ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

เปิดตำราเกษตรชีวภาพที่นอกไร่

เมื่อชาวบ้านชาวสวนหาญกล้าชี้นำนายอำเภอ
เปิดตำราเกษตรชีวภาพที่นอกไร่...จนขยายทั่วทั้งลานสกา เมืองนคร

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร



กว่าจะมาเป็นบ้านนอกไร่
บ้านอกไร่ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๑ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนสมรม มีชีวิตเรียบง่าย พอเพียง ตามวิถีคนใต้
ชุมชนบ้านนอกไร่เกิดจากการขยายพื้นที่ทำกินของคนชุมชนบ่อน้ำซับอันเป็นชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งคลองเสาธง เริ่มต้นบุกเบิกแผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวไร่ หลังเก็บเกี่ยวข้าวไร่ ก็จะปลูกพืชล้มลุกแซมสลับกับปลูกพืชยืนต้นประเภทไม้ผลชนิดต่างๆ ตามที่เสาะหามาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ผลโต ลูกดก รสชาติดี สีสันสวยงาม เป็นต้น จะถูกนำไปปลูกตามตอไม้ใหญ่ที่ถูกตัดโค่นไปใช้สอยในครั้งก่อนแล้ว เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการจดจำ ว่าได้ปลูกต้นอะไรไว้ตรงไหน เมื่อหาพันธุ์พืชชนิดได้มาก็ทยอยปลูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็มพื้นที่
การดูแลรักษาเพียงเข้าไปตัดเถาวัลย์บ้างเป็นครั้งคราว ส่วนพืชล้มลุกก็มีการปลูกกล้วยไว้เป็นพืชประธาน ด้านล่างก็ปลูกพืชไร่ประเภทแตงไร่ มันขี้หนู (มันทางภาคใต้) มันเคย มันหอม การปลูกพืชไร่อายุสั้น ๖ เดือน – ๑ ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงระยะเวลาปลูกพืชไร่ล้มลุก จะเป็นการดูแลรักษาบำรุงพืชยืนต้นที่ปลูกไว้ในครั้งแรกไปด้วยในตัว
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชไร่แล้วพื้นที่จะถูกปล่อยให้รกร้างเป็นสภาพป่า เรียกว่า “ป่าไส” ชาวบ้านจะเข้าไปแผ้วถางป่าที่ปลูกต้นไม้ไว้ปีละ ๑ ครั้ง เรียกว่า “ล้มไส” เป็นการพลิกสภาพของป่าใสให้กลายมาเป็นสวนผลไม้ที่ได้นำไปปลูกไว้ในครั้งแรก การสร้างสวนผลไม้ จะมีลักษณะผสมผสานปนเปกันไปไม่มีการวางแผนไม่มีการวางแนววางแถวอย่างเป็นระบบ เป็นการอยู่อย่างผสมผสานบนความหลากหลายทางธรรมชาติที่อยู่อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ชาวบ้านเรียกการทำสวนแบบนี้ว่า “สวนสมรม”
ในสวนสมรมนั้นจะมีความหลากหลายของพืชผลพันธุ์ไม้ ทำให้มีพืชผลไม้กินตลอดปี ส่วนเหลือจะนำลงเรือเหนือไปแลกเปลี่ยนฝากพี่น้องเพื่อนเกลอ ที่อำเภอชะอวด อำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นเพื่อนเกลอนา และเกลอเล ส่วนพวกตนที่อาศัยบนเขาทำสวนก็จะถูกเรียกเป็น “ไอ้เกลอเขา”
เรือเหนือจะล่องตามคลองเสาธงผ่านภูเขา คดโค้งเลี้ยวไปตามแก่งหิน ถึงหน้าฝนน้ำจะเชี่ยว เรือจึงมีลักษณะท้องแบน แข็งแรง ใช้ใบกระแชงเย็บเป็นผืนมุงหลังคา ซึ่งเรียกกันว่า “เรือเหนือ” ล่องลงไปแต่ละคราวใช้เวลาหลายวัน จะมีข้าวของผลไม้เต็มลำเรือ ส่วนขากลับก็จะมีข้าว กะปิ เกลือ กุ้งแห้ง ปลาแห้ง กลับมาเป็นเสบียงแจกจ่ายกันในหมู่บ้าน

นายสิน จันทร์จรุง เป็นชาวชุมชนบ้านบ่อน้ำซับคนแรกที่เข้ามาหักร้างถาพงเพื่อมาสร้างสวน ความที่เป็นผู้มีวิชาด้านแพทย์พื้นบ้านและเป็นหมอกระดูกผู้เก่งกล้าทางวิชาอาคมคนหนึ่ง ก่อเกิดศรัทธาเป็นที่พึ่งของคนอื่น จึงมีคนเข้ามาสร้างสวนด้วยในภายหลัง ประกอบด้วย นายแดง โอฬาโร นายกลิ่น สินธู นายรุ่ง โอฬาร์พฤก นายครุฑ กาญจนานุกูล นายดับ มังกรฤทธิ์
สังคมบ้านนอกไร่ในรุ่นแรกๆ มีความเป็นญาติพี่น้องและมิตรเสมอญาติ ต่างก็ยอมรับนายสิน จันทร์จรุง เป็นผู้นำทั้งสิ้น ต่อมารุ่นลูก นายขวัญ จันทร์จรุง เป็นผู้สิบทอดความเป็นหมอกระดูกและแพทย์พื้นบ้าน กับทั้งยังเป็นคนขยันเอื้ออาทร ได้รับยกย่องให้เป็น ‘เกษตรกรคนขยันของชาติ’ รางวัลแหวนทองคำ นั้นคือรุ่นบุกเบิกจนปัจจุบันมาถึงรุ่นหลาน คือ นายสมบูรณ์ จันทร์จรุง ผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์

ยุคสร้างสวน...ยางมาป่าหมด
พอถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพัฒนาการการเกษตรของชาวนอกไร่ และอาจจะเหมือนๆ กันทั่งภาคใต้ก็เป็นได้ คือ ในรุ่นปู่ที่หักล้าง ล้มไส ปลูกไม้ผลทดแทนจนเกิดเป็นสวนสมรม มีพืชพรรณหลายชนิดปลูกไว้กินโดยไม่ต้องซื้อหา ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก มีเหลือกินก็หยิบยื่นให้เพื่อนบ้าน ขาดแคลนขัดสนก็ขอแบ่งปันจากเพื่อนบ้าน ไม่มีเงินทองมากนักแต่ก็อยู่กินได้อย่างสุขสบาย ชีวิตเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยรักษากันด้วยสมุนไพรไทย ผนวกกับการแพทย์แผนไทยแบบโบราณ ไม่รู้จักยาเคมี ไม่รู้จักปุ๋ยเคมี ต้องการให้พืชพรรณที่ปลูกเจริญงอกงามก็หา “มายา” มาใส่ให้กับต้นพืชที่ปลูก
แต่พอความเจริญแพร่ขยายการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ที่ปลูกกันอย่างสะเปะสะปะไม่ได้ระเบียบเริ่มถูกแทรกแซงด้วยการทำการเกษตรแผนใหม่ตามแบบฉบับของนักวิชาการผู้มีการศึกษาสูง เริ่มด้วยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเข้ามาให้ความรู้ให้คำแนะนำในการทำสวนยางพาราสายพันธุ์ใหม่ๆ แทนสวนยางพาราที่ปลูกสายพันธุ์พื้นเมือง
และเนื่องจากเหตุการณ์วาตภัยครั้งร้ายแรงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๕๐๕ พืชผลชาวบ้านได้รับความเสียหายราบคาบ เพื่อฟื้นฟูความเสียหาย กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจึงได้เข้ามามีบทบาท ด้วยการให้เงินสงเคราะห์แก่ชาวบ้าน พร้อมสารพัดเงื่อนไข
ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของกองทุนฯ มีการปลูกยางเป็นแถวเป็นแนวอย่างมีระเบียบ ห้ามมีไม้ชนิดอื่นในสวนยาง ทำให้เกิดการตัดไม้ยืนต้นจำนวนมาก ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ ตามที่ทางกองทุนฯกำหนดมา เกษตรกรยุคนั้นเห็นเป็นของใหม่ น่าจะดีกว่าการทำแบบเดิมๆ เลยเริ่มใช้เคมีเข้ามาในกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ปุ๋ยเคมี เรื่อยมาถึงสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสารเคมีปราบวัชพืช ไม่เว้น
การเกษตรแผนใหม่เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่คนรุ่นก่อนเก่าสร้างมา หวังขายผลผลิตจากพืชชนิดเดียวในปริมาณที่มาก ได้เงินมาเพื่อไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ ท้ายสุดก็ไม่ได้ดังหวัง พืชพันธุ์ประจำถิ่นที่เคยมีเคยกินกลับหายไป ดินแข็งกระด้าง น้ำที่เคยสะอาดกลับเจือปนด้วยสารพิษ การอยู่การกินต้องระวังสารตกค้างรอบด้าน ต่างจากวิถีของคนรุ่นปู่รุ่นย่า แม้ไม่มีเงินมากมายเช่นทุกวันนี้ แต่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสุขกายสบายใจ ไม่มีหนี้สินให้ใครตามทวง

ทบทวนตัวเอง...หวนนึกถึงยุคเกษตรธรรมชาติในรุ่นปู่
พอถึงทายาทคนนอกไร่ในรุ่นที่ ๓ ที่มีความผูกพันอยู่กับการเกษตรแผนใหม่ ทำตามอารยะธรรมแบบตะวันตกนิยมผลิตพืชเชิงเดี่ยว มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี เครื่องทุ่นแรงชนิดต่างๆ เข้ามาใช้ในไร่นาเต็มกระบวนการเริ่มหวนกลับ คิดไปถึงคุณปู่ว่าเขาอยู่ได้กันอย่างไรในอดีตที่ไม่มีทั้งปุ๋ยเคมี ยาเคมี เครื่องจักรกลทางการเกษตร แต่เขาสามารถสร้างสวนเกษตรแบบธรรมชาติเป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยกันอยู่เฉกเช่นวันนี้
คนนอกไร่เริ่มรวมกลุ่มคิดกันใหม่ จะเปลี่ยนแปลงการเกษตรแผนใหม่(เคมี)มาสู่เกษตรธรรมชาติได้อย่างไร ซึ่งกระแสในเรื่องนี้เริ่มขยายวง เริ่มจากนโยบายจัดตั้ง “กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยาง” ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อต้องการให้เกษตรกรรวมกลุ่มขายผลผลิต ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สหกรณ์ไม่รับยางจากกลุ่มของเกษตรกร ทำให้กลุ่มก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เพียงแต่ดำรงสภาพกลุ่มไว้ จนกระทั้ง หมอบูรณ์ - นายสมบูรณ์ จันทร์จรุง ทายาทรุ่นที่ ๓ ของตระกูล “จันทร์จรุง” ผู้สืบตำนานหมอกระดูกและแพทย์แผนพื้นบ้านต่อจากหมอขวัญ จันทร์จรุง ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเคยได้รับยกย่องให้เป็นเกษตรกรคนขยันของชาติได้รับรางวัลแหวนทองคำ จากผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนั้น ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนสวนยาง เมื่อถูกถามว่าต้องการให้หนุนอะไรบ้าง หมอบูรณ์บอกว่า อยากได้ความรู้เรื่องชีวภาพ เพราะเห็นจากโทรทัศน์ และขอให้เจ้าหน้าที่จดชื่อไว้ด้วย เพราะปกติมักจะมารับปากแล้วไป
ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงได้ประสานให้มีการอบรมเรื่องชีวภาพขึ้นจริง ได้ฝึกอบรมวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ที่สุกไว้ใช้ในไร่นาสูตร ๔ สุก ประกอบด้วย มะละกอสุก ๑ ส่วน กล้วยน้ำว้าสุก ๑ ส่วน ฟักทองสุก ๑ ส่วน สัปปะรดสุก ๑ ส่วน และหมักด้วยกากน้ำตาลในอัตรา ๓ : ๑ หมักไว้ ๑ เดือนขึ้นไป (ยิ่งนานยิ่งดี) ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการใช้ “สูตรสี่สุก” นี้ฉีดแทนโฮร์โมนพืช เร่งดอก เร่งผล จากจุดนี้เริ่มมองเห็นช่องทาง มีคนเข้าร่วมอบรมประมาณ ๒๐ คน แต่หลังจากอบรมมีเพียง ๓ คน เท่านั้นที่ทำจริง หมอบูรณ์เป็น ๑ ในนั้น และได้เริ่มทำชีวภาพใช้เองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา
ด้วยความที่หมอบูรณ์เป็นคนพื้นบ้านที่พึ่งตนเองมาตลอด ชอบทดลองของใหม่ๆ เช่น สนใจเรื่องนวดก็ได้ร่ำเรียน จนเป็นหมอบีบ(นวด)ที่มีชื่อเสียงขจรขจาย ชาวบ้านในหลายอำเภอในละแวกนี้หายจากอาการอัมพฤกษ์ เคล็ดขัดยอกด้วยฝีมือของเขาหลายร้อยคน และยังลงมือเจาะน้ำบาดาลใช้เองในสวนด้วย จนสามารถใช้ได้ตลอดปีไม่แพ้ที่ต้องจ้างคนอื่นมาเจาะเสียเงินเป็นหมื่น จากที่มีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในเบื้องต้นและสนใจเรื่องชีวภาพ หมอบูรณ์จึงเป็นผู้บุกเบิกการทำน้ำหมักชีวภาพในชุมชนและทดลองวิธีการใหม่ๆ สารพัดอย่างอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมขยายไปสู่การหมักพืชเพื่อใช้ทำน้ำยาล้างจาน สบู่ น้ำยาซักผ้า เป็นต้น

หน่ออ่อนทางความคิด...กับหนทางแก้จน
หมอบูรณ์และเพื่อนๆ ที่ผ่านการอบรมได้ทำน้ำหมักชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำใช้เองและแจกญาติๆ และเพื่อนบ้าน ทำให้มีการใช้ชีวภาพแพร่หลายออกไป การใช้ปุ๋ยเคมีในสวนยางและสวนชะอมลดน้อยลง และบางรายเลิกใช้เคมีอย่างเด็ดขาด การใช้ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าหนอนหรือยาปราบแมลงต่างๆ ลดน้อยลงอย่างชัดเจน ซึ่งในตอนแรกมีสมาชิกกลุ่มหลังจากอบรมทำเพียงแค่ ๓ คน แล้วขยายเป็น ๒๓ คน จึงได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์” ที่มีหมอบูรณ์เป็นประธานกลุ่ม โดยมีที่ตั้งของกลุ่ม ณ บ้านหมอบูรณ์ ห่างจากปากทางเข้าที่เลี้ยวตรงข้างสถานีตำรวจอำเภอลานสกา ประมาณ ๑ กม. บนเส้นทางสายลานสกา – พระพรหม
ต่อมาช่วงประมาณ ๒๕๔๕ ทางชุมชนบ้านนอกไร่เริ่มสร้างศาลาเป็นที่ประชุมพบปะแลกเปลี่ยนแนวความคิดของคนในชุมชน ครั้งนั้นถูกสบประมาทจากบุคคลที่ไม่เห็นด้วยว่าไปไม่รอด ล้มเหลวตามเคย มาถึงช่วงปี ๒๕๔๘ ได้รับเงินอุดหนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาก้อนหนึ่งเพื่อจัดซื้อวัสดุในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้ภายในชุมชน และในช่วง มี.ค. ๒๕๔๗ ชุมชนบ้านนอกไร่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมโครงการ “ดับบ้านดับเมือง” โดยการชักนำของนายช่วน ยอดวิจารณ์ ซึ่งเคยรู้จักชุมชนนี้มาก่อนตั้งแต่ที่เขายังทำงานอยู่ในกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เมื่อลาออกจากงานประจำที่เคยทำแล้วได้มาร่วมงานในโครงการดับบ้านดับเมืองจึงเข้ามาชักชวนชุมชนบ้านนอกไร่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
“พ่อเฒ่า” ผู้ซึ่งคร่ำวอดในวงการเกษตรมายาวนานตามอายุกว่าห้าสิบปี มีลักษณะเด่นด้วยสีผมดอกเลาแซมดำเป็นเอกลักษณ์ ฉายาที่น้องๆ เพื่อนร่วมงานดับบ้านดับเมืองยกให้น้าช่วน และในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนที่อยู่ในกองทุนสวนยาง จึงได้อาสาเข้ามาเป็นผู้ช่วยชุมชนของเครือข่ายนี้ เข้ามาช่วยตั้งถามทิ้งคำพูดแสบๆ เจ็บๆ คันๆ ชวนให้ชาวนอกไร่ได้คิดอยู่เรื่อย “พวกเติ้นอย่าทำแบบราชการ ต้องทำแบบชาวบ้าน” “ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเชิญอยากเรียนรู้ก็เดินมาเรียนกันเลย” “ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันแบบพี่แบบน้อง ไม่มีใครเป็นหัวหน้าลูกน้อง” เป็นพูดที่ชาวนอกไร่จะได้ยินเป็นประจำจากพ่อเฒ่าคนนี้
นอกจากนี้ยัง คอยช่วยประสานงานให้กับชุมชนในกรณีการประสานกับองค์กรภายนอกที่เกินกำลังของชุมชน หรือในช่วงเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์กับภายนอก เพราะกลัวว่าชุมชนจะเพลี่ยงพล้ำถูกครอบงำ แต่พอเดินกันได้แล้วก็ปล่อยให้ทำกันเอง และยังได้นำความรู้วิชาการต่างๆ จากภายนอกเข้ามาให้กับชาวนอกไร่อย่างต่อเนื่อง

เข้าร่วมกับขบวนดับบ้านดับเมือง...
ใช้เกษตรชีวภาพเป็นเครื่องมือสร้างสุขภาวะของชุมชน
ผู้คนในชุมชนบ้านนอกไร่ได้หวนคิดถึงอดีต และผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงพยายามแสวงหาแนวทางเพื่อผันตัวเองกลับไปสู่วิถีธรรมชาติ ท้ายสุดมีข้อตกลงร่วมกันใช้เกษตรชีวภาพเป็นเครื่องมือนำสู่สุขภาวะของชุมชน จากความคิดริเริ่มพัฒนาสู่กระบวนการร่วมคิดร่วมทำ ได้รับการหนุนเสริมต่อยอดจากเครือข่ายเกษตรชีวภาพ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้(ดับบ้านดับเมือง-เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้) ตามแผนพัฒนาชุมชนเป็นสุขของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ครั้งแรกก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการเข้าร่วมในโครงการดับบ้านดับเมือง (เครือข่ายเกษตรชีวภาพ) คิดว่าคงไม่ได้อะไร ตอบตกลงเข้าร่วมก็ไม่เสียหายอะไร
หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากดับบ้านดับเมือง ก็ได้คัดเลือกแกนนำกลุ่ม ๙ คน รวมกับคณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพอีก ๒ คน คือ น้าช่วนและโอม ไปร่วมเรียนรู้เรื่องเกษตรชีวภาพเพิ่มเติม จากอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง ในจังหวัดชลบุรีเป็นระยะเวลา ๔ วัน ๓ คืน โดยเข้าหลักสูตรฝึกอบรม “การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” พอผ่านหลักสูตรนี้เริ่มเห็นทางสว่างเกิดขึ้นในชุมชน จากคนที่ไม่เคยเชื่อเริ่มเชื่อในสิ่งที่ได้ไปพบเห็นและได้สัมผัส การเปลี่ยนแปลงในชุมชนเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แนวคิด “ร่วมกันรู้ –แยกกันทำ” ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ของชุมชน
ส่วนการสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรชีวภาพก็มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านผู้ช่วยชุมชนที่ลงเกาะติดพื้นที่ และผ่านผู้นำชุมชนที่เชิญเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนา จัดอบรมต่างๆ ของเครือข่าย โดยมีการจัดเป็นประจำที่ “ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพและเกษตรผสมผสานจังหวัดนครศรีธรรมราช” ณ วัดป่ายาง หมู่ ๔ ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันมีพระอาจารย์สุวรรณ คเวสโก พระนักพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายทั้งเป็นที่ปรึกษา และประสานดำเนินการจัดฝึกอบรมอีกด้วย

ร่วมเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์
กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์เป็นอีกหนึ่งที่มีสีสันการเรียนรู้เร้าใจท่านผู้ฟังอย่างยิ่ง สมาชิกจะนัดพบกันทุกวันที่ ๒๗ ของทุกเดือน เวลาค่ำๆ ตะวันโผล่เผล้ หลังจากพักหายเหนื่อยจากวิถีคนตัดยาง สมาชิกแต่ละคนหลังจากแยกกันไปผลิตและใช้ชีวภาพ ก็ได้นำเอาผลการเรียนรู้ ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง
บรรยากาศการนั่งล้อมวงเสวนาภาษาชีวภาพกันอย่างออกรส ”วงคนอาด” ต่างคนต่างมุ่งมั่นอยากเรียนรู้ของเพื่อน อยากเล่า อยากบอกสิ่งที่ตนเองค้นพบ ยิ่งมีคนนอกวงมาร่วมด้วย ก็ยิ่งอยากเล่าด้วยสีหน้าแห่งความภูมิใจ ดวงตาฉายความปิติมุ่งมั่น...หรือนี่จะเป็นความสุขที่สุดของกลุ่มชีวภาพก็ได้

"...นี่ผู้ใหญ่หมู...นั่นผู้ช่วยหมา...นี่หมอน้ำหมัก..."
“แก่เป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่เนื่องจากแกได้ทดลองเอาเครื่องในหมูมาหมักชีวภาพ ชาวบ้านจึงเรียกแก่ว่า ‘ผู้ใหญ่หมู่’ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นั่นแกพิเรนทร์ กว่าเพื่อนเอาหมาที่โดนรถชนตาย มาทดลองหมักชีวภาพ ชาวบ้านจึงเรียกแกว่า ‘ผู้ช่วยหมา’ ส่วน ‘หมอน้ำหมัก’ เป็นฉายาของสมบูรณ์ จันทร์จรุง หมอพื้นบ้านที่เป็นผู้บุกเบิกทำน้ำหมักในชุมชน”

บรรยากาศการแนะนำตัวที่เป็นกันเอง สนุก เข้าใจทันที่ว่าคนกลุ่มนี้ ชั่งเป็นคนใฝ่ศึกษาใคร่รู้ เอาจริง มีเอกลักษณ์การเรียนรู้เฉพาะตัว และนี่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
ระหว่างนี้เรื่องราวการทดลองชีวภาพของแต่ละคนก็ได้ทยอยเล่าสู่กันฟัง ออกมาไม่ขาดสาย เป็นเหมือนสังคมที่มีชีวภาพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ทดลองเอาไปทาบริเวณกิ่งยอดอม ทำให้ตอนติดดีขึ้นมาก...”
“ผมใช้กับต้นยาง พอวันแรกเปลือกแข็ง แต่พอหลายวันที่สองเปลือกนิ่ม ตัดง่าย น้ำยางออกมาก...”
“เอาไปใส่ในจอกยาง พอเอาขี้ยางไปขาย ราคาต่างกันกันกิโลละตั้ง ๓ บาท...”
“ปีหน้าผมกะว่า พอมังคุดเป็นลุกจะฉีด อาทิตย์ละครั้ง เพราะเห็นใช้แล้วผิวมันสวยดี...”
“ตอนนี้กำลังเอาหนังวัวมาหมัก ทดลองแล...”
ฯลฯ

สมาชิกคนหนึ่งในวงเสวนา คือ นายวิชิต ชมกระบิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลขุนทะเล เป็นผู้ใหญ่หนุ่มไฟแรง เล่าให้ฟังว่า
“ผมไม่เคยเชื่อเรื่องชีวภาพและไม่เคยมีแนวคิดเรื่องนี้ แต่น้าบูรณ์เป็นญาติผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพนับถือ ผมจึงต้องฟัง น้าบูรณ์บอกว่าคนเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องรู้ทุกเรื่องที่ชาวบ้านเขาทำกัน ต้องรู้ให้ชัดสามารถบอกเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย จึงตัดสินใจเข้ารับฝึกอบรมพร้อมกับคณะของน้าบูรณ์ร่วมกันในครั้งนั้น
ในวันแรกๆ ผมยังไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่เขาพูดมากนัก แต่พอเริ่มเข้าวันที่ ๓ ของการฝึกอบรมเริ่มเข้มข้นขึ้นได้ข้อมูลมากขึ้น และได้ไปศึกษาดูการปฏิบัติจริงความคิดเริ่มเปลี่ยนแปลง หลังจากกลับมาจากการฝึกอบรมเป็นช่วงจังหวะเดียวกับการประกาศนโยบายของเกษตรอินทรีย์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับวิชาความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม
กลับมาถึงได้ทดลองทำทันทีด้วยการหมักน้ำหมักจากหมูเป็นบทเรียนแรก หมูที่ผมเลี้ยงไว้เกิดตายขึ้นมาด้วยอาการรกติดค้างในท้อง เกิดความเสียดายขึ้นมาจึงนำหมูที่ตายมาหมักด้วยกากน้ำตาล จึงได้เป็นน้ำหมักชีวภาพจากหมู แล้วนำไปทดลองใช้เองและแบ่งให้ลูกบ้านไปทดลองใช้กับการปลูกพืชหลายชนิดเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้สนใจได้รับรู้เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างแท้จริง”

ส่วนนายอารักษ์ มังกรฤทธิ์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล หมู่ที่ ๑ พึ่งได้รับการเลือกตั้งมามาดๆ (๒๕๔๗) เพราะเป็น อบต. ชีวภาพ และเขาได้เล่าความเป็นมาของตนเองว่า
“ที่ผมได้มาเป็น ส.อบต. เพราะในช่วงที่หาเสียงเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.อบต. ผ่านบ้านน้าบูรณ์เห็นมีคนจับกลุ่มคุยกันอยู่หลายคน ผมเข้าไปกินข้าวบ้านน้าบูรณ์และได้นั่งฟังพอจับใจความได้ว่าเขากำลังสนทนากันในเรื่องเกี่ยวกับชีวภาพ และเขาพูดกันตอนหนึ่งว่าคนที่จะเข้ามาเป็น ส.อบต. ของที่นี่ จะต้องเลือกคนที่มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับชีวภาพ ซึ่งเป็นวิถีเกษตรธรรมชาติแบบดั้งเดิม และเป็นคนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของน้ำหมักชีวีภาพอย่างแท้จริงสามารถนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้ได้ พวกเราถูกทอดทิ้งมานานแล้ว...”
ผมกลับมาคิดดูสรุปได้ว่า...ทางกลุ่มชาวบ้านเขาต้องมีแผนอะไรบางอย่างอยู่ในใจของเขา...ผมพยายามแสวงหาความรู้เกี่ยวกับชีวภาพ พยายามเข้าไปพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้ที่ทำชีวภาพใช้กันบ้างแล้วในเวลานั้น พอได้ประสบการณ์มาบ้างถึงคราวเลือกตั้งก็ได้รับเลือกตั้งสมใจ...
ผมเป็นคนหนึ่งที่ประชุมลงมติถูกส่งไปฝึกอบรมพร้อมคณะที่จังหวัดชลบุรีในครั้งนั้น ช่วงที่ไปฝึกอบรมผมพยายามหาคำตอบให้ตัวเองว่าที่นั่นเขาทำประสบความสำเร็จได้อย่างไร เพื่อจะนำเอาประการณ์ในครั้งนี้มาถ่ายทอดให้กับชุมชนของตนเอง เขาสามารถทำดินที่ตายให้ฟื้นกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เพราะ ‘เขาเชื่อมั่นในตัวเองว่าเขาทำได้’ เขาจึงทำประสบความสำเร็จ หลังกลับจากการฝึกอบรมในครั้งนั้นแล้ว ผมก็ได้รับการมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งผู้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องน้ำหมักชีวภาพของกลุ่ม”

กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ไม่ใช่มีแต่ผู้ชายเก่งแต่มีสมาชิกที่เป็นหญิงแกร่งหนึ่งเดียวที่ร้องขอเข้าร่วมอบรมชีวภาพที่จังหวัดชลบุรีเพราะความอยากรู้ด้วย คือ นางเสถียน โอฬาร์พฤกษ์ ประกอบกับเขาเองได้ทำชีวภาพอยู่ก่อนแล้ว ทำเพื่อไว้ขาย และต้องการไปอบรมเพื่อได้ความรู้มาปรับปรุงกิจการให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่ผลที่ได้รับกลับมาผิดคาด เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนางเสถียนเอง
“โรงปุ๋ยชีวภาพที่บ้านที่เคยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขาย กลับกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้สนใจ วิชาความรู้ที่ถูกปิดบังมานานกลับถูกถ่ายทอดให้ผู้สนใจได้ทราบและนำไปปฏิบัติโดยไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจอีกต่อไป” และเขายังพูดให้เพื่อนในเวทีฟังอย่างภาคภูมิใจว่า
“ถึงแม้รายได้ของครอบครัวจะหดหายไปส่วนหนึ่งแต่ก็พอใจกับการสร้างสุขให้เกิดในชุมชนที่ตนเองได้อาศัยผืนแผ่นดินอยู่”

และนายสุรเชษฐ์ กาญจนจรัส รองประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ เขาเป็นคนนอกพื้นที่เพราะอาศัยอยู่ในหมู่ที่ ๒ ตำบลลานสะกา แต่สนิทชิดเชื้อกับครอบครัว “จันทร์จรุง” มานานตั้งแต่รุ่นก่อนเก่ามาแล้ว เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เข้ารับอบรมเรื่องชีวภาพที่จังหวัดชลบุรี เคยปลูกชะอมมานานด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี (ยาฆ่าหญ้า) มาโดยตลอด ยิ่งใช้ดินยิ่งแข็งกระด้างต้องเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยมากขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตกลับไม่เพิ่มตาม มีคนแนะนำให้ใช้ชีวภาพ และต่อมาก็ได้รับความรู้จากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ ๔ สุก ก็สนใจทดลองทำใช้ตามคำแนะนำ แต่ยังไม่เกิดความคิดในการคิดแปลงสูตรต่างๆ ชะอมที่ปลูกไว้ประมาณ ๔ ปีมาแล้วที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาโดยตลอด พอหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพในระยะเดือนแรกผลผลิตที่เคยเก็บได้ ๑๓๐ มัด ลดลงเหลือ ๑๒๐ มัด แต่พอสามเดือนให้หลังไปแล้วเก็บชะอมได้ครั้งละ ๖๐๐ มัด แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ถึงวันนี้ สุเชษฐ์ กาญจนจรัส ได้รับความรู้เพิ่มเรื่องของชีวภาพได้พัฒนาสูตรต่างๆ ขึ้นมาใช้หลายสูตรด้วยความสนใจอยากเป็นนักทดลอง นักเรียนรู้แล้วเขายังได้ดินมีชีวิตกลับคืน ได้ชะอมที่สมบูรณ์และปลอดภัยกลับคืน ได้ระบบนิเวศน์ทางผิวดินคืนกลับมาแต่ยังขาดผู้มีอุดมการณ์ร่วมในชุมชน จึงได้มาสมัครร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ของชุมชนบ้านนอกไร่ หมู่ที่ ๑ ตำบลขุนทะเล มาจนถึงวันนี้

ความเปลี่ยนแปลงหลังเข้าร่วม “ดับบ้านดับเมือง”
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการดับบ้านดับเมือง และได้เข้าไปอบรมการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตร “การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดชลบุรี หลังกลับมาผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนั้นได้นำความรู้ที่ได้รับรู้มาเผยแพร่ขยายพร้อมทั้งทดลองปฏิบัติอย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน จนเป็นที่ยอมรับของผู้คนในชุมชนและผู้คนรอบข้าง และกลุ่มเองก็ได้มีการขยายออกไปสู่หมู่บ้าน ตำบลข้างเคียง ด้วยแกนนำของกลุ่ม ๒ คน ได้ออกไปตั้งกลุ่มอีก ๒ กลุ่ม ที่บ้านในไร่ และที่หมู่ ๗ ตำบลขุนทะเล ซึ่งในแต่ละกลุ่มมีสมาชิกหลายสิบคน และกำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเข้มข้น ในขณะที่ในไร่ได้สร้างที่ทำการกลุ่มแล้ว เพื่อเป็นที่พบปะอย่างถาวร พี่สุเชษฐ์ กาญจนจรัส แกนนำที่ไปตั้งกลุ่มบอกว่า
“ชุมชนในไร่เป็นชุมชนต้นน้ำคลองเสาธง ที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีกันมาก มีผลกระทบต่อสายน้ำ การเปลี่ยนมาใช้ชีวภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ชุมชนตลอดสายน้ำได้น้ำที่ปลอดภัย”

เรื่องนี้ยังได้ขยายผลออกไปจนเป็นที่รับรู้ของทางราชการ และกลุ่มเกษตรสินสมบูรณ์ของชุมชนบ้านนอกไร่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมจัดนิทรรศการโชว์ความก้าวหน้าและวิวัฒนาการของกลุ่มในงานวันมังคุดหวานลานสกา เมื่อวันที่ ๑๔-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นับเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ นอกจากประสบความสำเร็จในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้แล้ว ทางกลุ่มยังได้รับมอบหมายจากท่านนายอำเภออิสรา ทองธวัช นายอำเภอลานสกา ให้เป็นผู้ประสานงานในการจัดเวทีวิชาการเกษตรชีวภาพ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ในงานวันมังคุดหวานลานสกา โดยได้รับเกียรติจากท่านนายอำเภออิสรา ทองธวัช นายอำเภอลานสกา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พระสุวรรณ คเวสโก เจ้าอาวาส วัดป่ายาง หัวหน้าคณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพ บรรยายเกษตรธรรมวิถีไท นายวีรยุทธ จินาวงศ์ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพจากจังหวัดกระบี่ นายอนุภัทร จันตราชู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นวิทยากรร่วม นายอุทัย แกล้วกล้า นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวิทยากรและผู้สังเคราะห์เวที นางชวรีย์ กิ่งรัตน์ นักวิชาการจากกองทุนสวนยาง เป็นผู้ดำเนินรายการ การมีส่วนร่วมในการจัดงานวันมังคุดหวานลานสกาในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของภาคประชาชนที่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตนเอง ตามศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้เข้าชมตลอดงานนับหมื่นจนชื่อเสียงกลุ่มเกษตรสินสมบูรณ์ได้ขจรกระจายไปเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น
ความสำเร็จในครั้งนี้ ย่อมอยู่ในสายตาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่ขาดเพื่อต้องการให้ชุมชนเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อความเข้มแข็งด้วยลำแข้งลำขาของตนเอง ด้วยการสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยให้กับกลุ่ม ๑ เครื่อง มูลค่า ๕๐,๐๐ บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล โดยมีนายโสภณ พรหมแก้ว นายก อบต.ขุนทะเล เดินทางมามอบเครื่องผสมปุ๋ยด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ ที่ทำการกลุ่มเกษตรสินสมบูรณ์ ภายใต้สโลแกน “พวกเติ้น(คุณ) ทำคลอด ถ้ารอดผมเลี้ยง” ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิและโอกาสกับชุมชนบ้านนอกไร่จัดตั้งองค์กรเกษตรชีวภาพทั่วท้องถิ่น หากองค์กรใดสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเลจะรับช่วงพัฒนาให้การต่อยอดเสริมรากแทนการทุ่มเงินให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนตามประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา
ชีวภาพกับการเชื่อมร้อยชุมชนเข้าด้วยกัน
ดังที่ทราบมาแล้วว่าชุมชนบ้านนอกไร่ขยายตัวแยกมาจากชุมชนบ้านบ่อน้ำซับ ทั้งๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันแต่คนในชุมชนน้ำซับคิดว่าศักดิ์ศรีเหนือกว่าจึงไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนบ้านนอกไร่ ถึงแม้ผู้ใหญ่วิชิต ชมกระบิล ผู้ใหญ่บ้านจะใช้เรื่องของเกษตรชีวภาพเป็นวาระประชุมหลักของหมู่บ้านทุกครั้งไป แต่ยังไม่สามารถดึงคนจากบ้านบ่อน้ำซับเข้าร่วมกิจกรรมได้ กระทั่งล่าสุดนายสุทธิใจ จิตรอุฬาร์ ส.อบต. ได้ทดลองทำชีวภาพใช้กับแปลงปลูกชะอมจนประสบความสำเร็จที่เห็นผลชัดเจน ชะอมยอดอวบอ้วน ผลผลิตได้มากกว่าเดิมลงทุนน้อยกว่า ใช้เวลาศึกษาอยู่ประมาณ ๗ เดือน จึงขยายผลออกไปสู่ชุมชนบ้านน้ำซับ เมื่อดึงคนเข้าร่วมเรียนรู้กับชุมชนบ้านนอกไร่ที่เขาทำกันมาก่อน ซึ่งไม่เสียแรงเปล่ามีผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ถึง ๒๒ คน จนกระทั่งได้รับฉายา อบต.ชะอม (นายสุทธิใจ จิตรอุฬาร์)
การขยายเครือข่ายของเกษตรชีวภาพไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แต่นั้นได้ขยายผลต่อไปยังชุมชนข้างเคียงอย่างชุมชนบ้านในไร่ หมู่ที่ ๗ ตำบลลานสกา กลุ่มเจดีย์ หมู่ที่ ๒ ตำบลลานสกาและได้ขยายไปถึงหมู่ที่ ๑๑ ตำบลขุนทะเล ก่อให้เกิดกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลาขี้เหล็ก นับเป็นความสำเร็จอีกอย่างของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ภายใต้สโลแกน “ร่วมกันรู้แยกกันทำ” เป็นกลุ่มที่ไม่เอาผลประโยชน์ที่เป็นตัว “เงิน” เข้ามาเป็นตัวตั้งในการดำเนินกิจกรรม

โรงเรียนแก้จนมีวันนี้ได้....เพราะมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินบูรณ์
กระแสการตอบรับเรื่องชีวภาพในพื้นที่อำเภอลานสกาไม่ใช่เพียงแค่เกิดกิจกรรมการทำและการใช้ชีวภาพ แต่ได้ขยายรวมไปถึงกระบวนการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายในกลุ่มภายในชุมชน และขยายไปสู่เครือข่ายในทุกระดับ โดยการใช้ชีวภาพเป็นเครื่องมือรวมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำไปสู่การเรียนรู้หลักคิดที่ถูกต้อง หลักวิชา ที่ต้องศึกษาเอาจากชาวบ้าน ศึกษาจากผู้ที่ทำมาก่อน ศึกษาจากกันเอง ศึกษาจากเอกสาร แล้วไปลงมือปฏิบัติทดลองทำเอง ใช้เอง หรือสิ่งที่เครือข่ายเกษตรชีวภาพกำลังขับเคลื่อนกันอยู่นี้อาจจะกล้าหาญฝันไปถึง “การปฏิวัติความคิด ด้วยเกษตรชีภาพ” ก็เป็นได้ โดยเป้าหมายของเครือข่ายเกษตรชีวภาพ คือ ชุมชนเป็นสุขด้วย “สังคมชีวภาพ” อันประกอบด้วย กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความรู้ชีวภาพประจำถิ่น ขยายสู่สุขภาพองค์รวม
ด้วยในอำเภอลานสกามีกลุ่มกิจกรรมชีวภาพที่ทำจริงในพื้นที่และหลายกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ที่อำเภอลานสกา สำนักงานเกษตรอำเภอลานสกา และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอลานสกา ยอมรับให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์และชุมชนอกไร่เป็นชุมชนต้นแบบ พร้อมกับผลักดันนโยบายจังหวัด “จังหวัดนครศรีธรรมราชเมืองเกษตรอินทรีย์” โดยมีเป้าหมายให้ ๘๔,๐๐๐ ไร่ ในปี ๒๕๕๒ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือสำนักงานเกษตร และองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเลก็ตอบรับนโยบายนี้อย่างชัดเจน

เมื่อเป้าหมายชัดเจน คนพร้อมและมีใจ สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการขับเคลื่อน
สำนักงานเกษตรอำเภอลานกาได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมจึงได้เชิญ ลุงประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านผู้นำชุมชน ที่ทำงานพัฒนามายาวนานจนได้รับรางวัลรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗ มาให้ความรู้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลุงยงค์จึงให้คำแนะนำให้ยึดหลักการเรียนรู้และพัฒนาคนเป็นหลัก โดยยกกรณีตัวอย่างโรงเรียนมังคุด การทำแผนแม่บทชุมชน และวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น
ลุงยงค์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อโรงเรียนมังคุด ที่ลานสกา ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของเครือข่ายยมนา โดยชุมชนไม้เรียงก็เป็นต้นแบบในเรื่องนี้ และพร้อมจะส่งบุคลากรมาช่วยการตั้งโรงเรียนแก้จนที่ลานสกา และได้คุณบุเรง ชิตมาลย์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเกษตรและเคยขับเคลื่อนงานกับไม้เรียงมาก่อน รับภาระมาทำเรื่องนี้ หลังจากนั้นเกษตรอำเภอลานสกาโดยการร่วมมือผลักดันของคุณบุเรงก็ได้เสนอโครงการโรงเรียนแก้จน ผ่านการสนับสนุนงบตามนโยบายจังหวัด และการสนับสนุนพื้นที่สาธารณะประโยชน์จำนวน ๓๙ ไร่ ที่หมู่ ๙ ต. ขุนทะเล ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบต. ขุนทะเล จัดทำเป็นแปลงสาธิตและเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับชาวบ้าน
คุณบุเรงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการและมุ่งมั่นจะสร้างการเรียนรู้ให้เกษตรกร จึงได้ประสานระดมทุนทางสังคม ทั้งในภาคส่วนชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ภาคส่วนท้องถิ่น และภาคราชการทั้งจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ให้การรับรองวุฒิบัตรสำหรับผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ที่โรงเรียนนี้ ซึ่งปัจจุบัน(๒๕๔๙) มีนักเรียนในรุ่นที่ ๑ อายุเฉลี่ย ๖๐ กว่าปี จำนวน ๑๖ คน พึ่งได้รับพระราชทานวุฒิบัตรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนมังคุดอีก ๒๘ คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี อบต.ขุนทะเลผู้เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับอำเภอลานสกา และเกษตรอำเภอลานสกา
สถานที่เรียนเป็นที่โล่งล้อมรอบด้วยสวนยาง มีสระน้ำขนาด ๕ ไร่ และปลูกต้นไม้ไว้รอบขอบสระสร้างร่มเงาพอให้ได้หลบพัก มีระบบปั๊มน้ำจากสระไหลไปตามท่อส่งที่มีการลดแรงดันเป็นระยะเพื่อป้องกันท่อแตก วางไปตามแนวแปลงสาธิตจนทั่วพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้งขึ้นเขียวขจี และบนขอบสระยังมีปล้องท่อสำหรับหมักน้ำหมักชีวภาพ ๒ ปลอก เปิดออกดูกำลังมีกลิ่นกรุ่นของน้ำหมักที่นักเรียนทำกันเอง
บนขอบสระได้ปลูกศาลาไว้หลังหนึ่งสำหรับเป็นอาคารอเนกประสงค์ เป็นอาคารเรียน และมีเพิงเล็กๆ พอที่จะแขวนกระดาน เก็บหนังสือ วางกล่องยาสามัญ มีกระจกแต่งตัวให้สาวๆ วัยรุ่นแย้มแต่งตัว บางทีก็ปรับเป็นครัวสำหรับทำอาหารตอนเที่ยงหรือเวลาจัดงานต่างๆ ที่มีแขกมามากๆ

เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ...จบหลักสูตรแล้วสามรุ่น
กระบวนการเรียนการสอน เป็นการเรียนทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ เมื่อเรียนรู้ทฤษฏีแล้วต้องได้ทดลองทำจริง มีแปลงสาธิตปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้ง เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็สามารถเก็บขายสร้างรายได้ได้ด้วย มาถึงวันนี้มีนักเรียนเรียนจบหลักสูตรไปแล้ว ๒ รุ่น และกำลังรับรุ่นที่ ๓
ความสำคัญของโรงเรียนแก้จนคือ การได้เรียนรู้ของจริง และเรียนแล้วไปทำได้จริง ผู้มาเรียนเป็นเหมือนผู้ทดลอง มาทดลองร่วมกัน ศึกษาร่วมกัน วิทยากรเป็นเพียงพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำเท่านั้น หมอบูรณ์หนึ่งในวิทยากรหลักของโรงเรียนบอกว่า “คนมาเรียนที่นี้ ต้องหุงข้าวด้วยหม้อดินเป็น” “ทุกคนต้องถอดอายุ ถอดความเป็นตัวตนออกเมื่อเดินเข้ามาในโรงเรียนนี้” “ทุกคนมีสิทธิในการเรียนรู้ได้เท่ากัน” “กินข้าวร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน” บรรยากาศการเรียนการสอน เต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง และปรากฏภาพความประทับใจได้เห็นนักเรียนรุ่น ๑ ถึงจะจบไปแล้วยังกลับมาช่วยกันสร้างห้องส้วมให้รุ่นน้อง และแวะเวียนมาร่วมเรียนรู้ใหม่ ให้คำแนะนำรุ่นน้องด้วย
ส่วนการรับสมัครนักเรียนเป็นผู้ที่อยู่ในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน สำหรับผู้ที่ขึ้นบัญชีจะได้รับการพิจารณาก่อน ส่วนที่เหลือจะพิจารณาตามความสนใจสมัครเข้ามาเรียน โดยเป็นการดูแลคนในเขตพื้นที่ตำบลขุนทะเลและกำลังขยายครอบคลุมอำเภอลานสกา สำหรับนักเรียนในรุ่นที่ ๑ ที่มีโครงการแก้ปัญหาความยากจนรองรับอยู่นั้น จะได้รับงบประมาณในการดูแลนักเรียนคนละ ๑๐๐ บาทต่อวัน เมื่อดำเนินการผ่านไปแล้ว ได้เกิดผลผลิตจากกิจกรรมการเรียน จะมีระบบการจัดการกันไว้ส่วนหนึ่งสำหรับสนับสนุนกิจกรรมในโรงเรียน เพื่อไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจาก หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว
ครูของโรงเรียนแก้จนมีทั้งหมด ๓ คน ประกอบด้วย คุณบุเรง ชิตมาลย์ จะเป็นผู้ให้ความรู้ทั่วไปเพื่อปูพื้นทางวิชาการด้านการเกษตร หมอบูรณ์ – สมบูรณ์ จันทร์จรุง หมอน้ำหมักจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์จะให้ความรู้เรื่องชีวภาพ คุณสุจินต์ อินทคีรี จากกลุ่มไม้เรียงจะให้ความรู้เรื่องแผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชน และการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคในครัวเรือน เน้นการพึ่งตนเองทั้งระดับชุมชนและครอบครัว

จากกิจกรรมดีดีที่เกิดขึ้นนี้ คงไม่ใช่เป็นผลงานของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นผลงานร่วมกันของชาวลานสกาและชาวตำบลขุนทะเล ตลอดจนชาวนอกไร่และกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ที่ได้ร่วมกันผลักดันสร้างกระแสเกษตรชีวภาพ พร้อมทั้งหน่วยสนับสนุนจากภายนอกอีกหลายหน่วยงาน แต่ทั้งนี้บทพิสูจน์ความจริงอยู่ที่พื้นที่ คนในพื้นที่เป็นหลัก ดังคำพูดของชาวนอกไร่ที่ว่า
“ถ้าเราไม่ปล้ำกันจนตัวนวล มีหรือวันนี้เราจะคุยกับ อบต.ได้ นั่งกินข้าวร่วมกันกับนายเภอ ผู้ว่ามาเยี่ยม ราชการวิ่งเข้ามาช่วย”
ดังนั้นความสำเร็จในการดำเนินการจึงไม่ใช่แค่ได้งบประมาณ เพื่อดำเนินการ แต่เป็นการได้มีสิทธิมีเสียงมีส่วนในการกำหนดนโยบายของพื้นที่ ทั้งจากกรณีทำให้ปรากฏเป็นนโยบายสาธารณะอย่างเกษตรชีวภาพที่ลานสกา เมื่อมีเสียงตอบรับจากชุมชนเต็มร้อยยังไงท้องถิ่น ราชการก็ต้องหนุน แต่การขับเคลื่อนต้องอยู่บนหลักคิดที่ถูกต้องเป็นสำคัญ ทั้งกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารขยายผล และการจัดการด้วยระบบธรรมาภิบาล
และที่สำคัญต้องให้ส่งเสริมเกิดการจัดกระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องอื่นของชุมชน ให้มากขึ้น


บรรณานุกรม
อนุภัทร จันตราชู, ช่วน ยอดวิจารณ์ และคณะ. ผู้ใหญ่ ผู้ช่วยหมา หมอน้ำหมัก ที่บ้านนอกไร่. ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก ; ปฏิวัติความคิดสู่ความสุขด้วยเกษตรชีวภาพ. โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้. กรุงเทพฯ. อุษาการพิมพ์, ๒๕๔๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever