ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ร่วมเรียนรู้...สานข่าย ขยายปัญญา พาเคลื่อนงาน” งานสร้างสุขภาคกลาง

“ร่วมเรียนรู้...สานข่าย ขยายปัญญา พาเคลื่อนงาน”
งานสร้างสุขภาคกลาง
วันที่ ๒๗ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ



งานสร้างสุขภาคกลาง ที่เป็นการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนงานสร้างสุขในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รวม ๒๖ จังหวัด ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยากมาก ด้วยความซับซ้อนทางสังคม ขนาดพื้นที่และความแตกต่างของบริบทสังคม ถึงจะผ่านประสบการณ์การจัดงานสร้างสุขกันมาหลายครั้ง รวมถึงเป็นพื้นที่รองรับการจัดเวทีระดับประเทศมาโดยตลอด เช่น การจัดงานรวมพลังสร้างสุขปี ๒๕๔๖ และ ๒๕๔๗ ที่จัดที่กรุงเทพฯ แต่นั้นก็เป็นการจัดงานเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนภาคกลาง เมื่อต้องมาจัดงานกันเองเหมือนกับว่ายังหาจุดลงตัวกันไม่พบ โดยงานสร้างสุขภาคกลาง ครั้งที่ ๑ จัดที่สนามกีฬาจังหวัดราชบุรี ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ยังไม่มีรูปแบบชัดเจน เพียงมาพบกันเหมือนเป็นแค่งานแฟร์นำเสนอผลงาน เสร็จงานแยกกันกลับก็จบกันไป
งานสร้างสุขภาคกลาง ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ ครั้งนี้มาจัดกันที่ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ สมุทรปราการ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากภาคอื่น คือการหาทิศทาง สร้างเครือข่าย หากลไกขับเคลื่อนขบวนสุขภาวะระดับภาค ภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการจัดงานสร้างภาคกลางครั้งนี้ ๒ โครงการ คือ
๑.โครงการขบวนสร้างสุขภาคกลาง รับผิดชอบโดยคณะทำงานประสานงานและกลไกการจัดงานสร้างสุขภาคกลางทำหน้าที่เกาะเกี่ยวเชื่อมร้อยพื้นที่อันหลากหลายมาร่วมกัน มีผู้ประสานงานคือ ปิยะ พวงสำลี และยังมีทีมจังหวัดเจ้าภาพคือสำนักงานสาธารณสุขสมุทรปราการร่วมด้วย
๒.โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้และพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนงานสร้างสุขในพื้นที่ภาคกลาง รับผิดชอบโดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

“..ที่ผ่านมาเราชวนคนมาทำเรื่องเดิมๆเสร็จแล้วก็บ้านใครบ้านมันเพราะทิศทางข้างหน้ามันไม่มี แต่ตอนนี้เราชวนยกระดับไปทำเรื่องใหม่ คือการทำงานเชิงพื้นที่ไม่ใช่เชิงประเด็นไม่ได้มองว่าประเด็นเป็นตัวนำแต่เป็นเครื่องมือในการถักทอให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่..”
ปิยะ พวงสำลี ผู้ประสานงานสร้างสุขภาคกลาง เล่าเส้นทางงานสร้างสุขภาคกลางว่ามีการจัดเวทีย่อยๆเวิร์คช็อปในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก ปริมณฑล
“..เพื่อระดมสถานการณ์สุขทุกข์ หาว่าทุนเดิมมีอะไร มีกระบวนการ บทเรียน ความสำเร็จอะไรบ้าง แล้วก็วิเคราะห์ทิศทางข้างหน้า เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม คาดหวังว่าพบจบงานสร้างสุขก็จะได้ร่างแนวทางการเคลื่อนขบวนของคนภาคกลางร่วมกัน..”

จากที่ได้ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมฯ เพื่อค้นหาประเด็นร่วมทางสุขภาพของภาคกลางก่อนที่จะมาพบกันในงานสร้างสุขที่สมุทรปราการ ได้ชักชวนคนทำงานด้านสุขภาพทั้งภาคประชาชน สังคม ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชนมาร่วมในโครงการวิจัย และร่วมพัฒนายุทธศาสตร์ของภาคกลาง พัฒนาชุดความรู้เพื่อสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ ภายใต้กรอบคิดการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาคกลางที่เน้นการทำงานเชิงพื้นที่ (Area – based) โดยใช้ประเด็นปัญหาหาร่วม หรือ สุข-ทุกข์ร่วมของพื้นที่เป็นประเด็นเชื่อมโยงความร่วมมือในทุกภาคส่วน และมีเป้าหมายมากกว่าการแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมสุขภาพ ปลุกจิตสำนึกท้องถิ่น และการเกิดเครือข่าย

จากผลงานวิจัยจึงได้ชุดความรู้การทำงานเชิงพื้นที่ออกมาทั้งหมด ๑๑ เรื่อง ประกอบด้วย
๑. สุขภาวะภาคกลางปี ๒๕๕๑ สถานการณ์และแนวโน้ม
๒. ฐานข้อมูลสุขภาวะภาคกลาง บทสังเคราะห์การบริหารจัดการโครงการและแนวทางการสร้างสุขภาวะ
๓. การพัฒนาสุขภาพเชิงพื้นที่ หลักการ กรณีศึกษาและข้อเสนอที่ท้าทายต่อการขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง
๔. การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะเชิงพื้นที่
๕. การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่
๖. การสังเคราะห์บทเรียนการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายสุขภาวะเชิงพื้นที่
๗. เครือข่าย กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่
๘. ชุดเครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่
๙. แผนที่ข้อมูลทุนทางสังคม
๑๐. นวัตกรรมสุขภาพภาคกลาง
๑๑. ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง

และในรายงานสถานการณ์และแนวโน้มสุขภาวะภาคกลาง พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศ ทั้งเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม ก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการพัฒนามากเช่นกัน
คนภาคกลางมีปัญหาสุขภาพจากสภาพแวดล้อม การประกอบอาชีพ พฤติกรรมการบริโภคเป็นหลัก และมีความเจ็บป่วยทางจิตสูงกว่าพื้นที่อื่น อุบัติการณ์ของโรคพบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกมากที่สุดในประเทศที่ อ่างทอง อยุธยา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนอัตราการตายสูงที่สุดของประเทศคือมะเร็งปากมดลูกที่ ลพบุรี ชลบุรี กรุงเทพฯ, มะเร็งเต้านมที่กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม, โรคหัวใจที่กรุงเทพฯ สิงห์บุรี นนทบุรี, โรคหลอดเลือดสมองที่จันทบุรี สิงห์บุรี พิษณุโลก ยังพบว่าภาคกลางติด ๕ ใน ๑๐ อันดับที่อัตราตายจากเอดส์สูงสุดที่ ลพบุรี ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี, อุบัติเหตุมีอัตราตายสูงสุดในประเทศที่ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร, อัตราการฆ่าตัวตายติด ๓ ใน ๑๐ อันดับของประเทศ ที่จันทบุรี ระยอง นครนายก
สถานการณ์ครอบครัวและชุมชนพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) แม้ว่าจะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าทุกภาค แต่ก็มีหนี้สูงที่สุดเช่นกัน และขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสสูงกว่าภาคอื่น แต่ก็มีอัตราการอย่าร้างสูงที่สุด
ภาคกลางมีป่าไม้น้อยที่สุดในประเทศและต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมในระบบนิเวศน์ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้งเพิ่มขึ้น, ชลบุรีและระยองซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักยังประสบภาวะขาดแคลนและแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม, ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เกิดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การก่อสร้าง ส่วนสระบุรีมาจากโรงโม่หินและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, ภาคกลางมีขยะและของเสียอันตรายถึงร้อยละ ๗๗ ของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม และยังพบว่าคนภาคกลางป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะ จันทบุรี ตาก ตราด
คนในภาคนี้ยังเผชิญกับมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง ซึ่งยังคงเป็นความขัดแย้งยาวนาน กรมควบคุมมลพิษพบสารอินทรีย์ระเหยซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งถึง ๑๙ ชนิด รวมทั้งก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงกว่ามาตรฐาน ยังมีปัญหาการปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนโลหะหนักสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายบริเวณชุมชนและพื้นที่สาธารณะ ผลกระทบต่อสุขภาพพบว่าระยองมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจมากถึง ๖๙๖ คนต่อประชากรพันคน และโรคมะเร็ง ๑,๒๖๓ คนต่อประชากรแสนคน

จากสถานการณ์สุขภาพภาคกลางดังกล่าว ทำให้ภาคีหลักของภาคมีความเห็นร่วมกันว่า การจะสร้างสุขได้ต้องจัดการกับ ๓ เรื่องหลัก โดยกำหนดเป็นประเด็นขับเคลื่อนงานสร้างสุขของภาคให้ผสมผสานสอดคล้องกัน กล่าวคือ
๑. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย การจัดการทรัพยากรน้ำ (ความพอเพียง และคุณภาพของน้ำ) การจัดการทรัพยากรดินอันเกิดจากสารเคมี การจัดการทรัพยากรป่า การขจัดมลพิษทางเสียง การขจัดมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะและของเสียที่เป็นพิษ และอื่นๆ
๒. ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน ประกอบไปด้วย การลดพฤติกรรมเสี่ยงของทุกกลุ่มประชากร ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความขัดแย้งทางความคิดในชุมชน ความเสื่อมถอยของคุณธรรมและจริยธรรม
๓. การขจัดความยากจน โดยเน้นที่การลดหนี้ภาคครัวเรือน

พร้อมได้ร่วมกันพัฒนา ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง ภายใต้วิสัยทัศน์งานสร้างสุขภาคกลาง ว่าด้วย การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของภาคประชาชน ภาคเอกชนภาควิชาการ ผู้นำทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน มีสุขภาพดีในทุกด้าน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขจัดความยากจนที่เน้นการลดหนี้สินภาคครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัวและชุมชน ที่ผสมผสานกลมกลืนกันควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ตามพันธกิจ ดังต่อไปนี้
สนับสนุนส่งเสริมงานสร้างสรรค์ หรืองานนวัตกรรมสุขภาพของพื้นที่ในภาคกลาง
สนับสนุนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพในด้านต่างๆ ให้โอกาสได้แบ่งปันความรู้ (knowledge sharing) และทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สูงขึ้นไปอีก
สนับสนุนและพัฒนาการทำงานเครือข่าย
การพัฒนาศักยภาพ ให้กับบุคคล กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์งานตามพันธกิจ
สนับสนุนกระบวนการนโยบายสาธารณะของพื้นที่ภาคกลาง
ผลักดัน สนับสนุนและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะ และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง

สำหรับเชิงโครงสร้างและกลไกหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาคกลาง พบว่า ยังไม่มีกลไกภาค แต่การผลักดันยุทธศาสตร์ภาคจำเป็นต้องมีกลไกอำนวยการ กำกับทิศทาง และการหนุนเสริม และการเคลื่อนงานภาคก็มีต้นทุนสูง จึงจำเป็นต้องมีกลไกภาคคอยเชื่อมร้อยองค์กรและแหล่งทุนต่างๆ เพื่อหนุนเสริม โดยแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น ๒ ระยะ ระยะแรก เป็นการขับเคลื่อนของจังหวัดนำร่องโดยมีจังหวัดอื่นร่วมเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกิดความพร้อม มีโครงสร้างคณะทำงานระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด
ระยะที่ ๒ เป็นการขับเคลื่อนงานสร้างสุขเต็มพื้นที่ มีโครงสร้างคณะทำงานระดับภาค ระดับโซน และระดับจังหวัด โดยถูกกำหนดแบ่งโซนตามพื้นที่ภูมิสังคมวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันเป็น ๔ โซน คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก
และจากข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง พร้อมชุดความรู้การทำงานเชิงพื้นที่ออกมาทั้งหมดนี้ จะถูกเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันในเวทีสร้างสุขภาคกลาง ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ วันที่ ๒๗ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อไป

การจัดงานสร้างสุขภาคกลางปีนี้ เลือกสถานที่จัดงานในอาคารประชุม เป็นสัดส่วน เหมือนจำกัดเฉพาะคนที่เชิญมาร่วมประชุม ซึ่งอาจจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของภาคกลาง โดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วม “บรรยากาศเป็นเอกภาพและคึกคักดี แถมหน้าห้องยังมีน้ำหวานสีสวย ๆ เป็นสีธรรมชาติให้ดื่มด้วย การเริ่มงานจึงคึกคักคลาคล่ำด้วยผู้คน จนได้เวลามากันพร้อมหน้าเต็มห้องประชุมหลายร้อยแต่คงไม่ถึงพัน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการมาเป็นประธานเปิด มีนายแพทย์ สสจ.สมุทรปราการกล่าวรายงานแถมด้วยแหล่เสภาสร้างสุขของคนภาคกลางที่ นพ.สสจ.ว่าเองอย่างเหลือเชื่อ ส่วนวิดิทัศน์นำเสนอก็ทำได้ง่าย ๆ แต่ได้ความ ด้วยการบันทึกลำดับความเป็นมาของขบวนการขับเคลื่อนงานปีนี้ผ่านเวทีต่าง ๆ พร้อมโจทย์ คำถาม ประเด็น ข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อการนำเข้าสู่ที่ประชุมในงานนี้ ถือเป็นดำริที่ดีอาจเทียบเคียงกับอีกแนวของภาคอีสานที่เน้นเสนอภาพรวมเรื่องสุขทุกข์แล้วชี้ชวนสร้างสุขตามที่มักนิยมทำกัน

หลังพิธีเปิด เป็นการปาฐกถานำของคุณแม่ชีศันศนีย์ ที่เก๋เสมอด้วยการชวนทำสมาธิดอกไม้บานผ่านแอนิเมชั่นสวย แม้บรรยากาศจะจอแจไปสักนิดเพราะคนมาก แต่ก็เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมด้วยดี เพียงแต่ปาฐกถาที่คาดหวังนั้นไม่ได้เป็นปาฐกถาเท่านั้น
ด้วยบริเวณการจัดงานอยู่ในห้องประชุมใหญ่ทั้งหมด เพียงแต่มีฉากกั้นออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นลานนำเสนอนวัตกรรมสร้างสุข อีกฝั่งเป็นเวทีประชุม เมื่อประธานเปิดงานเดินชมนิทรรศการ เจ้าของซุ้มก็นำเสนอเต็มที่ ซุ้มข้างๆ ก็แข่งเรียกความสนใจ ทั้งเสียงกลอง ฉิ่ง ฉาบ เดือดร้อนถึงคนคุมเสียงไม่รู้จะไปบอกให้ลดเสียงอย่างไรดี อีกฝั่งหนึ่งก็กำลังจะเปิดประชุมเวทีกลางของภาค แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี ท่านประธานคงเห็นเสียงดังรบกวนการประชุมจึงรีบเดินกลับออกไป แล้วก็มาต่อกันที่การนำเสนอกรณีศึกษาของสมุทรปราการ ได้แก่ การจัดการความยากจนที่หมู่บ้านบางน้ำผึ้ง, การต่อสู้ผลกระทบโลกร้อนที่บ้านขุนสมุทรจีน, ครอบครัวลดเหล้าในโรงงานไทเกรียง ซึ่งผสานกับการเดินชมกรณีศึกษาในลานตามสมัครใจของคนเข้าร่วม

ตอนบ่ายมีการแบ่งเป็น ๓ ห้องย่อยตามประเด็นขับเคลื่อนที่วางไว้แต่เดิม ได้แก่ ห้องที่ ๑ ประเด็น ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน มีการนำเสนอกรณีศึกษา พลังคนสามวัยดับไฟยาเสพติดที่ชะไว อ่างทอง, โครงการเรียน ๒ ระบบจบ ๒ หลักสูตรเพื่อครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง สุพรรณบุรี และตำบลสุขภาวะและบูรณาการ จันทบุรี ประเด็น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอกรณีศึกษาของ ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ตราด, ป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง ชัยนาท, ป่าต้นน้ำศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม กาญจนบุรี ส่วนห้องที่ ๓ ประเด็นการขจัดความยากจน นำเสนอกรณีของ ศาลาสร้างสุขบางระกำ นครปฐม, มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุทรสงคราม, ซึ่งทุกประเด็นมีคนเข้าร่วมแน่นทุกห้อง แลกเปลี่ยนกันแบบจริงจัง ขนาดที่ผู้นำเสนอในห้องประเด็นการขจัดความยากจนยังต้องถอยตั้งหลัก เมื่อถูกผู้เข้าร่วมรุกถาม ชัก แลกเปลี่ยนไม่ให้พักยก สุดท้ายต้องตัดสินที่กรรมการผู้ดำเนินการบนเวที คือคุณปิยะ เข้าคลี่จึงปิดเวทีลงได้ ถ้าไม่งั้นคงอดเที่ยวเมืองโบราณแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ได้เห็นถึงความพยายามรักษามรดกไทยของคุณเล็ก วิริยะพันธ์ ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม จึงนับเป็นสถานที่แห่งความสุขแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าภาพจัดงานก็ใจดีจัดโปรแกรมทัวร์เมืองโบราณนี้ให้ด้วย

ภาคกลางคืน ไม่มีพิธีการอะไร เพียงเป็นการเลี้ยงอาหารโต๊ะจีน มีการแสดงของภาคีเครือข่ายและน้องๆ นักเรียนโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ นั่งคุยแลกเปลี่ยนกันด้วย กินอาหารไปด้วย พออิ่มได้เวลาก็แยกย้ายกันกลับโรงแรมที่พัก

เริ่มงานวันที่สอง เป็นการสรุปประมวลการประชุมย่อยทั้ง ๓ ประเด็น และนำเสนอ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาคกลาง เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนร่วมกัน จากการสรุปสังเคราะห์เชิงวิชาการที่คณะนักวิชาการเข้าร่วมอย่างจริงจังก่อนที่จะหาข้อสรุปเพื่อการขับเคลื่อนการสร้างสุขร่วมกันของคนภาคกลาง แต่พอมานำเสนอรวมเพื่อขบคิดขับเคลื่อน โดยออกแบบให้จัดกลุ่มเป็น ๔ กลุ่มตามภูมิสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่ภาคกลางที่คาดว่าน่าจะขับเคลื่อนกันต่อได้ คือ ตะวันออก, กลางตอนบน, ภาคตะวันตก, กรุงเทพและปริมณฑล แต่กลับกลายเป็นการเสนอและคิดเป็นรายจังหวัดทำให้ที่เตรียมการและตั้งใจจะได้แนวทางการขับเคลื่อนขบวน กลับกลายเป็นการคิดกิจกรรมของจังหวัดมากกว่าการขับเคลื่อนขบวนของจังหวัดเพื่อการประสานเป็นขบวนของคนภาคกลาง จนทำให้การขบคิดและประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนขบวนของคนภาคกลางเหมือนจะไม่ออก

“..ภาคกลางมีความพยายามทำงานเป็นภาคมานาน แต่ไม่ค่อยจะรวมกันได้ เราก็พยายามลงไปเกาะเกี่ยวผู้คน และที่ผ่านมายังไม่มีกลไกการสนับสนุนทางวิชาการชัดเจน ไม่มีฐานข้อมูลสุขภาวะภาค ปีนี้เราก็ทำงานวิชาการควบคู่ไปกับงานเคลื่อน โดยทั้ง ๓ ทีมมีธงร่วมกันว่าจะทำงานเชิงพื้นที่ จึงพยายามชวนทุกภาคส่วนมาร่วมทั้งภาครัฐ วิชาการ ประชาชน เอ็นจีโอ ประเด็นร่วมของภาคก็มีการระดมกันในเวทีย่อยๆออกมาเป็นสิ่งแวดล้อม ครอบครัว ความยากจน เป็นปัญหากว้างๆเพราะพื้นที่ภาคกลางใหญ่มาก ซึ่งคิดว่าในปีต่อไปจะมีประเด็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้..”
ผศ.ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ หัวหน้าทีมวิชาการงานสร้างสุขภาคกลาง เล่าแนวคิดและความพยายามสร้างขบวนสุขภาวะภาคกลางว่าปีนี้แม้ไม่เห็นรูปธรรม แต่ก็เป็นจุดเริ่มให้ก้าวต่อ
“..เราเริ่มทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ สังเคราะห์องค์ความรู้ ถอดบทเรียน และระยะต่อไปก็จะพยายามสร้างภาคีเครือข่ายสถาบันวิชาการต่างๆในภาคเช่น ม.ศิลปากร, ม.เกษตร ส่วนการขับเคลื่อนเชิงประเด็น ฝันไว้ว่าจะให้ทั้ง ๒๖ จังหวัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาร่วมกันเป็น action plan ของภาคกลาง แต่ตอนนี้ได้เป็นข้อเสนอยุทธศาสตร์ร่วมเป็นจุดเริ่มให้ก้าวต่อ ให้พื้นที่ที่อยากจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันแสดงความจำนงออกมาเป็นจังหวัดนำร่องก็ได้ประมาณ ๑๐ จังหวัดซึ่งจะคุยต่อว่าจะทำอะไรร่วมกันไหม มาพัฒนาข้อเสนอโครงการด้วยกันแล้วหาแหล่งทุน แล้วโครงสร้างและกลไกภาคมันก็จะเกิดได้จริงจากเนื้องาน ไม่ใช่แค่ข้อเสนอแล้วจบไป..”

ในเวทีระดมความคิดเพื่อหาทิศทางจังหวัด ทิศทางแต่ละโซนที่จะเชื่อมร้อยสู่การขับเคลื่อนขบวนสุขภาวะภาคกลางโดยรวมยังไปไม่ถึงเป้าหมายคือเป็นเพียงการนำเสนอประสบการณ์หลากหลายจากชุมชน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำกระบวนการและอาศัยเวลาต่อไป งานสร้างสุขปีนี้จบลงด้วย “การประกาศปฏิญญาเมืองโบราณว่าด้วยความร่วมมือขับเคลื่อนวาระสุขภาพภาคกลาง ๒๖ จังหวัด” ตามแนวทางข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ และมอบธงเจ้าภาพต่อให้จังหวัดนครปฐม
การขับเคลื่อนขบวนสุขภาวะภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ที่มีบริบทความแตกต่างเชิงพื้นที่อยู่มากให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้นมิใช่เรื่องง่าย และนับเป็นความท้าทาย งานสร้างสุขภาคกลางปีนี้เป็นการจุดประเด็นดังกล่าว คงต้องติดตามว่าเมื่อตั้งโจทย์เช่นนี้จะขยับต่ออย่างไร และคงต้องเอาใจช่วยให้ความพยายามเกาะเกี่ยวเชื่อมร้อยทุนทางสังคมอันหลากหลายในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนขบวนสุขภาพภาคกลางเกิดเป็นรูปธรรมได้จริง

มี ๓ ข้อสังเกตพิเศษของภาคกลางคือ
เอกสารนำเข้าอย่างเป็นทางการที่มีมากที่สุด และพิมพ์ปกสี่สีสดสวยที่สุด ๑๑ เล่ม คือ ๑)สุขภาวะภาคกลาง ปี ๒๕๕๑ สถานการณ์และแนวโน้ม ๒) ฐานข้อมูลสุขภาวะภาคกลาง ๓) นวัตกรรมสร้างสุขภาคกลาง ๔) การพัฒนาสุขภาพเชิงพื้นที่ ฯ ภาคกลาง ๕) ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง ๖) ชุดเครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ ๗) แผนที่ข้อมูลทุนทางสังคม ๘) การพัฒนานโยบายสาธารณะ ๙) เครือข่าย กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ ๑๐) การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่ และ ๑๑) การสังเคราะห์บทเรียนการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายสุขภาวะเชิงพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เน้นเชิงหลักคิด ทฤษฎีเชิงวิชาการจากกรณีศึกษาซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย มีที่เป็นข้อมูลเนื้อ ๆ เชิงกรณีศึกษาและนำสู่การหารือ คือ ลำดับที่ ๑ – ๕
มีกิจกรรมพิเศษแถมสามรายการคือ หนึ่ง อาหารกลางวัน ที่นั่งรถรางเข้าไปจัดเลี้ยงในเขตเมืองโบราณกลางลานพิพิธภัณฑ์อะไรสักอย่างซึ่งจำไม่ได้ แต่บรรยากาศดีมาก กับตอนบ่าย ๑๖๓๐ น. มีการนำชมเมืองโบราณรอบพิเศษแก่ทุกคนด้วยขบวนรถรางชุดใหญ่จนทั่วทั้งเมืองโบราณก่อนกลับมารับประทานอาหารเย็นแบบโต๊ะจีนที่มีวงดนตรีของเด็ก ๆ มาเล่นประกอบโดยไม่กิจกิจกรรมอะไรนอกจากกินกับดูและฟังดนตรีจนเลิก
เท่าที่สังเกตดู ดูเหมือนว่างานของภาคกลางยังจำกัดขอบเขตค่อนข้างมากด้วยบริบทจำเพาะที่ยากยิ่งและไม่เหมือนภาคไหน ๆ เข้าใจว่าเพื่อนพ้องน้องพี่และภาคี รวมทั้งพวกเราทั้งหลายต้องเอาใจช่วยอีกไม่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever