ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สัจจะออมทรัพย์ วัดป่ายาง กับทางออกและทางรอดของสังคม

สัจจะออมทรัพย์ วัดป่ายาง กับทางออกและทางรอดของสังคม

การที่จะดำรงตนให้อยู่รอดปลอดภัยในสังคมยุคนี้ ช่างเป็นเรื่องยากเย็นเอาซะเหลือเกิน..

คงไม่ใช่คำพูดที่เกินเลย แต่นี่มันสะท้อนความทุกขเวทนาของชีวิตมนุษย์ที่บอกตนเองว่า กำลังอยู่ในยุคที่เจริญถึงขีดสุด และกำลังฝันจะก้าวไปให้ไกลถึงยุคศิวิไลซ์ ยุคพระศรีอาริย์ หรืออะไรก็ตามที่สนองความต้องการอย่างไม่มีสิ้นสุดของมนุษย์ แต่นั่นก็หมายความว่าโลกใบนี้ยังคงอยู่ ยังไม่ดับสลายจากการเผาผลาญที่เกินขีดจำกัดและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่กังวลอย่างมากของนักวิทยาศาสตร์และผู้นำทั่วโลก จนต้องคิดแผนการรองรับภัยที่ตามมาจากวันสิ้นโลก ไม่ว่าค้นหาดาวดวงใหม่ที่ทดแทนโลก สร้างห้องเก็บพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตใต้ขั้วโลกเหนือ การค้นหาพลังงานทดแทนลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไชด์ที่ทำลายโลก หรืออภิมหาโปเจ็คที่กำลังศึกษาวิจัยด้วยทุนและทรัพยากรมหาศาลเพื่อรักษาความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตมนุษย์

สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้กำลังคิดและทำอยู่ใช่สิ่งที่สมควรและถูกต้องหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญอยู่ว่าแล้วพวกเรา เหล่ามนุษย์ทั้งหลายเห็นความสำคัญของชีวิตขนาดที่ต้องกังวลเท่านั้นไหม หรือแค่คิดถึงตนเอง ในช่วงชีวิตของตนเอง ไม่ได้คิดไปไกลกว่าตนเอง ทำทุกสิ่งทุกอย่างสนองความอยากและความต้องการของตนเองเป็นหลัก ตามคำจำกัดความง่ายๆ ว่า ความเห็นแก่ตัว

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงโลกอนาคตเลย แค่อยู่ให้รอดในยุคปัจจุบันก็เป็นเรื่องยากแล้ว

เมื่อโลกและเหตุปัจจัยต่างๆ ในสังคมที่พวกเราสั่งสมเรียนรู้มา ได้หล่อหลอมความเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่บริโภคนิยมสูงสุด ทุนนิยมสุดขั้ว ได้ทำร้ายทำลายความสมดุลของโลกและธรรมชาติอย่างเหลือจะบรรยาย ดังผลที่เกิดขึ้นตามมามากมาย ไม่ว่าเรื่องภัยธรรมชาติ ภัยสังคม นานาภัยในชีวิต แม้แต่เรื่องปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต การกิน การอยู่ ยังไม่มีความปลอดภัย ถูกนานาวิธีขูดรีดเอากับเลือดปู ใส่ยาพิษในพืชผักอาหาร หลอกลวงเอารัดเอาเปรียบกับความไม่รู้ของคนเพื่อขายสินค้า นี่ใช่วิธีการปล้นและแย่งชิงของมนุษย์ในระบบทุนนิยมหรือไม่ ต่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ใครเก่งกว่า เหนือกว่า มีทุนมากกว่า ก็เป็นผู้ชนะ

แล้วจะมีใครมาตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ด้วยกันไหม ความเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่วมแบ่งปันเกื้อกูลอิงอาศัยกัน เหมือนกับยุคที่มนุษย์สมัยก่อนที่ยังบูชาธรรมชาติ เรายังต้องพึ่งพิงกันเพื่อให้อยู่ในธรรมชาติที่โหดร้ายให้ได้

แต่ปัจจุบันเหมือนเราจะไม่สนใจใคร เราเอาแต่ตัวเองเป็นหลัก เกาะกุมความเห็นแก่ตัวโดยที่เราไม่รู้ตัว และถ้าเกิดความวิปริตของธรรมชาติยากที่เราจะเอาชนะได้ด้วยตัวของเราเอง เราจะทำอย่างไร หรือนั่นไม่ใช่หน้าที่ของเรา เรากำลังหลอกตัวเองไหม คิดว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะมีเทวดา วีรบุรุษ หรืออะไรก็ได้ที่เราพึ่งพาอาศัยได้ มาช่วยเรา นั่นเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ หรือไม่ ที่ผ่านมาธรรมชาติก็ได้ให้บทเรียนพิสูจน์มนุษย์แล้ว อย่างกรณีภัยพิบัติใหญ่น้อยในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ และภัยต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อ ต่างก็ไม่เห็นมีผู้คุ้มภัยหรือรัฐบาลกลางและท้องถิ่นไหน มาช่วยปกป้องดูแลให้พวกเราปลอดภัยและมั่นใจได้ดีเลย แต่เท่าที่เห็นพบแต่การสูญเสีย เสียงแห่งทุกขเวทนาไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งหมดนี้เราจะโทษใครไม่ได้ ในเมื่อภัยใหญ่ๆ ที่เกินการจัดการของมนุษย์ สิ่งที่ตามมาก็มีแต่ความน่ากลัวและการสูญเสีย จนไม่มีใครกล้าพอที่จะทำอะไรได้ และยิ่งโลกนี้เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ก็จะไม่มีใครเสียสละเป็นวีรบุรุษปกป้องชีวิตและทรัพย์สินให้คนอื่นได้

ลองคิดทบทวนกันดูใหม่ไหมว่า วีรบุรุษที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเราหรือไม่ อยู่ที่จิตใจของเรา พวกเราต้องสร้างจิตสำนึกของเราให้เป็นวีระชน หรือชนที่มีความรัก ความปราณี ความอบอุ่น และความกล้าหาญที่จะยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้อง บนหลักธรรมะ(หลักธรรมชาติ) ตระหนักถึงความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น การช่วยเหลือกันเองในหมู่คณะ และขยายไปสู่กลุ่มชนอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมโลก หรือจะใช้ภาษาพัฒนาที่เราเรียกว่า ขยายเครือข่ายก็ได้ เป็นเครือข่ายแห่งความดี เครือข่ายธรรมะ สิ่งเหล่านี้แหละคือทางรอดของมนุษยชาติ เราช่วยกันได้ ถึงจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และผู้นำของโลก แต่ทุกคนช่วยได้ ช่วยด้วยการบำเพ็ญจิตไม่ให้มีความเห็นแต่ตัว ถอยห่างจากวัตถุนิยม หรือการบริโภคที่เกินตัว การเข้าถึงหลักธรรมชาติ ที่เกี่ยวยึดโยงถึงกันและกัน ทั้งสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ทุกคนในโลก ตามกฎของธรรมชาติ และหลักอิทัปปัจจยตา (เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด)

องค์กรวัดป่ายาง เป็นองค์กรพัฒนาหนึ่งในหลายๆ องค์กรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อพัฒนาและพิทักษ์สังคมมนุษย์ กำลังเดินบนเส้นทางที่จะนำสันติสุขมาสู่คนในชุมชนและขยายสู่สังคมอื่นไปเรื่อยๆ ด้วยปฏิบัติการกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและเครือข่าย เริ่มกับกิจกรรมที่เห็นเป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งงานก่อสร้างบูรณะวัดวาอาราม และกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมทางสังคม เช่น ตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรชีวภาพ ทำโรงงานปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น

ด้วยความเป็นวัดป่ายางในปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นมาลอยๆ ใครอยากจะทำแบบวัดป่ายางก็ทำได้ นั้นก็คงไม่ใช่ ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่มาเป็นอย่างทุกวันนี้ กับความสำเร็จหลายอย่างที่ตามมาก็เกี่ยวโยงกัน ถ้าไม่มีชุมชนป่ายาง ก็ไม่มีวัด ถ้าไม่มีวัดป่ายาง ก็ไม่มีพระที่เคยผ่านการเรียนรู้ปลูกฝังทางสังคมมากับบทบาทที่เรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (สหายเสรี รอดรัตน์) บวชและมาจำพรรษา (พระสุวรรณ์ คะเวสโก) ที่นี่ และด้วยพื้นฐานความคิด ความรู้ เครือข่าย เพื่อนพ้องของพระสุวรรณ์ และขยายพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จากการเสริมเติมแต่งแต้มสีให้สวยงาม จากหลายหน่วยงานและหลายคน ไม่ว่าจะเป็นภาคีงานพัฒนากลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช พัฒนาชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายเกษตรชีวภาพ และโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ที่ไม่สามารถกล่าวอ้างได้หมด ร่วมทั้งปัญญาชนผู้หวังดี กัลยาณมิตรอีกมากมายที่มาร่วมคิดร่วมทำ พร้อมทั้งให้กำลังใจจนกลายมาเป็นองค์กรวัดป่ายางอย่างในปัจจุบัน

ความสำเร็จของกิจกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นน้ำเลี้ยงสังคมสันติสุข สังคมมนุษย์ยังต้องการเรียนรู้และปฏิบัติการเพื่อสร้างความสำเร็จอีกหลายอย่าง ถ้าแบ่งอย่างง่ายๆ ความสำเร็จทางกายภาพ การสร้างความมั่นคงทางชีวิต การกินอยู่ สังคมและชุมชน ซึ่งวัดป่ายางกำลังเดินไปได้ดีบนเส้นทางนี้ แต่อีกเส้นทางที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ เส้นทางของจิตวิญญาณ เส้นทางของปัญญา กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ของคนป่ายางและเครือข่ายเห็นความสำคัญของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ไม่แบ่งเขา แบ่งเรา ไม่สร้างตัวตนที่เห็นแก่ตัว และจะทำอย่างไรให้ความรู้สึก นึกคิด จิตวิญญาณของคนวัดป่ายางและเครือข่ายเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนทั้งโลก ตั้งธงที่จะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับสังคม จนอาจกลายเป็นปาฏิหาริย์เกินกว่าใครจะคิดถึง ว่าความดี ความงาม ความรู้ ภูมิปัญญาของชุมชนวัดป่ายางถูกขยายและติดตั้งออกไปทั่วจังหวัด ทั่วประเทศไทย หรือทั่วโลก แค่นี้ก็เป็นเส้นทางสันติสุขอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ในซอกหลืบของโลกก็ยังทำได้

และเชื่อว่าวัดป่ายางกำลังเดินบนเส้นทางทั้งสองนี้ไปด้วยความมุ่งมั่น ไม่ใช่ทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม ทำงานเพื่องาน แต่เป็นการปฏิบัติงานเพื่อการปฏิบัติธรรม สร้างคน สร้างงาน ทำให้คนได้ธรรม ธรรมได้คน

ยิ่งจุดแข็งของวัดป่ายางอยู่ที่ความเป็นสถาบันทางศาสนา มีพระซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณบ่มเพาะความเชื่อมั่นศรัทธา เป็นพลังดึงดูดมหาชนเข้าร่วมขบวนการได้อย่างมหาศาล เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เส้นทางกิจกรรมการพัฒนาทางวัตถุ ยิ่งทำยิ่งเจริญไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งใช้มากยิ่งต้องทำมาก ยิ่งเผาผลาญมาก แล้วความพอดีอยู่ที่ตรงไหน น่าจะเป็นคำถามสำคัญสำหรับกิจกรรมการพัฒนาทางด้านวัตถุ ส่วนกิจกรรมพัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญาควรเริ่มอย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนเห็นความสำคัญและสนใจ ถ้าทำเพียงแค่กิจกรรมทางศาสนาเหมือนที่เคยทำอาจจะไม่ใช่คำตอบแล้วก็เป็นได้ เพราะกิจกรรมหลายอย่างถูกลัทธิบริโภคนิยมและทุนนิยมเข้ามากลืนกินจนเกือบเป็นเทศกาลขายสินค้ามากกว่างานบุญ งานศีล

ดังนั้น คำตอบของการพัฒนาตามเส้นทางแห่งปัญญาจึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญ กล่าวคือ บทบาทที่สำคัญของผู้นำทางจิตวิญญาณ ใช่เรื่องของการศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่ปัญญาของมนุษยชาติหรือไม่ ปัญญาที่ไม่ใช่แต่เพียงความรู้ที่ได้จากการท่องจำอย่างระบบการศึกษาในปัจจุบัน ปัญญาที่ทำให้คนเข้าใจชีวิต รู้จักตั้งคำถามกับชีวิต เกิดมาทำไม เข้าใจโลก ไม่หลงโลก หลงวัตถุ สนใจเรียนรู้เพื่อเข้าใจสังคมและคนอื่น หรือจะสรุปง่ายๆ ว่า เข้าใจ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งเป็นพื้นฐานปัจจัยผลักให้คนเราแสดงปฏิกิริยาออกมาในชีวิต ซึ่งทุกชีวิตหนีไม่พ้นจากแรงขับของพลังสามอย่างนี้แน่นอน

เมื่อคนเรามีปัญญาพอ จะไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่หลงโลก หลงวัตถุ ไม่เอาเปรียบคนอื่น และเอาเปรียบธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะฟื้นคืน มีแต่ความเกื้อกูลกันด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และแบ่งปันกัน ไม่ต้องมุ่งหาเงินมากๆ เพื่อไปซื้อความสุขตามที่ลัทธิทุนนิยมบอก เพราะความสุขหาได้จากตัวเรา คนรอบข้าง สิ่งรอบข้าง และเงินจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไป เราทุกคนมีเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย พึงปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นญาติมิตรร่วมโลก สิ่งนี้แหละที่จะทำให้สังคมสันติสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโลกใหม่ ไปหาโลกใหม่ เพียงแต่เรารักษา และเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต ก็อยู่ใด้ด้วยความสุขไปอีกนาน

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถึงจะไม่ชี้ชัดเรื่องกรณีศึกษากลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ วัดป่ายาง แต่ได้ให้กรอบคิดเพื่อความเข้าใจหลักคิดเบื้องต้นของระบบสังคม ชุมชน ชีวิต และโลก อันเป็นเงื่อนปัจจัยสำคัญของงานพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสันติสุข ดังนั้นบทเรียนกิจกรรมสัจจะออมทรัพย์ฯ ที่จะได้กล่าวต่อไปก็เป็นเพียงกลอุบายอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ได้เรียนรู้ความจริงแท้ของสังคม การเกื้อกูล และการแบ่งปันผ่านการจัดการการเงินในรูปแบบกลุ่มชุมชนชาวบ้านและเครือข่าย ลดการพึ่งพิงระบบการเงินหลัก ทำให้มือของทุนนิยมครอบไม่มิด เหลือเป็นช่องว่างเปิดดวงตาแห่งธรรมให้มีโอกาสได้เห็นความจริงที่โหดร้ายของระบบบริโภคนิยมที่เป็นอยู่ พร้อมเรียนรู้และพัฒนาระบบสัจจะออมทรัพย์นี้ จนสามารถดูแลความเป็นธรรมในระบบการเงินของชุมชนชาวบ้านและเครือข่ายต่อไป

ไพโรจน์ สิงบัน

สิงหาคม ๒๕๕๒

เผยแพร่ในหนังสือ บทเรียนกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต วัดป่ายาง, จัดพิมพ์โดย โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้, พิมพ์ครั้งที่๒, สิงหาคม ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever