ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

เริ่มด้วยนากุ้งชีวภาพแล้วขยายสู่ไบโอดีเซล

ที่ห้วยไทร เมืองนคร

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร


“กระบวนการกลุ่มเลี้ยงกุ้งชีวภาพ ได้พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพการเรียนรู้ของชุมชน ที่ตั้งสติคิดได้และค้นหาแนวทางแก้ปัญหา ตลอดจนเชื่อมประสานกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน....อันจะสามารถสร้างความยั่งยืนของชุมชนได้”

แกะรอยบ้านห้วยไทร
ชุมชนบ้านห้วยไทร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยตระกูลขุนดำ ยลธรรม์ธรรม และผลาวรรณ์ ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ป่ารกร้าง ทำการหักล้างถางป่าเพื่อปลูกมะพร้าว ทำนาข้าว และปลูกพืชผักต่างๆ เลี้ยงชีพ โดยภาพรวมของพื้นที่ชุมชนห้วยไทรเป็นดินทรายร้อยละ ๔๐ ดินร่วนร้อยละ ๑๐ และดินเหนียวป่าชายเลนร้อยละ ๕๐

ดินดี น้ำสมบูรณ์ คนก็สุข
ในอดีตที่ตั้งของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก ข้าว ปลา อาหารต่างๆ อุดมสมบูรณ์จึงทำให้สมาชิกของชุมชนมีความเป็นอยู่กันอย่างสุขสบาย มีอาชีพหลากหลายให้เลือกทำ แล้วแต่ใครจะมีความพอใจที่จะทำอาชีพอะไร ซึ่งบ้างก็ทำสวน บ้างก็ทำนา บ้างก็หากุ้ง หอย ปู ปลา ในแม่น้ำลำคลอง สุดแล้วแต่ว่าใครจะถนัด สะดวก หรือชอบ ที่จะทำอาชีพอะไร
แต่เดิมนั้นจะหนักไปทางอาชีพการทำสวนมะพร้าวเพราะปลูกได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก การทำนาข้าวทำเพียงไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนการหากุ้ง หอย ปู ปลา ในแม่น้ำลำคลองนั้น จะหามาเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลือกินก็นำไปขายในชุมชนบ้างตามความสามารถของแต่ละคน เพราะในช่วงนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก การที่จะนำของไปขายนอกชุมชนนั้นทำได้ยาก ขายกันเองในชุมชนก็ขายได้ไม่มากนัก เพราะต่างคนต่างก็สามารถหามาเลี้ยงครอบครัวของตนเองได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาเรื่องการครองชีพและอาหารของคนในชุมชน เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในอดีตที่ธรรมชาติสรรสร้างมา จนมีคำกล่าวติดปากต่อ ๆ กันมาว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" เป็นสวรรค์ของแผ่นดินสยามประเทศที่บรรพบุรุษเราได้รักษาไว้ให้ลูกหลาน

จากปลูกพืช...หันไปสู่การเลี้ยงกุ้ง
กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ กระแสเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มแผ่ขยายแทรกซึมเข้ามาในชุมชนห้วยไทร สมาชิกของชุมชนกลุ่มหนึ่ง เห็นว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีจำนวนมากในแม่น้ำลำคลอง ถ้านำมาเลี้ยงหรือขังไว้ในบ่อให้มีจำนวนมากๆ และให้เจริญเติบโตขึ้นกว่าเดิม คงจะสามารถนำมาขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และคงจะดีกว่าการที่ต้องเสียเวลาไปหาจับจากแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ สมาชิกกลุ่มนี้จึงได้คิดริเริ่ม ขุดพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชน เป็นด้านที่ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย เพื่อทำเป็น “นากุ้ง” ที่เลี้ยงกันตามแบบธรรมชาติ
ราวปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ก็ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนให้กับทหารผ่านศึก โดยการจับสลากแบ่งกันเป็นแปลงๆ แปลงละ ๔๐ ไร่ ประมาณ ๓๐ แปลง เมื่อมีคนข้างนอกเข้ามาทำกินได้ คนเดิมในชุมชนก็เอาบ้าง โดยการเข้ามาจับจองทำในพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการจัดสรรให้ทหารผ่านศึก ขุดทำนากุ้งกันเป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ช่วงนี้ธุรกิจนากุ้งเริ่มรุ่งเรืองเฟื่องฟูเริ่มมีนายทุนเข้ามาเปิดแพกุ้งในตัวเมือง มีรถแบคโฮเข้ามาใช้ในการขุดคู ขุดคันนาแทนแรงงานคน มีการปล่อยเงินกู้จากนายทุนให้เอามาลงทุนในการทำนากุ้งก่อน จากการที่มีแพหรือตลาดรอบรับการซื้อกุ้งนี้เอง จึงเริ่มมีการเลี้ยงกุ้งแบบบ่อพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยระบบการเลี้ยงที่ทันสมัยมากขึ้น มีการปล่อยลูกกุ้งจากการเพาะเลี้ยง ใช้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น มีการใช้เครื่องตีน้ำให้ออกซิเจน มีการให้อาหารกุ้ง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งสูงมาก เพียงแค่เกิดความเสียหายกับกุ้งในบ่อแค่ครั้งสองครั้งก็มากพอที่จะทำให้ติดหนี้สินล้นพ้นตัวจนล้มละลายได้
ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งรุ่งเรืองมากที่สุดในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นบ่อธรรมชาติ หรือบ่อพัฒนาล้วนแล้วแต่สามารถทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ถึงแม้จะมีนายทุนรายใหญ่มาขอซื้อที่ดินโดยเสนอราคาให้แพงลิบลิ่ว ก็ไม่มีผู้ที่อยากจะขาย เพราะคิดว่าอาชีพนี้คืออาชีพที่สามารถทำเงินทองได้มากที่สุดของยุคนี้ ทุกคนจึงมีความคิดว่าทำอย่างไรที่จะสามารถให้ได้เงินจากอาชีพเลี้ยงกุ้งมากที่สุด

เห็นราคากุ้งแพง...ตาลุก อยากได้เงินมากๆ จึงนำสารเคมีมาใช้
ราคากุ้งเป็นแรงจูงใจให้หลายคนที่ทำนากุ้ง หันมาใช้สารเคมีเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงกุ้ง เพราะหาซื้อได้ง่าย การนำไปใช้สะดวกสบาย สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในปริมาณที่มากกว่าเก่าหลายเท่าตัว ใช้สารเคมีในการเบื่อปลา สารเคมีในการปรับสภาพน้ำ สารเคมีในการเร่งการเจริญเติบโต สารเคมีในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับกุ้งที่เลี้ยง
ซึ่งการใช้สารเคมีต่างๆ เหล่านี้ เป็นไปตามคำโฆษณาว่าดีสารพัดนึกของนักธุรกิจสารเคมี โดยไม่ได้คิดถึงผลเสียที่จะย้อนกลับมาเป็นอย่างไร กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่จะฟื้นฟูได้ทัน ประกอบกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน จากชุมชน และจากเรือประมงลงสู่คลองท่าแพ
ทุกคนที่ประกอบอาชีพนี้ต่างไม่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ความมักง่ายความเห็นแก่ตัวและความอยากได้ ทำให้สภาพความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเสื่อมถอยลง เป็นเหตุปัจจัยสำคัญให้ น้ำ ดิน ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงกุ้งเหมือนดังแต่ก่อน การทำนากุ้งแบบพัฒนาจึงเริ่มขาดทุนกันทีละรายสองราย จนเลิกเลี้ยง บ้างก็ขาย บ้างก็ให้เช่า บ้างก็ทิ้งร้างไว้เฉยๆ คนที่ไม่เคยทำก็อยากที่จะมาลองทำดู แต่ก็ต้องพบกับการขาดทุนและในที่สุดก็ถึงจุดจบของบ่อพัฒนา
แต่สำหรับการเลี้ยงแบบธรรมชาติก็ยังคงทำกันไปเรื่อยๆ โดยมีการแก้ปัญหาและปรับตัวกันอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง โดโลไมล์บ้าง ปูนขาวบ้าง ตามแต่ใครจะบอกว่าอะไรดี ก็ลองใช้ตาม ๆ กันทั้งนั้น แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ซ้ำยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

หาหนทางแก้ทุกข์...จึงเดินเข้าหาแนวทางชีวภาพ

“สื่อวิทยุ สร้างโอกาสการเรียนรู้ใหม่”
“หลายวิธีหลายแนวทางถูกนำมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาเหมือนกับหมาจนตรอก”
โชคดี สุวรรณมณีย์ สมาชิกของชุมชนซึ่งมีอาชีพเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติสะท้อนความรู้สึกสุดทน หลังจากที่ได้รับความรู้จากการฟังรายการวิทยุ “สนทนาภาษากุ้ง” ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และรายการ “โฟกัสเมืองคอน” โดยมีพระอาจารย์สุวรรณ เจ้าอาวาสวัดป่ายางโทรศัพท์เข้ามาในรายการแนะนำให้ลองทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในการแก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้ง ด้วยความที่อยากเห็นแนวทางที่ยั่งยืนในการเลี้ยงกุ้ง โดยไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร คิดเพียงว่าวันนี้เรากำลังเจ็บไข้ยาอะไรที่เขาบอกว่ากินแล้วน่าจะหายก็น่าจะกิน “กินยาเพื่อรอวันหายไข้ ดีกว่านอนรอวันตายโดยไม่ได้กินยา” ถ้าดีก็คงอยู่ได้ถ้าไม่ดีก็ไม่ได้เสียหายอะไรในเมื่ออาการหนักขนาดนี้แล้วก็สมควรที่จะทดลองทำใช้ดู จึงตัดสินใจไปพบกับพระอาจารย์สุวรรณ เพื่อขอสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพ และขอกากน้ำตาลมาด้วย เพื่อทำน้ำหมักชีวภาพสูตรแรกไว้ใช้ กากน้ำตาล ๑๐ ก.ก. : สับปะรด ๓๐ ก.ก.
โดยนำสับปะรดมาสับให้ละเอียด ผสมกับกากน้ำตาลใส่ลงในภาชนะที่มีฝาปิด ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ประมาณ ๓๐ วัน ให้สังเกต ถ้ามีฝ้าขาวขึ้นบนหน้าน้ำหมักก็สามารถนำมาใช้ได้เลย น้ำหมักที่ดีจะต้องมีกลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยว ถ้ามีกลิ่นเหม็นถือว่าใช้ไม่ได้
ในการใช้น้ำหมักชีวภาพกับนากุ้ง จะใช้ในอัตราส่วน น้ำหมักชีวภาพ ๑ ลิตร : พื้นที่ ๑ ไร่ ใส่ผสมลงไปกับน้ำช่วงที่ดันน้ำเข้าแปลงนา ทดลองใช้ได้ประมาณ ๑ ปี โดยระยะเวลาการใช้ไม่แน่นอนนักแล้วแต่ความสะดวก คือ ถ้าเปิดกุ้งครั้งก็ใส่น้ำหมักครั้งหนึ่งในช่วงที่ดันน้ำใหม่เข้าแปลงนา เห็นผลดี มากกว่าผลเสีย คือ
• ดินดีไม่มีกลิ่นเหม็นหน้าดินมีขี้เลนมากขึ้น
• น้ำสีสวย คือ ไม่มีลักษณะเป็นเมือก สีไม่เขียว จนผิดปกติธรรมชาติ
• ปลาตัวอ้วนขึ้น รสชาติดี
• กุ้งรอดมากขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่ใช้น้ำหมัก
• หอยเจดีย์ ซึ่งเป็นสัตว์กินหน้าดินเริ่มน้อยลง
จึงได้แนะนำให้สมาชิกที่ทำนากุ้งด้วยกันลองใช้ดูบ้างบางคนที่เชื่อก็ลองทำดู บางคนที่ไม่เชื่อก็ไม่ทำ แถมยังหาว่าทำอะไรบ้าๆ เสียอีก แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเขายังคิดทำแบบคนบ้าต่อไป

ก่อเกิดการรวมกลุ่มคนเลี้ยงกุ้ง
จากการทำคนเดียวก็เริ่มมีผู้ร่วมทำร่วมคิดเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะปรึกษาหารือกัน ในช่วงเวลาที่เสร็จจากงานได้นั่งคุยกันถึงข้อดีข้อเสีย และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในที่สุดก็ได้บทสรุปว่าน่าจะตั้งกลุ่มของชุมชนขึ้นมาสักหนึ่งกลุ่ม เพื่อที่จะได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน และเพื่อที่จะได้ขอสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ หรือจากองค์กรต่างๆ ให้กับชุมชนบ้าง สมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนเห็นดีด้วย
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเกิดกลุ่ม “ออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์” ขึ้นที่ชุมชนบ้านห้วยไทร โดยมีสมาชิกอยู่ในพื้นที่ หมู่ ๓ , ๔ , ๘ และหมู่ ๑๒ ของตำบลปากพูน ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ที่ทำอาชีพเลี้ยงกุ้งทั้งหมด กลุ่มดำเนินการไปได้ประมาณ ๑ ปี ก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากมายนัก จะมีอยู่เป็นหลักก็เพียงการออมทรัพย์ และการพูดคุยปรึกษากันเรื่องการเลี้ยงกุ้งบ้างเป็นครั้งคราว ตามความสะดวกและความเหมาะสม ส่วนผู้ที่ศรัทธาในเรื่องน้ำหมักชีวภาพก็ทำชีวภาพใช้กันไป ผู้ที่ไม่ใช้ก็คิดว่าขอดูคนอื่นใช้ไปก่อน ซึ่งตอนนั้นมีผู้ทำใช้กันอยู่ ๓ ราย คือ คุณโชคดี สุวรรณมณีย์ คุณรัญญา แพรกเมือง คุณจรวย แพรกเมือง ทำกันแบบลองผิดลองถูกใช้ไปเรียนรู้ไป ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อยๆ แล้วนำกลับมาดูพูดคุยปรึกษาหารือกันหลังจากเสร็จภาระกิจการงานประจำวัน

ก้าวเข้าร่วมกับเครือข่ายเกษตรชีวภาพ
กระทั่งวันหนึ่งขณะที่คุณโชคดี สุวรรณมณีย์ ซึ่งเป็นเลขากลุ่มไปซื้อกากน้ำตาลที่วัดป่ายาง ซึ่งตรงกับวันที่เครือข่ายเกษตรชีวภาพ ภายใต้โครงการดับบ้านดับเมืองประชุมเพื่อเตรียมโครงการในปีที่ ๒ จึงได้พบกับคุณช่วน ยอดวิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยชุมชนของเครือข่ายนี้ และได้เข้ามาสนทนาทำความรู้จักกับชุมชนบ้านห้วยไทร
เมื่อคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ได้มีการประชุมกันภายใน และอยากจะให้กลุ่มออมทรัพย์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรชีวภาพ และประธานกลุ่มและสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงทำให้แกนนำที่ใช้ชีวภาพอยู่แล้วต้องจัดกระบวนการใหม่ โดยรวบรวมเฉพาะผู้ที่สนใจที่จะใช้ชีวภาพทั้งส่วนที่ปลูกพืชและส่วนที่เลี้ยงกุ้งโดยให้ คุณสุวิทย์ เครือเสนา เป็นแกนนำกิจกรรมด้านพืช คุณโชคดี สุวรรณมณีย์ เป็นแกนนำกิจกรรมด้านการเลี้ยงกุ้ง
ต่อมาชุมชนได้มีโอกาสร่วมประชุม “การอบรมชีวภาพขั้นพื้นฐานควบคู่กับเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ที่วัดป่ายาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีฯ สมาชิกของชุมชนได้รับความกรุณาจากวิทยากร คือ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร อบรมพิเศษเกี่ยวกับการทำนากุ้งชีวภาพให้ ๒ ชม. หลังจากการอบรม สมาชิกของชุมชนก็ได้นำความรู้ที่ได้มาใช้กับการเลี้ยงกุ้ง และก็เป็นผลดีขึ้น แต่ก็ยังหาผลสรุปที่เป็นองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอนไม่ได้ว่า ชีวภาพนั้นมีผลต่อการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะการกระทำนั้นทำกันแบบต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือระบบใดๆ ที่จะใช้มาตรฐานในการเปรียบเทียบหรือวัดผลดี ผลเสีย หรือเปรียบเทียบการใช้ชีวภาพในปริมาณที่แตกต่างกัน ไม่สามารถนำองค์ความรู้ที่เกิดไปบอกเล่าให้คนอื่นเข้าใจได้ ต่อมา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์บ้านห้วยไทร ได้จัดเวทีเกษตรชีวภาพขึ้นที่ชุมชนห้วยไทร จากการสนับสนุนงบประมาณของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ได้รับการประสานงานจากนายช่วน ยอดวิจารณ์ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพ ได้รับเกียรติจากพระอาจารย์สุวรรณ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดป่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรยายเกี่ยวกับการสร้างกลุ่มให้เข้มแข็งและยั่งยืน ต่อจากนั้นนายอนุภัทร จันตราชู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเอง นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปาพูน ได้มาพูดถึงบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลกับการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มจึงคิดกันว่า น่าจะทำการศึกษารวบรวมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวภาพในการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติของชุมชนให้แน่นอนเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ทำกันในทุกวันนี้ ทางกลุ่มจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพ และสำนักงานโครงการดับบ้านดับเมือง ทางสำนักงานเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงให้ทางกลุ่มทำโครงการเสนอมา เพื่อให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาโครงการตามขั้นตอน โครงการได้รับการพิจารณาและอนุมัติให้การสนับสนุน
กลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์ชุมชนบ้านห้วยไทรจึงได้ทำการศึกษาตามโครงการ วิจัยการศึกษาปัจจัยในการเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยแบบธรรมชาติในแนวทางในแนวทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังว่างานวิจัยจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน โดยเน้นการนิยามความสุขของตนเอง ความสุขของชุมชน ซึ่งนิยามง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านว่า อยู่ดี กินดี และบ้านห้วยไทรมีบริบทของชุมชนเกษตรกรรมที่ดำรงชีพแอบอิงพึ่งพิงระบบธรรมชาติ ด้วยอาชีพการเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติ ได้ทำการค้นหานิยามความสุขแบบ อยู่ดี กินดี ด้วยมุมมองของชาวบ้านที่สัมผัสอยู่จริงในชีวิต ดูด้วยสายตาที่เป็นจริง ดูทั้งเรื่องปากท้อง และการเป็นอยู่ในสังคม ตลอดจนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้น ผ่านมิติมุมมองทั้งในเชิงมูลค่าและคุณค่า


ทำวิจัยนากุ้งชีวภาพ…เพื่อความอยู่รอด
โครงการวิจัยการศึกษาปัจจัยในการเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยแบบธรรมชาติในแนวทางในแนวทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินการโดยกลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมงานวิจัยในครั้งนี้
เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมโดยมีชุมชนเป็นนักวิจัยเอง ทำการศึกษาการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติในวิถีปกติที่ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่งานวิจัยนี้ออกแบบการเก็บข้อมูลและการควบคุมปัจจัยบางอย่างเท่านั้น โดยควบคุมไม่มีการให้อาหาร ไม่ใช้เครื่องตีน้ำ และไม่ใช้สารเคมี
ทีมวิจัยที่เป็นเจ้าของบ่อกุ้งทดลองนอกจากทำการทดลองเองแล้วยังร่วมสนับสนุนงบประมาณสำหรับวิจัยด้วย ซึ่งโครงการวิจัยเพียงสนับสนุนค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ส่วนค่าใช้จ่ายปุ๋ยชีวภาพและค่าน้ำมันสำหรับสูบน้ำเข้านากุ้งออกคนละครึ่งกับเจ้าของบ่อกุ้ง และผลผลิตที่ได้ยกให้ทีมวิจัยจัดการเอง

การออกแบบวิจัย
การออกแบบวิจัยโดยการปล่อยกุ้งแชบ๊วยขนาด พี ๑๕ ในอัตราส่วน ๕,๐๐๐ ตัวต่อพื้นที่ ๑ ไร่ โดยบ่อส่วนใหญ่มีขนาด ๔๐ – ๘๐ ไร่ ได้แบ่งการวิจัยออกเป็น ๓ ชุดการทดลอง คือ ชุดการทดลองที่ ๑ บ่อที่ใช้ชีวภาพมาก่อนแล้ว ๓ ปี ชุดการทดลองที่ ๒ บ่อที่ใช้ชีวภาพมาก่อนแล้ว ๑ -๒ ปี และชุดการทดลองที่ ๓ บ่อที่ไม่เคยใช้ชีวภาพมาก่อนเลย
และได้ทำบ่อควบคุม ๑ บ่อ ที่ไม่มีการใช้ชีวภาพเพื่อเปรียบเทียบกับแต่ละชุดการทดลองที่มีการใช้ชีวภาพในระดับแตกต่างกัน ๓ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ ใช้ในอัตราส่วน ๑๕๐ กก. : ๓ ลิตร : ๔๐ ไร่ (ชีวภาพเม็ด ต่อ ชีวภาพน้ำ ต่อ ไร่) ระดับที่ ๒ ใช้ในอัตราส่วน ๒๐๐ กก. : ๔ ลิตร : ๔๐ ไร่ และระดับที่ ๓ ใช้ในอัตราส่วน ๒๕๐ กก. : ๕ ลิตร : ๔๐ ไร่ ทำการเก็บข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ต้นทุน และผลผลิตที่ได้รับ การสูบน้ำเข้า pH ของน้ำ ความเค็ม ควบคุมและสังเกตโดยนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกุ้ง น้ำ และดิน
สรุป และวิเคราะห์ผลการวิจัย
ด้านผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดิน สภาพจากการสังเกตก่อนการใช้ชีวภาพ ดินมีลักษณะแข็ง เวลาเหยียบลงไปจะไม่รู้สึกว่ามีโคลน หรือมีลักษณะร่วนซุย แต่เมื่อใช้ชีวภาพ พบว่าดินร่วนซุย และเป็นโคลนมากขึ้น ซึ่งสภาพแบบนี้จะมีผลดีต่อเรื่องอาหารของกุ้ง ปลา และปู ในบ่อเพราะจะมีอาหารจำพวกแพลงตอนและสัตว์น้ำเล็กๆ มากขึ้น รวมทั้งเป็นที่หลบภัยของกุ้งเวลาลอกคราบ จากการสังเกตจะพบว่าเวลาลูกกุ้งลอกคราบจะฝังตัวในดินโคลน เพื่อหลีกหนีการกินของปลา ถ้าดินแข็งการหลบภัยของลูกกุ้งก็จะไม่ปลอดภัย
ด้านการเปลี่ยนแปลงของน้ำ สภาพน้ำก่อนใช้ชีวภาพ จากการสังเกตพบว่า สีของน้ำจะมีลักษณะคล้ายสีน้ำทะเลเวลาที่ดันน้ำเข้า ส่วนหลังใช้ชีวภาพ จะมีลักษณะสีของน้ำคล้ายสีเปลือกไข่ไก่ ซึ่งเป็นน้ำที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงกุ้ง
ด้านผลผลิตอื่นๆ ที่ตามมาหลังใช้ชีวภาพ พบว่าผลผลิตปลาและปูในนามีมากขึ้น ลักษณะของปลาและปูอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากมีอาหารจากดินเลนที่เกิดจากกระบวนการชีวภาพ แต่สำหรับกุ้งนั้นจะได้ผลหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยเรื่องน้ำว่าดีเพียงใด(น้ำดี หมายถึงไม่มีสารเคมีจากโรงงานเจือปน) ถ้าไม่มีผลกระทบเรื่องปัจจัยน้ำเข้ามาแทรกผลผลิตก็จะได้ดี เพราะสภาพดินจะเป็นแหล่งอาหารของกุ้งและเป็นผลดีต่อการดำรงชีพ และการหลบภัยของกุ้งได้อย่างดี ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการชีวภาพ

ส่วนเรื่องมูลค่าในเชิงธุรกิจ ถึงแม้ผลที่ออกมาจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่การศึกษาทดลองเรื่องการเลี้ยงกุ้งนั้นจะต้องทำซ้ำกันหลายๆ ครั้ง เพื่อจะได้รู้ผลที่แน่นอน รู้ถึงผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย เพราะการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ ๗๐% ต้องอยู่ภายใต้สภาวะทางธรรมชาติยากที่จะเข้าไปควบคุม ซึ่งในบางช่วงเวลาก็เป็นปัญหาในบางช่วงเวลาก็ไม่เป็นปัญหา แต่ก็สามารถที่จะได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เกิดตามมาอีกมากมาย แม้การทำโครงการวิจัยจะเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน และอาจจะยุ่งยากในเรื่องของการบันทึกข้อมูล สำหรับสมาชิกของชุมชนที่มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ แต่ก็ถือเป็นความภูมิใจที่ได้ทำโครงการ การศึกษาวิจัย ในครั้งนี้ ซึ่งก็สามารถที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งในครั้งต่อๆ ไปได้อีกระดับหนึ่ง

สิ่งที่ได้รับมากกว่าผลการวิจัย
นอกจากนี้งานวิจัยในครั้งนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้เขาเหล่านั้นไม่มีใบปริญญาพ่วงท้าย แต่เขาสามารถทำงานวิจัยเพื่อการอยู่รอดในชุมชนได้ จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ทำวิจัยทั้ง ๘ คน ต่างภาคภูมิใจ และแส ดงความรู้สึกออกมาว่า
นางสอดแก้ว คงจันทร์ " รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาร่วมกลุ่ม เพราะเมื่อก่อนคิดคนเดียว ทำคนเดียว บางครั้งคิดไม่ออก ทำไม่ถูก ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร พอเกิดการร่วมกลุ่มได้ร่วมคิด ทำได้แล้วหลายเรื่องตามที่คิด"
นายรัญญา แพรกเมือง "ดีใจที่ได้ร่วมคิด ร่วมกันแก้ปัญหา ดีกว่าคิดคนเดียว ทำคนเดียว"
นายสุทิน สกกุณา "ดีใจที่ได้เข้าร่วมกลุ่มชีวภาพ เพราะหลังจากได้ใช้ชีวภาพทำให้กุ้งติดมากขึ้น ดินดีขึ้น ปลาชุกชุมกว่าเดิม"
นายสุริยา ผลาวรรณ "การรวมกลุ่มมีโอกาสได้ทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน ทำการเกษตรปลอดสารพิษ ก่อให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพึ่งพาตัวเองของชุมชน ก่อให้เกิดความสุขใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องซื้อหา"
นายจรวย แพรกเมือง "หลังจากหันมาใช้ชีวภาพรู้สึกว่านากุ้งดีขึ้น เกิดขี้แดคในน้ำแต่น้ำไม่เสีย ปลากินขี้แดดตัวอ้วนกว่าเมื่อก่อน"
นายประมวล เรืองศรี "แต่ก่อนผมไม่ใช้ชีวภาพกุ้งเป็นโรคสีส้ม หลังจากใช้ชีวภาพกุ้งไม่พบโรคสีส้ม ทั้ง ๆ ที่นารอบข้างเขาเป็นโรคสีส้มกันทั้งนั้น จนทำให้เพื่อน ๆ รอบข้างต้องเข้ามาศึกษาขอความรู้ในการใช้น้ำหมักชีวภาพ และจากการสังเกตหลังการใช้ชีวภาพขี้แดดที่เกิดในบ่อไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนก่อนหน้านี้ ปลาที่อยู่ในบ่ออ้วนขึ้น จับขายได้น้ำหนักดีกว่าแต่ก่อน"
นางสาวโชคดี สุวรรณมณีย์ "รู้สึกดีกับการทำงานเป็นกลุ่ม ถึงแม้บ้างครั้งความคิดเห็นอาจไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็สามารถแก้ปัญหากล่าวนั้นให้คลี่คลายลงได้ด้วยดี ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย อย่างการเลี้ยงกุ้งเมื่อก่อนมีหอยเจดีย์เข้ามาอาศัยอยู่มาก หลังการใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากสับปะรด หอยเจดีย์กลับหายไป แต่จากการทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดอัดเม็ดติดต่อกันมา ๑ ปี เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหอยเจดีย์ก็กลับมาเหมือนเดิม"
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ออกมาจากปากของผู้ปฏิบัติจริง วิจัยเพื่อความอยู่รอดของชุมชนโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่ได้ทำงานวิจัยตามงบประมาณที่ได้มา หรือวิจัยเพื่อการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น

องค์ความรู้ใหม่...บทพิสูจน์การวิจัยแบบชาวบ้าน
หลังจากชุมชนบ้านห้วยไทรได้ร่วมกันปฏิวัติตัวเองตามความสมัครใจของแต่ละคนหันมาประยุกต์ใช้ชีวภาพให้กลมกลืนกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
การใช้ชีวภาพกับนากุ้ง พบว่า การใช้น้ำหมักชีวภาพจากสับปะรดสุกแต่เพียงอย่างเดียว(สับปะรดสุก ๓ ส่วน กากน้ำตาล ๑ ส่วน น้ำสะอาด ๑๐ ลิตร) นำมาหมักรวมกัน ใช้ได้ผลดีที่สุดสำหรับเขตนี้ ทำให้หอยเจดีย์หายไปจากท้องนา น้ำเปลี่ยนสี กุ้งไม่เป็นโรคสีเหลือง ในนามีปู ปลาสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากเนื้อสัตว์(ปลา ๑ ส่วน กากน้ำตาล ๑ ส่วน) ไม่เหมาะกับการใช้ในนากุ้ง
การใช้ชีวภาพกับการปลูกพืช ในชุมชนบ้านห้วยไทรยังมีการใช้น้อยมาก เริ่มมีการใช้บ้างกับการปลูกปาล์มน้ำมัน เพิ่งจะเริ่มปลูกในระยะ ๑-๒ ปีนี้เอง ยังไม่มีผลที่ประจักษ์ชัดเจน และที่บ้านนายรัญญา แพรกเมือง เตรียมสร้างแปลงเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพริกและมะละกอเพื่อเป็นคำตอบให้กับชุมชนต่อไป
การใช้ชีวภาพในครัวเรือน ในชุมชนเริ่มมีการทำน้ำยาเอนกประสงค์ ประเภทน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แชมพูสระผม ตามสูตรที่แต่ละคนได้รับการถ่ายทอดมา ยังไม่สามารถสรุปเป็นบทเรียนของชุมชนที่ชัดเจน
การประยุกต์ใช้ชีวภาพกับการเลี้ยงสัตว์ นายสุริยะ ผลาวรรณ์ ใช้น้ำหมักชีวภาพจากสับปะรดผสมน้ำให้วัวได้ดื่มกิน และนำน้ำหมักชีวภาพไปผสมน้ำฉีดพ่นแปลงปลูกหญ้าบนคันนากุ้ง ในฤดูที่ผ่านมาระหว่างปี ๒๕๔๘ - ๒๕๔๙ เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง แต่วัวที่ตนเองเลี้ยงไม่ติดโรคระบาดแต่อย่างใด แม้ยังไม่มีข้อมูลอะไรมายืนยัน แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนรอบข้าง

สรุปโครงการ...พบ ๔ ปัจจัยแห่งความสุขที่ห้วยไทร
เมื่อมองผ่านระบบคุณค่าแห่งความสุขที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยของชาวบ้านในครั้งนี้ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคุ้มค่าและได้กำไรมาก เพราะได้เรียนรู้เหตุปัจจัยแห่งความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการนี้ ได้แก่
ปัจจัยแห่งความสุขที่หนึ่ง คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบจับเข่าคุยกัน ทั้งชุมชน เจ้าหน้าที่โครงการ และนักวิชาการ ทำให้เกิดความเข้าใจกัน เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แล้วตามมาด้วยประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจัยแห่งความสุขที่สอง คือ เสริมสร้างความสุขและความมั่นใจในการประกอบอาชีพกับการเลี้ยงกุ้งในแนวทางชีวภาพที่สามารถสร้างองค์ความรู้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง เพื่อพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจัยแห่งความสุขที่สาม คือ การบริหารจัดการความสุขของกลุ่ม ที่มุ่งเน้นประโยชน์ของสาธารณะและของชุมชนเป็นหลัก
ปัจจัยแห่งความสุขที่สี่ คือ ความมั่นคงของครอบครัว ความอบอุ่นของครับครัวกับการประกอบอาชีพตามวิถีชุมชน ทำให้คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน มีอาหารการกิน กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ไม่ต้องซื้อหาเลี้ยงได้ตลอดปี เป็นการหาอยู่ หากิน สร้างอู่ข้าว อู่น้ำ ที่พอเพียงสมดุลกับระบบธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
ตลอดระยะเวลาในการจัดทำโครงการวิจัยนี้ ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการต่างได้รับผลกำไรแห่งความสุขที่ทำให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจ เกิดพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไป ตามแนวทางการเรียนรู้จากการใช้ชีวภาพ และการปรับตัวของชาวนากุ้ง

ข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของชาวนากุ้งชุมชนห้วยไทร
จากกระบวนการค้นความรู้ด้านการเลี้ยงกุ้งด้วยกระบวนการชีวภาพของกลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์ที่บ้านห้วยไทร พบว่ากระบวนการเรียนรู้การใช้ชีวภาพสามารถแก้ปัญหาของชาวนากุ้งได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการทำให้สภาพดินและน้ำที่เป็น ๒ ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงกุ้งดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามปัจจัยน้ำยังเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และยังเป็นปัญหาใหญ่ต่อเกษตรกรในการการเลี้ยงกุ้งทั้งหมดด้วย ซึ่งจากการเรียนรู้ในงานวิจัยครั้งนี้ ได้บทเรียนแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรที่ทีมงานวิจัยเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
๑. แนวทางการเลี้ยงกุ้งชีวภาพกึ่งปิด
ระบบการเลี้ยงกุ้งแบบกึ่งปิดเป็นการแก้ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งระบบกึ่งปิด หมายความว่า มีการดันน้ำเข้านาเพียงครั้งเดียว โดยสามารถเลือกสภาพน้ำดีที่สุดในการดันน้ำได้ หลังจากนั้นก็ปิดนาไม่ดันน้ำอีกจนการจะเลี้ยงกุ้งครั้งใหม่ และใช้กระบวนการชีวภาพปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม ผลเสียของวิธีนี้ คือ ไม่สามารถดันน้ำครั้งที่สองเพื่อให้ได้ลูกกุ้งจากธรรมชาติที่มากับน้ำทะเลที่ดันเข้าใหม่ จึงต้องมีการปล่อยลูกกุ้งใส่ในบ่อผสมกับการดันน้ำครั้งแรกด้วย แนวคิดนี้ยังไม่มีการเริ่มทำอย่างจริงจัง เพียงแต่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ
๒. เกษตรกรเลี้ยงกุ้งควรให้ความสำคัญต่อผลผลิตอื่นที่ไม่ใช่กุ้งเพียงอย่างเดียวและควรหาอาชีพเสริม
ในการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติถึงแม้ต้นทุนจะต่ำ แต่ผลผลิตที่ได้ก็ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่ปัจจัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งต้นทุนเรื่องราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชาวนาเลี้ยงกุ้งไปไม่รอด แต่ถ้ายึดแนวทางพระราชดำริการทำเกษตรพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อขายแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มองระบบสมดุลสร้างภูมิคุ้มกันในนากุ้ง มองหาผลผลิตอื่นๆ ที่มากกว่ากุ้ง เช่น ปู ปลา โดยสร้างระบบนิเวศอย่างเกื้อกูล พร้อมกับการมองหาอาชีพเสริมในช่วงเวลาว่างจากการดูแลนากุ้ง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เช่น การทำน้ำตาลมะพร้าว ปลูกผัก วางแผนปลูกไม้ยืนต้นเพื่อใช้ประโยชน์และเป็นทุนสำรองในอนาคต ซึ่งควรออกแบบการจัดการเรื่องรายได้ของครอบครัว ด้วยระบบคิดการสร้างรายได้ ๓ ระดับ คือ
ระดับที่ ๑ การสร้างรายได้ระยะสั้น เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนเลี้ยงครอบครัว เช่น เก็บผักขาย เลี้ยงกุ้ง ทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งเป็นการหาได้เลี้ยงครอบครัวไปวันๆ
ระดับที่ ๒ การสร้างรายได้ระยะกลาง เพื่อสะสมเป็นทุนรอนในการลงทุนครั้งต่อไป ระยะนี้ต้องมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่าระยะที่หนึ่ง ลงทุนทำไปแล้วมั่นใจว่าได้ทุนกลับคืนมา และมีช่วงเวลาการลงทุนที่เหมาะสมด้วย อาจจะเป็นระยะ ๕ – ๑๐ ปี เช่น การปลูกไม้ใช้สอยจำพวกไม้สน ไม้เศรษฐกิจจำพวกไม้กฤษณา ซึ่งมีระยะเวลาการใช้ประโยชน์เพียง ๔ – ๕ ปีเท่านั้น
ระยะที่ ๓ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยการลงทุนนี้ต้องไม่มีปัจจัยเสียงใดๆ เป็นการสะสมเงินบำนาญสำหรับชีวิตในอนาคตเมื่อแก่ตัว โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรสำหรับปลูกไม้ยืนต้นจำพวกไม้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในภาคใต้ไม้ที่เหมาะสม เช่น ไม้จำปา ไม้เทียม ไม้ตะเคียน ฯลฯ ถ้าเริ่มปลูกตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี ในที่ ๑ – ๒ ไร่ เมื่อถึง ๖๐ ปี ก็จะมีทรัพยากรเพียงพอในการเลี้ยงชีพในปั้นปลายของชีวิต
๓. เกษตรกรควรให้ความสำคัญต่อชีวภาพน้ำที่ได้ผลดีกว่าการใช้ชีวภาพเม็ด
จากการสังเกตพบว่า เมื่อใช้ชีวภาพเม็ดหอยในนากุ้งหอยจะกลับมาอีก เมื่อเปรียบเทียบการใช้ชีวภาพเม็ดกับชีวภาพน้ำ ชีวภาพน้ำจะเป็นผลดีกว่า ดินร่วนกว่า สร้างอาหารในดินได้มากกว่า อีกทั้งชีวภาพน้ำไม่ต้องซื้อหาทำได้ด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้เกษตรกรเริ่มหันมาใช้ชีวภาพน้ำกันมากกว่าชีวภาพเม็ด


วันนี้ห้วยไทรไม่กลัวปัญหา...เพราะเรียนรู้และมั่นใจ
ณ วันนี้หลังจากการทำโครงการการศึกษาวิจัยเรื่องกุ้งแล้วเสร็จไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชุมชนก็ยังต้องพบกับปัญหาตามมาเกี่ยวกับการทำนากุ้งอีกอย่างคือปัญหาราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนประมาณ ๘๐% ของการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ จากชุมชนรวมกลุ่มกันใช้ชีวภาพเป็นผลสำเร็จไปได้ระดับหนึ่ง ชุมชนจึงคิดหาช่องทางแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงด้วยการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันเหลือใช้ในการประกอบอาหาร ขึ้นมาใช้เองในชุมชนได้ แต่ก็ยังมีปัญหาต่อเนื่องมาอีกอย่างคือการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งในชุมชนจะพยายามแก้ด้วยการที่จะใช้น้ำมันจากมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเพื่อที่จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องราคาของมะพร้าวให้กับชุมชนอีกด้วย โดย อบต.ปากพูน ยังให้การสนับสนุนเครื่องหีบน้ำมันมะพร้าวอีกแรงหนึ่งด้วย
จะเห็นได้ว่าจากพื้นฐานเดิมของชุมชนที่ไม่ค่อยได้คิดได้ทำได้แก้ปัญหาใด ๆ ในชุมเลย รอคอยแต่หน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่สมาชิกของชุมชนคิดว่า เรานั้นมีความรู้แค่พออ่านออกเขียนได้จะไปคิดไปทำไปแก้ปัญหาอะไรได้ หลังจากได้ทำโครงการ “การศึกษาวิจัยการเลี้ยงกุ้ง” ผ่านไปแล้ว สมาชิกของชุมชนเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้แก้ปัญหาเองไม่ได้ ความจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนในชุมชนจะสามารถคิด ทำและแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ทุกเรื่อง ถ้าทุกคนไม่ร่วมแรง ร่วมใจ รวมพลังความคิด แก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน ย่อมยากที่จะสร้างชุมชนห้วยไทรเป็นสุขร่วมกันได้
วันนี้สมาชิกชุมชนบ้านห้วยไทร ไม่มีความทุกข์กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชุมชน เพราะสมาชิกของชุมชนมีความมั่นใจในการที่จะคิด ลงมือทำ เมื่อพบปัญหาต่างๆ ชุมชนสามารถร่วมแก้ไขได้ระดับหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความภูมิใจของชุมชนที่เราสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และชุมชนก็มีความหวังว่า
วันข้างหน้าชุมชนเองคงสามารถเดินตามแนวทาง ‘วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง’ ได้อย่างแน่นอน



บรรณานุกรม

ภาคผนวก

อนุภัทร จันตราชู, โชคดี สุวรรณมณีย์ และคณะ. นากุ้งชีวภาพที่ห้วยไทร. ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก ; ปฏิวัติความคิดสู่ความสุขด้วยเกษตรชีวภาพ. โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้. กรุงเทพฯ. อุษาการพิมพ์, ๒๕๔๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever