ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้” ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒

“สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้” ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒
งานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ ๓ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ ๑ -๓ เมษายน ๒๕๕๒
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

งานสร้างสุขภาคใต้ “วาระสร้างสุขของฅนใต้” ได้จัดอย่างต่อเนื่องกันมาเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งแรกจัดที่จังหวัดสงขลา ครั้งที่ ๒ จัดที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนครั้งนี้จัดที่จังสุราษฏร์ธานี นอกจากรูปแบบที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพแล้ว กระบวนการขับเคลื่อนงานสร้างสุขยังมีรูปแบบและขบวนสนับสนุนชัดเจนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนหลักจาก สสส. และ สปสช. องค์กรร่วมจัดในท้องถิ่น และกำลังพยายามพลักดันให้เกิดการพึ่งตนเองด้านงบประมาณในภูมิภาคให้ได้ ด้วยกลไกภาคที่ผูกโยงโดยผู้รับผิดชอบหลักอย่าง สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วย Orgranize ขบวนงานสร้างสุขภาคใต้มาโดยตลอด มีการตั้งคณะทำงานภาค ที่มีผู้ประสานงานแต่ละจังหวัด และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น หลากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกำหนดประเด็นขับเคลื่อนของภาค

การเตรียมงานสร้างสุขครั้งนี้เริ่มเมื่อการจัดงานสร้างสุขที่จังหวัดภูเก็ตเสร็จสิ้นลง ภารกิจต่อเนื่องหลายอย่างก็เริ่ม โดยเฉพาะขบวนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เพื่อมาพบกันอีกในงานสร้างสุขที่สุราษฎร์ธานี จากข้อเสนอแต่ละประเด็นที่ต้องไปพลักดันให้เกิดผลสำเร็จ และกระบวนการติดตามข้อเสนอต่างๆ ที่คณะทำงานกลไกภาคต้องทำงานต่อ และ สวรส. ในฐานะผู้ประสานก็ต้องมีภารกิจที่ตามมาจากประเด็นงานที่มากและฐานเครือข่ายที่กว้างขึ้นทุกปี

นอกจากกลไกคณะทำงานภาค ยังมีกลไกวิชาการเป็นแรงหนุนเสริมสำคัญกล่าวคือ หลังจากที่ได้ร่วมกำหนดประเด็นขับเคลื่อนในภาคจากการทำ Mapping แล้ว ก็แบ่งออกเป็นคณะทำงานในแต่ละประเด็น โดยในปีนี้มีทั้งหมด ๘ ประเด็น ประกอบด้วย ความสุขที่มี ความดีที่ทำของเด็กใต้, วาระเมืองคนดี ลดอบายมุขสร้างสุขด้วยปัญญา, เกษตรและอาหารปลอดภัยของคนใต้, นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้, วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ, พหุปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรม, ท้องถิ่นกับการสร้างสุขภาพ, คนใต้กับการเมืองภาคประชาชน (แต่พอในวันงานจริงๆ มีเพิ่มมาอีก ๒ ประเด็น คือ ธรรมะบันเทิง และปฏิบัติการสื่อคนใต้สร้างสุข) แต่ละประเด็นต่างไปดำเนินการจัดเวทีศึกษา สำรวจ ถอดบทเรียนกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นนั้นด้วย โดยมีนักวิชาการจากสถาบันศึกษาต่างๆ ในภาคใต้เข้าร่วมสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในแต่ละประเด็น

ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการ สวรส. บอกว่างานนี้คือการสานต่อกลไกสร้างสุขภาคใต้ที่เกิดขึ้นมา ๒ ปีแล้ว เป็นการประกาศวาระคนใต้ซึ่งจะขับเคลื่อนต่อให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ
“..กลไกภาคใต้มีบอร์ดซี่งเป็นตัวแทนหลายหน่วยงาน สสส. สช. สวรส. สปสช. ภาครัฐ อปท. อบต. เทศบาล ภาคประชาชน ชมรมแพทย์ชนบท ฯลฯ ร่วมกันกำหนดทิศทางระบบสุขภาพภาคใต้ มีคณะทำงานจากภาคใต้ตอนบนตอนล่าง ใช้ สวรส.เป็นศูนย์ประสานงาน มีเครือข่ายระดับจังหวัด เครือข่ายเชิงประเด็น.. ใช้กระบวนการทำ Mapping ให้เห็นว่ามีสถานการณ์สุขภาพอะไรบ้าง มีใครทำอะไรอยู่ในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันก็สร้างกลไกทำงานร่วมกัน แล้วก็สร้างงานโดยของบ สสส. มาทำโครงการ ที่แต่ละจังหวัดแต่ละประเด็นเสนอเข้ามาผ่านกลไกภาค..”

รูปแบบงานสร้างสุขครั้งนี้ ได้รับการการันตีจากเจ้าภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองคนดี ที่มีแหล่งศึกษาเผยแผ่ธรรมะ แจกดวงตาให้เห็นธรรมจนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกอย่างสวนโมกขพลาราม ได้เสนอคอนเซ็ปต์การจัดงาน สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้ ๕๑ – ๕๒ เลือกสถานที่จัดในมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยการยึดเอา ๓ อาคารหลัก คือ ๑ หอประชุมใหญ่ ๑ อาคารอำนวยการ และ อีก ๑ อาคารทีปังกร พร้อมกับ ๒ ห้องอาหาร และอีก ๒ หอพักนักศึกษา พร้อมทั้งลานโล่งเชื่อมต่อของอาคารเหล่านี้เป็นปริมณฑลงานด้วยการแปลงทั้งหมดให้เป็นเสมือนสวนโมกข์ลำลอง โรงหนัง ลานหินโค้ง สระนาฬิเกร์ ศาลาธรรมโฆษณ์ ฯ กับยังมีเวทีกลางแจ้งใต้ร่มไม้ครึ้มอีก ๒ เวที นับว่าสถานที่ลงตัวอย่างยิ่ง คนเข้าร่วมทั้งหมดก็กินนอนอยู่ในที่เดียวกันทั้งนั้น ๓ วัน ๓ คืน

เมื่อผ่านเข้าประตูงานสร้างสุขจำลองประตูสวนโมกข์ พบกับซุ้มนิทรรศการละลานตาไปด้วย สิ่งนำเสนอ แบบจำลอง แสดง สาธิต แผนผัง และเอกสารหนังสือ เผ่ยแผ่ให้ผู้สนใจ ประเด็นเกษตรและอาหารก็ได้ยกครัวมาทำข้าวยำให้ลองซิม และยังมีผักยำยำผักพื้นบ้านจากยะลา ประเด็นการจัดการลุ่มน้ำ ก็เด่นไม่แพ้กันนำน้ำจากแต่ละแหล่งใส่ขวดมาอธิบายให้เข้าใจเห็นภาพชัดเจนจนหายสงสัย เด็กเยาวชนกับวัยสดใส สื่อด้วยการร้อง เล่น เต้นกันสนุก แถมมีต้นความคิด ใครคิดอะไรดีดี เขียนแล้วไปปักที่ต้นกล้วยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน วัฒนธรรมคนใต้ก็สาธิตวิธีการย้อมผ้าสีธรรมชาติข้างๆ เวทีเสวนา และมีผลิตภัณฑ์ให้ชมด้วย พหุวัฒนธรรมพหุสังคมก็ยกชาชักมาทำให้ได้ทานกันจริงๆ ส่วนสื่ออาสาขบวนนี้น่าสนใจมีปฏิบัติการจริงในงานเป็นรูปแบบของอาสาสมัคร ช่วยกันเผยแผ่สิ่งดีดีที่ได้แลกเปลี่ยนกันตลอด ๓ วันในงานนี้ ให้สังคมได้รับรู้ มีทั้งสื่อ เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น วิทยุชุมชน อินเตอร์เน็ต และสื่อสิ่งพิมพ์

กระบวนการจัดการในวันงาน เมื่อแต่ละส่วนได้รับมอบหมายภารกิจตามคำสั่งแต่งตั้งคณะจัดงานสร้างสุขโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีคุณทวีศักดิ์ สุขรัตน์ ประชาคมสุราษฏร์ธานีเป็นเลขาและผู้ประสานงานดำเนินการหลัก นอกจากต้องเตรียมสถานไว้รองรับแล้ว ยังต้องจัดการให้งานเป็นไปตามกำหนดการ ตั้งแต่ขั้นลงทะเบียน จัดเข้าที่พัก ประชาสัมพันธ์ชี้แจงการกินอยู่ร่วมกันตลอด ๓ วัน และรับผิดชอบงานเวทีกลางด้วย

การลงทะเบียน ได้ให้นักเรียนนักศึกษามาเป็นผู้ช่วยในการลงทะเบียนและแจกหนังสือ เสื้อ คูปองอาหาร ที่บรรจุในย่าม พร้อมดูแลข้าวกล่องอาหารเที่ยง อาหารว่าง และบริการอื่นๆ ถึงจะคลุกคลักไปบ้างแต่ ทุกคนก็ได้พยายามทำเต็มที่แล้ว

สำหรับหนังสือที่ใช้ประกอบในงาน สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของคนใต้ ๕๑ -๕๒ ที่ทุกคนต้องได้รับมีทั้งหมด ๓ เล่มหลัก พร้อมกับหนังสืออีก ๙ ประเด็นย่อยที่แจกให้สำหรับผู้เข้าประชุมในแต่ละประเด็น ทั้งหมดได้ตกลงร่วมกันว่าจะเอา ปัญญา เป็นตัวเคลื่อน โดยทุกประเด็นมีคณะทำงานขบคิดประสานขับเคลื่อนมาเป็นระยะ ๆ จนออกมาเป็นเอกสารนำเข้าสู่การพิจารณาเชิงประเด็น ๙ เล่ม คือ
ความสุขที่มี ความดีที่ทำของเด็กใต้ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ อบต.ปากพูน...ต้นแบบการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็ก, “มหาสดัม” สร้างเยาวชน, ชมรมหนำเทพศิลป์...หน่วยบ่มเพาะเยาวชนสืบสานวัฒธรรมภาคใต้, แรงบันดาลใจ...สู่ พฤติกรรมสุขภาวะ, เยาวชนฟ้าใส “หัวใจ” คือการเรียนรู้
วาระเมืองคนดี ลดอบายมุขสร้างสุขด้วยปัญญา ที่เปลี่ยนจากประเด็นสุขภาวะปัญญาของคนใต้ ซึ่งได้เตรียมกรณีศึกษาประกอบคือ สร้างสุขแบบพุทธทาสที่สวนโมกข์, โนราสร้างสุขภาวะที่เมืองนคร, แผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง, ออมทรัพย์ออมปัญญาแบบครูชบ ยอดแก้ว, ธนาคารต้นไม้ ธนาคารแห่งภูมิปัญญา และไม่ทันจัดพิมพ์อีก คือสุขภาวะทางปัญญา ณ บ้านคีรีวง, กระบวนทัศน์อิสลามเพื่อการพัฒนา, วาระเมืองฅนดี : ลดอบายมุขสร้างสุขด้วยปัญญา

เกษตรและอาหารปลอดภัยของคนใต้ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ เส้นทางข้าวในโรงแรมนา ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท, ความสุขมวลรวมของชุมชนบ้านศาลาแม็ง, “ผักปลอดสารพิษ” บางเหรียง “ปลุกกินเอง เหลือขาย เรากินได้ คนอื่นกินได้” , ข้าวพันธุ์พื้นบ้านของชาวบางแก้ว, จากยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหารของชาติเมื่อวันวาน...สู่สภาฯอาหารปลอดภัยของชาวสงขลาในวันนี้
นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ “ทำนา หาปลา ขึ้นโหนด”...ความสุขแบบพอกิน ของคนคาบสมุทรสทิงพระ, องค์กรชุมชนกับการจัดการลุ่มน้ำตรัง, กระบวนการเรียนรู้...สู่การสร้างสุขของชุมชนลุ่มน้ำเทพา, ลุ่มน้ำสายบุรีในวิถีชุมชนมุสลิม, ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา, เครือข่ายฯ รัตภูมิวิถีความร่วมมือแห่งลุ่มน้ำ, ความร่วมมือที่ลุ่มน้ำหลังสวนดัชนีชี้เป็นชี้ตาย “สิ่งแวดล้อม” , ปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ของผืนป่าและวังปลา ณ ลุ่มน้ำคลองยัน
วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ ผลิตภัณฑ์อาหารจากกล้วยอาหารภูมิปัญญาพัทลุง, โครงการฟื้นฟูกระบวนการย้อมครามในวิถีผ้าพื้นบ้านภาคใต้, ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรและการนวดพื้นบ้าน, เส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนวิถีพุทธคลองแดน, การแสดงพื้นบ้านกับสุขภาวะคนใต้

พหุปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรม
ท้องถิ่นกับการสร้างสุขภาพ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ การจัดการขยะฐานศูนย์การประยุกต์แนวความคิดของเทศบาลตำบลปริกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างเสริมสุขภาพชุมชน, องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูนกับการสร้างสุขภาวะชุมชน, ตำบลสุขภาวะท่าข้าม
คนใต้กับการเมืองภาคประชาชน ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ ประชาคมท้องถิ่นตรังกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นสู่จังหวัด, การเมืองสมานฉันท์ที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, ธรรมนูญชุมชนเกาะปอ, ชุมชนหลอมปืนกับอำนาจในการจัดการตนเองและทรัพยากรชายฝั่ง, สภาผู้นำกับประชาธิปไตยฉบับชาวบ้านเพื่อการสร้างสุขชุมชนจากหมู่บ้านน้ำซับถึงตำบลขุนทะเล
ธรรมะบันเทิง บันเทิงได้ด้วยปัญญาเพื่อการถึงธรรม ว่าด้วยคาราโอเกะเพลงธรรมะ ๑๑ เพลง และแนวสร้างสุขแบบพุทธทาสที่สวนโมกข์
และยังมีเอกสารหลักอีก ๓ เล่ม คือ
FACTS AND FIGURES ๒๐๐๘ ข้อเท็จจริงและสถิติภาวะคุกคามสุขภาพภาคใต้ ประกอบด้วย ไข้มาลาเรีย โรคไข้เลือดออก โรคเอดส์ วัณโรค โรคชิคุนกุนยา อนามัยแม่และเด็ก สุขภาพช่องปากในเด็ก สถานการณ์การดื่มสุราของเยาวชนในภาคใต้ สถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้
สุขภาวะคนใต้ สถานการ์และข้อเสนอเพื่อการสร้างสุข เป็นเอกสารที่ทีมวิชาการและคณะทำงานของแต่ละประเด็นร่วมกันสรุปสถานการณ์สุขภาวะในประเด็นนั้นๆ พร้อมข้อเสนอเพื่อการสร้างสุขใน ๘ ประเด็นหลัก
สุขสร้างได้ด้วยปัญญา เป็นอีกความพยายามที่ต้องการร้อยเรื่องราวของทุกประเด็นในงานสร้างสุขภาคใต้ “สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้ ๕๑ -๕๒” ให้ตอบโจทย์เรื่องปัญญา โดยได้ประมวลเนื้อหาออกมาเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ ๑ สุขภาวะปัญญาของฅนใต้ เป็นนิยามความหมาย และหลักคิดเรื่องปัญญาของฅนใต้ ส่วนที่ ๒ สุขสร้างได้ด้วยปัญญา เป็นการประมวลจากบทเรียนทั้งหมดใน ๘ ประเด็น มีแง่มุมทางสุขภาวะทางปัญญาอย่างไร

ส่วนของแถมในงานนี้ นอกจากธรรมะบันเทิง ถามตัวเอง ที่เปิดห้องประชุมใหญ่ร้องเพลงคาราโอเกะธรรมะกันแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนากับชาชักของพี่น้องมุสลิม แล้วก็การนั่งสมาธิออกกำลังใจกับการออกกำลังกายไทเก๊กและอื่น ๆ อีกมากที่เอากันมาผสมผสานกันในตอนเช้าตรู่

เมื่อเปิดฉากเวทีงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ ๓ การแสดงศิลปะ–วัฒนธรรมสร้างสุข ๔ มุมเมืองก็เริ่มขึ้น มาพร้อมกับทีเด็ดที่มาเสริม เปิดเวทีกับนักร้องลูกทุ่งสาวเสียงใสมาร้องนำสามสี่เพลงพร้อมนางรำนุ่งน้อยห่มน้อยให้เป็นที่ตกกะใจกับ “ปัญญานำของคนใต้” อยู่พักใหญ่ก่อนที่จะพากันนิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ากับโต๊ะครูออกจากหอประชุมกันแทบไม่ทัน ทราบทีหลังว่ามีขาใหญ่ อบต.ในสุราษฎร์เมืองเจ้าภาพบอกมาว่ามีรายการดีมาขอสมทบแทรกเสริม แล้วใครก็ไม่ทันคิด ยกให้เป็นรายการพิเศษเปิดเวทีทำเอาได้ปัญญากันตาม ๆ กัน ก่อนจะตามด้วยดีเกฮูลูของเด็ก ๆ จากภูเก็ตที่เต็มไปด้วย สุขภาวะทางปัญญาอย่างยิ่ง เพราะน้องร้องเล่นอย่างมีสติลีลาและรื่นเริง แถมเนื้อหาก็พาให้ปลงกับน้องสาวนุ่งน้อยทั้งหลาย เพราะน้องดีเกฮูลูร้องเพลงว่าเป็นมุสลิมต้องศรัทธาในศาสนา เป็นคนไทยต้องรักชาติและบ้านเกิด ฯ ...งานนี้มีข้อคิดสำหรับคนคุมเวที
ต่อมาเป็นการรายงานสุขภาวะคนใต้ โดยศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสุ่วิวัฒน์วงศ์ และ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ชี้เรื่องโรคระบาด ซิคุนกุนยา มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเอดส์ วัณโรค ปัญหาสังคมเศรษฐกิจจากความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ แต่จากที่ดูรายงานผ่านมา ๓ ปี เรื่องนี้ยังขยับไม่ออกจากการนำเสนอเพียงข้อมูลด้านระบาดวิทยาเท่านั้น

จากนั้นพิธีเปิดอย่างเป็นทางการก็เริ่มในเวลา ๑๓.๐๐ น. ที่คนเข้าร่วมแน่นขนัด รมว.สธ.ไม่มาเอง มอบผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายสุเชษฐ์ แวอาแซ เป็นประธานเปิดงาน มีนายแพทย์ณัฐวุติ ประเสริฐสิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้กล่าวรายงาน ว่า การจัดงานสร้างสุขเป็นเพียงจังหวะการเคลื่อนไหวหนึ่งเพื่อการสร้างสุขของฅนใต้ที่เชื่อมประสานไปกับจังหวะของแผ่นดินที่ผ่านการพัฒนามาเนิ่นนานแม้จะเป็นเพียงจังหวะเล็กๆ แต่ก็เป็นจังหวะแห่งการก้าวใหม่ของ "ชุมชนชาวบ้านและคนเล็กคนน้อย" ที่ขอมีส่วนบ้างตามกำลังและศักยภาพที่ประสานไปพร้อมกับการขับ "ความรู้" เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสุขด้วยกัน
ทั้งนี้ โดยมีหลักคิดว่า สุขภาพ สุขภาวะ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของชีวิต ของผู้คนในสังคม การทำให้คนตื่นรู้ เรื่อง สุข-ทุกข์ รู้ตามสภาพเป็นจริง รู้หาเหตุ รู้ว่าสุขมีได้ เสริมสร้างได้ด้วยหนทางต่างๆ ภาคใต้มีการคิดค้นริเริ่มเรื่องนี้มาเนิ่นนานมีนวัตกรรมแก้ทุกข์ สร้างสุขออกมาอย่างหลากหลาย เช่น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ธนาคารหมู่บ้าน สภาผู้นำ และแผนแม่บทวิสาหกิจชุมชน เชื่อมประสานกับศาสนธรรมที่สืบต่อกันมาช้านาน ๕ ปีที่ผ่านมากระแสการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาพองค์รวมได้ยกระดับเป็นวาระสร้างสุขสู่การเคลื่อนไหวไปสู่เครือข่ายภาคีพันธมิตรสร้างสุขในภูมิภาค
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงาน คือ ๑. เพื่อยกระดับให้เรื่องสุขภาพ-สุขภาวะ หรือสุข-ทุกข์ และการสร้างเสริมสุขภาพเป็นวาระสำคัญของฅนใต้ ๒. เพื่อประมวลและประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพของภาคใต้สู่การพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะเชิงรุก ๓. เพื่อการเรียนรู้ขยายผลกิจกรรมงานสร้างเสริมสุขภาวะสู่ภาคีพันธมิตรหน่วยงาน ชุมชน ท้องถิ่นและสาธารณะ ๔. เพื่อสร้างกลไกระดับภาคในการเชื่อมประสานบูรณาการและขยายเครือข่ายภาคีพันธมิตรสร้างสุขภาพในภาคใต้
ลักษณะการจัดงาน คล้ายกับการเข้าค่ายของผู้คนใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้จำนวน ๑,๐๐๐ คนมาร่วมกันกำหนดวาระคนใต้ เพื่อเสนอนโยบายที่สำคัญ จำนวน๑๐ เรื่อง ได้แก่
๑. ความสุขที่มี ความดีที่ทำ ของเด็กใต้ ๒. ลดอบายมุข สร้างสุขด้วยปัญญา ๓. เกษตรและอาหารปลอดภัยของคนใต้ ๔. นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ ๕. วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ ๖. สื่อคนใต้สร้างสุข ๗. ท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ๘. ธรรมะบันเทิง สร้างสุขด้วยปัญญา ๙. คนใต้กับการเมืองภาคประชาชน ๑๐. พหุปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรม
โดยการคาดหวังว่า เมื่อเสร็จสิ้นงานนี้แล้ว มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อนำข้อเสนอไปสู่การขับเคลื่อนในพื้นที่และระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ขณะที่นายสุเชษฐ์ แวอาแซ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า จากการรายงานของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ได้ข้อคิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อทุกคน และมีความหมายกว้างขวางไปถึงสุขภาวะ ที่รวมเอาร่างกาย จิตใจ ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ถือเป็นการให้นิยามที่สะท้อนถึงการพัฒนาอย่างรอบด้านเป็นองค์รวมและมีการเชื่อมโยงบูรณาการกันอย่างน่าสนใจยิ่ง ในแต่ละปีรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากกับการรักษาหรือซ่อมสุขภาพ ขณะเดียวกัน หากว่าเราได้มีการสร้างนำซ่อม จะสามารถทำให้สุขภาวะสังคมไทย ชีวิตคนไทย โดยเฉพาะคนใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพแข็งแรง ท้องถิ่นน่าอยู่ การที่มีกลุ่ม องค์กรหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชน ชุมชน ประชาสังคม และหน่วยราชการได้สร้างสรรค์สิ่งดีงาม และมีคุณค่าขึ้นในท้องถิ่นและชุมชนพร้อมๆ ไปกับการนำหลักศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงเป็นฐานการพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมา นับเป็นการก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่งของการลดทุกข์ สู่การสร้างสุขให้เกิดขึ้นในภาคใต้
ต่อจากนั้นอยู่ดี ๆ ไม่ทราบว่าประสานกันอย่างไร พิธีกรก็ประกาศเชิญชวนผู้เข้าร่วมตามประธานออกไปชมนิทรรศการ กินของว่างแล้วไปประชุมห้องย่อย ทั้ง ๆ ที่มีรายการสำคัญ ปาฐกถานำเรื่องสุขภาวะทางปัญญา โดยเจ้าอาวาสสวนโมกข์ พระภาวนาโพธิคุณ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เพื่อเปิดประเด็นทางปัญญาตามแนวพุทธและมุสลิม ใช้เป็นหลักคิดสำหรับการเสนาในประเด็นย่อย จนเกิดโกลาหลเล็กน้อยก่อนที่จะกลับเข้าสู่รายการปกติได้ คนก็หายไปจากห้องเกือบหมด งานนี้มีข้อคิดสำหรับคนทำสคริปต์กับพิธีกรรับเชิญที่มาเพื่อเป็นพิธีกรโดยไม่ได้รู้เรื่องงานมาก่อน

บ่ายแรกมี ๓ เวทีย่อย เวทีลดอบายมุข สร้างสุขด้วยปัญญาของคนสุราษฎร์ ที่ห้องประชุมโรงมหรสพทางวิญญาณ ดูท่าจะกร่อยที่สุด เพราะอยู่ไกลและไม่มีคนเข้าเลย ส่วนอีกสองเวทีมีคนมากเพราะเตรียมกันมาก่อน คือ เวทีวาระคนใต้ เรื่อง ‘ความสุขที่มี ความดีที่ทำของเด็กใต้ ที่ห้องประชุมธรรมทโฆษณ และที่ห้องประชุมสระนาฬิเก เรื่อง เกษตรและอาหารปลดภัย ของคนใต้

ตกเย็นหลังอาหารมีเวทีพิเศษ คาราโอเกะเพลงธรรมบันเทิง คนก็น้อย มีแต่ขาประจำที่รู้จักและชักชวนกันไว้เท่านั้น ภาคีเข้าร่วมอื่น ๆ แทบไม่มีมาเลย คงต้องทบทวนทั้ง ๓๖๐ องศา งานนี้ทีวีไทยมาบันทึกรายการไปออกอากาศด้วย

วันที่สองของงานสร้างสุข เริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด ณ ลานกิจกรรมหน้าอาคารทีปังกรณ์ เป็นการทำกิจกรรมทางศาสนา ต่อด้วยการออกกำลังกาย ไท้เก็ก หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จก็เข้าสู่สาระของแต่ละกลุ่ม มีเวทีวาระคนใต้อีก ๘ เวที เช้า ๔ บ่าย ๔ โดยมีเวทีหลักคือการจัดการลุ่มน้ำที่เหมายาวเช้าบ่าย ยกพลคนลุ่มน้ำและบรรดากูรูของภาคใต้มากันพร้อมหน้า คนเข้าก็คับคั่งจริงจัง อีกเวทีที่เห็นครูใหญ่ทางวัฒนธรรมภาคใต้มากันตรึม คือเวทีวัฒนธรรมคนใต้ ในขณะที่เวทีท้องถิ่นนั้น นายกมากันมากหน้า ที่สำคัญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมท้อมถิ่นมาอยู่ตลอดเวที ที่สำคัญที่สุดคือไฟดับอยู่นานนับชั่วโมง แต่ห้องประชุมขนาด ๓๐๐ กว่าคนที่แน่นขนัด มืดมิดและค่อย ๆ อบอ้าวจนอุ่นนั้น ไม่มีการขยับลุกออก จนท่านรองปลัดบอกว่าเป็นเวทีที่ให้สาระอย่างยิ่ง มีสองเวทีที่แถมเสริมเข้ามา คือ เวทีสื่อคนใต้สร้างสุข กับ ธรรมบันเทิง ก็มีคนเข้าร่วมตามสมควร ในขณะที่เวทีอื่นก็มีคนเข้าร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนเวทีวัฒนธรรมวิถีมุสลิมเสวนากับชาชักนั้น เข้าใจว่ามีความไม่พร้อม จึงลดรายการลง ไม่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมใด ๆ

วันที่ ๓ เป็นเวทีสรุปผลการประชุมระดมปัญญา ที่ออกแบบให้เป็นการเชิญตัวแทนจากแต่ละเวทีประเด็นมานำเสนอข้อสรุปที่ได้โดยมีเอกสารการสรุปแจกจากทุกประเด็นให้กับทุกคน ให้อ่านเสนอสั้น ๆ ๓ – ๔ นาที กำหนดให้ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เป็นคนดำเนินรายการ ก็ดูว่าวิธีนี้น่าสนใจเหมือนกัน มีสาระ กระชับ ไม่แห้งแข็ง แถมยังได้เสียงฮาเป็นระยะ ๆ มีคนเข้าร่วมราว ๆ ๓๐๐ - ๔๐๐ คน โดยมีตัวแทนจากภาคีหุ้นส่วนมาเพิ่มข้อสังเกต คือ อ.กรรณิการ์ รองเลขา สช. กับ นพ.ภูมิวิชช์ ผอ.สปสช.ภาคใต้ตอนบน โดยรอง ผจก.สสส.ดร.สุปรีดา ที่แจ้งว่าจะมานั้นเกิดติดกิจขอยกเลิกการมา ก่อนที่ท่านผู้ว่าสุราษฎร์จะมาเป็นประธานปิดด้วยการประกาศเจตนารมณ์ลดอบายมุข สร้างสุขด้วยปัญญาของเมืองสุราษฎร์ และคุณลุงประยงค์ รณรงค์มาให้ปัจฉิมพจน์ พร้อมกับการแสดงปิดกับการรับไม้ต่อของนครศรีธรรมราช
ข้อสังเกตต่องานสุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้ ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒
ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษของงานภาคใต้มีอีก ๖ - ๗ ประเด็น
หนึ่ง การมุ่งมั่นเรื่อง สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของคนใต้ ที่ขอให้ทุกประเด็นเน้นการขับเคลื่อนด้วยปัญญา นำเสนอกรณีศึกษา ยกระดับความรู้และปัญญาออกมาขับเคลื่อน โดยยังมีการถอดรหัสทางปัญญาจากแต่ละกรณีศึกษาและประเด็น ออกมาเป็นเล่มน้อย ‘สุขสร้างได้ ด้วยปัญญา’ อีกด้วย ส่วนจะเกิดผลกี่มากน้อยค่อยดูกันอีกที
สอง การขับเคลื่อนเป็นประเด็นโดยกลุ่มขับเคลื่อนเชิงประเด็นที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเดิมจนถึงประเด็นใหม่ ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ อย่างเกาะติดจนแม้ในการมาประชุมก็เกาะติดกันตลอดดังปรากฏในการเข้าร่วมกลุ่มเชิงประเด็น
สาม การออกแบบพื้นที่และบรรยากาศงานได้อย่างลงตัวยิ่ง ทั้งที่พัก อาหาร ลานนิทรรศการ เวที และ ห้องประชุม ในทัศนะของผมเห็นว่าสถานที่ของภาคใต้ปีนี้เข้าขั้นสุดยอดเลยทีเดียว ขอปรบมือให้ทีมสุราษฎร์ดัง ๆ อีกที หลังจากเสียท่าไป ๒ ทีเมื่อตอนพิธีเปิด
สี่ ที่พัก กับ อาหาร ได้รับการชื่นชมมาก ๆ กล่าวคือนอนกันง่าย ๆ ในหอพักนักศึกษา ผมพบอดีตอธิการบดี ศิลปินแห่งชาติ ฯ ท่านนอนหอนักศึกษากันทั้งนั้น ด้านอาหาร โดยเฉพาะเช้ากับเย็นที่ยึดโรงอาหารมาตั้งหม้อ เตา กระทะ ผัดผัดไทย ทอดปาท่องโก๋ ชงชากาแฟ ให้กินกันอย่างนี้ นับว่าสุดยอดเช่นกัน คุยกันไป กินกันไป ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ได้อะไรมากกว่าที่คิด
ห้า บรรยากาศพิเศษตอนเช้าตรู่ตั้งแต่ตีห้าของวันที่ ๒ และ ๓ นั้น เชื่อว่าคนที่เข้าร่วมจะรู้และสัมผัสได้เองถึงความวิเศษ กล่าวคือ มีการสวดมนตร์ทำวัตรเช้าและบทพิเศษบางบทแบบครบเครื่อง ตามด้วยการนั่งสมาธิภาวนาชั่วขณะ แล้วร่วมเต้นไท้เก๊กกับชมรมไท้เก๊กสุราษฎร์ธานีที่ย้ำเรื่องการออกกำลังใจและปัญญา ต่อด้วยนานาการออกกำลังกายในวิถีคนใต้ ตั้งแต่โนรา รองเง็ง แถม แทงโก้ กะ ชะชะช่า จบแล้วพากับไปกินป่าท่องโก๋ ข้าวต้ม ชากาแฟ ก่อนอาบน้ำแล้วเข้าประชุมกัน
หก นิทรรศการมีการจัดอย่างง่าย ๆ พอเสริมบรรยากาศ ที่ทำได้น่าสนใจมากน่าจะเป็นของกลุ่มวัฒนธรรม กับ กลุ่มลุ่มน้ำ ของเพื่อนคริสต์น่าเสียดายที่ตั้งไกลออกไป เช่นกันกับของสวนโมกข์ที่ไกลห่างออกไปนิดนึง แต่อย่างอื่นก็ลงตัวยิ่งแล้ว
เจ็ด การสื่อสาร เห็นการตั้งเวทีจัดรายการและถ่ายทอดวิทยุ และ เคเบิ้ลทีวีตลอดงานทั้ง ๓ วัน เรียกว่าทำคู่ขนานอย่างไม่ลดละ โดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมแผนเปิดรับทั่วไป สสส. ก็ถูกตามตัวไปออกอากาศสดทางเคเบิ้ลทีวี กับ วิทยุประเทศไทยที่ตลาดในเมืองกว่า ๒ ชั่วโมง
แปด ที่ภาคใต้ทำอย่างนี้ได้อาจจะเพราะจัดเป็นเจ้าสุดท้ายก็ได้ ข่าวว่าข้อสังเกตจาก เหนือและอีสานส่งผลต่อการเตรียมการที่ภาคใต้อย่างมาก ก็หวังว่าการทำข้อสังเกตทั้งหมดมานี้มิได้มีเจตนาอื่น ดู เห็น คิด เขียนโดยสุจริตใจและด้วยปรารถนาดีทั้งสิ้น เพื่อให้ได้ร่วมเรียนรู้อย่างกว้างขวางเพื่อเอามาประการขบคิดขบวนการงานสร้างสุขทั่วไทยของพวกเราต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever