ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิทยุชุมชน...สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสุข เครือข่ายวิทยุชุมชน และสินปุน กระบี่

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

“วิทยุชุมชน” สื่อของชุมชนที่แท้จริง

ที่ผ่านมาสื่อวิทยุเป็นสื่อที่มีรัฐเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว สามารถเสนอข่าวสารต่างๆ ของรัฐได้เต็มที่ ประชาชนไม่มีสื่อเป็นของตนเอง ไม่สามารถเสนอข้อเท็จจริงของตนเองได้ ภาคธุรกิจแม้ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุแต่สามารถซื้อเวลาหรือสัมปทานจากรัฐได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงสามารถครอบครองสื่อทุกประเภทด้วยการจ่ายค่าโฆษณาราคาแพง เนื้อหาของสื่อต่างๆ จึงส่งเสริมการบริโภคอย่างล้นเกินและปกป้องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเท่านั้น ข่าวสารในสื่อวิทยุจึงมีแต่ข่าวสารจากรัฐและโฆษณาขายสินค้าและบริการของภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สื่อกระแสหลักในปัจจุบันมีส่วนทำลายวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ จิตสำนึกที่ดีงามของสังคม เพราะเป้าหมายของการจัดทำสื่อคือแสวงหากำไร (ธุรกิจ) และโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความดีงามของสังคมและชุมชนแต่อย่างใด
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ บัญญัติให้คลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และมีพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่ออกมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์ร้อยละ ๒๐ ต้องเป็นของภาคประชาชน ในขณะที่องค์กรชุมชนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิตรงนี้ และมีประสบการณ์ในการจัดทำสื่อน้อยมาก ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน คลื่นวิทยุซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นส่วนของภาคประชาชน จะถูกยึดครองโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหรือของธุรกิจ ถือว่าผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ สำหรับสื่อวิทยุเป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับชุมชน เพราะเป็นสื่อที่รวดเร็วทันเหตุการณ์และลงทุนในการกระจายเสียงน้อยเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ สามารถรับฟังข่าวสารได้ทุกหนแห่งแม้ขณะทำงานตามหัวไร่ปลายนาและราคาเครื่องรับวิทยุถูก นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๗ ระบุว่าประชาชนมีสิทธิในการติดต่อสื่อสารกันโดยไม่ถูกขัดขวาง การใช้วิทยุเป็นช่องทางหนึ่งของชุมชนในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ทั้งยังเป็นการสื่อสารที่ให้ประชาชนมีทางเลือกคือจะรับสาร(เปิดวิทยุ) หรือไม่รับ (ปิดวิทยุ) ก็ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนเป็นของตนเองขบวนการรณรงค์เรื่องวิทยุชุมชนเริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนหลายแห่ง เริ่มทดลองออกอากาศเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ของชุมชน

วิทยุชุมชน...เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเรียนรู้
บทบาทของวิทยุกระจายเสียงนอกจากเป็นเครื่องมือเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ กระจายข่าว โฆษณา และบันเทิง ซึ่งยังมีอีกหลายบทบาทที่คนรู้จักกันน้อยหรืออาจจะลืมบทบาทเหล่านี้ไปแล้ว เพราะทุกวันนี้ส่วนมากสื่อถูกยึดครองและตกเป็นเครื่องมือของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น จึงจำกัดบทบาทเฉพาะตามที่ผู้ใช้สื่อนี้ต้องการ แต่ก็มีคนบางกลุ่มในนามของเครือข่ายวิทยุชุมชนพยายามพูดถึงบทบาทวิทยุชุชมชนในเรื่องอื่นที่มากขึ้น เช่น เป็นช่องทางติดสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของผู้คนในโลกดิจิตอล หรือเวทีบอกเล่าเรื่องราวตนเองของชุมชน เสมือนห้องเรียนสาธารณะของชุมชนที่คนในชุมชนสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อนี้ เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารของชุมชน เป็นเครื่องมือสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนทางด้านต่าง ๆ เช่น ศาสนา สิ่งแวดล้อม เกษตรยั่งยืนการต่อต้าน ยาเสพติด ฯลฯ เป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของทุกภาคส่วน เป็นเวทีรณรงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เป็นเครื่องมือระดมพลังแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน สร้างความสมดุลของข่าวสารจากชุมชนและข่าวสารจากภาคอื่นๆ เป็นการอนุรักษ์คุณค่า สร้างปัญญาในด้านวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน เป็นสื่อในการศึกษา สอดส่อง สะสาง สกัดจุดอ่อนของชุมชน เป็นสื่อช่องทางที่คนด้อยโอกาสและคนทุกกลุ่มในชุมชนได้บอกข่าวสารและเรื่องราวของตนเองไปยังคนอื่น ทั้งในแง่ปัญหาและทางออก และเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารของชุมชน เป็นต้น

หลักการและลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว การดำเนินงานวิทยุชุมชน มีหลักการทำงานดังนี้
- องค์กรชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ
- ไม่แสวงหากำไร ดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- ดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตกลงว่าจะมีวิทยุชุมชน การจัดระบบบริหาร การระดมทุน การร่วมวางผังรายการ การจัดรายการ การร่วมรับฟัง และประเมินผล
- เข้าถึงง่าย สะดวก

วิทยุชุมชนเมื่อเริ่มต้นดำเนินงาน
ลักษณะของสถานีวิทยุชุมชนในระยะแรกดำเนินการ มีดังนี้
- เป็นสถานีวิทยุขนาดเล็ก กระจายเสียงในรัศมี ๑๐ - ๒๐ กิโลเมตร หรือภายใน ๑-๓ ตำบล ใช้งบประมาณในการดำเนินการต่ำ ชุมชนสามารถดูแลเองได้
- กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนมีทั้งที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ คนทุกเพศทุกวัยทุกศาสนา สามารถใช้ประโยชน์ได้ เข้าถึงง่าย
- คนทำงานเน้นอาสาสมัครซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญของสถานี
- คนฟังรายการกับคนจัดรายการคือคนกลุ่มเดียวกัน กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนจะร่วมกันกำหนดผังรายการ ร่วมจัด ร่วมฟัง ตามความพร้อมของคนฟังและคนจัด ออกอากาศตามเวลาที่มีคนฟังและมีคนจัดรายการ อาจจะเพียงพอสามชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
- สะท้อนความต้องการและลักษณะของท้องถิ่น เช่น ใช้ภาษาถิ่น ฯลฯ
- ปราศจากการครอบงำของกลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ และพรรคการเมืองทุกระดับ

เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้...สร้างศูนย์ปฏิบัติการฯ

หนุนเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

งานวิทยุชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “การเรียนรู้”
กลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานสนับสนุนและเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ได้ให้ความสำคัญ คือ แกนนำจากกลุ่ม/เครือข่ายที่มีอยู่แล้วในชุมชน เหตุผลสำคัญในการเลือกกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว
ประการแรก หน่วยงานสนับสนุนงานพัฒนาขององค์กรชุมชน มีการทำงานกับกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชนอยู่แล้ว
ประการที่สอง เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชนที่สนใจงานวิทยุชุมชน
ประการที่สาม มีความเชื่อมั่นว่า แกนนำที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้งานวิทยุชุมชน สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่แล้วอย่างชัดเจน

กว่าจะมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชน
เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ได้กำหนดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญในงานวิทยุชุมชนสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- การให้ความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหา เหตุผลที่มาของการปฏิรูปสื่อ เจตนารมณ์ของมาตรา ๔๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนหลักการและแนวคิดเรื่องวิทยุชุมชนสากล ต่อแกนนำผู้ริเริ่มจากกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชน จนเกิดความชัดเจนในหลักการและเนื้อหาของวิทยุชุมชน
- แกนนำองค์กรชุมชนที่เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการให้ข้อมูลกับชุมชน เรื่องความสำคัญของสื่อที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน สิทธิของชุมชนในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุ มีการสอบถามความคิดเห็น และความพร้อมเรื่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในชุมชน
- ประชุมกลุ่ม/องค์กรชุมชนในพื้นที่ที่ประสงค์จะทำศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ให้มีความรู้ที่เป็นรายละเอียดในงานวิทยุชุมชน
- เมื่อกลุ่ม/องค์กรชุมชนตกลงที่จะทำศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนร่วมกันแล้ว ก็มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในงานบริหารจัดการและงานรายการ ตลอดจนภาระงานในศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่ลงรายละเอียดชุมชนในพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ
- การกำหนด ธรรมนูญ กติกา ข้อตกลง ในการทำศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชน รวมถึงการจัดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริการ ฝ่ายระดมทุน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
- การสำรวจ ค้นหา กลุ่ม/บุคคลที่สนใจจะเป็นเจ้าของรายการ ร่วมจัดรายการ หรือการสื่อสารผ่านสื่อวิทยุชุมชน
- การอบรมเรื่องการผลิตรายการ/การใช้วัสดุอุปกรณ์ในห้องส่งกระจายเสียง
- การจัดทำผังรายการ โดยส่วนใหญ่เจ้าของรายการคือ กลุ่ม/เครือข่าย/หน่วยงาน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกร วัด โรงเรียน ฯลฯ
- การทดลองออกอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการฯ แต่ละแห่งกำหนดวันเวลาออกอากาศตามความพร้อมของชุมชน บางศูนย์ปฏิบัติการฯ ออกอากาศวันละ ๒ ชั่วโมง บางศูนย์ฯ วันละ ๘ ชั่วโมง บางศูนย์ฯ วันละ ๑๒ ชั่วโมง บางศูนย์ฯ ออกอากาศสัปดาห์ละ ๕ วัน บางศูนย์ฯ สัปดาห์ละ ๓ วัน ฯลฯ
- การติดตามประเมินผลที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้รับสารและผู้ส่งสารในชุมชน
- การสรุปบทเรียน ถอดบทเรียน และพัฒนาองค์ความรู้ในงานวิทยุชุมชน

กระบวนการเรียนรู้หลังจากการทดลองออกอากาศ
เครือข่ายวิทยุชมชนภาคใต้ได้สนับสนุนให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่ทดลองออกอากาศแล้วมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องภายใต้กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ศึกษาดูงานศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนต่างพื้นที่ มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของทีมผลิตรายการ การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ในชุมชน การจัดอบรมเพื่อพัฒนาช่างเทคนิคในการใช้วัสดุอุปกรณ์ในห้องส่งกระจายเสียง มีการสรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนงานวิทยุชุมชนกับเครือข่ายวิทยุชุมชนระดับภาคและระดับประเทศ ร่วมเวทีสัมมนากับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อพัฒนางานวิทยุชุมชนและทำให้งานวิทยุชุมชนเป็นประเด็นสาธารณะ มีการสื่อสารกับนักวิชาการและสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะมากขึ้น

ร่วมดับบ้านดับเมืองเพื่อสื่อสุขภาวะ

เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗
ด้วยมีทิศทางคือ เสริมศักยภาพศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน เพื่อขยายสู่บทบาทการสร้างสุขภาวะชุมชน
โดยมีแผนงานคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจของศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนต่อมาตรา ๔๐ การสนับสนุนรายการด้านสุขภาวะ และการสรุปบทเรียนด้วยกระบวนการหนุนเสริมจากโครงการดับบ้านดับเมือง โดยมีผู้ช่วยชุมชนทำบทบาทในการประสานเครือข่ายและจัดกิจกรรมต่างๆ
ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือ ศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในพื้นที่รวม ๑๕ จุด ครอบคลุมพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช และชุมพร ถึงขั้นทดลองออกอากาศแล้ว ๑๔ จุด และศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนเคลื่อนที่สัญจร
ในศูนย์ปฏิบัติการฯ แต่ละศูนย์มีกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้สูงอายุ เยาวชน ผู้แทน อบต. ครูในโรงเรียน ฯลฯ เข้ามาเรียนรู้งานวิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ผลต่อชุมชน
- เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องงานวิทยุชุมชน สำหรับกลุ่ม/องค์กรชุมชน/หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ
- แกนนำจากศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชนทั้ง ๑๔ ศูนย์ สามารถถ่ายทอดให้ความรู้เรื่องการทำงานวิทยุชุมชนที่เป็นงานปฏิบัติการได้
- ชุมชนตระหนักว่าวิทยุชุมชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ และสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง วิทยุชุมชนซึ่งชุมชนเป็นเจ้าของและดำเนินการเองกับวิทยุชุมชนซึ่งคนอื่นจัดรายการเกี่ยวกับชุมชนได้
- มีองค์กรชุมชนที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้งานวิทยุชุมชนโดยตรงจำนวน ๒๒๑ กลุ่ม
- ชุมชนเห็นว่าสื่อวิทยุเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและกระจายข้อมูลข่าวสารของชุมชน
- มีพื้นที่นำร่องให้ชุมชนเรียนรู้งานวิทยุชุมชนอย่างครบวงจร
- ในระดับประเทศมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ทำงานวิทยุชุมชนเพื่อผลักดันนโยบายเรื่องวิทยุชุมชน
- มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานวิทยุชุมชนมากขึ้น ทั้งระดับชาติ ระดับภาค และระดับพื้นที่
- ในระดับพื้นที่มีภาคีต่างๆ เข้าสนับสนุน เช่น อบต. โรงเรียน เทศบาล วัด มัสยิด ตำรวจ นายอำเภอ หน่วยงานราชการ ฯลฯ
- วิทยุชุมชนเคลื่อนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ความรู้เรื่องการปฏิรูปสื่อ/วิทยุชุมชนและเผยแพร่งานพัฒนาของขบวนการองค์กรชุมชนในภาค
- เกิดความตื่นตัวขององค์กรชุมชนในหลายพื้นที่ที่จะดำเนินการศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนโดยการระดมทุนของชุมชนเอง
- ตัวแทนกลุ่ม/องค์กรชุมชนในพื้นที่ชนบทและในเมือง ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไร่ ชาวนา คนยากจน ผู้ด้อยโอกาส คือ กำลังสำคัญที่สร้างสิทธิด้านการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชนบทหลายพื้นที่แล้ว
- เกิดพื้นที่ “กรณีศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนต้นแบบ” จำนวน ๕ ศูนย์ ที่สามารถเป็นตัวอย่างของวิทยุชุมชนได้อย่างแท้จริง

ผลต่อขบวนการพัฒนาและสังคม
- งานพัฒนาของขบวนการองค์กรชุมชนในภาคใต้ถูกสื่อสารผ่านสื่อศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการแจ้งความประสงค์เพื่อการสื่อสารจากองค์กรชุมชนและหน่วยงานพัฒนา ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ
- ขบวนการพัฒนาและหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนา มีทัศนะคติเชิงบวกและพร้อมที่จะสนับสนุนงานวิทยุชุมชน
- ศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในหลายพื้นที่เริ่มเป็นที่ศึกษาดูงานของนักศึกษาและประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever