ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

โตนเพลงพัฒนา…บรรเลงหนังลุง โนราห์ กาหลอ

สร้างสำนึกเยาวชน ฅนหูโตน ที่นาข้าวเสีย เมืองตรัง

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

ฟังโตนเพลง...รำลึกความเป็นมาของบ้านหูโตน
เมื่อนั่งรถตามถนนสายคดเคี้ยวผ่านเขาพับผ้าเพื่อมุ่งหน้าสู่ชุมชนโตนเพลงทางฝากฝั่งจังหวัดตรัง ห่างจากทางลงเขาไม่ถึง ๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวตรงปากทางเข้าชุมชนข้างโรงเรียน....ไปบนเส้นทางถนนคอนกรีตที่หักเลี้ยวไปมาและห้อมล้อมด้วยป่ายางจนแทบมองหาบ้านคนไม่เจอ ก่อนเข้าถึงหมู่บ้านต้องข้ามคลองนางน้อยที่ไหลผ่านไปยังตัวเมืองตรัง คลองสายนี้ยังได้รวมเอาสายน้ำสองสายจากป่าต้นน้ำตำบลละมอ และป่าต้นน้ำบ้านในหูโตน ตำบลช่อง จากเทือกเขาบรรทัด ไหลมาบรรจบพบกันที่บ้านทุ่งมะม่วง อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของชุมชนโตนเพลงที่เรียกตามเสียงเพลงน้ำตกที่ได้ยินกันทั้งชุมชนไม่ขาดสาย ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นหูโตน
บ้านหูโตน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง มีประชากรทั้งหมด ๕๐๐ คน ๑๒๘ ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวนยาง ปลูกไม้ผล รับจ้างนอกบ้าน
ในอดีตชุมชนหูโตนมีชื่อเดิมว่า “บ้านทุ่งมะม่วง” ชาวบ้านเรียก ม่วงหวาน เนื่องจากมีต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมากในทุ่งนา รอบๆ ทุ่งนากอดล้อมด้วยขุนเขาที่มีป่าไม้และน้ำตกธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่านานาชนิด ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดลมหนาวมา น้าใบ ผู้อาวุโสในชุมชนและศิลปินพื้นบ้านด้านมโนราห์ เล่าว่า เหล่าสัตว์ป่านานาชนิด หลบลมหนาวมาจากเทือกเขาบรรทัดมารวมตัวกันที่บ้านต้นม่วงหรือบ้านหูโตนในปัจจุบัน ส่งเสียงร่ำร้องให้โหยหวน ท่ามกลางความเงียบสงบของผู้คนในชุมชน ซึ่งมีไม่กี่หลังคาเรือน
หนึ่งในสัตว์จำนวนนั้นคือเสือ มาร้องโหยหวนครวญครางเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า ฤดูกาล เสือจับมาร และเมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว มีครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานเพียง ๔ ครัวเรือน คือ ครอบครัวตาเรือง ครอบครัวตาคล้าย ครอบครัวตาแต้มและครอบครัวพ่อของน้าไบ และเพิ่มมาอีกหลายครัวเรือน คือ ครอบครัวยายทิม ครอบครัวทวดพุ่ม ครอบครัวตาแช็ค ครอบครัวตาลาย ครอบครัวตาแต้มครอบครัว ตาพลัด ครอบครัวตาชิม ครอบครัวตาหวาน ซึ่งมาจากบ้านช่อง ตำบลละมอและจากตำบลนาข้าวเสีย เข้ามาถางป่าเพื่อทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกมะพร้าวและเปลี่ยนมาเป็นปลูกยางพื้นเมือง โดยเมล็ดยางมาจากที่อื่นและขยายไปสู่บ้านหนองยวน นาหารเหนือ นาหารใต้และบ้านหูโตน
การทำมาหากินเก็บผลไม้พื้นบ้าน เช่น เก็บหมากแห้ง ใบกล้วย ลูกกอ(คล้ายลูกเกาลัด) เป็นไม้ยืนต้นที่มีเนื้อแข็งนิยมนำมาสร้างบ้าน ลูกสามารถนำไปรับประทานได้ ที่หูโตนมีไม้ชนิดนี้มาก ในปีหนึ่งๆ เพียงต้นเดียวก็เก็บได้มากถึง ๑๐ ปีบ แล้วนำไปขายที่ตลาดนาโยงเพื่อแลกกับเกลือ กะปิ ปลาเค็ม ของใช้จำเป็นต่างๆ ส่วนการเจ็บไข้ได้ป่วยอาศัยการรักษาด้วยหมอพื้นบ้าน หมอเอ็น หมอกระดูก หมอยาและหมอผี การสร้างบ้านเรือนของคนในชุมชนก็อาศัยไม้ในหมู่บ้านนำมาแปรรูปสร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้เพียงพอ

เพราะทำลายธรรมชาติ...ธรรมชาติจึงเอาคืน
หลังปี ๒๕๐๓ ความอุดมสมบูรณ์ภายในชุมชนลดน้อยลง มีการตัดไม้ป่าทำลายเพิ่มมากขึ้น ทำการโค่นยางพันธุ์พื้นเมืองเพื่อปลูกยางพันธุ์แทนที่ ขยายพื้นที่ทำกินรุกล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามของธรรมชาติ ส่วนหนึ่งก็ได้ลักลอบตัดไม้ จนพื้นป่าโล่ง เหลือพียงร่องลอยตอไม้ใหญ่ที่เคยยึดโยงผืนแผ่นดินและสายน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ คอยเป็นบ้านหลังใหญ่ให้สรรพสัตว์ และเป็นปากท้องห้องหัวใจให้คนในชุมชน แต่แล้วเมื่อถูกทำลายไปก็เหมือนกับการพังทำลายบ้านตัวเอง พอในปี พ.ศ ๒๕๒๔ ธรรมชาติก็เลยทวงคืน เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่น้ำตกกะช่องพังทลาย เสียงน้ำตกขับกล่อมคนในชุมชนจากดงป่าทึบเทือกเขาบรรทัดขาดหายไป เสียงที่เกิดจากคนคาดห้าง เอาไม้มาดัดแปลงเป็นลูกระนาด ตีดังขับกล่อมคนในชุมชนก็ขาดหายไปจากชุมชนด้วยเช่นกัน บ้านโตนเพลง ซึ่งเป็นชื่อบ้านอีกชื่อหนึ่งกลับกลายมาเป็นบ้านหูโตน ณ วันนี้

นี่คือวิถีเดิมของฅนหูโตน
ชุมชนหูโตนเป็นชุมชนเก่าแก่สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด มีศิลปินพื้นบ้าน กาหลอ มโนราห์ หนังตะลุง ที่คอยกล่อมบรรเลงจังหวะชีวิต ขัดเกลาจิตใจให้คนในชุมชนตั้งมั่นอยู่ในจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น รักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมในสังคม คอยให้ความคลื้นเคลงบรรเลงความบันเทิงใจ หลังจากคนในชุมชนพักเหนื่อยจากการทำงานหนักทั้งวัน จากกิจกรรมการเกษตร ทำนาดำ ทำสวนยางพารา หาของป่า เลี้ยงวัวเลี้ยงหมูและเลี้ยงไก่ ปลูกผลไม้ ปลูกผัก ทำมาหากินกันหลากหลายรูปแบบ บนพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
พอมีเวลาว่างจากการทำงานก็มารวมกันปรึกษาหารือ หาแนวทางการพัฒนาชุมชนหูโตน “มาร่วมกันบรรเลงเพลงโตนพัฒนา” ภายใต้ความคิดที่ว่า “ชุมชนบ้านหูโตน...ถ้าเราจะทำอะไรในชุมชนต้องมีการปรึกษาหารือ คิดคนเดียวทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีการเสียสละมีความสามัคคีในการจัดกิจกรรม ช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้นและสร้างสุขร่วมกันในชุมชน นอกจากนั้น ให้เราคำนวณดูว่าตนเองอยู่ในภาวะอย่างไร รู้จักประมาณตนเอง รายจ่ายไม่ติดลบ ไม่ให้เป็นหนี้รู้จักประหยัด ช่วยเหลือแบ่งปันมีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเอง มีการทำกิจกรรมสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ให้สูญหาย มีเครื่องอำนวยความสะดวก”
ได้จัดตั้งเป็นธนาคารหมู่บ้านของชุมชนที่ดำเนินการกันเอง โดยร่วมกันบริหารจัดการให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สมาชิกก็ซื่อตรงพร้อมเพรียง มีการปันผลจัดสรรสวัสดิการและการศึกษาดูงาน เป็นไปด้วยความราบรื่น เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน และสมาชิกทุกคนได้รับประโยชน์
ส่วนกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายหน่วยเหนือ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่ม อสม. กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มผู้ใช้ปุ๋ย กองทุนเงินล้าน ฯลฯ ผุดเกิดขึ้นมายังกับดอกเห็ด ซึ่งบางครั้งก็ซ้ำซ้อน หรือวนอยู่กับคณะทำงานไม่กี่คน คนทำงานเองก็ไม่มีเวลา เดี๋ยวนายจากหน่วยนี้สั่งที หน่วยนั้นสั่งที ทำเหมือนกับชาวบ้านเป็นลูกจ้างเขา สุดท้ายภาระงานที่เกิดขึ้นมีแต่รุงรังรั้งการพัฒนากลุ่มองค์กรชาวบ้านไม่โผล่หัวไปทำเรื่องใหม่ๆ ได้เลย เกิดการทะเลาะแตกกันในกลุ่ม ทั้งปัญหาเรื่องการจัดการที่มีนายสั่งแต่ไม่มีนายช่วย ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลที่ถูกระบบทักษิณแทรกซึมนำค่านิยมผิดๆ ผ่านมาในสังคม และต่างคนก็ต่างวางเฉยกับความไม่ถูกต้อง ยิ่งสื่อสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับสังคมโดยเฉพาะเยาวชนทำให้คุณความดี ความงาม วัฒนธรรมดีดีของท้องถิ่นถูกทำลายไป การเมืองในปัจจุบันตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงท้องถิ่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่ ได้ก่อให้ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เลือกกันทีแตกแยกกันทีจนเป็นวิถีปกติเกือบทุกชุมชนของประเทศไทย

ฅนหูโตนไม่ยอมแพ้
จากการปัญหาสังคมในปัจจุบันที่มากขึ้น กระทบชุมชนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งพิบัติภัยธรรมชาติรุ่นแรงและถี่ขึ้นทุกขณะ เรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหาเยาวชน ปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาร่วมเกือบทุกชุมชน เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันแม้แต่ในระดับชุมชน เกิดการแยกคนออกจากกัน ไม่มีเวลามาพบพูดคุยสร้างความเข้าใจร่วมกัน พอค่ำเข้าบ้านนั่งดูทีวี ไม่มีการประชุมชาวบ้าน ถ้าประชุมก็มีแกนนำไม่กี่คน ทำให้ขาดการเรียนรู้ร่วมกัน ความสามัคคีของคนในชุมชนและความสัมพันธ์รักและภูมิใจในถิ่นฐานน้อยลง ยิ่งถ้าชุมชนไหนส่งลูกหลานออกไปเรียนในเมือง ก็ยิ่งดึงคนออกจากชุมชน สภาพจิตใจของคนในชุมชนหยาบกระด้าง ขาดความเมตตาปราณี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ ความเป็นธรรมในชุมชน
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ชุมชนบ้านหูโตนจึงมีความเห็นร่วมกันในการแนวพัฒนาชุมชน เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกพึ่งตนเอง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สร้างเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่มีความปราณี ละเอียดอ่อน เพื่อนำไปสู่สุขภาวะชุมชน
ด้วยลองเริ่มดำเนินโครงการโตนเพลงพัฒนา ที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการและติดตามโดยเครือข่าย อสม. มีคุณเฉลียว(กฤษณพร) สุวรรณวร เป็นผู้ช่วยชุมชน ซึ่งอยู่ภายใต้ขบวนของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ หรือโครงการดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กิจกรรมที่ทำประกอบด้วย เวทีเรียนรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้าน เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ยาฆ่าศรัตรูพืช เรียนรู้ดนตรีไทย และการสรุปประเมินผล

เมื่อจับมือกับดับบ้านดับเมือง
โครงการดับบ้านดับเมืองโดยผู้ช่วยชุมชนได้เข้ามาชวนคิดทบทวน ร่วมปรึกษาหารือ ชีวิตชุมชนที่แอบอิงพึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ และมีสายเลือดศิลปินพื้นบ้าน กาหลอ มโนราห์และหนังตะลุง นอกจากนี้แล้วคนในชุมชนยังมีกิจกรรมรวมกลุ่มธนาคารหมู่บ้าน จัดกิจกรรมร่วมกันปีละ ๑-๒ ครั้ง และเคยร่วมกับกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม(SIF) ทำกิจกรรมเรียนรู้ดนตรีไทย แต่ขาดการฝึกสอนที่ต่อเนื่อง เหลือเพียงเยาวชนคนที่สนใจจำนวนหนึ่งที่ยังดำเนินการต่อ ดังนั้นเมื่อได้จับเมือกับดับบ้านเมืองจึงมาสานต่อเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องเกษตรชีวภาพ
ชาวหูโตนเห็นว่า ในเรื่องการเกษตรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการลดต้นทุนการผลิต เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเกษตรบ้านหูโตนมีการใช้จ่ายในการผลิตที่สูง การทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักถือได้ว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะในชุมชนมีวัตถุดิบมากพอที่จะทำปุ๋ยเอาใช้ได้ และเมื่อทำเองน่าจะใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า ผลผลิตที่ออกมามีความภาคภูมิใจมากกว่า เมื่อนำไปใส่พืชผักผลไม้ รับประทานเข้าไปได้อย่างสนิทใจ เพราะเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากส่วนที่ไม่เป็นพิษ สามารถปรับสภาพดินได้ดี รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างยั่งยืนตลอดไป ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทำให้ดินแข็ง ปรับสภาพดินได้ยาก เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงมีการนำสารเคมีมาใช้ในชุมชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ทำการปลูกต้นไม้ชายตลิ่งป้องกันน้ำกัดเสาะไม่ให้ตลิ่งพังทลาย รณรงค์การปลูกผักกินเองในครัวเรือน เลี้ยงปลาไว้กินเอง และเสาะหาพันธุ์ผักพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์รักษาขยายพันธุ์ต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดตรังและเจ้าหน้าที่ทางเกษตรอำเภอนาโยงโดยเฉพาะการทำปุ๋ยหมักใช้เอง จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำและการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในแต่ละสูตรที่เหมาะสำหรับพืชแต่ละชนิด และทำการศึกษาสูตรน้ำหมักชีวภาพเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้สมาชิกที่ร่วมโครงการเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่า จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการปฏิบัติจริง และทำการสังเกตศึกษาจากการติดตามประเมินผล ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกัน ๑๕-๑๗ ครัวเรือน
การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานการรู้จักใช้รู้จักเลือกสรรและพัฒนา ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้านนั้น เป็นหนทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่บนรากฐานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เหมือนคำโบราณที่เรียกศิลปินพื้นบ้านว่า พวกนักเลง ซึ่งหมายถึง พวกใจกว้าง ใจยาว ใจใหญ่ ไม่คับแคบ เป็นเรื่องความตั้งใจมั่น ค่อยๆ ขัด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สั่งสม จนตกผลึกเป็นตัวตนของความเป็นคน โดยมีใจ เป็นแกนของการกระทำ ซึ่งศิลปินจะดำรงอยู่ไม่ได้เลย ท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัว หรือชีวิตที่มุ่งมั่นบนฐานวัฒนธรรมบริโภคนิยม มิติ ครูหมอ ตายาย เป็นมิติทางจิตวิญญาณของท้องถิ่นต่อความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งที่สั่งสมเรื่อยมา จนสร้างคุณค่าผูกติดกับวิถีชีวิตผู้คนตลอดมา มิใช่เป็นแค่เพียงสินค้าในตลาดเศรษฐกิจของทุนนิยมเสรีเท่านั้น

สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านหูโตน...รำมโนราห์
น้าใบบอกว่า “...มาทำเรื่องศิลปินพื้นบ้าน เพราะเกี่ยวกับสายเลือดเชื้อสายตายาย ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษปู่ย่าตายาย สมัยโบราณ ชุมชนบริเวณนี้มีการนับถือตายายทุกครัวเรือน โดยเฉพาะตายายเชื้อสายมโนราห์”
มโนราห์มีความเชื่อพื้นฐานเรื่องการสืบทอดทางสายเลือด ที่เป็นสื่อเชื่อมผู้คนเข้าหากัน เข้าหาความสุข ยิ่งลูกศิษย์รำดี ตีเครื่องเข้าจังหวะ จิตเต็มตื่น ทำให้มีเรี่ยวแรง มีกำลังใจมาก ยิ่งทำให้มีความสุข
ผลของกิจกรรมการฝึกสอนมโนราห์ที่ชุมชนหูโตน จากการสอบถามผู้เข้าร่วมบอกว่า “...รำมโนราห์เพราะใจรักด้านการร่ายรำและมีเชื้อสายมโนราห์ ทั้งชอบท่าทางและบทกลอน รำได้ไม่ยากเข้าใจง่ายถ้ามีความตั้งใจฝึกหัด ตอนนี้รำได้ทั้งหมด ๑๒ ท่าพื้นฐาน คือ ท่า ๑. ท่าช้างชูงวง ๒. ท่าขี้หนอยน้อย ๓. ท่าสอดสร้อยมาลา ๔. ท่าช้างสารหว่านหญ้า ๕.ท่ารำท่าสูงสุด ๖. ท่ารำเขาควาย ๗. ท่ากระต่ายชมจันทร์ ๘. ท่าประถม ๙. ท่าจีบชายพก ๑๐. ท่าผาหลา ๑๑. ท่าเพียงไหล่ ๑๒. ท่าบัวตูมบัวบาน ได้รำมโนราห์แล้วรู้สึกภูมิใจ ผู้ชมปรบมือให้และตอบรับเป็นอย่างดี รำแล้วมีความมั่นใจมากขึ้น และเชื่อว่ามโนราห์ศิลปินพื้นบ้านขณะนี้ไม่มีวันสูญหายไปจากผู้ฅนหูโตน”
มโนราห์ใบย้ำว่า การรำมโนราห์เป็นของโบราณ ต้องเคารพตามภาษิต เช่น วันไหนควรแสดงวันไหนไม่ควรแสดง หากคิดแต่ให้ได้เงินอย่างเดียวการรำมโนราห์จะทำให้เราได้รับเคราะห์กรรม ทำมาหากินไม่ขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า ทำให้การดำเนินชีวิตไม่พบกับความอยู่เย็นเป็นสุขนั้นเอง

ร่วมเรียนรู้ฝึกหัดดนตรีไทย
เป้าหมายของการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าหากเด็กและผู้ใหญ่มีความรู้เรื่องนี้ จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามโอกาสต่างๆและที่สำคัญคือ เมื่อได้ใกล้ชิดกับดนตรีไทยทำให้ทุกคนสนุกร่าเริง ปัจจุบันคนที่เล่นดนตรีไทยในประเภทต่างๆได้ รวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ๑๐ – ๑๕ คน กระจัดกระจายอยู่ในชุมชน การเรียนรู้และการฝึกหัดเป็นความสนใจเฉพาะบุคคล เป็นอิสระไม่ได้มีใครบังคับ
พอถึงบ่ายวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่ศาลาเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้านชุมชนหูโตน หมวดจิต อดีตนายทหารวงดุริยางค์กองทัพภาคที่ ๔ ได้บรรเลงเพลงดนตรีไทยก่อนทำการสอนทุกครั้ง วันนี้ได้สอนเด็กๆ และผู้เรียน ในการตั้งเสียงดนตรี ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ยเสียงซอล-เสียงเร เสียงหลัก การเทียบเสียง การใช้นิ้วแต่ละนิ้วกับเสียงที่ปรากฏ การอ่านตัวโน๊ต ที่มี ๘ ชั้น ๔ จังหวะ เป็นเสียงสำคัญที่สุดและเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายได้ให้การบ้านกับผู้เรียน กลับไปฝึกฝนบรรเลงเพลงตามตัวโน๊ต เช่น ลาวร้อย ๒ ชั้น ลมพัดชายเขา ๒ ชั้น ลาวต่อนก ๒ ชั้น แขกปัตตานี ๒ ชั้น ฯลฯ เวลาผ่านไป ๖ เดือน สมาชิกวงดนตรีไทยบ้านหูโตนก็ฝึกได้ ๒๕-๓๐ เพลงและสามารถออกตระเวนเล่นตามงานการกุศลและงานในโอกาสต่างๆได้
หลายคนสงสัยเหมือนกันว่า เด็กๆ และคนเหล่านี้มาเล่นดนตรีไทยไปทำไม ทั้งที่กระแสสังคมในปัจจุบันมันน่าจะหมดสมัยไปแล้ว แต่ก็ได้คำตอบที่มีความหมายน่าคิดอยู่ว่า “...ก็เล่นหนุกๆ บายอกบายใจ...” สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ไปโดยตัวของมันเอง เมื่อดนตรีของชุมชนไปเล่นที่ไหน ทำให้คนบ้านหูโตนภูมิใจ พร้อมกับได้รับคำยกย่องว่า เป็นชุมชนที่มีความพร้อมเพรียง สามัคคี รักกัน และคนที่เล่นได้ เชื่อว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์
นายเด่นชัย พันธุ์เกตุ สมาชิกเยาวชนวงดนตรีไทยบ้านหูโตนบอกว่า “...เล่นดนตรีไทยแล้วทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสมาธิความดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การฝึกฝนทำให้จิตใจประณีตละเอียดอ่อน จิตใจดี ไม่หยาบกระด้าง อันเกิดจากการรุกเร้าของปัญหานานานัปการในสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหามากมายนับไม่ถ้วน”
“การเรียนรู้การฝึกดนตรีไทยเป็นพื้นฐานหรือเป็นองค์ประกอบของศิลปินพื้นบ้านแขนงอื่นๆ”

ว่าบทหนัง...นั่งข้างนา...สื่อภาษาไอ้เท่ง
ทุกๆ ค่ำคืนที่ชุมชนหูโตนจะได้เสียงคณะหนังตะลุงฝึกหัดมีนายหนัง ๒ คน อาจารย์กับศิษย์และลูกคู่ ๗ – ๘ คน ดังมาจากโรงหนังกลางของชุมชนที่ตั้งอยู่ในศาลาประชุมของหมู่บ้าน ตรงข้างๆ นาจะมีกบเสียงกบเขียดร้องให้จังหวะเป็นการเพิ่มสีสันตามธรรมชาติอย่างลงตัว ฟังเสียงทับ ขับเสียงโม่ง ตะ...เท่ง...ปะ ผสมกับเสียงออกบทดังขับกล่อมคนในชุมชนด้วยสารพัดเนื้อหา ทั้งเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ธรรมะธัมโม เด็กและเยาวชน การรักษาดูแลสุขภาพ และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ
ชาวบ้านหูโตนเล่นหนังตะลุงเพื่อให้ความบันเทิงกับคนในท้องถิ่นแทบทุกคืน งดเพียงวันอาทิตย์วันเดียว หนังตะลุงจึงถือเป็นสื่อสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเวลาหนังกางผ้าใบเพื่อฉายหนัง มีทั้งเด็ก คนแก่มานั่งแลหนัง(ดูหนัง) นายหนังเป็นคนในชุมชนนั่นเองที่มาหัดเช่นขับบทผิดบ้างถูกบ้างก็ยังมีคนฟัง บางทีดนตรีไม่เข้าจังหวะก็เล่นกันจนเข้าจังหวะ เล่นกันแบบหนังยังไม่เข้ารูป เสียงไอ้เท่งยังไม่เป็นเสียงไอ้เท่ง แต่ก็เรียกเสียงฮาอย่างครึกครื้น ที่สำคัญเล่นกันเกือบทุกคืนทั้งคนเล่นและคนชมไม่ยอมถอย เรียกได้ว่าหนังลุงอยู่ในสายเลือด
เหมือนกับว่า เสียงที่ดังขับกล่อมฅนหูโตนทุกค่ำคืนเป็นภาษาชีวิต ที่ปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นตื่นยืนขึ้นสร้างเสริมสุขให้กับตัวตนและคนอื่น ด้วยภาษาไอ้เท่งที่พูดตรงไปตรงมา แต่ทว่าเข้าถึงชีวิต จิตวิญญาณของคนปักษ์ใต้ ดั่งในบทความของอาจารย์เปลื้อง คงแก้ว กวีปักษ์ใต้ที่ใช้นามปากกา “เทือกบรรทัด” เขียนไว้ว่า “เวทีชาวบ้านปักษ์ใต้: ต้องใช้ภาษาไอ้เท่ง”
“...ภาษาไอ้เท่งคือภาษาที่มีกลิ่นอายแห่งความเป็นท้องถิ่นภาคใต้สื่อลงไปในหัวใจของความเป็นคนปักษ์ใต้ ต้องภาษาที่ไม่เวิ้งว้างห่างไกลจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เมื่อพูดก็ได้ภาพ เช่น “อยู่กันแบบบายดี เป็นพี่เป็นน้องกัน” ฟังแล้วนึกเห็นภาพ ส่วนคำว่า “สุขภาพองค์รวม” ฟังแล้วล่องลอยห่งไกล แม้ว่าจะเข้าใจแต่ก็ไปไม่ถึงเขตแดนแห่งความรู้สึกนึกคิด อันเป็นปฐมเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง...”
ว่ากันว่า การสื่อระหว่างกันสามารถทำให้ผู้สงสารกับผู้รับสารห่างไกล – ใกล้ชิดกันได้ เพราะภาษาที่ใช้นั้นห่างไกลไปจากความรู้สึกนึกคิด นั้นเอง
“สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” หลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่ภาษาไอ้เท่งที่บ้านหูโตนเรียกอาการนี้ว่า “อิ่มอกอิ่มใจ” อันเป็นความสุขที่ถูกกระตุ้นจากส่วนลึกข้างใน เมื่อเกิดขึ้นก็ไหลเวียนแผ่ซ่านทั่วทุกอณูของร่างกาย เพราะอยู่ในภาวะ “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว” ใจสบายจึงส่งผลถึงพลังความแข็งแรงของร่างกาย และเรื่องนี้จะรับทราบได้อย่างลึกซึ้งต้องรับสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น
ดั่งปรากฏการณ์การบำบัดด้วยจิตที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ อย่างกรณีชาวบ้านหูโตนที่ป่วยด้วยโรคความดันสูงมาเป็นเวลานาน เมื่อได้มาร่วมวงเล่นหนังตะลุงอาการของโรคกลับค่อยๆ ลดลงอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ รู้แต่ว่าอารมณ์แจ่มใสและจิตใจเบิกบาน รู้สึกกระชุ่มกระชวยเหมือนยังไม่ป่วย
นอกจากการสื่อสารภาษาไอ้เท่งและปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณ ชาวหูโตนยังเชื่อกันว่า ภาษาของฅนหูโตนภาษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะเป็นสื่อภาษาที่ทำให้เข้าใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความรักสามัคคีของคนในชุมชน และภาษานี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย ๔ ประการ ๑. ตัวศิลปินพื้นบ้าน ๒.ลูกคู่ ๓. ผู้ชม ๔. ผู้ให้การสนับสนุน
นอกจากนั้นแล้วยังต้องยึดหลักปฏิบัติ เพื่อการดำรงอยู่ของศิลปินพื้นบ้านอย่างครบถ้วน คือ ๑.ศิลปะ ๒.พิธีกรรม ๓.การเล่น ๔.ขนบ ๕.ธรรมเนียม ๖.จารีต ๗.ประเพณี ทั้ง ๗ ประการ ต้องได้รับการปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน มิเช่นนั้นแล้ว ความหมายและคุณค่าของศิลปินพื้นบ้านจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ พลังจะลดน้อยถอยลง ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เป็นศิลปินพื้นบ้านที่แท้จริงไม่ได้เลย

สืบทอดวัฒนธรรม...หัดหนังให้เยาวชน
โรงหนังบ้านหูโตน ปลูกสร้างง่ายเพื่อฝึกหัดให้กับเยาวชนและคนในชุมชน ด้วยการช่วยกันหาอุปกรณ์การแสดงเท่าที่หามาได้ ช่วยกันตัดรูปตัวหนัง ตัดจอ เสาะหาเครื่องหนังตะลุง และจัดลานเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้การฝึกแม่ไม้การแสดงหนังตะลุงกับอาจารย์บุญธรรม เทิดเกียติชาติ โดยเฉพาะแม่ไม้ ๕ อย่าง คือ ๑. นิทาน การเล่านิทาน ๒. ระดับเสียง ๓. ลูกคู่ ๔. เชื้อสาย ดีเอ็นเอ ๕. หลกใส่เหล็ก(ตะลกต้องมีธรรมะกำกับ) ถือเป็นขันธ์ ๕ ของการแสดงหนังตะลุง หากปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ลูกไม้การแสดงหนังตะลุงจะเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน และเป็นการสืบสานย่านครูหมอให้ดำรงศิลปะพื้นบ้านของฅนหูโตนให้คงอยู่ต่อไป
นายเตือน พันธุเกตุ บอกเล่าว่า “...เพื่อต้องการค้นหาว่า ใครสายเลือดอะไร ตอนเป็นเด็กไม่รู้ว่าแต่ละคนมีสายเลือดไหน เมื่อทำกิจกรรมเรื่องศิลปินพื้นบ้านทำให้รู้ว่า แต่ละคนมาจากปู่ย่าตายายไหน เป็นการให้เด็กได้เรียนรู้ บรรพบุรุษของตัวเองจากการสืบโยดสาวย่าน” ในบทหนังตะลุงยังให้ไว้ด้วยเรื่องทิศทั้ง ๖ เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เป็นหลักคิด หลักเรียนรู้ในการครองตน และเป็นการประสานความรักความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย



นายชิก อดีตนายหนังตะลุงก็ได้บอกเล่าให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ว่า “...หนึ่งเดือนเต็มแล้วที่ตนเองนอนป่วยกินแต่น้ำมะพร้าว กินข้าวไม่ได้ เมื่อตกลงเล่นหนังตะลุง ทำให้ไข้ที่เป็นอยู่หายวันหายคืน สุขภาพปกติดีขึ้นฉับพลันและเช่นเดียวกันที่หัดหนังตะลุง มาตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี เพราะเป็นการสืบสานมาจากสายเลือด ที่ตนเองเจ็บป่วยเขาบอกว่าเป็นการถูกครูหนังตะลุง หรือครูหมอหนังตะลุงลงโทษให้เจ็บไข้ป่วยหากไม่ทำการแสดงหรือบูชาให้ถูกต้อง”
นายชิกยังบอกอีกว่า “...การเป็นศิลปินลักษณะนี้ หากมีลูกศิษย์มารับช่วงต่อ ถือได้ว่านอนตายตาหลับ เป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต”
นอกจากนี้ชาวหูโตนยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ถึงคุณค่าและความหมายของศิลปะพื้นบ้านที่ถือได้ว่าเป็นเกราะป้องกันชุมชนให้เข็มแข็ง ป้องกันเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และที่สำคัญคือสุขภาพจิตของคนในชุมชนดีขึ้น อันเป็นวิถีชีวิตต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต เรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง แบบที่เรียกว่าหัดในไถ ทำให้เกิดการแตกหน่อต่อยอด เกิดความงามดีความงามในชุมชนที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นการขยายสัมพันธ์ ขยายความสุขด้วยการพูดคุยกันมากขึ้น สร้างความสนิทสนมกันมากขึ้น ให้ความรักความผูกพันแก่กันและกัน ผู้ใหญ่ฟังลูกหลานมากขึ้น บุคคลและหน่วยงานภายนอกให้การสนับสนุน และเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ชุมชนหมู่บ้านข้างเคียง เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีเรียนรู้ ทำให้มีความรู้ความผูกพันกัน
หากชุมชนหูโตนมีคนเล่นดนตรีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ในเวลาที่ใครติดภารกิจอะไร ก็ยังสามารถดำเนินการแทนกันได้ ทำให้ชุมชนอื่นๆ รู้จักชุมชนหูโตนเพิ่มมากขึ้น ความภูมิใจจะเกิดขึ้นกับชาวหูโตนทุกๆ คนและเพื่อนบ้านข้างเคียง และเป็นที่น่าภูมิใจที่เด็กและเยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งที่ดีดีให้กับบ้านหูโตนบ้านเกิดของตนเอง
เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดความร่วมมือในชุมชน เกิดความสนิทสนมเป็นกันเอง เพราะหูนโตนมีรากฐานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ผูกยึดโยงกันไว้ ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันที่ว่า
“งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมเป็นงานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุและเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ของความเจริญด้านอื่นทั้งหมดและเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้สืบไป”

ณ วันนี้เพลงโตน ตรงข้างริมท้องทุ่งนา กลางชุมชน ห้อมล้อมด้วยทิวป่าไม้สีเขียวสดใส ถัดไปแลเห็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อน โอบอุ้มด้วยผืนแผ่นท้องฟ้าอันกว้างไกล เสียงโหม่ง ฉิ่ง ขลับ กลอง ซอ ปี่ และลำนำคำกลอน เป็นเสมือน การเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ของคนบ้านหูโตนในยุคปัจจุบัน เพื่อส่งทอดผ่านสู่ลูกหลานในอนาคต ให้ดำรงอยู่สืบไปชั่วนิรันดร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever