ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ”งานอีสานสร้างสุข ๕๑ - ๕๒

“ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ”
งานอีสานสร้างสุข ๕๑ - ๕๒
วันที่ ๒๐ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ทุ่งศรีเมือง (ลานเทียน) ถนนหน้าศาลากลาง และศาลาประชาคมจังหวัดอุบลราชานี


“อีสานสร้างสุข” เป็นชื่องานที่เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการรวมตัวของภาคีเครือข่ายสุขภาพ ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน ชื่อนี้ได้เกิดขึ้นและใช้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่เกิดงานสร้างสุข ๔ ภาคครั้งแรกในปี ๒๕๔๙ ที่นครราชสีมา และ ปี ๒๕๕๐ ที่มหาสารคาม ส่วนปีนี้จัดที่จังหวัดอุบลราชธานี คาบเกี่ยวปี ๕๑ – ๕๒ ภายใต้แนวคิดการจัดงาน “ตุ้มโฮมภูมิปัญญาสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยครั้งนี้คณะทำงานภาคอีสานได้ใช้โลโก้ที่พยายามสื่อเอกลักษณ์ ความสุข และ ความเป็นเครือข่ายของภาคได้อย่างชัดเจน ใช้รูปองค์พระธาตุพนม เป็นฉากหลัง มีดอกจาน และแคนตัดอยู่ข้างหน้า แถมในวันแถลงข่าวเปิดงานอีสานสร้างสุขรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นประธาน ยังเสนอให้เพิ่มรูปเทียนพรรษาที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลเข้าไปด้วย แต่ทางผู้รับผิดชอบบอกว่าดำเนินการไม่ทันแล้ว สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการร่วมกันเชิงสัญลักษณ์อันจะมีความหมายอย่างมาก ซึ่งถ้างานใดแสดงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ร่วมได้ จะเสริมพลังให้เกิดความรู้สึกร่วมอย่างมีความหมาย และยังเป็นการสื่อถึงเป้าหมายของงานอีกทางหนึ่งด้วย
งานอีสานสร้างสุข ปี ๕๑ – ๕๒ จัดขึ้น ณ ทุ่งศรีเมือง (ลานเทียน) และศาลาประชาคมจังหวัดอุบลราชานี ซึ่งเป็นใจกลางการสัญจรของผู้คนในจังหวัด มีซุ้มประตูงานทำด้วยไม้ไผ่สุดเก๋ เรียบง่าย เป็นสัดส่วน พร้อมแล้วที่จะเปิดรับผู้เข้าร่วมงาน ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยมีโฆษกประกาศประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมงานดังไปทั่วบริเวณรอบทุ่งศรีเมือง หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี พอเดินเข้าไปในงาน พบกับความสวยงามและบรรยากาศสบาย แบบฉบับคนอีสานที่เป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง สนุกสนาน เข้าทาง Concept การจัดนิทรรศการ “ลดเศร้า สร้างสุข” นำเสนอ “นวัตกรรมสร้างสุข” และใครที่เดินหลงเข้ามาคงไม่รู้สึกเค่อเขินแปลกแยกเป็นแน่
การตกแต่งแบบงานผ้าป่า มีธงตุง ริ้วผ้า ซุ้มดอกไม้ และสัดส่วนบูทแสดงนิทรรศการ เตรียมไว้อย่างสวยงามรอให้เจ้าของพื้นที่ที่จับจองเพื่อนำฟิวเจอบอร์ดนิทรรศการมาติดก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ ในเช้าวันงานหลายซุ้มก็ยังไม่มีข้อมูล อาจจะยังมากันไม่ถึง อย่างกลุ่มภาคีเครือข่ายที่เดินทางมาไกลจากจังหวัดเลย ต้องมานั่งแปะรูปกว่าจะเสร็จก็ทำเอาเหงื่อตกพอควร เพราะสายๆ มาอากาศเริ่มร้อนจัด
ที่กองอำนวยการ คึกคักกับเอกสารและของแจกกำลังลำเรียงเข้ามา ส่วนหนึ่งให้ลงทะเบียนรับกันเป็นจังหวัดหรือเป็นกลุ่มตามเครือข่าย มีผู้ประสานงานมาลงทะเบียนรับให้ โดยใส่ในย่ามสวยงาม มีหมวก คูปองอาหารเที่ยงที่ต้องจัดการกันดีๆ แล้วยังมีหนังสือเล่มงามน่าอ่าน ประกอบด้วย นวัตกรรมอีสานสร้างสุข ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ บทเรียนสร้างสุขที่ร้อยเรียงใหม่ให้เหมาะสมกับคนทั่วไปเป็นงานเชิงวรรณกรรมสั้นๆ ได้ใจความ ทั้งหมดจาก ๖๐ กรณีศึกษากระจายพื้นที่ทั่ว ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ๑ ขอนแก่น ๔ ชัยภูมิ ๔ นครราชสีมา ๓ นครพนม ๑ บุรีรัมย์ ๒ มุกดาหาร ๒ มหาสารคาม ๓ ยโสธร ๕ ร้อยเอ็ด ๒ เลย ๓ ศรีสะเกษ ๒ สกลนคร ๕ สุรินทร์ ๔ หนองคาย ๑หนองบัวลำภู ๒ อุดรธานี ๑ อำนาจเจริญ ๒ อุบลราชธานี ๖ และกรณีเชิงประเด็นไม่ระบุพื้นที่อีก ๕ กรณี
ส่วนอีก ๓ เล่มย่อย ประกอบด้วย รายงานสุขภาวะคนอีสาน ปี ๒๕๕๑ พบว่าผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้หญิง ๕.๓๘ ปี อยู่ที่ ๗๑.๖๕ ปี สุขภาวะทางจิตใจ มีโรคซึมเศร้า วิตกกังวล การฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น สุขภาวะทางสังคมที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และสุขภาวะทางปัญญายังไม่มีรายงานบ่งชี้ชัดเจน เรื่องภาวะภัยคุกคามคนอีสานปีนี้เน้นที่ความไม่มั่นคงเรื่องอาหาร ทรัพยากรและเมกะโปรเจค ส่วนงานวิจัยเรื่องพระสงฆ์กับสุขภาวะ พบพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพร่างกายมากขึ้นจากอาหารที่ได้รับถวาย

และเดินชมในงานต่อไป ติดกับซุ้มอำนวยการเป็นซุ้มเอกสารของแจกของเครือข่าย สสจ. และ สปสช. มีคนไปรับกันมากแต่ต้องลงชื่อผู้รับและเครือข่ายก่อน คงเก็บไว้เป็นทำเนียบ
ฝั่งที่มีเสียงคึกคัก นอกจากซุ้มประชาสัมพันธ์แล้วยังมีซุ้มเด็กเยาวชน มีกลุ่มผีตาโขนน้อยที่เตรียมจะแสดงในงานแสดงแสงสีเสียงตอนเย็นนี้ ในซุ้มต่างเพลิดเพลินกับงานประดิษฐ์ฝีมือตัวเอง ทำการ์ด แกะเทียน หนังสือทำมือ ละครโรงเล็ก หนังสั้นฝีมือเด็ก สื่อธรรมด้วยเพลง นวดประคบและต้มยาสมุนไพรจากชมรมหมอพื้นบ้าน พร้อมแวะซื้อผลิตภัณฑ์ปลอดสาร สินค้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ของซุ้มบ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธานสินี น้อยอินทร์

ใกล้เวลาเปิดงาน โฆษกแนะให้เดินผ่านเข้าไปหลังป้ายกำหนดการงาน ไปยังอาคารศาลาประชาคมจังหวัด ก่อนเข้าอาคารเห็นซุ้มป้ายงานอีสานสร้างสุขล้อมรอบด้วยดอกไม้สีแดงสดใสเก๋ไก๋ชวนให้หลายคนต้องมายืนถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย เมื่อขึ้นชานอาคารก่อนเข้าห้องประชุมใหญ่จุคนได้หลายร้อยคน ถูกกั้นด้วยกระดาน เหมือนกับห้องเรียนสมัยก่อน เพื่อแบ่งเป็นห้องเสวนาย่อยๆ ได้อีก ๕ ห้อง รวมห้องใหญ่
มีทีมสื่อเคเบิ้ลทีวีพร้อมรถถ่ายทอดมาทำการถ่ายทอดสดกันคณะใหญ่ และอีกฝากของอาคารด้านติดกับถนน หน้าเทศบาลเมือง ก็มีร้านค้ามาตั้งขาย ไม่รู้ถูกเชิญมาเพื่องานนี้เฉพาะหรือไม่ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ เพราะเห็นมีแผงพระมาด้วย งานนี้คงไม่เอาด้วยแน่ เพราะเป็นงานสุขภาวะทางปัญญา

พิธีเปิดที่ออกแบบให้การเปิดหลายที ช่วงเช้าเป็นการเปิดเวทีชาวบ้านในกำหนดการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเป็นคนเปิด แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชานีมอบหมายให้มาอยู่ประจำในงานตลอดนั้น อยู่ด้วย จึงถูกเชิญให้เป็นประธานเปิด พอช่วงเย็นงานพาแลงและแสดงแสงสีเสียงเป็นพิธีเปิดงานอีสานสร้างสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาเป็นประธานเปิดอีก นายแพทย์สาธารณสุขก็ยังไม่ได้เป็นประธานสักที ผู้จัดก็คิดอยู่ตลอดว่าจะให้ได้ขึ้นแสดงตนต่อสาธารณะช่วงไหน เพราะเคยพลาดมาครั้งหนึ่งแล้วในเวทีแถลงข่าวเปิดงานอีสานสร้างสุขที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสได้พูด งานนี้จึงต้องหาโอกาสให้ได้ นี่จะเห็นได้ว่าพื้นที่และการปรากฎตัวในเวทีสาธารณะกับผู้มีอำนาจทางนโยบายนั้นยังเป็นเรื่องสำคัญของทุกฝ่ายในภาคอีสาน

ก่อนพิธีเปิดมีการแสดงด้านศิลปะพื้นบ้านของชาวบ้านหลายชุด เห็นแล้วก็ดูพอดี ไม่ยืดยาวเกินไป ต่อด้วยการฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ และชมวิดีทัศน์ หมายเหตุจากหมู่บ้าน และกล่าวรายงานการจัดงานโดย อาจารย์สมพันธ์ เตชะอธิก ผู้ประสานงานกลไกภาคจากมหาวิทยาลัยขอนแกน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน พร้อมมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ ๗ และหน่วยราชการอื่น และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาสารคาม และอุบลราชธานีที่เป็นคณะทำงาน กับคนเข้าร่วมพิธีเปิดราว ๓๐๐ คน สงสัยภาคีเครือข่ายยังมากันไม่ถึง
เมื่อเสียงฆ้องที่ดังขึ้นสามที จึงเป็นการส่งสัญญาณว่างานอีสานสร้างสุข ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ ได้เริ่มขึ้นแล้ว ตามกำหนดการ ด้วยเวลา ๑๐.๐๐ น. – ๑๒.๓๐ น. ของงานวันแรก ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ เวทีชาวบ้านเรื่อง “สุขภาวะทางปัญญา...สร้างสุขอีสานได้จริงหรือ” กับพ่อผาย สร้อยสระกลาง เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสาน พ่อครูบัญชา ตั้งวงศ์ชัย นักธุรกิจร้อยล้านที่รู้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบ แม่รัชนี อัคราช ผู้นำสตรีภาคอีสาน พ่อบัวพา ปราณี แกนนำโครงการปลอดเหล้า ครูติ๋วหรือแม่ติ๋ว บ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ ดำเนินรานการโดย นายสมศักดิ์ รัฐเสรี ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลราชธานี โดยเนื้อหาเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ผู้ดำเนินรายการพยายามชวนคุยและค้นความคิดและข้อเสนอจากประสบการณ์ของแต่ละท่านเพื่อสุขภาวะทางปัญญาของคนอีสาน แต่ประเด็นที่ได้ ยังเป็นแค่ประสบการณ์และเรื่องที่อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของปัญญาเท่านั้น โดยแต่ละคนก็พยายามนำเสนอกิจกรรมที่ตนเองทำอยู่ และมีการนำเสนอเชิงหลักคิดบ้าง ของพ่อครูบัญชาและทีมงานที่มาแจกเอกสารประกอบอยู่ด้านล่างเวที ซึ่งก็เป็นหลักคิดที่ไกลเกิน เป็นเรื่องของหลักธรรมทางศาสนาเป็นปัญญาเพื่อการหลุดพ้นไปเลย หลายคนนำเสนอแบบเล่าจึงทำให้กินเวลามาก ไม่ค่อยได้ประเด็นมาก มีของครูติ๋ว กระชับกุมประเด็นตามแบบของนักพัฒนา แต่สำหรับแนวของชาวบ้านที่ยังไม่คุ้นกับการนำเสนอบนเวทีแบบนี้ ยังต้องช่วยกันเอาความรู้แฝงฝังหรือบทเรียนออกมานำเสนอสู่สาธารณะให้ได้ จะด้วยกระบวนการเวทีที่ผู้ดำเนินรายการต้องกุมประเด็นและดึงความรู้ออกมาเอง หรือมีเครื่องมือเสริมเช่น การมีเอกสารประกอบ หรือสื่อภาพประกอบอื่น เป็นต้น ส่วนที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างในเวทีนี้คือ การกระจายเสียงการประชุมทั่วทุ่งศรีเมืองใครอยู่ตรงไหนก็ได้ยินชัด

เวทีชาวบ้านจบลง ก็นำคูปองที่ได้รับแจกไปแลกอาหารที่ถนนอาหารปลอดภัย บริเวณข้างทุ่งศรีเมืองใกล้ๆ กับงาน ซึ่งจัดโดยชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดอุบลราชธานี ในรายการ “การพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารท้องถิ่นแบบมืออาชีพ” Restaurant Champion อาหารอีสานสร้างสุข

ในช่วงบ่ายไม่มีเวทีเสวนา มีแต่กิจกรรมการฟ้อนกลองตุ้ม เปิดลานนวัตกรรมสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม และขบวน เดิน – วิ่ง – จักรยาน – สามล้อ รณรงค์มหกรรมอีสานสร้างสุขจาก ๔ มุมเมือง พร้อมกิจกรรม ทัวร์ไหว้พระ ๙ วัด ที่จัดวันละ ๒ รอบ

เมื่อตะวันใกล้ลับแสง ทุกคนก็มารวมกันที่ลานเทียน ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย คนเมืองอุบลมาออกกำลังกายกันรายรอบงานอย่างปกติเช่นทุกวัน ทั้งสนใจใคร่เรียนรู้ด้วยก็มี แต่ด้วยการจัดที่แบบพาแลงเป็นที่จับจองเฉพาะ หลายคนจึงได้แค่ชะเง้อดูอยู่ข้างๆ งานพาแลง แสดงแสดงสีเสียง และสัมโมทนียกถา เรื่อง “ปัญญานำสุขสู่คนอีสาน” โดยพระครูวิมลธรรมรัตน์ (หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล) วัดป่าสวนกล้วย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ให้ข้อคิดในการจัดงานอีสานสร้างสุขว่า การจัดงานอีสานสร้างสุขงานของ ๑๙ จังหวัดภาคอีสานนั้น ควรใช้ปัญญาในการสร้างสุขให้เกิดขึ้น ลด ละ เลิก กิเลส และทิฐิ ไม่มีใครที่มีความสุขโดยที่ไม่มีศีลธรรม อย่างเช่น การไม่รักษาศีล ๕ ไม่ปฏิบัติตาม มีแต่อยากได้อยากเป็นแต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ ความสุขจึงไม่เกิดขึ้น การไม่ยอมละทิฐิ ละทิ้งสิ่งที่ตนเองมีอยู่มากเกินไป ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่สงบสุข ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้ทุกคนทำดีแต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ทำตาม คนโบราณจัดงาน “บุญผะเหวด” ขึ้นมาเพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักละทิ้งกิเลสดังที่พระเวสสันดรท่านได้ละทิ้งกิเลสทุกอย่างเพื่อให้ทานแก่คนที่ขอ แม้กระทั่งบุตรธิดาของท่านเอง ท่านยังประทานแก่ชูชกได้ แม้ชูชกจะทุบตีบุตรของท่าน แต่ท่านก็ต้องอดทนอดกลั้นไว้ให้ได้ แต่บ้านเมืองของเราไม่ยอมปฏิบัติตามยังคงมีทิฐิมากเกินไป จึงทำให้บ้านเมืองไม่มีความสงบสุขวุ่นวายดังเช่นในปัจจุบัน

ส่วนพิธีเปิดงานพาแลงแบบอบอุ่นนี้ รองผู้ว่ามาร่วมนั่งสื่อกินข้าวพาแลงปั้นข้าวแหนียวจิ่มแจ่วในฐานะที่เป็นประธานเปิดงาน โดยการายงานของ ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต่อด้วยการแสดงแสงสีเสียง ฮุ่งตาเว็น โฮมธรรมนำสุข โดยการรับผิดชอบของ อาจารย์คำล่า มุสิกา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ทำการศึกษาเรื่องการแสดงและศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสาน ได้นำมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานแสดงแสงสีเสียง ชวนให้เข้าใจว่าทำไมคนอีสานถึงอยู่ได้มาหลายชั่วอายุคน เข้าใจถึงการต่อสู้กับสภาพแร้นแค้นของคนอีสานได้อย่างดี และสื่อถึงการเรียนรู้ สังคม วิธีคิด วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ตามความหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่มาร่วมอาศัยอยู่ด้วยกันในภาคอีสานอย่างสงบและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พร้อมชมการแสดงรำตรจ(สุรินทร์) รำมวยโบราณ (สกลนคร) เพลงโคราช(นครราชสีมา) ผีตาโขน(เลย) แถมด้วยหนังบักแก้ว(ตะลุงอีสาน) เปิดโรงหน้าทางเข้างาน ใครอยากชมก็ไปหยิบเก้าอี้มานั่งหน้าโรงในบรรยากาศสบายๆ ถ้าใครเหนื่อยก็กลับไปนอนพักเอาแรง เพื่อมาเรียนรู้กันใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เช้าวันที่สองของงาน มีกิจกรรมการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๙๙ รูป พอสายขึ้นก็เข้าร่วมเวทีวิชาการ “นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการสร้างสุขภาวะทางปัญญา” โดย ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส. กับ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกรณีศึกษาของ ผอ.โรงเรียนบ้านคูเมือง ที่ดำเนินรายการโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องนี้ ซึ่งเนื้อหามีทั้งการผลักดันการบูรณาการเชื่อมงบประมาณกับแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้ขนาดไหน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับทีมเลขาของงานที่จะเอาบทสรุปและเสนอสู่การปฏิบัติจริงได้ขนาดไหน พอช่วงบ่ายก็มีเวทีวิชาการ ๕ ห้องย่อย เพื่อปฏิญญาทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย ห้องที่ ๑ “จะอยู่อย่างไร...ไม่ให้ภัยคุกคาม” ห้องที่ ๒ “ตุ้มโฮมความสุข” ห้องที่ ๓ “พระสงฆ์กับสุขภาวะ (กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี) ห้องที่ ๔ ส่องซอดสุขภาวะ (นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาวะ) ห้องที่ ๕ ม่วนซื่อนเยาวชน (เด็กและเยาวชนสร้างสุข)

ส่วนวันสุดท้ายที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ก่อนที่จะแยกกันกลับบ้าน มีกิจกรรมทอดผ้าป่าสุขภาวะทางปัญญาเพื่อเด็กและเยาวชนบ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธานสินี น้อยอินทร์ จ.ยโสธร และร่วมเสวนา “สุขภาวะของเด็กและเยาวชน” ชมการแสดงของเด็กและเยาวชนมูลนิธิสุธานสินี ปิดงานด้วยการผูกข้อต่อแขนส่งขวัญกลับบ้านตามประเพณีชาวอีสาน

คำประกาศทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
งานอีสานสร้างสุข ๕๑-๕๒ ที่ศาลาประชาคม จ.อุบลราชธานี
จะอยู่อย่างไร ไม่ให้ภัยคุกคาม...ตุ้มโฮมความสุข...พระสงฆ์กับสุขภาวะ ..ส่องซอดสุขภาวะ ..ม่วนซื่นเยาวชน

ห้องที่ ๑ จะอยู่อย่างไร ไม่ให้ภัยคุกคาม
ผู้นำเสนอ นายพงษ์พยัคฆ์ ภูธา
• พี่น้องชาวอีสานต้องปรับวิธีคิด และช่วยกันฮักแพงมูนมังที่พ่อแม่สร้างไว้ ทั้งต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ว่าจะวิถีการบริโภค วิถีการผลิตให้หันมาสู่การพึ่งตนเอง ทั้งต้องรู้จักที่จะรวมกลุ่มและสร้างการเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การจัดการระบบการผลิตด้วยเอง โดยสรุปก็คือ การหันมาสืบทอดวัฒนธรรมการกิน การอยู่ การปลูก ตามวิถีไทยท้องถิ่นอีสาน (ตัวอย่างชัดๆ เช่น การชักชวนลูกหลานมาบริโภคอาหารอีสานพื้นบ้านมากกว่าการกินฟาสต์ฟู้ด ทานข้าวพื้นบ้าน ไม่บริโภคอาหารจีเอ็มโอ เป็นต้น)

ห้องที่ ๒ ตุ้มโฮมความสุข
ผู้นำเสนอ นายชาติพิพัฒน์ บุญสุนทรสวัสดิ์
กรณีที่ ๑ ทุกข์ของเมียฝรั่ง
- จัดตั้งชมรมสหวัฒนธรรมผลักดันเรื่องสุขภาพ การศึกษา และกฎหมาย ว่าด้วยเมียฝรั่งและสามีฝรั่ง
กรณีที่ ๒ unseen กะหล่ำปลี
- ส่งเสริมการปลูกการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของคนในตำบลและคนไทยทั้งประเทศ
กรณีที่ ๓ ชุมชนปลอดเหล้า
- ผู้นำชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นบุคคลหรือหน่วยงานต้นแบบในการลด ละ เลิกเหล้า และประสานทุกภาคส่วนของสังคม ส่งเสริมพัฒนาชุมชนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของชาวอีสาน
กรณีที่ ๔ อุบลคนเดินดีกว่ารถวิ่ง (ชุมชนริมมูล)
๑) ผลักดันและพัฒนาเรื่องที่ว่างสาธารณะให้เป็นพื้นที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้คนแต่ละท้องถิ่น (เช่น กรณีลานริมมูล ที่ควรเป็นที่ว่างสาธารณะให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้คน ได้ใช้ชีวิตริมน้ำมากมากว่ากลายเป็นถนนให้รถวิ่ง)
๒) หน่วยงานไม่ว่าองค์กรท้องถิ่นหรือหน่วยราชการในพื้นที่ควรร่วมมือกันทำงานอย่างสมานฉันท์ โดยเฉพาะในเรื่องหรือประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมือง

ห้องที่ ๓ พระสงฆ์กับสุขภาวะ
ผู้นำเสนอ นายกฤษณ แก้วหลอดหัน
๑) ไม่ถวายบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง
๒) ญาติโยมควรใส่บาตร ทำบุญด้วยอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยการปิ้ง นึ่ง

ห้องที่ ๔ ส่องซอดสุขภาวะ ( นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาวะ)
ผู้นำเสนอ ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี
๑) กระบวนการผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพควรเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของพื้นที่โดยเริ่มจากชุมชนและพื้นที่มากกว่าเป็นการกำหนดมาจากส่วนกลาง
๒) ประเด็นการดำเนินกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพควรตอบสนองและสะท้อนความจริงที่มาจากพื้นที่ โดยคนในพื้นที่มีส่วนในการแก้ปัญหาของตัวเอง
๓) ควรตระหนักถึงสิทธิของบุคคลและชุมชนในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้ง สร้างเสริมสุขภาวะทางเพศอย่างเท่าเทียมและการมีจริยธรรมที่เหมาะสมเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดี
๔) ส่งเสริมการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและการสื่อสารสาธารณะอย่างกว้างขวางเพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี

ห้องที่ ๕ ม่วนซื่นเยาวชน (เด็กและเยาวชนสร้างสุข)
ผู้นำเสนอ เด็กชายพงศธร ฐานเทศ
๑) สนับสนุนให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้และช่องทางในการสื่อสารสำหรับกลุ่มเยาวชนมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องมากขึ้นด้วย
๒) ภาคส่วนต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นของตนเอง
๓) มีกลไกการทำงานของภาคอีสานในการขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดี

ข้อสังเกตต่องานอีสานสร้างสุข ๕๑ – ๕๒
งานอีสานสร้างสุข ๕๑ -๕๒ จัดงานได้น่าชื่นชม ทุ่มเทกับการจัดบรรยากาศให้น่าเรียนรู้ มีเอกสารนวัตกรรมอีสานสร้างสุขอย่างเยี่ยมยอด และเอกสารวิชาการอื่นประกอบอย่างสมควร แต่พบว่านิทรรการยังเป็นจุดอ่อน หรือกลัวคนไม่เข้าห้องประชุมเหมือนของภาคเหนือ แต่อย่างไรก็ลองอ่านข้อสังเกตดังต่อไปนี้
“การจัดแผนผังบรรยากาศและบริเวณที่ทุ่งศรีเมือง มี ม.อุบลที่เป็นมืออาชีพกับเทศบาลที่หนุนอุปกรณ์การจัด ทำให้เข้าขั้นงานมาตรฐานที่งดงาม เรียบง่าย เก๋ และเป็นสัดเป็นส่วนอย่างมาก
การประชาสัมพันธ์สื่อสารต่าง ๆ ทั้งก่อนงาน รอบงาน ในงาน ออกไปนอกงาน ตลอดจนแม้กระทั่งหลังงาน ก็เป็นไปอย่างเหลือเชื่อและน่านิยมมาก ๆ เรียกว่ามาถึงอุบลแล้วทุกคนต้องรู้และอยากมางาน มาเรียนรู้ ๖๐ กรณี ด้วยป้ายติดเต็มเมือง รวมทั้งที่ท้ายรถสามล้อ รวมถึงตุงที่รอบทุ่งศรีเมือง มีกองโฆษกประจำงานเป็นกิจจะลักษณะชัดเจน มีการถ่ายทอดเสียงและเคเบิ้ลทีวีไม่รู้กี่ช่อง ก่อนหน้างานก็มีเพรสทัวร์มาก่อน สื่อวิทยุ โทรทัศน์ท้องถิ่น อินเตอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ เอาว่าต้องเป็นกรณีศึกษาของทุกฝ่าย
งานวัฒนธรรมในกิจกรรมพาแลงที่ถือว่าสุด ๆ ทีเดียว เริ่มด้วยการฟังธรรมที่สนุกสนานก่อนอาหารจากหลวงพ่อ พอพาแลงก็เป็นนาฏกรรมเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมวิถีชีวิตคนอีสานหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่ผูกอยู่กับเรื่องความสุขและปัญญาที่เป็นประเด็นนำของงานได้อย่างลงตัว สวย สนุกและได้สาระอย่างยิ่ง งานนี้น่าจะนำมาตัดต่อเป็นซีดีไว้เผยแพร่โดยอาจจะควบคู่กับ presentation ตอนเปิดงานที่ตั้งชื่อว่า หมายเหตุจากหมู่บ้าน ที่ให้แรงบันดาลใจดีแท้
การเชื่อมประสานร่วมงานกันอย่างน่านิยมยิ่ง ทั้งในอุบลราชธานี และภาคีภาคอีสาน กล่าวคือ ในอุบล เห็นเด่นชัดของ ๓ ส่วนที่มามีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเอาจริงเอาจังและตั้งใจ ตั้งแต่ทีมประชาสังคมที่มีตัวตนชัดเจนเด่นชัด เป็นมูลนิธิ ได้รับการยอมรับและประสานอย่างขันแข็ง จังหวัดไหนภาคประชาสังคม ประชาชนหรือเอ็นจีโอยังไม่ได้ถึงไหน ควรมาศึกษากรณีที่อุบล, ทีมที่สองคือทีมสาธารณสุขอุบลที่ยกมากันทั้งขบวน ตั้ง แต่ สสจ. ศูนย์อนามัย ฯลฯ คือว่ามากันทั้งหัว ตัว และหาง ทีมที่สาม แม้ยังไม่มากนัก แต่การที่ ผู้ว่า รองผู้ว่ามาเอาจริงเอาจังอย่างนี้ ภาคราชการทั้งหมดก็จะต้องตามมาในที่สุด ส่วนที่ ๔ มีตามมาติด ๆ คือภาคีวิชาการที่สามารถเชื่อมทีมวิชาการจาก ม.อุบลมาร่วมได้พอประมาณ โดยมีภาคีวิชาการจาก มข. ม.สารคาม และอื่น ๆ เข้ามาสมทบอย่างน่านิยมเช่นกัน ทั้งนี้มีภาคีท้องถิ่นที่หายไปในงานที่อีสาน-อุบล ปีนี้ คงจะต้องคิดค้นหนทางเชื่อมร้อยเอามาให้ได้ในอนาคต
งานวิชาการ ด้วยมีการประสานกันเป็นขบวนของหลายมหาวิทยาลัยมากันเป็นทีม ทั้งอาจารย์และนักศึกษา ออกงานมาเป็นหนังสือเล่มงาม ๖๐ กรณีศึกษา ที่น่าอ่านมาก ๆ กับอีก ๓ เล่มประเด็นย่อยที่แม้ไม่ค่อยเด่นนัก แต่ก็เป็นข้อมูลนำเข้าของกลุ่มย่อยได้ดี ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์, ภัยคุกคาม และ สุขทุกข์ของคนอีสาน
ลานนวัตกรรมในงานอีสานสร้างสุขปีนี้ทั้ง ๆ ที่ได้วางผังและออกแบบไว้อย่างดีมาก ไม่ว่าจะแผนผัง ฉากนิทรรศการและเรื่องกรณีศึกษา แต่ว่ากลับไม่ได้รับความสนใจสมดังที่ตั้งใจและเตรียมมา อาจจะเนื่องจากไม่ทันได้คิดให้มีกิจกรรมประกอบนิทรรศการที่เพียงพอ ทำให้บริเวณที่วางไว้ดีกว่าของภาคเหนือมาก กลับมีสีสันน้อยกว่าภาคเหนือและงานในปีก่อน ๆ มาก ๆ อย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้การที่เกิดลานอาหารที่นอกถนนพร้อมกับสินค้ามาขายจึงดึงคนไปเดินแถวโน้นหมด ทราบมาว่าเดิมวางไว้ให้อยู่บริเวณเดียวกันแต่ทางเทศบาลขอให้แยกกันก็เลยออกมาอย่างที่เห็น นับว่าเป็นข้อด้อยที่ได้พยายามแล้วแต่เกินกำลังจัดการก็แล้วกัน
เวทีเชิงประเด็นทั้ง ๕ ห้อง เห็นว่าได้พยายามจัดการพื้นที่ศาลาประชาคมที่มีจำกัดออกมาเป็น ๕ เวทีได้อย่างเหลือเชื่อ นอกจากปัญหาคนเข้าร่วมที่อาจไม่อินเพียงพอต่อประเด็นดังที่เกิดในแทบทุกเวที ทั้ง ๆ ที่มีคนเข้าร่วมเวทีเป็นจำนวนมากทั้ง ๕ ประเด็น แต่การเตรียมการเพื่อนำประเด็นเพื่อค้นหาแนวทางนำเสนอจนถึงขั้นเป็นปฏิญญาของคนอีสานนั้นน่าจะยังต้องคิดหาวิธีมากกว่านี้ ที่เห็นนอกจากปัญหาความสนใจในประเด็นของผู้เข้าร่วมแล้ว เห็นว่าแม้คนดำเนินการหรือวิทยากรที่เชิญมาก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญ หากไม่ได้ทำความเข้าใจหรือเตรียมความคิดมาเพียงพอ เพราะดูส่วนใหญ่จะกลายเป็นการมาอภิปรายแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ เท่านั่นเอง
มีทีมประเมินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นทีมประเมินภายในเพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของคนทำงาน โดยร่วมสังเกตการณ์ในงานตลอด และนำบทเรียนที่ได้ไปร่วมสรุปปิดงานด้วยกัน
หลังงานใหญ่ ๒ วัน วันที่ ๒๐ – ๒๑ แล้ว มีการริเริ่มที่น่าสนใจด้วยการชวนกันไปทอดผ้าป่าสร้างสุขใส่บ้านโฮมฮักของครูสุทธาสินีที่ยโสธร เรียกว่าทำงานกันมาเหนื่อยแล้วยังตามไปทำบุญร่วมกันอีกด้วย ได้เงินตั้ง ๖ หมื่นกว่าบาทจากสารพัดเงินทำบุญทั้งจากในงานและจากอื่น ๆ เห็นว่าปีหน้าหลังงานก็จะหาสถานที่ทอดผ้าป่าอย่างนี้อีก ภาคอื่นสนใจก็อาจลอกเลียนแบบได้
อีกอย่างที่น่าสนใจมากคือ การตามติดเรียนรู้ดูงานเพื่อนอย่างจริงจังของภาคอีสานนั้นน่าจะเป็นกรณีศึกษาของภาคอื่น ๆ ด้วย เพราะมีการจัดไปดูกันเป็นคณะที่ภาคเหนือแล้วมีการบันทึกสรุปรายงานการดูงานมานำเสนอในวงประชุมของภาค ทราบว่าในงานภาคใต้ก็จะจัดคณะใหญ่ลงไปดูงานด้วย แล้วจะต่อด้วยการสรุปงานกันที่เกาะใดเกาะหนึ่ง ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาเพราะเห็นภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยได้ใช้โอกาสการเรียนรู้อย่างนี้อย่างน่าเสียดาย เมื่องานภาคเหนือ เห็นภาคอีสานไปเป็นคณะ ภาคกลางไม่กี่คน ไม่มีภาคใต้ แต่ในงานของภาคอีสานไม่เห็นภาคีภาคอื่นๆ เลย
สำหรับ สสส. แม้จะมี ผอ.ดวงพร กับคุณศิรินภาไปร่วม แต่ก็ยังเป็นเพียงการไปร่วมเป็นวิทยากรและสังเกตการณ์วันเดียวเช้าไปเย็นกลับ ไม่เห็นเรื่องอื่นๆ อย่างเป็นที่สังเกตว่า สสส.คิดอย่างไรต่องานสร้างสุขของภาคีพี่น้องในภูมิภาค ผิดกับที่ผ่านมาที่เคยเป็นงานของ สสส.เองที่ส่วนกลาง พอขยายไปแต่ละภาค ๒ ปีก่อน ยังยกคณะไปกันทั้งการเข้าร่วม ทั้งการไปตั้งบูททั้งการนำสื่อไปเรียนรู้และขยายผล จนกระทั่งมีการตั้งเป็นคณะที่ปรึกษาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ดูเหมือนว่าปีนี้ไม่มีอะไรไปเสียทั้งหมด เรื่องนี้เป็นของภาคีพี่น้อง สสส.ทั้งขบวนทีเดียว

1 ความคิดเห็น:

for ever

for ever