขาดโอกาสเรียนรู้และปรับตัวส่วนหนึ่ง และความรับผิดชอบต่อการจัดงานก็ส่วนหนึ่ง การที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันที่อยากเห็นงานสร้างสุข ๔ ภาค เป็นวาระของภาค มีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้น เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะเป็นจริงได้ขนาดไหนขึ้นกับประสบการณ์และการเรียนรู้ของคนในภาค จากการที่เคยจัดงานต่อเนื่องมาถึงสามครั้งคณะทำงานของภาคเหนือก็น่าจะได้บทเรียนที่เหมาะสมกับตนเองระดับหนึ่ง
ส่วนบทเรียนในครั้งนี้ ได้ถูกถ่ายทอดถึงความตั้งใจและเป้าหมายในการจัดงานโดย นายสุรพงษ์ พรมเท้า ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์และผู้ประสานงานโครงการสร้างสุขภาคเหนือ เล่าให้ฟังว่า การจัดงานภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมสุขภาพบนฐานวัฒนธรรมภาคเหนือเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน” นั้น มีเหตุจากสภาพสิ่งแวดล้อมของภาคเหนือที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ อาทิ ไฟป่า ควันไฟ ฝุ่นละออง และอาจนำไปสู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด
ด้วยเป้าหมายในการจัดงาน ๔ ประการ คือ ๑.เพื่อเป็นการพัฒนากลไกการเสริมสร้างวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเสริมสร้างในระดับภาคเหนือและระดับจังหวัด ๒.จัดระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขในภาคเหนือ ๓.จัดทำบทเรียน ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมงานสร้างสุข และ ๔.เพื่อจัดทำวาระสร้างสุขภาคเหนือ
และงานนี้ยังใช้สโลแกนในการจัดงานว่า “ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข” หมายถึง การรวมพลังในการสร้างความสุข โดยมีสัญลักษณ์เป็น หนุ่มน้อยนครบาล ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม และมีความสุข บ่งบอกให้รู้ว่าคนเมืองเหนือ เป็นเมืองแห่งความสุข....

งานนี้เปิดฉากได้อย่างอลังการ เริ่มตั้งแต่ วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๐๐ น. ด้วยขบวนจักรยานสร้างสุข กว่า ๑๐๐ คัน ที่สตาร์ทออกจากจุดนัดหมายบริเวณโรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ ไปสมทบกับขบวนพาเหรดรณรงค์สร้างสุข ที่มีทั้งวงโยธวาทิต รถแห่ประชาสัมพันธ์งาน พร้อมกำลังพลทหารบก จำนวน ๒๐๐ คน กองพลทหารม้าที่ ๑ จำนวน ๕๐๐ คน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจจาก ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ ร่วมแรงร่วมใจกันเดินขบวนแจกจ่ายความสุขให้คละคลุ้งไปทั่วทุกพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มุ่งหน้าสู่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ด้วยความคึกครื้น ที่มีขบวนแห่รำแขบลานรอรับ พร้อมการแสดงเพลงฉ่อย เล่านิทานและละครคุณธรรม จากชาวบ้านและนักเรียน ต.สะเดียง สร้างความตืนตาตื่นใจให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี
เมื่อได้เวลา ๑๘.๐๐ น. พิธีเปิดงานสร้างสุขภาคเหนือ ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ จึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ประธานในพิธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวเปิดงาน แสดงความยินดีที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานและกล่าวต้อนรับเครือข่ายที่มาร่วมเรียนรู้สร้างสุขในครั้งนี้ พร้อมเดินชมบูทนวัตกรรมสร้างสุขจาก ๑๗ จังหวัดภาคเหนือที่นำมาแสดง

“ผมเดินลงจากรถแล้วตรงเข้างานซึ่งเป็นช่วงพิธีเปิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นประธานในงานกำลังกล่าวเปิดงานสร้างสุขภาคเหนือ มีคนร่วมงานราว ๘๐ – ๑๐๐ คน โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกับนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์นั่งอยู่กับคุณสุรพงษ์เท่านั้น จึงเห็นว่าควรออกไปมีส่วนเกรงว่าจะหงอยเกินไป และได้แสดงตัวว่าเป็นหมอ สสส.ให้มาช่วยประสานจึงมาเป็นกำลังใจ พอได้คุยกับทั้งสามท่านเป็นสีสันแล้วก็ติดขบวนร่วมเดินชมนิทรรศการกับคณะอีกครู่หนึ่ง พบตามซุ้มนิทรรศการหลายซุ้มกำลังสาวลจัดแจงแสดงป้ายกันอยู่ ทั้งหมดกว่า ๖๐ ซุ้ม มีคนเดินตามซุ้มบ้างสี่สิบห้าสิบคน วันต่อมาได้พบผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านแวะมาเยี่ยมงาน ได้ฝากบอก สสส.ว่างานระดับภาคเช่นนี้ ท่านเห็นว่า สสส.ควรมีผู้ใหญ่มาร่วมด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้จัดกันเอง เปิดกันเองอย่างนี้ เพื่อให้คนในภาคทุกภาคส่วนได้เห็นว่าเป็นงานที่สำคัญ สสส.ก็ให้ความสำคัญ เรื่องนี้ก็นับว่าน่านำไปคิดทั้งในฝ่ายจัดงานทั้งจังหวัดเจ้าภาพ ภาคีภาค และ สสส.เอง” นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สสส. เล่าบรรยากาศงานในช่วงพิธีเปิด

เมื่อเสร็จพิธีเปิด คณะผู้จัดงานก็เชิญชวนเข้าชมหนังสั้นในรอบสื่อมวลชน ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน (ค.อสช.) เขียนบทถ่ายทำเป็นหนังสั้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ทั้งหมดมี ๔ เรื่อง ๓ เรื่องแรก สะท้อนความสุขในแง่มุมของเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นการฉายภาพชีวิตวัยรุ่น มุมมองความรัก สังคม และค่านิยม อีกเรื่องเป็นการสะท้อนประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนผ่านเรื่องขยะ ด้วยการประชาสัมพันธ์เชิญชวน และเห็นว่าเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ดี จึงมีคนเข้าไปชมและให้กำลังใจมากเต็มห้อง อีกส่วนหนึ่งเป็นกองเชียร์ดาราจำเป็นทั้งกลุ่มเพื่อนๆ และญาติมิตรพี่น้อง ทำให้เต็มไปด้วยเสียงเกรียวกราวสร้างความสุขเล็กๆให้กับเครือข่ายเพชรบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ถึงจะมีมุมมองแบบเด็กเยาวชน ผ่านเรื่องที่ผู้ใหญ่หลายคนดูแล้วเข้าใจยาก แต่ถ้ามีการพัฒนาเชิงเรื่องราวและสิ่งที่ต้องการนำเสนอให้มากกว่านี้ จะทำให้งานสร้างสุขภาคเหนือมีสีสันและได้เนื้อหาเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นแน่

....เปิดฉากความสุขกันวันที่สอง ๒๖ ก.พ. ๕๒ ด้วยการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอนสร้างสุข เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ พร้อมกับนำทัพการแสดงวัฒนธรรมสร้างสุขภาคเหนือที่หลากหลาย อาทิ การแสดงพิณไทย การแสดงรำมวยจีน การแสดงภาษามือ การแสดงมวยไทยโบราณ การแสดงตุ๊บเก่ง การแสดงฟันดาบ และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ด้านเวทีวิชาการมีละครเด็กเล็กสาวกันตรึมแสดงเรียกความสนใจเชิญชวนคนเข้าห้องประชุม จนต้องเสริมที่นั่งและยืนอัดกันแน่นในห้องที่จุคนราวๆ ๒๐๐ กว่าคน ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมื่อถึงเวลาพิธีเปิดเวทีวิชาการ ก็เริ่มกล่าวรายงาน โดย หัวหน้าฝ่ายพยาบาล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ ผู้แทนสภาพยาบาล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่อง “การสร้างสุขภาวะ” ที่เน้นไปที่ประเด็นพยาบาลกับการสร้างสุขนั้น ทำให้ประเด็นนำเสนอแคบและเฉพาะกลุ่มมาก จนเหมือนเป็นงานพยาบาลเท่านั้น ทำให้เป็นที่น่าเสียดายเหมือนไม่ใช่งานสร้างสุขภาค ไม่มีการนำเสนอประเด็นสุขทุกข์ของภาคเพื่อการพิจารณาร่วมกัน นอกจากนั้นยังกินเวลาจนภาคต่อที่เป็นการเสวนาเรื่อง จะสร้างสุขภาวะอย่างไร ที่วิทยากรหลายคนแต่เวลาน้อยและต้องแบ่งให้พูดเพื่อออกอากาศถ่ายทอดสดคนละสั้น ๆ จึงไม่ได้ประเด็นอะไรสักเท่าไร และที่เป็นที่น่าสังเกตมากคือวิทยากรเกือบทั้งหมดเป็นของเพชรบูรณ์ จึงกลายเป็นเวทีเรื่องของเพชรบูรณ์ค่อนข้างมาก ต่างคนต่างเสนอประเด็นกรณีศึกษาข้อเสนอของตนเอง ไม่เห็นเป็นเรื่องร่วมหรือวาระของภาค

พอเที่ยงวันจบการเสวนาในเวทีกลางก็แยกย้ายไปรับประทานอาหารเที่ยง โดยใช้คูปองที่ได้รับแจกพร้อมกับย่ามเอกสารประกอบงานสร้างสุขไปแลกที่ร้านอาหารในงานมีราว ๑๐ กว่าร้าน นั่งกินพลางก็ดูเอกสารในย่ามไปพลาง เพื่อเตรียมตัวไปเรียนรู้ในประเด็นห้องย่อยอีก ๔ ห้อง ในช่วงบ่ายนี้
เอกสารในย่ามทั้งหมดประกอบด้วย สูจิบัตรงานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ จัดทำเป็นเอกสารหนังสือเล่ม หน้าปกสีเขียวมีภาพเสก็ตสัญลักษณ์งานคือ หนุ่มน้อยนครบาล ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม และมีความสุข มีโลโก้ของงานสร้างสุขภาคเหนือ และโลโก้ของภาคีสนับสนุน ประกอบด้วย สสส. สช. สปสช. องค์การเรียนรู้ภาคประชาสังคม จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ กองทัพบก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเล่มประกอบด้วย บทเกริ่นนำของนายสุรพงษ์ พรหมเท้า ที่ชี้แจงวิสัยทัศน์งานสร้างสุขตามหลักคิด สสส. และการแสดงความยินดีในฐานะการเป็นเจ้าภาพนำเสนอจุดแข็งของจังหวัดและเชิญร่วมงานสร้างสุขครั้งนี้ แต่ไม่ได้ชี้ความเป็นมาของงานสร้างสุขภาคเหนือ เป้าหมายร่วม และสิ่งที่ต้องเรียนรู้ค้นหาร่วมกัน ส่วนเนื้อหากำหนดการมีความละเอียดระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์คือเรื่องของแผนที่ห้องประชุมย่อย และสิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือ วิธีปฏิบัติตนในการร่วมงานสร้างสุขครั้งนี้ และข้อชี้แนะต่างๆ ในการร่วมเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์นี้ ซึ่งจะเสริมประโยชน์ของสูจิบัติได้อีก
เอกสารข้อมูล ๖๐ กรณีพื้นที่ต้นแบบ โดยคณะทำงานวิชาการสร้างสุขภาคเหนือ ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ จัดทำเป็นรูปเล่มขนาดเอ ๔ ความหนา ๕๒๒ หน้า จัดพิมพ์แบบก๊อปปี้พริ้น หน้าปกสี่สี เนื้อหาแบ่งเป็นกรณีศึกษาตามจังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก จังหวัดละ ๓ กรณีศึกษา พะเยา แพร่ จังหวัดละ ๔ กรณี เชียงใหม่ ๑ เชียงราย ๗ พิษณุโลก ๖ กำแพงเชร อุทัยธานี พิจิตร จังหวัดละ ๒ กรณี ส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ๑๑ กรณีศึกษา และมีเอกสารสรุปการถอดบทเรียนกรณีศึกษากิจกรรมการสร้างสุขจากเล่มใหญ่ ที่พิมพ์เป็นรูปเล่มเล็กสวยงามอย่างดี เนื้อหาประกอบด้วย ข้อมูลโดยสังเขป และบทเรียนที่ได้รับในแต่ละกรณี ถือได้ว่าเป็นคู่มือเพื่อการศึกษาเอกสารบทเรียนเล่มใหญ่อย่างเยี่ยมยอด
เอกสารรายงานสถานการณ์สุขทุกข์ของคนเหนือ ปีนี้นำเสนอว่าด้วย ๑๐ สถานการณ์โรคภัยที่คุกคามคนภาคเหนือ ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดย ดร.สมตระกูล ราศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก และทีมคณะ พบว่า อหิวาตกโรคเป็นภัยคุกคามที่กลับมาใหม่, ไข้หวัดนก, มาลาเรีย...เดือดที่ชายแดน, โรคมือ เท้า ปาก ภัยของเด็กที่ป้องกันได้ แต่รักษาไม่ได้, ไข้เลือด...ภัยที่มาจากโลกร้อนและพฤติกรรมของมนุษย์, โรคฉีหนู, โรคบิด...อิทธิพลโลกร้อน, ไรป่าหรือสครับไทฟัสเป็นความสุขหรือความทุกข์จากการท่องเที่ยวแบบผจญภัย, ผัก...ก็เป็นภัยต่อชีวิต, สารเคมีกำจัดศรัตรูพืช
เอกสารสุขภาวะของคนเหนือกับ...ภาวะโลกร้อน วัฒนธรรมและการสร้างเสริมสุขภาพ จัดพิมพ์อย่างดีหน้าปกสีเขียวอ่อนเป็นซีรี่เดียวกันทั้งงาน ความหนา ๔๐ หน้า เป็นการให้ข้อมูลเรื่องภาวะโลกร้อน และเป็นการอธิบายให้เข้าใจสังคมและวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของคนเหนือกับการสร้างสุขอย่างน่าสนใจ พบว่า สังคมภาคเหนือมีที่มาจากกลุ่ม ๓ อารยธรรมหลัก คือ อารยธรรมล้านนา ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและเชียรายบางส่วน มีรากฐานมากจากไทใหญ่ มอญ พยู ศรีเกษตร เป็นต้น
อีกเล่มเป็นวารสารเรื่อง “บทเรียนการทำงาน...สร้างสุข” โดย รศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ภักดีวงศ์ ว่าด้วยอะไรคือบทเรียนและการถอดบทเรียน เสนอไว้อย่างได้ใจความว่า บทเรียน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการปฏิบัติ และเป็นเครื่องเตือนสติว่า “สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ” ในอันที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของกระบวนการทำงานในคราวต่อๆ ไป บทเรียนจึงมีอยู่และซ่อนไว้ในทุกอิริยาบถของการกระทำ การถอดบทเรียน จึงควรพิจารณาถึงการกระทำหรือผลของการกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางบวกและทางลบ ว่า “อะไรสำคัญที่สุด” “อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง” “ความแตกต่างนั้นก็ให้เกิดพฤติกรรมอย่างไร” ความสำคัญของบทเรียนคือการเป็น “ทางลัด” ทำให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จด้วยเวลาที่ย่นย่อลง
ดังนั้นเอกสารวิชาการประกอบงานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ จึงเพรียบพร้อมทั้งบทเรียนกรณีศึกษา สถานการณ์สุขทุกข์ของภาค และหลักคิดสำหรับการมาร่วมเรียนรู้เรื่องบทเรียนในงานสร้างสุขครั้งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายในกระบวนการเวทีกลางไม่สามารถนำเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอเป็นหลักคิด หลักวิชาประกอบงานสร้างสุขครั้งนี้ได้

พอถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายไปเรียนรู้ในห้องประชุมประเด็นย่อยตามที่สนใจหรือที่แต่ละภาคีเกี่ยวข้อง หลายคนก็ไปไม่ถูกไม่รู้ว่าแต่ละห้องอยู่ที่ไหน เมื่อดูในสูจิบัตรกำหนดการงานสร้างสุขภาคเหนือ เพียงแค่บอกว่า ๒ ห้องแรก คือ ประเด็น เด็กเยาวชน ผู้สูงอายุและครอบครัว และประเด็นเกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย จัดที่ห้องประชุมเทศบาล แผนที่ก็ไม่มี มาทราบจากการถามผู้จัดงานว่าอยู่ห่างจากสถานที่จัดงานทางทิศเหนือราว ๓๐๐ เมตร
เวทีประเด็น เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและครอบครัว เริ่มด้วยการนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาของ Child Watch ซึ่งใช้เวลานำเสนอและข้อมูลละเอียดยิบจนคนหมดกำลังฟัง ในขณะที่คนร่วมก็แบบเดียวกับห้องอื่น ๆ คือ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก และมีจำนวนน้อยจนดูเหงียบเหงา
เวทีประเด็น เกตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย เหมือนใช้วิธีวิทยากรคนเดียวเตรียมมานำเสนอประเด็นปัญหาและข้อชวนพิจารณาหาข้อเสนอซึ่งมีปัญหาเหมือนทุกห้องคือคนเข้าร่วมน้อยมาก ๆ เป็นภาคีคนสนใจหาคำตอบจริง ๆ น่าจะราว ๆ ๒๐ คน นอกนั้นเป็นคนที่เข้ามานั่งฟัง กับนักเรียนนักศึกษาที่ครูพามาบ้าง อาจารย์ให้มาทำรายงานบ้าง รวมทั้งที่เจ้างานให้มาเป็นหน่วยประสานจัดการ บริการ และสำรวจประเมินผล
ส่วนประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การจัดการลุ่มน้ำ ก็ต้องเดินเลี้ยวเลาะหลบมุมไปจัดอยู่ที่ห้องประชุมชาญอนุสรณ์ สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ที่อยู่คนละฟากของงานกับ ๒ ประเด็นแรก ซึ่งห้องนี้เตรียมมาเป็นกระบวนอย่างดี มีการศึกษาเตรียมการทั้งกรณีศึกษา ข้อเสนอและข้อชวนพิจารณาเพื่อขับเคลื่อน แต่เวทีใช้เวลาในการรอคนอยู่นาน แล้วเกือบหมดเวลากับการนำเสนอกรณีศึกษา ซึ่งมีการเสนออย่างเป็นระบบ มีทิศทาง น่าจะได้ข้อเสนอที่ดีถ้ามีผู้เข้าร่วมที่ตั้งใจมาหาคำตอบร่วมกันมากพอ
ประเด็นที่ ๔ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ เรื่อง แพทย์พื้นบ้านและแผนไทย ก็จัดในห้องประชุมกลางที่ใช้ในพิธีเปิด ทั้ง ๆ ที่มีเอกสารกรณีศึกษาที่อยู่ในเอกสารอย่างดี แต่ไม่ได้นำมาใช้ กลับเปิดเป็นเวทีนำอภิปรายเสนอของแต่ละกรณีซึ่งมากกรณีจนหมดเวลา พอแบ่งกลุ่มย่อยคนก็หายหมด
และถ้าใครอยากจะไปสังเกตการณ์ให้ครบทุกห้องต้องใช้รถเป็นพาหนะเดินทางเท่านั้น ขืนมัวแต่เดินอยู่กว่าจะไปถึงห้องสุดท้ายคงเลิกงานพอดี นี่ก็ทำให้เป็นจุดอ่อนอย่างมากที่ทำให้ผู้เข้าร่วมในแต่ละห้องไม่มากเท่าที่ควร
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าทั้ง ๔ ห้องที่ทางงานตั้งใจให้เป็นเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะ วาระสร้างสุขของภาคนั้นอาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เข้าใจว่าไม่ได้มีการประสานขับเคลื่อนจัดเตรียมประเด็นอย่างเพียงพอ นอกจากนี้การนำคนมาร่วมงานจากจังหวัด ภาคีต่าง ๆ ก็เหมือนไม่ได้มีการซักซ้อมเพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าคนหายไปไหนหมด มีหลายคนเป็น อสม.บ้าง ภาคีบ้าง บอกว่ามาอย่างไม่ค่อยรู้หรือเตรียมตัวอะไร หลายคนบอกว่าเสียดายไม่ได้เตรียมมา หลายคนบอกว่ามาก็มานั่งฟัง ๆ ดู ส่วนปัญหาเรื่องห้องประชุมอยู่กระจายห่างจากบริเวณงานนั้น แม้จะเป็นปัญหาบ้าง แต่ถ้ามีการเตรียมมาอย่างตั้งใจ เชื่อว่าน่าจะได้อะไรมากกว่านี้

พอกลางคืนมีงานเลี้ยงพาแลงที่สวนเพชรบุระ นายแพทย์ สสจ.มาเป็นประธาน เน้นการแสดงวัฒนธรรมบนเวที และนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ที่ต้องตกฐานะเป็นตัวแทน สสส. ได้แนะและชื่นชมการจัดงานไป ๓ เรื่อง คือ ๑) เพชรบุระ เมืองพืชพันธ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ๒) ศิลาจารึกพันปีหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่ระบุถึงการสร้างสุข และ ๓) กรณีนายบรรพตคนได้รับแรงบันดาลใจจนเลิกเหล้าได้ พร้อมกับบอกไปว่า สสส.เป็นองค์กรบริการสร้างสุข หากเห็นเป็นประโยชน์ก็ให้ใช้ เช่น ปีหน้าถ้ายืนยันจะจัดงานกันต่อ ๆ ไป ก็ไม่ต้องรอช้า รีบคิดเขียนและเสนอโครงการเข้าไปเลยเพื่อจัดต่อ

วันที่ ๒๗ ก.พ. ๕๒ วันสุดท้ายของงาน ช่วงเช้าแบ่งเป็น ๒ ห้องย่อยที่กำหนดว่าจะเป็นวาระสำคัญของภาคเหนือ ถือเป็นเวทีนโยบายสาธารณะที่น่าจะสำคัญกว่าวานนี้ เพราะห้องหนึ่งนั้นว่าด้วยธรรมนูญสุขภาพของคนเหนือ กับอีกห้องว่าด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ปรากฏว่าทั้งสองห้องไม่เป็นไปตามคาดเพราะคนเข้าร่วมน้อยมาก ๆ ห้องที่สองนั้น จวนจะสิบโมงยังมีเพียง ๑๐ คน รวมวิทยากรและคนประสานดำเนินการและบริการห้อง ในขณะที่ห้องแรกที่น่าจะสำคัญมาก ดร.สุรศักดิ์ จาก สช.มาดำเนินการเอง ก็ประมาณกัน มีคนเข้าร่วมจริง ๆ ไม่น่าจะถึง ๒๐ – ๓๐ คน นอกนั้นเป็นเด็กนักเรียนเล็ก ๆ ที่ครูพามา ไม่ว่าจะพลิกแพลงดำเนินการอย่างไร ซึ่งเห็นว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะรอบนี้ไม่น่าจะนับได้ว่าเป็นแล้ว แต่ก็นับถือคนดำเนินรายการที่รับผิดชอบดำเนินการตามกำหนดและแผนจนจบได้

สำหรับพิธีปิดตอนบ่าย เดิมในที่ประชุมเตรียมงานเคยบอกจะเป็นการประกาศนโยบายท้องถิ่นสร้างสุขของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะนำ อปท.มาร่วมประกาศ แต่พอถึงวันงานได้รับแจ้งว่าจะมีการลงนาม MOU ของ สช.กับ จ.เพชรบูรณ์เรื่องกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด นพ.บัญชาจึงได้ถามในเวทีประชุม After Action Review ของคณะทำงานว่า เรื่องเดิมยังมีไหม รวมทั้งการส่งมอบข้อเสนอจากที่ประชุมแก่ตัวแทนจังหวัดต่าง ๆ ด้วย ก็ได้รับการตอบว่ายังมีเหมือนเดิมทั้ง ๓ อย่าง โดยเรื่อง MOU ของ สช.กับเพชรบูรณ์นั้นก็ได้เตรียมการมาแล้ว งานนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขา สช.มาเอง พิธีกรรมจึงเริ่มด้วยการชมวิดีทัศน์เรื่องของ สช. แล้วเชิญ ปลัดจังหวัดขึ้นกล่าว ต่อด้วย นพ.อำพล ซึ่งก็ได้ให้เกียรติแก่ สสส.ด้วยการเอ่ยถึงและบอกว่า นพ.บัญชา พงษ์พานิช ก็มาในฐานตัวแทน กก.แผน. ของ สสส.หลังจากเห็นว่าไม่มีผู้แทนของ สสส.ในงาน กรณีเช่นนี้ สสส.ควรจะต้องใคร่ครวญให้มาก และต้องไม่มองว่า สช.มาแทรก แต่ต้องมองว่า ดีที่ สช.กรุณามาเสริมให้งานดีขึ้น ไม่เช่นนั้นงานนี้จะไม่มีอะไรเลยอย่างที่ท่านผู้ว่าบอกไว้ มิหนำซ้ำ สช.ยังไม่มาเปล่าๆ ยังเอางานเกี่ยวกับการสร้างสุขมาลงนามเป็นพันธสัญญากับเมืองเจ้าภาพเพชรบูรณ์ด้วย แม้กระบวนการลงนามจะยาวไปสักหน่อยด้วยการมีตัวแทนทางการและท้องถิ่นมาร่วมมากโดยมีข้อสังเกตว่าไม่มีภาคีภาคประชาชนและประชาสังคม องค์กรเอกชนเลย หลังจากนั้นสีสันภาคเหนือที่เด่นมาตลอดคือการวัฒนธรรมประกอบการส่งมอบธงเจ้าภาพให้เชียงรายที่มีสีสันเร้าใจ ทราบว่าจะจัดกัน พย.นี้แน่นอน ตอนท้ายเป็นพิธีปิดที่คุณสุรพงษ์กล่าวรายงานข้อเสนอจากทั้ง ๖ ห้องประเด็น ค่อนข้างยาว แล้วประธานในพิธีที่ทางคณะทำงานภาคขอพลเอกศิริ ทิวะพันธ์มาเป็นประธานกล่าวปิดและส่งมอบข้อสรุปเสนอให้กับตัวแทนแต่ละจังหวัดเป็นการจบพิธี โดยผู้ที่มาร่วมลงนามตอนต้นทยอยกลับกันก่อนเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเพราะรายการยาวเกินไป ส่วนรายการประกาศนโยบายท้องถิ่นสร้างสุขของเพชรบูรณ์นั้นหายไปไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด

แต่ถ้าพิจารณาโดยภาพรวมงานสร้างสุขอของภาคเหนือในปีนี้ ถือได้ว่ามีวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีความเด่น และเป็นเอกลักษณ์ มีความสวยงามอบอวลไปทั่วลุ่มน้ำ และในงานสร้างสุขเอง ผู้จัดงานก็ได้ทำการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแบบตั้งร้าน ให้กลายเป็นลานวัฒนธรรมที่มีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ ๔ ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากงานสร้างสุขที่ จ.แพร่ ที่สำคัญ คือ ข้อเรียนรู้จากบทเรียนการทำงานด้านสร้างสุขภาวะ ในพื้นที่ภาคเหนือ ๖๐ กรณี จากทุกจังหวัดในภาคเหนือ มีการสรุปบทเรียนการศึกษาออกมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งโดยละเอียดและย่อ ทำให้ภาคเหนือปีนี้ งดงามในเรื่องเอกสารวิชาการ

ตลอด ๓ วันของการจัดงานมีประชาชนกว่า ๘๐๐ คน ตบเท้าเข้ามาชมงานกันอย่างคับคั่ง ทำให้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างครึกครื้น พร้อมกับโชว์สุดอลังการจากเจ้าภาพ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจในความอ่อนช้อย งดงามของศิลปะภาคเหนือได้เป็นอย่างดี

และแล้ว... งานสร้างสุขภาคเหนือก็จบลงอย่างสวยงาม ด้วยการมอบธงต่อจากเพชรบูรณ์ เมืองมะขามหวาน สู่ดินแดนเชียงราย เมืองเหนือสุดยอดแดนสยาม ที่เตรียมชักธงรบ พร้อมรับหน้าที่เจ้าภาพงานสร้างสุขปีต่อไป... แล้วพบกับงานสร้างสุขภาคเหนืออีกครั้งที่ จ.เชียงราย ปีหน้า

สรุปข้อสังเกตในงานสร้างสุขภาคเหนือ
๑. มีพัฒนาการด้านงานวิชาการอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งภาคี กระบวน และเนื้อหาสาระ
๒. การประสาน เตรียมการของภาคีภาคและกระบวนการเชิงประเด็นอาจมีอุปสรรคในการดำเนินการจนส่งผลให้เวทีประเด็น การเข้าร่วม และ ฯลฯ ไม่บรรลุตามที่ตั้งใจไว้
๓. จังหวัดเจ้าภาพมีการประสานเตรียมการเต็มกำลัง การเสริมจากภาคีทั้งในระดับภาคและเพื่อนพ้อง ตลอดจน สสส.เอง ควรได้มีการพิจารณาอย่างยิ่ง
๔. ตอนเย็นมีการทำ After Action Review เป็นกิจจะลักษณะดี ในหอประชุมมีการฉายหนังสั้นของชมรมหนังสั้นเมืองเพชรบูรณ์ มีสีสันคนสนใจมาดูกันมาก แต่เนื้อหายังจับประเด็นไม่ได้ว่าบอกชี้เรื่องสร้างสุขอย่างไร
๕. นิทรรศการที่นำมาจัดค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นกรณีศีกษาของเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุข มีปัญหามากเรื่องอากาศร้อน สถานที่จัดงานไม่ใช่ทางผ่านสัญจรของคนเพชรบูรณ์ แถมยังมีการปิดถนนไม่ให้รถผ่านด้วย จึงเงียบมาก มีแต่คนกันเองเดินเที่ยวไปมา พอเย็นก็เก็บเลิก วันรุ่งขึ้นไม่ทันเที่ยงก็เก็บเกลี้ยงหมดแล้ว รู้สึกว่าสีสันจะด้อยกว่า ๒ ปีก่อนที่พิษณุโลกและแพร่ ที่เตะตามาก ๆ ก็ของบ้านนาป่า ของเครือข่ายเชียงราย และของนายบรรพต คนปั้นดินน้ำมันที่มีแรงบันดาลใจน่าสนใจจนเลิกเหล้ามาทำดีได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever