ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

“ผลิตได้ ใช้เป็น” ที่ดอนหาร


...ตัวแบบชุมชนชีวภาพที่สุราษฎร์

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

“ชีวภาพที่ดอนหารสามารถเกิดขึ้นและขยายเครือข่ายกว้างทั่วอำเภอ เนื่องจากมีผู้นำที่เชื่อมั่น และมุ่งมั่นศึกษาทดลองใช้ เมื่อได้ผลก็อยากให้คนอื่นใช้ด้วย โดยทำแจกให้ไปลองใช้ หลังจากนั้นก็เริ่มส่งเสริมให้ทำกันเอง ถ้าใครไม่ทำก็ชื้อหาของสมาชิกกลุ่มได้”

ชุมชนดอนหารกับการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม
บ้านดอนหาร หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่ทำเลทองของผู้คนในสมัยก่อนได้เลือกตั้งหมู่บ้านบนพื้นที่สูงมีบึงหรือหนองน้ำอยู่ด้วย เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการใช้น้ำและการทำการเกษตร ซึ่งโดยมากหมู่บ้านในภาคใต้ที่มีคำว่า “ดอน” ประกอบในชื่อหมู่บ้านก็มักจะมีทำเลที่ตั้งคล้ายในลักษณะนี้
ชุมชนดอนหารมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าเขาและทรัพยากรทะเลที่สวยงาม เพียงห่างออกไป ๑๐ กิโลเมตร ก็ถึงท่าเทียบเรือเฟอรี่ข้ามฟากไปเกาะสมุย ในแต่ละวันท่าเทียบเรือเฟอรี่จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเพื่อจะเดินทางข้ามฟากไปเที่ยวยังเกาะสมุย ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มลุกลามไปเข้าสู่ชุมชนใกล้เคียง
ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบขายทุกอย่างที่ขายได้ และอุตสากรรมต่อเนื่องที่ตามมา ไม่ว่าเรื่องการก่อสร้าง ที่ต้องมีการสัมปทานหินปูนในบริเวณแถบนี้ เพื่อทำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ขุดหินอุสาหกรรม หินอ่อน แร่โดโลไมต์ เพื่อนำไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม ทำให้ระบบธรรมชาติที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรแถบนี้มาช้านานต้องถูกบีบทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ถึงแม้ชาวบ้านจะพึ่งพาหาอาหารจากป่าไม้ ป่าชายเลน แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ ก็ต้องถูกแย่งชิงไปจากชุมชนทั้งที่เขาเฝ้าดูแลรักษามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สวนยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอำเภอดอนสัก ตามมาด้วยการปลูกปาล์มน้ำมัน การทำประมง ส่วนเกษตรกรชาวดอนหารในปัจจุบันมีที่ดินถือครองต่อครอบครัวไม่มากนัก ๕- ๑๐ ไร่ ได้เปลี่ยนอาชีพการเกษตรแบบพึ่งตนเองไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น การทำการเกษตรของเกษตรกรยุคใหม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากกว่าการพึ่งพาตนเอง เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ต้องจ้างรถไถรถแทรกเตอร์ เข้ามาทำการไถปรับสภาพพื้นที่ การปลูกและดูแลรักษาต้องพึ่งพาสารเคมี ยากำจัดวัชพืช ยากำจัดศัตรูพืช ตลอดถึงปุ๋ยเคมี เมื่อเก็บผลผลิตได้ก็ถูกพ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาให้อีก

ผู้นำแห่งยุค...ก่อกำเนิดชีวภาพบ้านดอนหาร
ผู้ใหญ่วิไล นวลมุสิก ผู้ใหญ่บ้านดอนหาร ผู้สืบทอดสายเลือดนักปกครองจากพ่อเฒ่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และสายเลือดปู่ที่เป็นผู้นำธรรมชาติมาก่อน ซึ่งรู้และเข้าใจปัญหาของชุมชนอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นแกนนำในการต่อสู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลนและยังเป็นกรรมการเครือข่ายภาคประชาชนอีกหลายเครือข่ายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งสมบารมีและทุนทางสังคมจนเป็นที่ยอมรับ
เมื่อตนเองได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่ประชาชนได้คัดสรรมาแล้ว จึงคิดหาทางตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ตนเองอาศัยอยู่และตอบแทนราษฎรในชุมชนที่ให้โอกาสเลือกตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำ แนวคิดเรื่องเกษตรชีวภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในสมองของผู้ใหญ่วิไล แต่เริ่มแรกยังจนปัญญาเพราะไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่เป็นรูปธรรมได้จากที่ไหน ได้ฟังแต่เขาว่า...ยังไม่เคยไปเห็นการทำจริงบังเอิญได้พบกับ คุณประนอม ฤทธี คณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพภาคใต้ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การสนทนาเริ่มออกอรรถรสเพราะกำลังพูดคุยกันอยู่ในทิศทางเดียวกัน คุณประนอมจึงได้แนะนำให้มาศึกษาดูงานการทำปุ๋ยชีวภาพที่วัดป่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ผู้ใหญ่วิไลไม่รอช้าหาเวลาว่างขับรถไปที่วัดป่ายางจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พบกับพระสุวรรณ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดป่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระนักพัฒนาเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มการทำปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพรูปแรกให้กับชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พบปะพูดคุยกันอย่างถึงพริกถึงขิง เกี่ยวกับกระบวนการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพไว้ใช้เองของชุมชน และได้พูดคุยถึงการขับเคลื่อนเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพของชุมชนวัดป่ายาง พร้อมกับเชิญชวนให้ผู้ใหญ่วิไลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการทำปุ๋ยชีวภาพด้วยเพื่อจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรื่องดี ๆ แบบนี้มีหรือที่คนอย่างผู้ใหญ่วิไลจะปฏิเสธ

เข้าร่วมเครือข่ายเกษตรชีวภาพ...ดับบ้านดับเมือง
หลังกลับจากวัดป่ายางในวันนั้น ผู้ใหญ่วิไล ได้ซื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชนิดอัดเม็ด น้ำหมักชีวภาพและกากน้ำตาล กลับติดรถไปที่บ้านของตนเองในอำเภอดอนสัก เพื่อกลับไปทดลองใช้ในสวนของตนเองก่อน เมื่อกลับไปถึงได้นำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ซื้อมาไปทดลองใช้กับสวนยางพาราของตนเองทันทีในพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ และได้ใช้น้ำหมักชีวภาพที่ซื้อมาจากวัดป่ายางฉีดพ่นไปด้วย โดยใช้น้ำหมัก ๑ ลิตร ผสมน้ำ ๒๐๐ ลิตร ฉีดพ่นทุก ๑๕ วัน ส่วนกากน้ำตาลที่ซื้อมาก็ได้นำไปทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองโดยหมักไว้ ๒ ถังๆ ละ ๑๐๐ ลิตร (ใช้ปลา ๑๐ กิโลกรัม กากน้ำตาล ๑๐ กิโลกรัม น้ำสะอาด ๑๐๐ ลิตร ต่อ ๑ ถัง) หมักไว้ ๕ เดือนก็เริ่มนำไปใช้ได้แล้ว

มุ่งมั่นศึกษาทดลองใช้
แนวคิดเรื่องการพัฒนาชีวภาพที่ดอนหาร เริ่มต้นจากผู้ใหญ่ไลได้การศึกษาผลดี ผลเสียของชีวภาพ วิธีการใช้ วิธีการทำ และทดลองใช้ในสวนของตนเองก่อนเผยแพร่สู่เครือญาติ ซึ่งเป็นระยะก่อเกิดการรวมตัวผู้ร่วมใช้ รวมกันสั่งซื้อปุ๋ยชีวภาพจากวัดป่ายาง ต่อจากนั้นผู้ใหญ่ไลได้ใช้กระแสความสนใจของสมาชิกนี้ให้ความรู้ของเรื่องชีวภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากผู้ซื้อเป็นผู้ผลิต โดยลงทุนจัดซื้อจัดหาวัสดุในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ชักชวนสมาชิกร่วมทดลองทำน้ำหมักชีวภาพ ๒ ถังๆ ละ ๒๐๐ ลิตร
ในระยะนี้น้ำหมักชีวภาพที่ทำกันยังใช้ไม่ได้ ก็ได้สั่งซื้อจากวัดป่ายางเพื่อทำการเผยแพร่ทดลองใช้ให้คนในชุมชนยอมรับ ด้วยผู้ใหญ่ไลเป็นเสมือนแกนกลางของชุมชนที่หลายร้อยคนในกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และหลายเครือข่ายได้แวะเวียนมาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ไล ทุกคนก็ได้เห็นการใช้น้ำหมักชีวภาพ เห็นผลที่ใช้กับสวนยางดูสวยดี แต่น้อยคนนักที่จะเชื่อมั่น ดังนั้นผู้ใหญ่ไลจึงลงทุนซื้อเครื่องพ่นยาแรงดันสูงนำมาฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่ทำการหมักกันเอง และได้แจกจ่ายให้สมาชิกไปทดลองฉีดในสวนยางสวนปาล์มของตนเองโดยผู้ใหญ่ไลให้ยืมเครื่องฉีด และยังจัดสมาชิกไปช่วยกันฉีดด้วย เพียงแต่เจ้าของสวนจดบันทึกรายงานผลการฉีดน้ำหมักชีวภาพในแต่ละสวนเพื่อนำมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสมาชิก
หาความรู้เพิ่มเติม...ขอร่วมวงฅนชีวภาพ
จากการที่ได้เริ่มทดลองทำและใช้ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งเริ่มทำเมื่อประมาณปี ๒๕๔๖ พอย่างเข้าปี ๒๕๔๗ ระหว่างวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ผู้ใหญ่วิไล ได้คัดเลือกตัวแทนจากชุมชนบ้านดอนหารเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกษตรชีวภาพกับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร จากมูลนิธิ กสิกรรมธรรมชาติ นอกจากฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำปุ๋ยชีวภาพแล้ว ยังสอดแทรกการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการฟื้นฟูกู้แผ่นดินตลอดถึงการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนไปด้วยอย่างกลมกลืนซึ่งกันและกัน
หลังเข้ารับการอบรมมาแล้วชุมชนดอนหารภายใต้แกนนำของผู้ใหญ่วิไล เริ่มขยับขับเคลื่อนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในชุมชนได้ทราบถึงผลที่ได้มาจากการปฏิบัติจริงของตนเองที่ได้ทดลองใช้ในสวนยางพาราหลังจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพไปได้ประมาณ ๑๕ วัน คนกรีดยางบอกว่าเปลือกยางเริ่มนิ่มขึ้น เป็นบทเรียนแรกที่เพิ่มกำลังใจให้ต่อสู้กับสภาพแวดล้อม ระยะแรกฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพทุก ๑๕-๒๐ วัน ระยะเวลาให้หลังประมาณ ๖ เดือน เห็นผลชัดเจนต้นยางพาราดูด้วยสายตามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น เปลือกยางนิ่มขึ้น และที่เห็นชัดเจนปริมาณน้ำยางเพิ่มขึ้นด้วย จึงได้ขยายความคิดออกสู่ชุมชน ให้ผู้คนที่สนใจมาเอาน้ำหมักที่บ้านตนเองไปทดลองใช้ก่อนที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูด


ขับเคลื่อนชีวภาพของชุมชนบ้านดอนหาร
ผลจากผู้ใหญ่บ้านทดลองใช้ชีวภาพเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หลายคนเริ่มสนใจเข้ามาหาน้ำหมักชีวภาพจากบ้านผู้ใหญ่ไปใช้ ชุมชนบ้านดอนหารเองใช้เวทีของกลุ่มออมทรัพย์ที่มีอยู่แล้วเป็นเวทีพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดการใช้ชีวภาพควบคู่กันไปด้วย ทั้งการใช้กับพืช สัตว์ และใช้ในครัวเรือน สอดแทรกไปกับการสนทนาปัญหาต่างๆ ของชุมชน ทำให้เรื่องของชีวภาพในชุมชนบ้านดอนหารเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
ปัญหาจากการทำน้ำหมักชีวภาพจุดเดียวที่บ้านผู้ใหญ่ ช่วงแรกมีคนใช้กันมาก แต่ขาดคนที่จะทำใช้เอง เลยมีการปรับยุทธวิธีใหม่ได้กระจายจุดทำน้ำหมักชีวภาพของชุมชนออกไปอีก ๔ จุด รวมเป็น ๕ จุด โดยใช้ที่บ้านนายประโลม รอดนิตย์ บ้านนางวันเพ็ญ นิยกิจ บ้านนางวันเพ็ญ วิชัยดิษฐ์ บ้านนายสมพร ช่วยรอด และบ้านผู้ใหญ่วิไล นวลมุสิก ปรากฏว่าหลังจากทำน้ำหมักชีวภาพเสร็จมีผู้ที่สนใจไปเอาน้ำหมักใช้น้อย มีเฉพาะที่บ้านผู้ใหญ่ที่มีผู้สนใจเข้าไปเอาน้ำหมักชีวภาพใช้มากกว่าบ้านอื่น อาจเป็นเพราะความเกรงอกเกรงใจ ตามแบบฉบับนิสัยของคนไทยที่ไปเอาบ้านผู้ใหญ่กันมาก เพราะเขาเชื่อมั่นในตัวผู้นำของเขา
กระจายการทำน้ำหมักชีวภาพ
ถึงวันนี้การใช้ชีวภาพของชุมชนบ้านดอนหาร เริ่มมองเห็นอนาคต เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวภาพของชุมชนได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมทำน้ำหมักชีวภาพของชุมชนให้ขยายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยได้ทุ่มงบประมาณให้มา ๒๕,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ๑ เครื่อง ให้ซื้อถังพลาสติกขนาด ๑,๐๐๐ ลิตร ๑ ในและถังพลาสติกขนาด ๒๐๐ ลิตรอีก ๒๐ ใบ เพื่อนำไปให้ชุมชนได้ขยายจุดทำน้ำหมักชีวภาพให้ครอบคลุมถึงครัวเรือนแต่ละครัวเรือนเพื่อความหลากหลายในชุมชนมาถึงวันนี้ชุมชนบ้านดอนหารมีคนสนใจใช้ชีวภาพทั้งแบบที่ทำเอง ใช้เอง ไม่ได้ทำเอง (ซื้อเขามา) แต่ก็นำชีวภาพเข้ามาใช้มีทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๔๐ ครัวเรือน ซึ่งวิธีการใช้ของแต่ละครัวเรือนไม่เหมือนกัน บ้างก็นำไปใช้ในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ปลูกพืชผักสวนครัว ใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์ ตลอดถึงการใช้ในครัวเรือน เช่น การใช้ล้างห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น

คนหาญที่ดอนหาร
ลุงประโลม รอดนิตย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ใช้ชีวภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี ใช้ในสวนปาล์มน้ำมัน ๑๐ ไร่ ซึ่งเป็นปาล์มน้ำมันอายุ ๓ ปี ปลูกครั้งแรกยังไม่รู้จักชีวภาพ ใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนชาวสวนทั่วๆ ไป เมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องชีวภาพกับผู้ใหญ่วิไล ก็ได้กลับไปทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง โดยทำน้ำหมักชีวภาพสูตรที่ผู้ใหญ่แนะนำ เมื่อได้น้ำหมักชีวภาพแล้วจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักแห้งด้วย โดยใช้ขี้วัว ขี้ไก่ แกลบ และรำข้าวนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ราดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่เจือจางด้วยน้ำพอประมาณ กองทิ้งไว้ ๗-๑๕ วัน ให้อุณหภูมิในกองเย็นลงเป็นปกติจึงนำไปใช้กับปาล์มน้ำมัน ปีละ ๒ ครั้ง พร้อมทั้งฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพตามไปด้วย ตั้งแต่ปลูกปาล์มได้ ๓ ปี ใช้ปุ๋ยเคมีไปครั้งเดียว ก่อนที่จะมารู้จักกับปุ๋ยชีวภาพ ตอนนี้ปาล์มเริ่มให้ผลผลิตแล้ว “เมื่อก่อนผืนดินตรงนี้น้ำท่วม ๓ ครั้ง นำรถไปไถแทบไม่ลง หลังจากใช้ปุ๋ยชีวภาพดูแล้วดินจะร่วนซุยมากขึ้น” คุณลุงประโลม กล่าวด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ทำมากับมือ ส่วนคุณสมพร ช่วยรอด ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพกับสวนยางพารา แต่เขาจะซื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสำเร็จรูปมาใช้ทางพื้นดินและทำน้ำหมักชีวภาพเองเพื่อฉีดพ่นในสวนยางพารา ใช้มาประมาณ ๒ ปี รู้สึกว่าต้นยางสมบูรณ์ขึ้น เปลืองยางนิ่มขึ้น น้ำยางมีเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญปัญหาต้นยางยืนต้นตายไม่มี มาที่ คุณบุญเนือง จันทะ ได้ใช้ปุ๋ยชีวภาพแห้งและน้ำหมัก ชีวภาพในสวนยางพาราและสวนมังคุด เขายืนยันมาอย่างหนักแน่นว่ามีมังคุดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากทดลองใช้ชีวภาพ มังคุดผลโตขึ้น ผิวเกลี้ยงเป็นมัน จากที่เคยมียางไหลอาการยางไหลก็หมดไป รสชาติหวานกรอบ ขายได้ราคา ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงผลจากการใช้ชีวภาพในไร่นาจากผู้ปฏิบัติจริงเพียงบางส่วน
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่นำชีวภาพเข้าไปใช้กับการเลี้ยงสัตว์อย่างคุณประนอม หมุนเหลาะ เลี้ยงแม่หมูอยู่ ๔ ตัว พ่อหมูอีก ๑ ตัว รวมทั้งเลี้ยงลูกหมูและหมูขุน รวมกันทั้งหมดประมาณ ๓๐ ตัว หลังจากต้องประสบกับปัญหากลิ่นจากเล้าหมู และแมลงวันรบกวนบ้านตนเอง แล้วยังลุกลามไปถึงบ้านข้างเคียง หลังได้มาศึกษาเรื่องชีวภาพกับผู้ใหญ่ก็ได้กลับไปทดลองใช้กับการเลี้ยงหมูโดยส่วนหนึ่งผสมน้ำให้หมูกินวันละครั้ง บางครั้งก็ผสมลงในอาหารบ้าง แล้วแต่สะดวกอีกส่วนหนึ่งใช้ผสมน้ำล้างคอกทำความสะอาดคอกหมู สามารถลดปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นและแมลงวันลงไปได้มากทีเดียว อยากแนะนำให้คนที่มีปัญหาลองทดลองใช้ดูบ้าง ส่วนคุณพิศาล ชามุสิก เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็ไม่น้อยหน้า เห็นว่าวัวที่เลี้ยงอยู่ผอมลงทุกวัน ลองนำน้ำหมักชีวภาพไปผสมน้ำให้วัวกินหลังจากใช้ไประยะหนึ่งเริ่มสังเกตดู ระบบการขับถ่ายของวัวดีขึ้น บางครั้งมีพยาธิออกปนมาด้วย วัวที่ผอมอยู่เริ่มอ้วนขึ้น กลิ่นขี้วัวก็ลดลง เขาฝากบอกมา ใครสนใจนำไปทดลองใช้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ มาที่ คุณป้าชุมพู พันธุ์บุญ ผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ก็สนใจเรื่องชีวภาพไม่น้อย ทดลองใช้มาจนประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด คุณป้าบอกว่า ดินขี้เลนที่ขุดลอกขึ้นมาจากบ่อเลี้ยงกุ้งไม่มีกลิ่นเหม็นไม่เกิดแก๊สพิษหากใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับการเลี้ยงกุ้งโดยใช้น้ำหมักชีวภาพในอัตราประมาณ ๒ ลิตร/ไร่ ใช้ได้ตามความเหมาะสม คุณป้ายังฝากบอกเคล็ดลับมาเพิ่มว่า หากตัวกุ้งที่เลี้ยงสกปรกมาก น้ำหมักที่จะนำมาใช้ปรับสภาพน้ำต้องมีส่วนผสมของสับปะรดด้วย จะมีประสิทธิภาพสูง หากกุ้งที่เลี้ยงไม่ขับถ่าย น้ำหมักชีวภาพที่นำมาใช้ควรมีส่วนผสมของมะละกอลงไปด้วย จึงจะได้ผล ยังไม่หมดแค่นี้คุณป้ายังสาธยายต่อว่าตนเองเลี้ยงกุ้งไม่เคยพึ่งพายาเคมีเลย กุ้งป่วยไม่สบายก็นำฟ้าทะลายโจร ลูกยอ มาต้มผสมอาหารให้กุ้งกิน กุ้งสามารถเจริญเติบโตได้ดี นำไปตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารตกค้าง แต่วันนี้มีปัญหาอยู่อย่างเดียวที่การเลี้ยงกุ้งต้องหยุดชะงักชั่วคราวกับปัญหาน้ำมันที่แพงขึ้นมาทุกวัน ยังไม่มีอะไรมาทดแทนในเวลานี้ (วันนี้ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ น้ำมันดีเซลราคา ๒๘.๒๐ บาทต่อลิตร)
บทเรียนจากการขับเคลื่อนของเครือข่ายเกษตรชีวภาพ
ชุมชนบ้านดอนหารเป็นชุมชนแรกในอำเภอดอนสักที่ก่อให้เกิดการรวมตัวเพื่อขับเคลื่อนเกษตรชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แกนนำอย่างผู้ใหญ่วิไล นวลมุสิกและได้รับแต่งตั้งให้เป็นวิทยากรกระบวนการแผนแม่บทชุมชนของอำเภอดอนสัก ทำให้มีโอกาสได้บอกกล่าวแผ่ขยายกิจกรรมชีวภาพไปสู่ชุมชนใกล้เคียง คือ ชุมชนไชยคราม ชุมชนชลคราม ชุมชนปากแพรก ก่อให้เกิดกลุ่มชีวภาพขึ้นมาหลายแห่งในระยะแรกของการเผยแพร่ แต่ยังไม่ซึมลึกไม่เกิดกระบวนการที่แท้จริงอย่างชุมชนดอนหารอาจเป็นเพราะว่าแต่ละชุมชนยังค้นหาผู้นำที่แท้จริงยังไม่พบทำให้กระบวนการขับเคลื่อนระดับชุมชนต้องชะงักไป มีเพียงชุมชนดินแดงเพียงชุมชนเดียวที่พยายามประคับประคองตนเองเข้ามาเป็นเครือข่ายกับชุมชนดอนหารเพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่องเกษตรชีวภาพต่อไป
แนวคิดการกระจายแยกจุดการทำกิจกรรมชีวภาพในชุมชน นอกจากเป็นการแยกเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องชีวภาพในชุมชนแล้วนั้น ยังเป็นการแยกเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายเกิดกลุ่ม เกิดกิจกรรมย่อยกระจายขยายฐาน แต่ในทางปฏิบัติสมาชิกยังคงใช้น้ำหมักชีวภาพจากจุดที่บ้านผู้ใหญ่ไล เหมือนเดิม ซึ่งเป็นบทเรียนหนึ่งของชุมชนที่แสดงให้เห็นว่า การก่อเกิดกลุ่มในชุมชนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ความเชื่อความศรัทธาต่อผู้นำและความเป็นคนเอาธุระกับส่วนรวมของผู้นำ เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนกิจกรรม ส่วนเรื่องการจัดการ เรื่องการเงิน หรือเรื่องอื่นๆ ต่างเป็นปัจจัยรองลงมา
ความน่าสนใจบทเรียนที่ดอนหารนอกจากในตัวผู้นำที่มีความมุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้การยอมรับเรื่องชีวภาพให้กับชุมชนแล้ว ยังพบกลยุทธ์ในการเผยแพร่เรื่องชีวภาพที่สำคัญ คือ เริ่มจากการศึกษาตัวสินค้า(ชีวภาพ)ให้เข้าใจ ทั้งผลดีผลเสีย การทดลองใช้เอง ทำเอง จนมีความมั่นใจ จึงขยายให้กับกลุ่มญาติมิตรที่พอจะชักชวนกันได้ หลังจากนั้นเริ่มใช้กระบวนการกลุ่มในการกระจายใช้กลไกการตลาดแบบเครือข่าย ขยายเข้าสู่สมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ผู้ใหญ่ไลเป็นแกนนำ มีการสอดแทรกเรื่องนี้ให้อยู่ในวาระการประชุมเป็นประจำ สร้างการยอมรับโดยการแจกให้ไปทดลองใช้ก่อน ส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพด้วยการตั้งทีมงานเพื่อรับฉีดน้ำหมักขึ้น หลังจากนั้นเริ่มลดการแจก และให้รวมกลุ่มกันผลิตโดยแยกออกเป็น ๕ จุด แต่ถ้าใครไม่ร่วมผลิตก็สามารถซื้อผ่านระบบสมาชิกของกลุ่มได้ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ชุมชนดอนหารสามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

for ever

for ever