ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

“ผลิตได้ ใช้เป็น” ที่ดอนหาร


...ตัวแบบชุมชนชีวภาพที่สุราษฎร์

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

“ชีวภาพที่ดอนหารสามารถเกิดขึ้นและขยายเครือข่ายกว้างทั่วอำเภอ เนื่องจากมีผู้นำที่เชื่อมั่น และมุ่งมั่นศึกษาทดลองใช้ เมื่อได้ผลก็อยากให้คนอื่นใช้ด้วย โดยทำแจกให้ไปลองใช้ หลังจากนั้นก็เริ่มส่งเสริมให้ทำกันเอง ถ้าใครไม่ทำก็ชื้อหาของสมาชิกกลุ่มได้”

ชุมชนดอนหารกับการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม
บ้านดอนหาร หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่ทำเลทองของผู้คนในสมัยก่อนได้เลือกตั้งหมู่บ้านบนพื้นที่สูงมีบึงหรือหนองน้ำอยู่ด้วย เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการใช้น้ำและการทำการเกษตร ซึ่งโดยมากหมู่บ้านในภาคใต้ที่มีคำว่า “ดอน” ประกอบในชื่อหมู่บ้านก็มักจะมีทำเลที่ตั้งคล้ายในลักษณะนี้
ชุมชนดอนหารมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าเขาและทรัพยากรทะเลที่สวยงาม เพียงห่างออกไป ๑๐ กิโลเมตร ก็ถึงท่าเทียบเรือเฟอรี่ข้ามฟากไปเกาะสมุย ในแต่ละวันท่าเทียบเรือเฟอรี่จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเพื่อจะเดินทางข้ามฟากไปเที่ยวยังเกาะสมุย ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มลุกลามไปเข้าสู่ชุมชนใกล้เคียง
ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบขายทุกอย่างที่ขายได้ และอุตสากรรมต่อเนื่องที่ตามมา ไม่ว่าเรื่องการก่อสร้าง ที่ต้องมีการสัมปทานหินปูนในบริเวณแถบนี้ เพื่อทำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ขุดหินอุสาหกรรม หินอ่อน แร่โดโลไมต์ เพื่อนำไปใช้ในระบบอุตสาหกรรม ทำให้ระบบธรรมชาติที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรแถบนี้มาช้านานต้องถูกบีบทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ถึงแม้ชาวบ้านจะพึ่งพาหาอาหารจากป่าไม้ ป่าชายเลน แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ ก็ต้องถูกแย่งชิงไปจากชุมชนทั้งที่เขาเฝ้าดูแลรักษามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สวนยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอำเภอดอนสัก ตามมาด้วยการปลูกปาล์มน้ำมัน การทำประมง ส่วนเกษตรกรชาวดอนหารในปัจจุบันมีที่ดินถือครองต่อครอบครัวไม่มากนัก ๕- ๑๐ ไร่ ได้เปลี่ยนอาชีพการเกษตรแบบพึ่งตนเองไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น การทำการเกษตรของเกษตรกรยุคใหม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากกว่าการพึ่งพาตนเอง เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ต้องจ้างรถไถรถแทรกเตอร์ เข้ามาทำการไถปรับสภาพพื้นที่ การปลูกและดูแลรักษาต้องพึ่งพาสารเคมี ยากำจัดวัชพืช ยากำจัดศัตรูพืช ตลอดถึงปุ๋ยเคมี เมื่อเก็บผลผลิตได้ก็ถูกพ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาให้อีก

ผู้นำแห่งยุค...ก่อกำเนิดชีวภาพบ้านดอนหาร
ผู้ใหญ่วิไล นวลมุสิก ผู้ใหญ่บ้านดอนหาร ผู้สืบทอดสายเลือดนักปกครองจากพ่อเฒ่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และสายเลือดปู่ที่เป็นผู้นำธรรมชาติมาก่อน ซึ่งรู้และเข้าใจปัญหาของชุมชนอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นแกนนำในการต่อสู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลนและยังเป็นกรรมการเครือข่ายภาคประชาชนอีกหลายเครือข่ายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งสมบารมีและทุนทางสังคมจนเป็นที่ยอมรับ
เมื่อตนเองได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่ประชาชนได้คัดสรรมาแล้ว จึงคิดหาทางตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ตนเองอาศัยอยู่และตอบแทนราษฎรในชุมชนที่ให้โอกาสเลือกตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำ แนวคิดเรื่องเกษตรชีวภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในสมองของผู้ใหญ่วิไล แต่เริ่มแรกยังจนปัญญาเพราะไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่เป็นรูปธรรมได้จากที่ไหน ได้ฟังแต่เขาว่า...ยังไม่เคยไปเห็นการทำจริงบังเอิญได้พบกับ คุณประนอม ฤทธี คณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพภาคใต้ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การสนทนาเริ่มออกอรรถรสเพราะกำลังพูดคุยกันอยู่ในทิศทางเดียวกัน คุณประนอมจึงได้แนะนำให้มาศึกษาดูงานการทำปุ๋ยชีวภาพที่วัดป่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ผู้ใหญ่วิไลไม่รอช้าหาเวลาว่างขับรถไปที่วัดป่ายางจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พบกับพระสุวรรณ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดป่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระนักพัฒนาเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มการทำปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพรูปแรกให้กับชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พบปะพูดคุยกันอย่างถึงพริกถึงขิง เกี่ยวกับกระบวนการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพไว้ใช้เองของชุมชน และได้พูดคุยถึงการขับเคลื่อนเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพของชุมชนวัดป่ายาง พร้อมกับเชิญชวนให้ผู้ใหญ่วิไลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการทำปุ๋ยชีวภาพด้วยเพื่อจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรื่องดี ๆ แบบนี้มีหรือที่คนอย่างผู้ใหญ่วิไลจะปฏิเสธ

เข้าร่วมเครือข่ายเกษตรชีวภาพ...ดับบ้านดับเมือง
หลังกลับจากวัดป่ายางในวันนั้น ผู้ใหญ่วิไล ได้ซื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชนิดอัดเม็ด น้ำหมักชีวภาพและกากน้ำตาล กลับติดรถไปที่บ้านของตนเองในอำเภอดอนสัก เพื่อกลับไปทดลองใช้ในสวนของตนเองก่อน เมื่อกลับไปถึงได้นำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ซื้อมาไปทดลองใช้กับสวนยางพาราของตนเองทันทีในพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ และได้ใช้น้ำหมักชีวภาพที่ซื้อมาจากวัดป่ายางฉีดพ่นไปด้วย โดยใช้น้ำหมัก ๑ ลิตร ผสมน้ำ ๒๐๐ ลิตร ฉีดพ่นทุก ๑๕ วัน ส่วนกากน้ำตาลที่ซื้อมาก็ได้นำไปทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองโดยหมักไว้ ๒ ถังๆ ละ ๑๐๐ ลิตร (ใช้ปลา ๑๐ กิโลกรัม กากน้ำตาล ๑๐ กิโลกรัม น้ำสะอาด ๑๐๐ ลิตร ต่อ ๑ ถัง) หมักไว้ ๕ เดือนก็เริ่มนำไปใช้ได้แล้ว

มุ่งมั่นศึกษาทดลองใช้
แนวคิดเรื่องการพัฒนาชีวภาพที่ดอนหาร เริ่มต้นจากผู้ใหญ่ไลได้การศึกษาผลดี ผลเสียของชีวภาพ วิธีการใช้ วิธีการทำ และทดลองใช้ในสวนของตนเองก่อนเผยแพร่สู่เครือญาติ ซึ่งเป็นระยะก่อเกิดการรวมตัวผู้ร่วมใช้ รวมกันสั่งซื้อปุ๋ยชีวภาพจากวัดป่ายาง ต่อจากนั้นผู้ใหญ่ไลได้ใช้กระแสความสนใจของสมาชิกนี้ให้ความรู้ของเรื่องชีวภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากผู้ซื้อเป็นผู้ผลิต โดยลงทุนจัดซื้อจัดหาวัสดุในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ชักชวนสมาชิกร่วมทดลองทำน้ำหมักชีวภาพ ๒ ถังๆ ละ ๒๐๐ ลิตร
ในระยะนี้น้ำหมักชีวภาพที่ทำกันยังใช้ไม่ได้ ก็ได้สั่งซื้อจากวัดป่ายางเพื่อทำการเผยแพร่ทดลองใช้ให้คนในชุมชนยอมรับ ด้วยผู้ใหญ่ไลเป็นเสมือนแกนกลางของชุมชนที่หลายร้อยคนในกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และหลายเครือข่ายได้แวะเวียนมาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ไล ทุกคนก็ได้เห็นการใช้น้ำหมักชีวภาพ เห็นผลที่ใช้กับสวนยางดูสวยดี แต่น้อยคนนักที่จะเชื่อมั่น ดังนั้นผู้ใหญ่ไลจึงลงทุนซื้อเครื่องพ่นยาแรงดันสูงนำมาฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพที่ทำการหมักกันเอง และได้แจกจ่ายให้สมาชิกไปทดลองฉีดในสวนยางสวนปาล์มของตนเองโดยผู้ใหญ่ไลให้ยืมเครื่องฉีด และยังจัดสมาชิกไปช่วยกันฉีดด้วย เพียงแต่เจ้าของสวนจดบันทึกรายงานผลการฉีดน้ำหมักชีวภาพในแต่ละสวนเพื่อนำมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสมาชิก
หาความรู้เพิ่มเติม...ขอร่วมวงฅนชีวภาพ
จากการที่ได้เริ่มทดลองทำและใช้ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งเริ่มทำเมื่อประมาณปี ๒๕๔๖ พอย่างเข้าปี ๒๕๔๗ ระหว่างวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ผู้ใหญ่วิไล ได้คัดเลือกตัวแทนจากชุมชนบ้านดอนหารเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเกษตรชีวภาพกับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร จากมูลนิธิ กสิกรรมธรรมชาติ นอกจากฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำปุ๋ยชีวภาพแล้ว ยังสอดแทรกการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการฟื้นฟูกู้แผ่นดินตลอดถึงการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนไปด้วยอย่างกลมกลืนซึ่งกันและกัน
หลังเข้ารับการอบรมมาแล้วชุมชนดอนหารภายใต้แกนนำของผู้ใหญ่วิไล เริ่มขยับขับเคลื่อนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในชุมชนได้ทราบถึงผลที่ได้มาจากการปฏิบัติจริงของตนเองที่ได้ทดลองใช้ในสวนยางพาราหลังจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพไปได้ประมาณ ๑๕ วัน คนกรีดยางบอกว่าเปลือกยางเริ่มนิ่มขึ้น เป็นบทเรียนแรกที่เพิ่มกำลังใจให้ต่อสู้กับสภาพแวดล้อม ระยะแรกฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพทุก ๑๕-๒๐ วัน ระยะเวลาให้หลังประมาณ ๖ เดือน เห็นผลชัดเจนต้นยางพาราดูด้วยสายตามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น เปลือกยางนิ่มขึ้น และที่เห็นชัดเจนปริมาณน้ำยางเพิ่มขึ้นด้วย จึงได้ขยายความคิดออกสู่ชุมชน ให้ผู้คนที่สนใจมาเอาน้ำหมักที่บ้านตนเองไปทดลองใช้ก่อนที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูด


ขับเคลื่อนชีวภาพของชุมชนบ้านดอนหาร
ผลจากผู้ใหญ่บ้านทดลองใช้ชีวภาพเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม หลายคนเริ่มสนใจเข้ามาหาน้ำหมักชีวภาพจากบ้านผู้ใหญ่ไปใช้ ชุมชนบ้านดอนหารเองใช้เวทีของกลุ่มออมทรัพย์ที่มีอยู่แล้วเป็นเวทีพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดการใช้ชีวภาพควบคู่กันไปด้วย ทั้งการใช้กับพืช สัตว์ และใช้ในครัวเรือน สอดแทรกไปกับการสนทนาปัญหาต่างๆ ของชุมชน ทำให้เรื่องของชีวภาพในชุมชนบ้านดอนหารเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
ปัญหาจากการทำน้ำหมักชีวภาพจุดเดียวที่บ้านผู้ใหญ่ ช่วงแรกมีคนใช้กันมาก แต่ขาดคนที่จะทำใช้เอง เลยมีการปรับยุทธวิธีใหม่ได้กระจายจุดทำน้ำหมักชีวภาพของชุมชนออกไปอีก ๔ จุด รวมเป็น ๕ จุด โดยใช้ที่บ้านนายประโลม รอดนิตย์ บ้านนางวันเพ็ญ นิยกิจ บ้านนางวันเพ็ญ วิชัยดิษฐ์ บ้านนายสมพร ช่วยรอด และบ้านผู้ใหญ่วิไล นวลมุสิก ปรากฏว่าหลังจากทำน้ำหมักชีวภาพเสร็จมีผู้ที่สนใจไปเอาน้ำหมักใช้น้อย มีเฉพาะที่บ้านผู้ใหญ่ที่มีผู้สนใจเข้าไปเอาน้ำหมักชีวภาพใช้มากกว่าบ้านอื่น อาจเป็นเพราะความเกรงอกเกรงใจ ตามแบบฉบับนิสัยของคนไทยที่ไปเอาบ้านผู้ใหญ่กันมาก เพราะเขาเชื่อมั่นในตัวผู้นำของเขา
กระจายการทำน้ำหมักชีวภาพ
ถึงวันนี้การใช้ชีวภาพของชุมชนบ้านดอนหาร เริ่มมองเห็นอนาคต เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบลดอนหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวภาพของชุมชนได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมทำน้ำหมักชีวภาพของชุมชนให้ขยายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยได้ทุ่มงบประมาณให้มา ๒๕,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ๑ เครื่อง ให้ซื้อถังพลาสติกขนาด ๑,๐๐๐ ลิตร ๑ ในและถังพลาสติกขนาด ๒๐๐ ลิตรอีก ๒๐ ใบ เพื่อนำไปให้ชุมชนได้ขยายจุดทำน้ำหมักชีวภาพให้ครอบคลุมถึงครัวเรือนแต่ละครัวเรือนเพื่อความหลากหลายในชุมชนมาถึงวันนี้ชุมชนบ้านดอนหารมีคนสนใจใช้ชีวภาพทั้งแบบที่ทำเอง ใช้เอง ไม่ได้ทำเอง (ซื้อเขามา) แต่ก็นำชีวภาพเข้ามาใช้มีทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๔๐ ครัวเรือน ซึ่งวิธีการใช้ของแต่ละครัวเรือนไม่เหมือนกัน บ้างก็นำไปใช้ในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ปลูกพืชผักสวนครัว ใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์ ตลอดถึงการใช้ในครัวเรือน เช่น การใช้ล้างห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น

คนหาญที่ดอนหาร
ลุงประโลม รอดนิตย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ใช้ชีวภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี ใช้ในสวนปาล์มน้ำมัน ๑๐ ไร่ ซึ่งเป็นปาล์มน้ำมันอายุ ๓ ปี ปลูกครั้งแรกยังไม่รู้จักชีวภาพ ใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนชาวสวนทั่วๆ ไป เมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องชีวภาพกับผู้ใหญ่วิไล ก็ได้กลับไปทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง โดยทำน้ำหมักชีวภาพสูตรที่ผู้ใหญ่แนะนำ เมื่อได้น้ำหมักชีวภาพแล้วจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักแห้งด้วย โดยใช้ขี้วัว ขี้ไก่ แกลบ และรำข้าวนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ราดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่เจือจางด้วยน้ำพอประมาณ กองทิ้งไว้ ๗-๑๕ วัน ให้อุณหภูมิในกองเย็นลงเป็นปกติจึงนำไปใช้กับปาล์มน้ำมัน ปีละ ๒ ครั้ง พร้อมทั้งฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพตามไปด้วย ตั้งแต่ปลูกปาล์มได้ ๓ ปี ใช้ปุ๋ยเคมีไปครั้งเดียว ก่อนที่จะมารู้จักกับปุ๋ยชีวภาพ ตอนนี้ปาล์มเริ่มให้ผลผลิตแล้ว “เมื่อก่อนผืนดินตรงนี้น้ำท่วม ๓ ครั้ง นำรถไปไถแทบไม่ลง หลังจากใช้ปุ๋ยชีวภาพดูแล้วดินจะร่วนซุยมากขึ้น” คุณลุงประโลม กล่าวด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ทำมากับมือ ส่วนคุณสมพร ช่วยรอด ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพกับสวนยางพารา แต่เขาจะซื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสำเร็จรูปมาใช้ทางพื้นดินและทำน้ำหมักชีวภาพเองเพื่อฉีดพ่นในสวนยางพารา ใช้มาประมาณ ๒ ปี รู้สึกว่าต้นยางสมบูรณ์ขึ้น เปลืองยางนิ่มขึ้น น้ำยางมีเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญปัญหาต้นยางยืนต้นตายไม่มี มาที่ คุณบุญเนือง จันทะ ได้ใช้ปุ๋ยชีวภาพแห้งและน้ำหมัก ชีวภาพในสวนยางพาราและสวนมังคุด เขายืนยันมาอย่างหนักแน่นว่ามีมังคุดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากทดลองใช้ชีวภาพ มังคุดผลโตขึ้น ผิวเกลี้ยงเป็นมัน จากที่เคยมียางไหลอาการยางไหลก็หมดไป รสชาติหวานกรอบ ขายได้ราคา ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงผลจากการใช้ชีวภาพในไร่นาจากผู้ปฏิบัติจริงเพียงบางส่วน
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่นำชีวภาพเข้าไปใช้กับการเลี้ยงสัตว์อย่างคุณประนอม หมุนเหลาะ เลี้ยงแม่หมูอยู่ ๔ ตัว พ่อหมูอีก ๑ ตัว รวมทั้งเลี้ยงลูกหมูและหมูขุน รวมกันทั้งหมดประมาณ ๓๐ ตัว หลังจากต้องประสบกับปัญหากลิ่นจากเล้าหมู และแมลงวันรบกวนบ้านตนเอง แล้วยังลุกลามไปถึงบ้านข้างเคียง หลังได้มาศึกษาเรื่องชีวภาพกับผู้ใหญ่ก็ได้กลับไปทดลองใช้กับการเลี้ยงหมูโดยส่วนหนึ่งผสมน้ำให้หมูกินวันละครั้ง บางครั้งก็ผสมลงในอาหารบ้าง แล้วแต่สะดวกอีกส่วนหนึ่งใช้ผสมน้ำล้างคอกทำความสะอาดคอกหมู สามารถลดปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นและแมลงวันลงไปได้มากทีเดียว อยากแนะนำให้คนที่มีปัญหาลองทดลองใช้ดูบ้าง ส่วนคุณพิศาล ชามุสิก เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็ไม่น้อยหน้า เห็นว่าวัวที่เลี้ยงอยู่ผอมลงทุกวัน ลองนำน้ำหมักชีวภาพไปผสมน้ำให้วัวกินหลังจากใช้ไประยะหนึ่งเริ่มสังเกตดู ระบบการขับถ่ายของวัวดีขึ้น บางครั้งมีพยาธิออกปนมาด้วย วัวที่ผอมอยู่เริ่มอ้วนขึ้น กลิ่นขี้วัวก็ลดลง เขาฝากบอกมา ใครสนใจนำไปทดลองใช้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ มาที่ คุณป้าชุมพู พันธุ์บุญ ผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ก็สนใจเรื่องชีวภาพไม่น้อย ทดลองใช้มาจนประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด คุณป้าบอกว่า ดินขี้เลนที่ขุดลอกขึ้นมาจากบ่อเลี้ยงกุ้งไม่มีกลิ่นเหม็นไม่เกิดแก๊สพิษหากใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับการเลี้ยงกุ้งโดยใช้น้ำหมักชีวภาพในอัตราประมาณ ๒ ลิตร/ไร่ ใช้ได้ตามความเหมาะสม คุณป้ายังฝากบอกเคล็ดลับมาเพิ่มว่า หากตัวกุ้งที่เลี้ยงสกปรกมาก น้ำหมักที่จะนำมาใช้ปรับสภาพน้ำต้องมีส่วนผสมของสับปะรดด้วย จะมีประสิทธิภาพสูง หากกุ้งที่เลี้ยงไม่ขับถ่าย น้ำหมักชีวภาพที่นำมาใช้ควรมีส่วนผสมของมะละกอลงไปด้วย จึงจะได้ผล ยังไม่หมดแค่นี้คุณป้ายังสาธยายต่อว่าตนเองเลี้ยงกุ้งไม่เคยพึ่งพายาเคมีเลย กุ้งป่วยไม่สบายก็นำฟ้าทะลายโจร ลูกยอ มาต้มผสมอาหารให้กุ้งกิน กุ้งสามารถเจริญเติบโตได้ดี นำไปตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารตกค้าง แต่วันนี้มีปัญหาอยู่อย่างเดียวที่การเลี้ยงกุ้งต้องหยุดชะงักชั่วคราวกับปัญหาน้ำมันที่แพงขึ้นมาทุกวัน ยังไม่มีอะไรมาทดแทนในเวลานี้ (วันนี้ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ น้ำมันดีเซลราคา ๒๘.๒๐ บาทต่อลิตร)
บทเรียนจากการขับเคลื่อนของเครือข่ายเกษตรชีวภาพ
ชุมชนบ้านดอนหารเป็นชุมชนแรกในอำเภอดอนสักที่ก่อให้เกิดการรวมตัวเพื่อขับเคลื่อนเกษตรชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แกนนำอย่างผู้ใหญ่วิไล นวลมุสิกและได้รับแต่งตั้งให้เป็นวิทยากรกระบวนการแผนแม่บทชุมชนของอำเภอดอนสัก ทำให้มีโอกาสได้บอกกล่าวแผ่ขยายกิจกรรมชีวภาพไปสู่ชุมชนใกล้เคียง คือ ชุมชนไชยคราม ชุมชนชลคราม ชุมชนปากแพรก ก่อให้เกิดกลุ่มชีวภาพขึ้นมาหลายแห่งในระยะแรกของการเผยแพร่ แต่ยังไม่ซึมลึกไม่เกิดกระบวนการที่แท้จริงอย่างชุมชนดอนหารอาจเป็นเพราะว่าแต่ละชุมชนยังค้นหาผู้นำที่แท้จริงยังไม่พบทำให้กระบวนการขับเคลื่อนระดับชุมชนต้องชะงักไป มีเพียงชุมชนดินแดงเพียงชุมชนเดียวที่พยายามประคับประคองตนเองเข้ามาเป็นเครือข่ายกับชุมชนดอนหารเพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่องเกษตรชีวภาพต่อไป
แนวคิดการกระจายแยกจุดการทำกิจกรรมชีวภาพในชุมชน นอกจากเป็นการแยกเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องชีวภาพในชุมชนแล้วนั้น ยังเป็นการแยกเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายเกิดกลุ่ม เกิดกิจกรรมย่อยกระจายขยายฐาน แต่ในทางปฏิบัติสมาชิกยังคงใช้น้ำหมักชีวภาพจากจุดที่บ้านผู้ใหญ่ไล เหมือนเดิม ซึ่งเป็นบทเรียนหนึ่งของชุมชนที่แสดงให้เห็นว่า การก่อเกิดกลุ่มในชุมชนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ความเชื่อความศรัทธาต่อผู้นำและความเป็นคนเอาธุระกับส่วนรวมของผู้นำ เป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนกิจกรรม ส่วนเรื่องการจัดการ เรื่องการเงิน หรือเรื่องอื่นๆ ต่างเป็นปัจจัยรองลงมา
ความน่าสนใจบทเรียนที่ดอนหารนอกจากในตัวผู้นำที่มีความมุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้การยอมรับเรื่องชีวภาพให้กับชุมชนแล้ว ยังพบกลยุทธ์ในการเผยแพร่เรื่องชีวภาพที่สำคัญ คือ เริ่มจากการศึกษาตัวสินค้า(ชีวภาพ)ให้เข้าใจ ทั้งผลดีผลเสีย การทดลองใช้เอง ทำเอง จนมีความมั่นใจ จึงขยายให้กับกลุ่มญาติมิตรที่พอจะชักชวนกันได้ หลังจากนั้นเริ่มใช้กระบวนการกลุ่มในการกระจายใช้กลไกการตลาดแบบเครือข่าย ขยายเข้าสู่สมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ผู้ใหญ่ไลเป็นแกนนำ มีการสอดแทรกเรื่องนี้ให้อยู่ในวาระการประชุมเป็นประจำ สร้างการยอมรับโดยการแจกให้ไปทดลองใช้ก่อน ส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพด้วยการตั้งทีมงานเพื่อรับฉีดน้ำหมักขึ้น หลังจากนั้นเริ่มลดการแจก และให้รวมกลุ่มกันผลิตโดยแยกออกเป็น ๕ จุด แต่ถ้าใครไม่ร่วมผลิตก็สามารถซื้อผ่านระบบสมาชิกของกลุ่มได้ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ชุมชนดอนหารสามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องนี้

เปิดตำราเกษตรชีวภาพที่นอกไร่

เมื่อชาวบ้านชาวสวนหาญกล้าชี้นำนายอำเภอ
เปิดตำราเกษตรชีวภาพที่นอกไร่...จนขยายทั่วทั้งลานสกา เมืองนคร

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร



กว่าจะมาเป็นบ้านนอกไร่
บ้านอกไร่ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๑ ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนสมรม มีชีวิตเรียบง่าย พอเพียง ตามวิถีคนใต้
ชุมชนบ้านนอกไร่เกิดจากการขยายพื้นที่ทำกินของคนชุมชนบ่อน้ำซับอันเป็นชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งคลองเสาธง เริ่มต้นบุกเบิกแผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวไร่ หลังเก็บเกี่ยวข้าวไร่ ก็จะปลูกพืชล้มลุกแซมสลับกับปลูกพืชยืนต้นประเภทไม้ผลชนิดต่างๆ ตามที่เสาะหามาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ผลโต ลูกดก รสชาติดี สีสันสวยงาม เป็นต้น จะถูกนำไปปลูกตามตอไม้ใหญ่ที่ถูกตัดโค่นไปใช้สอยในครั้งก่อนแล้ว เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการจดจำ ว่าได้ปลูกต้นอะไรไว้ตรงไหน เมื่อหาพันธุ์พืชชนิดได้มาก็ทยอยปลูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็มพื้นที่
การดูแลรักษาเพียงเข้าไปตัดเถาวัลย์บ้างเป็นครั้งคราว ส่วนพืชล้มลุกก็มีการปลูกกล้วยไว้เป็นพืชประธาน ด้านล่างก็ปลูกพืชไร่ประเภทแตงไร่ มันขี้หนู (มันทางภาคใต้) มันเคย มันหอม การปลูกพืชไร่อายุสั้น ๖ เดือน – ๑ ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงระยะเวลาปลูกพืชไร่ล้มลุก จะเป็นการดูแลรักษาบำรุงพืชยืนต้นที่ปลูกไว้ในครั้งแรกไปด้วยในตัว
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชไร่แล้วพื้นที่จะถูกปล่อยให้รกร้างเป็นสภาพป่า เรียกว่า “ป่าไส” ชาวบ้านจะเข้าไปแผ้วถางป่าที่ปลูกต้นไม้ไว้ปีละ ๑ ครั้ง เรียกว่า “ล้มไส” เป็นการพลิกสภาพของป่าใสให้กลายมาเป็นสวนผลไม้ที่ได้นำไปปลูกไว้ในครั้งแรก การสร้างสวนผลไม้ จะมีลักษณะผสมผสานปนเปกันไปไม่มีการวางแผนไม่มีการวางแนววางแถวอย่างเป็นระบบ เป็นการอยู่อย่างผสมผสานบนความหลากหลายทางธรรมชาติที่อยู่อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ชาวบ้านเรียกการทำสวนแบบนี้ว่า “สวนสมรม”
ในสวนสมรมนั้นจะมีความหลากหลายของพืชผลพันธุ์ไม้ ทำให้มีพืชผลไม้กินตลอดปี ส่วนเหลือจะนำลงเรือเหนือไปแลกเปลี่ยนฝากพี่น้องเพื่อนเกลอ ที่อำเภอชะอวด อำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นเพื่อนเกลอนา และเกลอเล ส่วนพวกตนที่อาศัยบนเขาทำสวนก็จะถูกเรียกเป็น “ไอ้เกลอเขา”
เรือเหนือจะล่องตามคลองเสาธงผ่านภูเขา คดโค้งเลี้ยวไปตามแก่งหิน ถึงหน้าฝนน้ำจะเชี่ยว เรือจึงมีลักษณะท้องแบน แข็งแรง ใช้ใบกระแชงเย็บเป็นผืนมุงหลังคา ซึ่งเรียกกันว่า “เรือเหนือ” ล่องลงไปแต่ละคราวใช้เวลาหลายวัน จะมีข้าวของผลไม้เต็มลำเรือ ส่วนขากลับก็จะมีข้าว กะปิ เกลือ กุ้งแห้ง ปลาแห้ง กลับมาเป็นเสบียงแจกจ่ายกันในหมู่บ้าน

นายสิน จันทร์จรุง เป็นชาวชุมชนบ้านบ่อน้ำซับคนแรกที่เข้ามาหักร้างถาพงเพื่อมาสร้างสวน ความที่เป็นผู้มีวิชาด้านแพทย์พื้นบ้านและเป็นหมอกระดูกผู้เก่งกล้าทางวิชาอาคมคนหนึ่ง ก่อเกิดศรัทธาเป็นที่พึ่งของคนอื่น จึงมีคนเข้ามาสร้างสวนด้วยในภายหลัง ประกอบด้วย นายแดง โอฬาโร นายกลิ่น สินธู นายรุ่ง โอฬาร์พฤก นายครุฑ กาญจนานุกูล นายดับ มังกรฤทธิ์
สังคมบ้านนอกไร่ในรุ่นแรกๆ มีความเป็นญาติพี่น้องและมิตรเสมอญาติ ต่างก็ยอมรับนายสิน จันทร์จรุง เป็นผู้นำทั้งสิ้น ต่อมารุ่นลูก นายขวัญ จันทร์จรุง เป็นผู้สิบทอดความเป็นหมอกระดูกและแพทย์พื้นบ้าน กับทั้งยังเป็นคนขยันเอื้ออาทร ได้รับยกย่องให้เป็น ‘เกษตรกรคนขยันของชาติ’ รางวัลแหวนทองคำ นั้นคือรุ่นบุกเบิกจนปัจจุบันมาถึงรุ่นหลาน คือ นายสมบูรณ์ จันทร์จรุง ผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์

ยุคสร้างสวน...ยางมาป่าหมด
พอถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพัฒนาการการเกษตรของชาวนอกไร่ และอาจจะเหมือนๆ กันทั่งภาคใต้ก็เป็นได้ คือ ในรุ่นปู่ที่หักล้าง ล้มไส ปลูกไม้ผลทดแทนจนเกิดเป็นสวนสมรม มีพืชพรรณหลายชนิดปลูกไว้กินโดยไม่ต้องซื้อหา ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก มีเหลือกินก็หยิบยื่นให้เพื่อนบ้าน ขาดแคลนขัดสนก็ขอแบ่งปันจากเพื่อนบ้าน ไม่มีเงินทองมากนักแต่ก็อยู่กินได้อย่างสุขสบาย ชีวิตเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยรักษากันด้วยสมุนไพรไทย ผนวกกับการแพทย์แผนไทยแบบโบราณ ไม่รู้จักยาเคมี ไม่รู้จักปุ๋ยเคมี ต้องการให้พืชพรรณที่ปลูกเจริญงอกงามก็หา “มายา” มาใส่ให้กับต้นพืชที่ปลูก
แต่พอความเจริญแพร่ขยายการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ที่ปลูกกันอย่างสะเปะสะปะไม่ได้ระเบียบเริ่มถูกแทรกแซงด้วยการทำการเกษตรแผนใหม่ตามแบบฉบับของนักวิชาการผู้มีการศึกษาสูง เริ่มด้วยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเข้ามาให้ความรู้ให้คำแนะนำในการทำสวนยางพาราสายพันธุ์ใหม่ๆ แทนสวนยางพาราที่ปลูกสายพันธุ์พื้นเมือง
และเนื่องจากเหตุการณ์วาตภัยครั้งร้ายแรงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๕๐๕ พืชผลชาวบ้านได้รับความเสียหายราบคาบ เพื่อฟื้นฟูความเสียหาย กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจึงได้เข้ามามีบทบาท ด้วยการให้เงินสงเคราะห์แก่ชาวบ้าน พร้อมสารพัดเงื่อนไข
ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของกองทุนฯ มีการปลูกยางเป็นแถวเป็นแนวอย่างมีระเบียบ ห้ามมีไม้ชนิดอื่นในสวนยาง ทำให้เกิดการตัดไม้ยืนต้นจำนวนมาก ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ ตามที่ทางกองทุนฯกำหนดมา เกษตรกรยุคนั้นเห็นเป็นของใหม่ น่าจะดีกว่าการทำแบบเดิมๆ เลยเริ่มใช้เคมีเข้ามาในกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ปุ๋ยเคมี เรื่อยมาถึงสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสารเคมีปราบวัชพืช ไม่เว้น
การเกษตรแผนใหม่เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่คนรุ่นก่อนเก่าสร้างมา หวังขายผลผลิตจากพืชชนิดเดียวในปริมาณที่มาก ได้เงินมาเพื่อไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ ท้ายสุดก็ไม่ได้ดังหวัง พืชพันธุ์ประจำถิ่นที่เคยมีเคยกินกลับหายไป ดินแข็งกระด้าง น้ำที่เคยสะอาดกลับเจือปนด้วยสารพิษ การอยู่การกินต้องระวังสารตกค้างรอบด้าน ต่างจากวิถีของคนรุ่นปู่รุ่นย่า แม้ไม่มีเงินมากมายเช่นทุกวันนี้ แต่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสุขกายสบายใจ ไม่มีหนี้สินให้ใครตามทวง

ทบทวนตัวเอง...หวนนึกถึงยุคเกษตรธรรมชาติในรุ่นปู่
พอถึงทายาทคนนอกไร่ในรุ่นที่ ๓ ที่มีความผูกพันอยู่กับการเกษตรแผนใหม่ ทำตามอารยะธรรมแบบตะวันตกนิยมผลิตพืชเชิงเดี่ยว มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี เครื่องทุ่นแรงชนิดต่างๆ เข้ามาใช้ในไร่นาเต็มกระบวนการเริ่มหวนกลับ คิดไปถึงคุณปู่ว่าเขาอยู่ได้กันอย่างไรในอดีตที่ไม่มีทั้งปุ๋ยเคมี ยาเคมี เครื่องจักรกลทางการเกษตร แต่เขาสามารถสร้างสวนเกษตรแบบธรรมชาติเป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยกันอยู่เฉกเช่นวันนี้
คนนอกไร่เริ่มรวมกลุ่มคิดกันใหม่ จะเปลี่ยนแปลงการเกษตรแผนใหม่(เคมี)มาสู่เกษตรธรรมชาติได้อย่างไร ซึ่งกระแสในเรื่องนี้เริ่มขยายวง เริ่มจากนโยบายจัดตั้ง “กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยาง” ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อต้องการให้เกษตรกรรวมกลุ่มขายผลผลิต ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สหกรณ์ไม่รับยางจากกลุ่มของเกษตรกร ทำให้กลุ่มก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เพียงแต่ดำรงสภาพกลุ่มไว้ จนกระทั้ง หมอบูรณ์ - นายสมบูรณ์ จันทร์จรุง ทายาทรุ่นที่ ๓ ของตระกูล “จันทร์จรุง” ผู้สืบตำนานหมอกระดูกและแพทย์แผนพื้นบ้านต่อจากหมอขวัญ จันทร์จรุง ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเคยได้รับยกย่องให้เป็นเกษตรกรคนขยันของชาติได้รับรางวัลแหวนทองคำ จากผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนั้น ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนสวนยาง เมื่อถูกถามว่าต้องการให้หนุนอะไรบ้าง หมอบูรณ์บอกว่า อยากได้ความรู้เรื่องชีวภาพ เพราะเห็นจากโทรทัศน์ และขอให้เจ้าหน้าที่จดชื่อไว้ด้วย เพราะปกติมักจะมารับปากแล้วไป
ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงได้ประสานให้มีการอบรมเรื่องชีวภาพขึ้นจริง ได้ฝึกอบรมวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ที่สุกไว้ใช้ในไร่นาสูตร ๔ สุก ประกอบด้วย มะละกอสุก ๑ ส่วน กล้วยน้ำว้าสุก ๑ ส่วน ฟักทองสุก ๑ ส่วน สัปปะรดสุก ๑ ส่วน และหมักด้วยกากน้ำตาลในอัตรา ๓ : ๑ หมักไว้ ๑ เดือนขึ้นไป (ยิ่งนานยิ่งดี) ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการใช้ “สูตรสี่สุก” นี้ฉีดแทนโฮร์โมนพืช เร่งดอก เร่งผล จากจุดนี้เริ่มมองเห็นช่องทาง มีคนเข้าร่วมอบรมประมาณ ๒๐ คน แต่หลังจากอบรมมีเพียง ๓ คน เท่านั้นที่ทำจริง หมอบูรณ์เป็น ๑ ในนั้น และได้เริ่มทำชีวภาพใช้เองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา
ด้วยความที่หมอบูรณ์เป็นคนพื้นบ้านที่พึ่งตนเองมาตลอด ชอบทดลองของใหม่ๆ เช่น สนใจเรื่องนวดก็ได้ร่ำเรียน จนเป็นหมอบีบ(นวด)ที่มีชื่อเสียงขจรขจาย ชาวบ้านในหลายอำเภอในละแวกนี้หายจากอาการอัมพฤกษ์ เคล็ดขัดยอกด้วยฝีมือของเขาหลายร้อยคน และยังลงมือเจาะน้ำบาดาลใช้เองในสวนด้วย จนสามารถใช้ได้ตลอดปีไม่แพ้ที่ต้องจ้างคนอื่นมาเจาะเสียเงินเป็นหมื่น จากที่มีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในเบื้องต้นและสนใจเรื่องชีวภาพ หมอบูรณ์จึงเป็นผู้บุกเบิกการทำน้ำหมักชีวภาพในชุมชนและทดลองวิธีการใหม่ๆ สารพัดอย่างอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมขยายไปสู่การหมักพืชเพื่อใช้ทำน้ำยาล้างจาน สบู่ น้ำยาซักผ้า เป็นต้น

หน่ออ่อนทางความคิด...กับหนทางแก้จน
หมอบูรณ์และเพื่อนๆ ที่ผ่านการอบรมได้ทำน้ำหมักชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำใช้เองและแจกญาติๆ และเพื่อนบ้าน ทำให้มีการใช้ชีวภาพแพร่หลายออกไป การใช้ปุ๋ยเคมีในสวนยางและสวนชะอมลดน้อยลง และบางรายเลิกใช้เคมีอย่างเด็ดขาด การใช้ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าหนอนหรือยาปราบแมลงต่างๆ ลดน้อยลงอย่างชัดเจน ซึ่งในตอนแรกมีสมาชิกกลุ่มหลังจากอบรมทำเพียงแค่ ๓ คน แล้วขยายเป็น ๒๓ คน จึงได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์” ที่มีหมอบูรณ์เป็นประธานกลุ่ม โดยมีที่ตั้งของกลุ่ม ณ บ้านหมอบูรณ์ ห่างจากปากทางเข้าที่เลี้ยวตรงข้างสถานีตำรวจอำเภอลานสกา ประมาณ ๑ กม. บนเส้นทางสายลานสกา – พระพรหม
ต่อมาช่วงประมาณ ๒๕๔๕ ทางชุมชนบ้านนอกไร่เริ่มสร้างศาลาเป็นที่ประชุมพบปะแลกเปลี่ยนแนวความคิดของคนในชุมชน ครั้งนั้นถูกสบประมาทจากบุคคลที่ไม่เห็นด้วยว่าไปไม่รอด ล้มเหลวตามเคย มาถึงช่วงปี ๒๕๔๘ ได้รับเงินอุดหนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาก้อนหนึ่งเพื่อจัดซื้อวัสดุในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้ภายในชุมชน และในช่วง มี.ค. ๒๕๔๗ ชุมชนบ้านนอกไร่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมโครงการ “ดับบ้านดับเมือง” โดยการชักนำของนายช่วน ยอดวิจารณ์ ซึ่งเคยรู้จักชุมชนนี้มาก่อนตั้งแต่ที่เขายังทำงานอยู่ในกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เมื่อลาออกจากงานประจำที่เคยทำแล้วได้มาร่วมงานในโครงการดับบ้านดับเมืองจึงเข้ามาชักชวนชุมชนบ้านนอกไร่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
“พ่อเฒ่า” ผู้ซึ่งคร่ำวอดในวงการเกษตรมายาวนานตามอายุกว่าห้าสิบปี มีลักษณะเด่นด้วยสีผมดอกเลาแซมดำเป็นเอกลักษณ์ ฉายาที่น้องๆ เพื่อนร่วมงานดับบ้านดับเมืองยกให้น้าช่วน และในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนที่อยู่ในกองทุนสวนยาง จึงได้อาสาเข้ามาเป็นผู้ช่วยชุมชนของเครือข่ายนี้ เข้ามาช่วยตั้งถามทิ้งคำพูดแสบๆ เจ็บๆ คันๆ ชวนให้ชาวนอกไร่ได้คิดอยู่เรื่อย “พวกเติ้นอย่าทำแบบราชการ ต้องทำแบบชาวบ้าน” “ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเชิญอยากเรียนรู้ก็เดินมาเรียนกันเลย” “ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันแบบพี่แบบน้อง ไม่มีใครเป็นหัวหน้าลูกน้อง” เป็นพูดที่ชาวนอกไร่จะได้ยินเป็นประจำจากพ่อเฒ่าคนนี้
นอกจากนี้ยัง คอยช่วยประสานงานให้กับชุมชนในกรณีการประสานกับองค์กรภายนอกที่เกินกำลังของชุมชน หรือในช่วงเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์กับภายนอก เพราะกลัวว่าชุมชนจะเพลี่ยงพล้ำถูกครอบงำ แต่พอเดินกันได้แล้วก็ปล่อยให้ทำกันเอง และยังได้นำความรู้วิชาการต่างๆ จากภายนอกเข้ามาให้กับชาวนอกไร่อย่างต่อเนื่อง

เข้าร่วมกับขบวนดับบ้านดับเมือง...
ใช้เกษตรชีวภาพเป็นเครื่องมือสร้างสุขภาวะของชุมชน
ผู้คนในชุมชนบ้านนอกไร่ได้หวนคิดถึงอดีต และผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงพยายามแสวงหาแนวทางเพื่อผันตัวเองกลับไปสู่วิถีธรรมชาติ ท้ายสุดมีข้อตกลงร่วมกันใช้เกษตรชีวภาพเป็นเครื่องมือนำสู่สุขภาวะของชุมชน จากความคิดริเริ่มพัฒนาสู่กระบวนการร่วมคิดร่วมทำ ได้รับการหนุนเสริมต่อยอดจากเครือข่ายเกษตรชีวภาพ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้(ดับบ้านดับเมือง-เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้) ตามแผนพัฒนาชุมชนเป็นสุขของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ครั้งแรกก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการเข้าร่วมในโครงการดับบ้านดับเมือง (เครือข่ายเกษตรชีวภาพ) คิดว่าคงไม่ได้อะไร ตอบตกลงเข้าร่วมก็ไม่เสียหายอะไร
หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากดับบ้านดับเมือง ก็ได้คัดเลือกแกนนำกลุ่ม ๙ คน รวมกับคณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพอีก ๒ คน คือ น้าช่วนและโอม ไปร่วมเรียนรู้เรื่องเกษตรชีวภาพเพิ่มเติม จากอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง ในจังหวัดชลบุรีเป็นระยะเวลา ๔ วัน ๓ คืน โดยเข้าหลักสูตรฝึกอบรม “การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” พอผ่านหลักสูตรนี้เริ่มเห็นทางสว่างเกิดขึ้นในชุมชน จากคนที่ไม่เคยเชื่อเริ่มเชื่อในสิ่งที่ได้ไปพบเห็นและได้สัมผัส การเปลี่ยนแปลงในชุมชนเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แนวคิด “ร่วมกันรู้ –แยกกันทำ” ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ของชุมชน
ส่วนการสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรชีวภาพก็มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านผู้ช่วยชุมชนที่ลงเกาะติดพื้นที่ และผ่านผู้นำชุมชนที่เชิญเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนา จัดอบรมต่างๆ ของเครือข่าย โดยมีการจัดเป็นประจำที่ “ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพและเกษตรผสมผสานจังหวัดนครศรีธรรมราช” ณ วัดป่ายาง หมู่ ๔ ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันมีพระอาจารย์สุวรรณ คเวสโก พระนักพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายทั้งเป็นที่ปรึกษา และประสานดำเนินการจัดฝึกอบรมอีกด้วย

ร่วมเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์
กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์เป็นอีกหนึ่งที่มีสีสันการเรียนรู้เร้าใจท่านผู้ฟังอย่างยิ่ง สมาชิกจะนัดพบกันทุกวันที่ ๒๗ ของทุกเดือน เวลาค่ำๆ ตะวันโผล่เผล้ หลังจากพักหายเหนื่อยจากวิถีคนตัดยาง สมาชิกแต่ละคนหลังจากแยกกันไปผลิตและใช้ชีวภาพ ก็ได้นำเอาผลการเรียนรู้ ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง
บรรยากาศการนั่งล้อมวงเสวนาภาษาชีวภาพกันอย่างออกรส ”วงคนอาด” ต่างคนต่างมุ่งมั่นอยากเรียนรู้ของเพื่อน อยากเล่า อยากบอกสิ่งที่ตนเองค้นพบ ยิ่งมีคนนอกวงมาร่วมด้วย ก็ยิ่งอยากเล่าด้วยสีหน้าแห่งความภูมิใจ ดวงตาฉายความปิติมุ่งมั่น...หรือนี่จะเป็นความสุขที่สุดของกลุ่มชีวภาพก็ได้

"...นี่ผู้ใหญ่หมู...นั่นผู้ช่วยหมา...นี่หมอน้ำหมัก..."
“แก่เป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่เนื่องจากแกได้ทดลองเอาเครื่องในหมูมาหมักชีวภาพ ชาวบ้านจึงเรียกแก่ว่า ‘ผู้ใหญ่หมู่’ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นั่นแกพิเรนทร์ กว่าเพื่อนเอาหมาที่โดนรถชนตาย มาทดลองหมักชีวภาพ ชาวบ้านจึงเรียกแกว่า ‘ผู้ช่วยหมา’ ส่วน ‘หมอน้ำหมัก’ เป็นฉายาของสมบูรณ์ จันทร์จรุง หมอพื้นบ้านที่เป็นผู้บุกเบิกทำน้ำหมักในชุมชน”

บรรยากาศการแนะนำตัวที่เป็นกันเอง สนุก เข้าใจทันที่ว่าคนกลุ่มนี้ ชั่งเป็นคนใฝ่ศึกษาใคร่รู้ เอาจริง มีเอกลักษณ์การเรียนรู้เฉพาะตัว และนี่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
ระหว่างนี้เรื่องราวการทดลองชีวภาพของแต่ละคนก็ได้ทยอยเล่าสู่กันฟัง ออกมาไม่ขาดสาย เป็นเหมือนสังคมที่มีชีวภาพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ทดลองเอาไปทาบริเวณกิ่งยอดอม ทำให้ตอนติดดีขึ้นมาก...”
“ผมใช้กับต้นยาง พอวันแรกเปลือกแข็ง แต่พอหลายวันที่สองเปลือกนิ่ม ตัดง่าย น้ำยางออกมาก...”
“เอาไปใส่ในจอกยาง พอเอาขี้ยางไปขาย ราคาต่างกันกันกิโลละตั้ง ๓ บาท...”
“ปีหน้าผมกะว่า พอมังคุดเป็นลุกจะฉีด อาทิตย์ละครั้ง เพราะเห็นใช้แล้วผิวมันสวยดี...”
“ตอนนี้กำลังเอาหนังวัวมาหมัก ทดลองแล...”
ฯลฯ

สมาชิกคนหนึ่งในวงเสวนา คือ นายวิชิต ชมกระบิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลขุนทะเล เป็นผู้ใหญ่หนุ่มไฟแรง เล่าให้ฟังว่า
“ผมไม่เคยเชื่อเรื่องชีวภาพและไม่เคยมีแนวคิดเรื่องนี้ แต่น้าบูรณ์เป็นญาติผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพนับถือ ผมจึงต้องฟัง น้าบูรณ์บอกว่าคนเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องรู้ทุกเรื่องที่ชาวบ้านเขาทำกัน ต้องรู้ให้ชัดสามารถบอกเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย จึงตัดสินใจเข้ารับฝึกอบรมพร้อมกับคณะของน้าบูรณ์ร่วมกันในครั้งนั้น
ในวันแรกๆ ผมยังไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่เขาพูดมากนัก แต่พอเริ่มเข้าวันที่ ๓ ของการฝึกอบรมเริ่มเข้มข้นขึ้นได้ข้อมูลมากขึ้น และได้ไปศึกษาดูการปฏิบัติจริงความคิดเริ่มเปลี่ยนแปลง หลังจากกลับมาจากการฝึกอบรมเป็นช่วงจังหวะเดียวกับการประกาศนโยบายของเกษตรอินทรีย์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับวิชาความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม
กลับมาถึงได้ทดลองทำทันทีด้วยการหมักน้ำหมักจากหมูเป็นบทเรียนแรก หมูที่ผมเลี้ยงไว้เกิดตายขึ้นมาด้วยอาการรกติดค้างในท้อง เกิดความเสียดายขึ้นมาจึงนำหมูที่ตายมาหมักด้วยกากน้ำตาล จึงได้เป็นน้ำหมักชีวภาพจากหมู แล้วนำไปทดลองใช้เองและแบ่งให้ลูกบ้านไปทดลองใช้กับการปลูกพืชหลายชนิดเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้สนใจได้รับรู้เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างแท้จริง”

ส่วนนายอารักษ์ มังกรฤทธิ์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล หมู่ที่ ๑ พึ่งได้รับการเลือกตั้งมามาดๆ (๒๕๔๗) เพราะเป็น อบต. ชีวภาพ และเขาได้เล่าความเป็นมาของตนเองว่า
“ที่ผมได้มาเป็น ส.อบต. เพราะในช่วงที่หาเสียงเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.อบต. ผ่านบ้านน้าบูรณ์เห็นมีคนจับกลุ่มคุยกันอยู่หลายคน ผมเข้าไปกินข้าวบ้านน้าบูรณ์และได้นั่งฟังพอจับใจความได้ว่าเขากำลังสนทนากันในเรื่องเกี่ยวกับชีวภาพ และเขาพูดกันตอนหนึ่งว่าคนที่จะเข้ามาเป็น ส.อบต. ของที่นี่ จะต้องเลือกคนที่มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับชีวภาพ ซึ่งเป็นวิถีเกษตรธรรมชาติแบบดั้งเดิม และเป็นคนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของน้ำหมักชีวีภาพอย่างแท้จริงสามารถนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้ได้ พวกเราถูกทอดทิ้งมานานแล้ว...”
ผมกลับมาคิดดูสรุปได้ว่า...ทางกลุ่มชาวบ้านเขาต้องมีแผนอะไรบางอย่างอยู่ในใจของเขา...ผมพยายามแสวงหาความรู้เกี่ยวกับชีวภาพ พยายามเข้าไปพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้ที่ทำชีวภาพใช้กันบ้างแล้วในเวลานั้น พอได้ประสบการณ์มาบ้างถึงคราวเลือกตั้งก็ได้รับเลือกตั้งสมใจ...
ผมเป็นคนหนึ่งที่ประชุมลงมติถูกส่งไปฝึกอบรมพร้อมคณะที่จังหวัดชลบุรีในครั้งนั้น ช่วงที่ไปฝึกอบรมผมพยายามหาคำตอบให้ตัวเองว่าที่นั่นเขาทำประสบความสำเร็จได้อย่างไร เพื่อจะนำเอาประการณ์ในครั้งนี้มาถ่ายทอดให้กับชุมชนของตนเอง เขาสามารถทำดินที่ตายให้ฟื้นกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เพราะ ‘เขาเชื่อมั่นในตัวเองว่าเขาทำได้’ เขาจึงทำประสบความสำเร็จ หลังกลับจากการฝึกอบรมในครั้งนั้นแล้ว ผมก็ได้รับการมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งผู้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องน้ำหมักชีวภาพของกลุ่ม”

กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ไม่ใช่มีแต่ผู้ชายเก่งแต่มีสมาชิกที่เป็นหญิงแกร่งหนึ่งเดียวที่ร้องขอเข้าร่วมอบรมชีวภาพที่จังหวัดชลบุรีเพราะความอยากรู้ด้วย คือ นางเสถียน โอฬาร์พฤกษ์ ประกอบกับเขาเองได้ทำชีวภาพอยู่ก่อนแล้ว ทำเพื่อไว้ขาย และต้องการไปอบรมเพื่อได้ความรู้มาปรับปรุงกิจการให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่ผลที่ได้รับกลับมาผิดคาด เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนางเสถียนเอง
“โรงปุ๋ยชีวภาพที่บ้านที่เคยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขาย กลับกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้สนใจ วิชาความรู้ที่ถูกปิดบังมานานกลับถูกถ่ายทอดให้ผู้สนใจได้ทราบและนำไปปฏิบัติโดยไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจอีกต่อไป” และเขายังพูดให้เพื่อนในเวทีฟังอย่างภาคภูมิใจว่า
“ถึงแม้รายได้ของครอบครัวจะหดหายไปส่วนหนึ่งแต่ก็พอใจกับการสร้างสุขให้เกิดในชุมชนที่ตนเองได้อาศัยผืนแผ่นดินอยู่”

และนายสุรเชษฐ์ กาญจนจรัส รองประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ เขาเป็นคนนอกพื้นที่เพราะอาศัยอยู่ในหมู่ที่ ๒ ตำบลลานสะกา แต่สนิทชิดเชื้อกับครอบครัว “จันทร์จรุง” มานานตั้งแต่รุ่นก่อนเก่ามาแล้ว เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เข้ารับอบรมเรื่องชีวภาพที่จังหวัดชลบุรี เคยปลูกชะอมมานานด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี (ยาฆ่าหญ้า) มาโดยตลอด ยิ่งใช้ดินยิ่งแข็งกระด้างต้องเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยมากขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตกลับไม่เพิ่มตาม มีคนแนะนำให้ใช้ชีวภาพ และต่อมาก็ได้รับความรู้จากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ ๔ สุก ก็สนใจทดลองทำใช้ตามคำแนะนำ แต่ยังไม่เกิดความคิดในการคิดแปลงสูตรต่างๆ ชะอมที่ปลูกไว้ประมาณ ๔ ปีมาแล้วที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาโดยตลอด พอหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพในระยะเดือนแรกผลผลิตที่เคยเก็บได้ ๑๓๐ มัด ลดลงเหลือ ๑๒๐ มัด แต่พอสามเดือนให้หลังไปแล้วเก็บชะอมได้ครั้งละ ๖๐๐ มัด แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ถึงวันนี้ สุเชษฐ์ กาญจนจรัส ได้รับความรู้เพิ่มเรื่องของชีวภาพได้พัฒนาสูตรต่างๆ ขึ้นมาใช้หลายสูตรด้วยความสนใจอยากเป็นนักทดลอง นักเรียนรู้แล้วเขายังได้ดินมีชีวิตกลับคืน ได้ชะอมที่สมบูรณ์และปลอดภัยกลับคืน ได้ระบบนิเวศน์ทางผิวดินคืนกลับมาแต่ยังขาดผู้มีอุดมการณ์ร่วมในชุมชน จึงได้มาสมัครร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ของชุมชนบ้านนอกไร่ หมู่ที่ ๑ ตำบลขุนทะเล มาจนถึงวันนี้

ความเปลี่ยนแปลงหลังเข้าร่วม “ดับบ้านดับเมือง”
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการดับบ้านดับเมือง และได้เข้าไปอบรมการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตร “การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดชลบุรี หลังกลับมาผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนั้นได้นำความรู้ที่ได้รับรู้มาเผยแพร่ขยายพร้อมทั้งทดลองปฏิบัติอย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน จนเป็นที่ยอมรับของผู้คนในชุมชนและผู้คนรอบข้าง และกลุ่มเองก็ได้มีการขยายออกไปสู่หมู่บ้าน ตำบลข้างเคียง ด้วยแกนนำของกลุ่ม ๒ คน ได้ออกไปตั้งกลุ่มอีก ๒ กลุ่ม ที่บ้านในไร่ และที่หมู่ ๗ ตำบลขุนทะเล ซึ่งในแต่ละกลุ่มมีสมาชิกหลายสิบคน และกำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเข้มข้น ในขณะที่ในไร่ได้สร้างที่ทำการกลุ่มแล้ว เพื่อเป็นที่พบปะอย่างถาวร พี่สุเชษฐ์ กาญจนจรัส แกนนำที่ไปตั้งกลุ่มบอกว่า
“ชุมชนในไร่เป็นชุมชนต้นน้ำคลองเสาธง ที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีกันมาก มีผลกระทบต่อสายน้ำ การเปลี่ยนมาใช้ชีวภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ชุมชนตลอดสายน้ำได้น้ำที่ปลอดภัย”

เรื่องนี้ยังได้ขยายผลออกไปจนเป็นที่รับรู้ของทางราชการ และกลุ่มเกษตรสินสมบูรณ์ของชุมชนบ้านนอกไร่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมจัดนิทรรศการโชว์ความก้าวหน้าและวิวัฒนาการของกลุ่มในงานวันมังคุดหวานลานสกา เมื่อวันที่ ๑๔-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นับเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ นอกจากประสบความสำเร็จในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้แล้ว ทางกลุ่มยังได้รับมอบหมายจากท่านนายอำเภออิสรา ทองธวัช นายอำเภอลานสกา ให้เป็นผู้ประสานงานในการจัดเวทีวิชาการเกษตรชีวภาพ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ในงานวันมังคุดหวานลานสกา โดยได้รับเกียรติจากท่านนายอำเภออิสรา ทองธวัช นายอำเภอลานสกา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พระสุวรรณ คเวสโก เจ้าอาวาส วัดป่ายาง หัวหน้าคณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพ บรรยายเกษตรธรรมวิถีไท นายวีรยุทธ จินาวงศ์ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพจากจังหวัดกระบี่ นายอนุภัทร จันตราชู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นวิทยากรร่วม นายอุทัย แกล้วกล้า นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวิทยากรและผู้สังเคราะห์เวที นางชวรีย์ กิ่งรัตน์ นักวิชาการจากกองทุนสวนยาง เป็นผู้ดำเนินรายการ การมีส่วนร่วมในการจัดงานวันมังคุดหวานลานสกาในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของภาคประชาชนที่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตนเอง ตามศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้เข้าชมตลอดงานนับหมื่นจนชื่อเสียงกลุ่มเกษตรสินสมบูรณ์ได้ขจรกระจายไปเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น
ความสำเร็จในครั้งนี้ ย่อมอยู่ในสายตาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่ขาดเพื่อต้องการให้ชุมชนเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อความเข้มแข็งด้วยลำแข้งลำขาของตนเอง ด้วยการสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยให้กับกลุ่ม ๑ เครื่อง มูลค่า ๕๐,๐๐ บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล โดยมีนายโสภณ พรหมแก้ว นายก อบต.ขุนทะเล เดินทางมามอบเครื่องผสมปุ๋ยด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ ที่ทำการกลุ่มเกษตรสินสมบูรณ์ ภายใต้สโลแกน “พวกเติ้น(คุณ) ทำคลอด ถ้ารอดผมเลี้ยง” ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิและโอกาสกับชุมชนบ้านนอกไร่จัดตั้งองค์กรเกษตรชีวภาพทั่วท้องถิ่น หากองค์กรใดสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมได้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเลจะรับช่วงพัฒนาให้การต่อยอดเสริมรากแทนการทุ่มเงินให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนตามประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา
ชีวภาพกับการเชื่อมร้อยชุมชนเข้าด้วยกัน
ดังที่ทราบมาแล้วว่าชุมชนบ้านนอกไร่ขยายตัวแยกมาจากชุมชนบ้านบ่อน้ำซับ ทั้งๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันแต่คนในชุมชนน้ำซับคิดว่าศักดิ์ศรีเหนือกว่าจึงไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนบ้านนอกไร่ ถึงแม้ผู้ใหญ่วิชิต ชมกระบิล ผู้ใหญ่บ้านจะใช้เรื่องของเกษตรชีวภาพเป็นวาระประชุมหลักของหมู่บ้านทุกครั้งไป แต่ยังไม่สามารถดึงคนจากบ้านบ่อน้ำซับเข้าร่วมกิจกรรมได้ กระทั่งล่าสุดนายสุทธิใจ จิตรอุฬาร์ ส.อบต. ได้ทดลองทำชีวภาพใช้กับแปลงปลูกชะอมจนประสบความสำเร็จที่เห็นผลชัดเจน ชะอมยอดอวบอ้วน ผลผลิตได้มากกว่าเดิมลงทุนน้อยกว่า ใช้เวลาศึกษาอยู่ประมาณ ๗ เดือน จึงขยายผลออกไปสู่ชุมชนบ้านน้ำซับ เมื่อดึงคนเข้าร่วมเรียนรู้กับชุมชนบ้านนอกไร่ที่เขาทำกันมาก่อน ซึ่งไม่เสียแรงเปล่ามีผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ถึง ๒๒ คน จนกระทั่งได้รับฉายา อบต.ชะอม (นายสุทธิใจ จิตรอุฬาร์)
การขยายเครือข่ายของเกษตรชีวภาพไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แต่นั้นได้ขยายผลต่อไปยังชุมชนข้างเคียงอย่างชุมชนบ้านในไร่ หมู่ที่ ๗ ตำบลลานสกา กลุ่มเจดีย์ หมู่ที่ ๒ ตำบลลานสกาและได้ขยายไปถึงหมู่ที่ ๑๑ ตำบลขุนทะเล ก่อให้เกิดกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลาขี้เหล็ก นับเป็นความสำเร็จอีกอย่างของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ภายใต้สโลแกน “ร่วมกันรู้แยกกันทำ” เป็นกลุ่มที่ไม่เอาผลประโยชน์ที่เป็นตัว “เงิน” เข้ามาเป็นตัวตั้งในการดำเนินกิจกรรม

โรงเรียนแก้จนมีวันนี้ได้....เพราะมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินบูรณ์
กระแสการตอบรับเรื่องชีวภาพในพื้นที่อำเภอลานสกาไม่ใช่เพียงแค่เกิดกิจกรรมการทำและการใช้ชีวภาพ แต่ได้ขยายรวมไปถึงกระบวนการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายในกลุ่มภายในชุมชน และขยายไปสู่เครือข่ายในทุกระดับ โดยการใช้ชีวภาพเป็นเครื่องมือรวมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำไปสู่การเรียนรู้หลักคิดที่ถูกต้อง หลักวิชา ที่ต้องศึกษาเอาจากชาวบ้าน ศึกษาจากผู้ที่ทำมาก่อน ศึกษาจากกันเอง ศึกษาจากเอกสาร แล้วไปลงมือปฏิบัติทดลองทำเอง ใช้เอง หรือสิ่งที่เครือข่ายเกษตรชีวภาพกำลังขับเคลื่อนกันอยู่นี้อาจจะกล้าหาญฝันไปถึง “การปฏิวัติความคิด ด้วยเกษตรชีภาพ” ก็เป็นได้ โดยเป้าหมายของเครือข่ายเกษตรชีวภาพ คือ ชุมชนเป็นสุขด้วย “สังคมชีวภาพ” อันประกอบด้วย กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความรู้ชีวภาพประจำถิ่น ขยายสู่สุขภาพองค์รวม
ด้วยในอำเภอลานสกามีกลุ่มกิจกรรมชีวภาพที่ทำจริงในพื้นที่และหลายกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ที่อำเภอลานสกา สำนักงานเกษตรอำเภอลานสกา และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอลานสกา ยอมรับให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์และชุมชนอกไร่เป็นชุมชนต้นแบบ พร้อมกับผลักดันนโยบายจังหวัด “จังหวัดนครศรีธรรมราชเมืองเกษตรอินทรีย์” โดยมีเป้าหมายให้ ๘๔,๐๐๐ ไร่ ในปี ๒๕๕๒ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือสำนักงานเกษตร และองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเลก็ตอบรับนโยบายนี้อย่างชัดเจน

เมื่อเป้าหมายชัดเจน คนพร้อมและมีใจ สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการขับเคลื่อน
สำนักงานเกษตรอำเภอลานกาได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมจึงได้เชิญ ลุงประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านผู้นำชุมชน ที่ทำงานพัฒนามายาวนานจนได้รับรางวัลรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗ มาให้ความรู้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลุงยงค์จึงให้คำแนะนำให้ยึดหลักการเรียนรู้และพัฒนาคนเป็นหลัก โดยยกกรณีตัวอย่างโรงเรียนมังคุด การทำแผนแม่บทชุมชน และวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น
ลุงยงค์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อโรงเรียนมังคุด ที่ลานสกา ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของเครือข่ายยมนา โดยชุมชนไม้เรียงก็เป็นต้นแบบในเรื่องนี้ และพร้อมจะส่งบุคลากรมาช่วยการตั้งโรงเรียนแก้จนที่ลานสกา และได้คุณบุเรง ชิตมาลย์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเกษตรและเคยขับเคลื่อนงานกับไม้เรียงมาก่อน รับภาระมาทำเรื่องนี้ หลังจากนั้นเกษตรอำเภอลานสกาโดยการร่วมมือผลักดันของคุณบุเรงก็ได้เสนอโครงการโรงเรียนแก้จน ผ่านการสนับสนุนงบตามนโยบายจังหวัด และการสนับสนุนพื้นที่สาธารณะประโยชน์จำนวน ๓๙ ไร่ ที่หมู่ ๙ ต. ขุนทะเล ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบต. ขุนทะเล จัดทำเป็นแปลงสาธิตและเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับชาวบ้าน
คุณบุเรงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการและมุ่งมั่นจะสร้างการเรียนรู้ให้เกษตรกร จึงได้ประสานระดมทุนทางสังคม ทั้งในภาคส่วนชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ภาคส่วนท้องถิ่น และภาคราชการทั้งจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ให้การรับรองวุฒิบัตรสำหรับผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ที่โรงเรียนนี้ ซึ่งปัจจุบัน(๒๕๔๙) มีนักเรียนในรุ่นที่ ๑ อายุเฉลี่ย ๖๐ กว่าปี จำนวน ๑๖ คน พึ่งได้รับพระราชทานวุฒิบัตรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนมังคุดอีก ๒๘ คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี อบต.ขุนทะเลผู้เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับอำเภอลานสกา และเกษตรอำเภอลานสกา
สถานที่เรียนเป็นที่โล่งล้อมรอบด้วยสวนยาง มีสระน้ำขนาด ๕ ไร่ และปลูกต้นไม้ไว้รอบขอบสระสร้างร่มเงาพอให้ได้หลบพัก มีระบบปั๊มน้ำจากสระไหลไปตามท่อส่งที่มีการลดแรงดันเป็นระยะเพื่อป้องกันท่อแตก วางไปตามแนวแปลงสาธิตจนทั่วพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้งขึ้นเขียวขจี และบนขอบสระยังมีปล้องท่อสำหรับหมักน้ำหมักชีวภาพ ๒ ปลอก เปิดออกดูกำลังมีกลิ่นกรุ่นของน้ำหมักที่นักเรียนทำกันเอง
บนขอบสระได้ปลูกศาลาไว้หลังหนึ่งสำหรับเป็นอาคารอเนกประสงค์ เป็นอาคารเรียน และมีเพิงเล็กๆ พอที่จะแขวนกระดาน เก็บหนังสือ วางกล่องยาสามัญ มีกระจกแต่งตัวให้สาวๆ วัยรุ่นแย้มแต่งตัว บางทีก็ปรับเป็นครัวสำหรับทำอาหารตอนเที่ยงหรือเวลาจัดงานต่างๆ ที่มีแขกมามากๆ

เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ...จบหลักสูตรแล้วสามรุ่น
กระบวนการเรียนการสอน เป็นการเรียนทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ เมื่อเรียนรู้ทฤษฏีแล้วต้องได้ทดลองทำจริง มีแปลงสาธิตปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้ง เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็สามารถเก็บขายสร้างรายได้ได้ด้วย มาถึงวันนี้มีนักเรียนเรียนจบหลักสูตรไปแล้ว ๒ รุ่น และกำลังรับรุ่นที่ ๓
ความสำคัญของโรงเรียนแก้จนคือ การได้เรียนรู้ของจริง และเรียนแล้วไปทำได้จริง ผู้มาเรียนเป็นเหมือนผู้ทดลอง มาทดลองร่วมกัน ศึกษาร่วมกัน วิทยากรเป็นเพียงพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำเท่านั้น หมอบูรณ์หนึ่งในวิทยากรหลักของโรงเรียนบอกว่า “คนมาเรียนที่นี้ ต้องหุงข้าวด้วยหม้อดินเป็น” “ทุกคนต้องถอดอายุ ถอดความเป็นตัวตนออกเมื่อเดินเข้ามาในโรงเรียนนี้” “ทุกคนมีสิทธิในการเรียนรู้ได้เท่ากัน” “กินข้าวร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน” บรรยากาศการเรียนการสอน เต็มไปด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง และปรากฏภาพความประทับใจได้เห็นนักเรียนรุ่น ๑ ถึงจะจบไปแล้วยังกลับมาช่วยกันสร้างห้องส้วมให้รุ่นน้อง และแวะเวียนมาร่วมเรียนรู้ใหม่ ให้คำแนะนำรุ่นน้องด้วย
ส่วนการรับสมัครนักเรียนเป็นผู้ที่อยู่ในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน สำหรับผู้ที่ขึ้นบัญชีจะได้รับการพิจารณาก่อน ส่วนที่เหลือจะพิจารณาตามความสนใจสมัครเข้ามาเรียน โดยเป็นการดูแลคนในเขตพื้นที่ตำบลขุนทะเลและกำลังขยายครอบคลุมอำเภอลานสกา สำหรับนักเรียนในรุ่นที่ ๑ ที่มีโครงการแก้ปัญหาความยากจนรองรับอยู่นั้น จะได้รับงบประมาณในการดูแลนักเรียนคนละ ๑๐๐ บาทต่อวัน เมื่อดำเนินการผ่านไปแล้ว ได้เกิดผลผลิตจากกิจกรรมการเรียน จะมีระบบการจัดการกันไว้ส่วนหนึ่งสำหรับสนับสนุนกิจกรรมในโรงเรียน เพื่อไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณจาก หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว
ครูของโรงเรียนแก้จนมีทั้งหมด ๓ คน ประกอบด้วย คุณบุเรง ชิตมาลย์ จะเป็นผู้ให้ความรู้ทั่วไปเพื่อปูพื้นทางวิชาการด้านการเกษตร หมอบูรณ์ – สมบูรณ์ จันทร์จรุง หมอน้ำหมักจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์จะให้ความรู้เรื่องชีวภาพ คุณสุจินต์ อินทคีรี จากกลุ่มไม้เรียงจะให้ความรู้เรื่องแผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชน และการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคในครัวเรือน เน้นการพึ่งตนเองทั้งระดับชุมชนและครอบครัว

จากกิจกรรมดีดีที่เกิดขึ้นนี้ คงไม่ใช่เป็นผลงานของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นผลงานร่วมกันของชาวลานสกาและชาวตำบลขุนทะเล ตลอดจนชาวนอกไร่และกลุ่มเกษตรอินทรีย์สินสมบูรณ์ ที่ได้ร่วมกันผลักดันสร้างกระแสเกษตรชีวภาพ พร้อมทั้งหน่วยสนับสนุนจากภายนอกอีกหลายหน่วยงาน แต่ทั้งนี้บทพิสูจน์ความจริงอยู่ที่พื้นที่ คนในพื้นที่เป็นหลัก ดังคำพูดของชาวนอกไร่ที่ว่า
“ถ้าเราไม่ปล้ำกันจนตัวนวล มีหรือวันนี้เราจะคุยกับ อบต.ได้ นั่งกินข้าวร่วมกันกับนายเภอ ผู้ว่ามาเยี่ยม ราชการวิ่งเข้ามาช่วย”
ดังนั้นความสำเร็จในการดำเนินการจึงไม่ใช่แค่ได้งบประมาณ เพื่อดำเนินการ แต่เป็นการได้มีสิทธิมีเสียงมีส่วนในการกำหนดนโยบายของพื้นที่ ทั้งจากกรณีทำให้ปรากฏเป็นนโยบายสาธารณะอย่างเกษตรชีวภาพที่ลานสกา เมื่อมีเสียงตอบรับจากชุมชนเต็มร้อยยังไงท้องถิ่น ราชการก็ต้องหนุน แต่การขับเคลื่อนต้องอยู่บนหลักคิดที่ถูกต้องเป็นสำคัญ ทั้งกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารขยายผล และการจัดการด้วยระบบธรรมาภิบาล
และที่สำคัญต้องให้ส่งเสริมเกิดการจัดกระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องอื่นของชุมชน ให้มากขึ้น


บรรณานุกรม
อนุภัทร จันตราชู, ช่วน ยอดวิจารณ์ และคณะ. ผู้ใหญ่ ผู้ช่วยหมา หมอน้ำหมัก ที่บ้านนอกไร่. ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก ; ปฏิวัติความคิดสู่ความสุขด้วยเกษตรชีวภาพ. โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้. กรุงเทพฯ. อุษาการพิมพ์, ๒๕๔๙.

เมื่อฅนหนองบัวไม่หนี...มีแต่สู้รู้รักษาทะเล

ที่ชุมพร

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

“ทรัพยากรทางทะเลเปรียบเสมือนชีวิตจิตวิญญาณของชุมชนชาวประมง และทุกวันนี้ถูกทำลายไปมาก ทำให้คุณภาพชีวิตยิ่งย่ำแย่ และไม่มีทางออกอื่น จึงมีแต่การรวมกลุ่มรักษาฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของทะเล เท่านั้นคือคำตอบ”

ปลูกบ้าน สร้างเมือง ที่หนองบัว
ชุมชนบ้านหนองบัว ได้รับการบอกเล่าว่าเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งตอนล่างของปากแม่น้ำอำเภอละแม ฝั่งอ่าวไทย ที่มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ของคนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาเกิดการอพยพเข้ามาครั้งสำคัญหลังจากเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ถล่มแหลมตะลุมพุก ปี ๒๕๐๕ ผู้คนจำนวนมากมาจากอำเภอหัวไทร เชียรใหญ่ ชะอวด และปากพนัง ส่วนหนึ่งล่องเรือใบมาขึ้นที่ปากอ่าวแถวหนองบัว อีกส่วนหนึ่งนั่งรถไฟมาลงที่สถานีละแม แล้วเดินเท้าเข้ามา

“...ลุง บ้านเดิมอยู่ตำบลบางจาก ลงเรือใบที่ปากน้ำแถวๆ บางจาก มาราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มาขึ้นคลองใกล้ๆ นี้...แต่ก่อนมีแต่ป่าเสม็ด ป่าเลน พอเข้ามาอีกนิดพบบ้านชาวประมงอยู่สองถึงสามหลังที่เขาอยู่ก่อนแล้ว ไม่รู้อยู่มานานแค่ไหน....” คำบอกเล่าจากผู้อาวุโสของชุมชนที่เป็นคนแรกๆ มาบุกเบิกนำทางสร้างบ้านแปลงเมืองให้ลูกหลานได้มารวมกัน

ในทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่ามีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในเขตนี้มาก่อนหรือไม่ แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องเล่าของ วัดโบส ว่าตั้งอยู่กลางหนองบัวอันเป็นสระน้ำร้างในชุมชนนี้ โดยมีการเล่ากันของคนในเขตชุมชนโบราณที่ปากแม่น้ำหลังสวน ว่าที่นี่เป็นที่ตั้งของพุทธสถานสำคัญ และอีกอย่างชุมชนนี้อยู่ระหว่างเขตชุมชนโบราณที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น พุมเรียง ไชยยา ท่าชนะ เขาสามแก้ว ชุมพร ตลอดชุมชนสมัยอยุธยาตลอดปากแม่น้ำฝั่งอ่าวไทยเรื่อยลงมา ทำให้ชุมชนนี้มีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังไม่มีการศึกษากันทั้งในส่วนของชาวบ้านและนักวิชาการ จนถึงคราวที่ชุมชนได้ทำโครงการร่วมกับโครงการดับบ้านดับเมือง จึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงกัน ตามเรื่องเล่าของหนองบัวอันเป็นสระน้ำสาธารณะของชุมชน และใช้เป็นชื่อของหมู่บ้านอยู่ในขณะนี้

ส่วนชุมชนหนองบัวที่ชาวบ้านนึกย้อนอดีตและรับรู้ได้ พบว่า สมัยก่อนมีความรักความสามัคคีกลมเกลียวกันมาก ช่วยเหลือลงแรงกันสร้างบ้าน เพราะกว่าจะได้บ้านแต่ละหลังนั้นยากลำบากสุดแสน ต้องเดินลุยป่าชายเลนที่ลึกถึงเอวไปชื้อหาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่อำเภอละแม(แต่ก่อนเป็นตำบลละแมขึ้นกับหลังสวน) เรือหรือเกวียนก็ไม่สามารถผ่านได้ การสัญจรมีทางเดียวคือเดินไปและกลับ ขากลับจึงทุลักทุเลด้วยสัมภาระที่จะนำมาสร้างบ้าน หากไม่มีความร่วมมือร่วมใจและการลงแรง บ้านแต่ละหลังก็ไม่สามารถสร้างเสร็จได้ นอกจากช่วยกันยกบ้านแล้ว สาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ถนนหนทาง ชาวบ้านที่นี่ก็ลงแรงกันเอง โดยใช้จอบ เสียม เครื่องไม้เครื่องมือที่หาได้ในหมู่บ้านร่วมกันสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ในขณะที่ถนนลาดยางโดยงบประมาณของหน่วยงานราชการเพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่เกินยี่สิบปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันชุมชนหนองบัว หมู่ที่ ๖ ต. สวนแตง อ. ละแม จ. ชุมพร มีจำนวนครัวเรือน ๑๒๐ ครัวเรือนและมีประชากร ๔๔๐ คน (ชาย ๒๒๓ คน หญิง ๒๑๗ คน) ประชากรจบการศึกษาเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๙๐ ประกอบอาชีพประมง ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพทำสวนปาล์มและสวนมะพร้าว ทำนาบ้างเล็กน้อย

หนองบัวโบสถ์
ประวัติศาสตร์ชุมชนหนองบัวยังไม่มีใครในชุมชนรู้ถึงความเป็นมาได้แน่ชัด หลายคนก็เชื่อว่าที่นี่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่มาก่อน ก่อนที่จะมีการอพยพของผู้คนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาอยู่ที่นี่ เพราะที่นี่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำที่ชาวบ้านใช้เรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน “หนองบัว” เพราะมีบัวขึ้นเต็มสระ ก่อนที่จะตื้นเขินและสูญพันธุ์ไปเพราะน้ำเค็มที่ชัดเข้ามาในสระ และตรงบริเวณหนองบัวยังมีเสา ๓ ต้น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเสาโบสถ์
ส่วนครอบครัวชาวประมงสองสามครอบครัวที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้ ก็ไม่รู้ความเป็นมาอย่างชัดเจนได้เช่นกัน เพียงได้ยินลำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ว่า
“….คนเก่าๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ที่นี่เคยมีวัด เคยมีโบสถ์ เวลาพระจะทำพิธีอะไรต้องมาทำที่นี้...”
“คนแถวๆ นี้ไม่มีใครรู้ ว่าหนองบัวมีโบสถ์ แต่คนที่หลังสวนเขารู้ว่าที่นี่มีโบสถ์ มีวัด”

และถึงแม้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวหนองบัวจะขาดช่วงหายไประยะหนึ่งบ้าง แต่คนที่มาอยู่ใหม่ก็ยังสำนึกถึงบุญคุณของพื้นที่ ได้พยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่ากลับคืนมา และด้วยคนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด จึงได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีลอยกระทงขึ้นที่หนองบัวในวันที่ ๑๒ เมษายนพร้อมปล่อยปลาทุกปี และจัดงานบุญสารทเดือนสิบให้เป็นประเพณีสำคัญของชุมชน

ปลูกจิตสำนึก....ให้รักษ์หวงแหนทรัพยากร
บ้านหนองบัวมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ปิด คือ ทะเลมีมีแนวกองหินใต้น้ำหลายแนว ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด เป็นการยากต่อการทำประมง บนฝั่งเองก็มีสภาพเป็นป่าพรุ ซึ่งยากต่อการเดินทางเข้า- ออกในชุมชน
แต่เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจพาณิชย์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ในทะเลก็ถูกรุกด้วยนายทุนอวนรุนอวนลาก เผาผลาญทำลายทรัพยากรทางทะเลจนแทบจะไม่เหลืออะไรให้ชาวบ้านได้อยู่ได้กิน ส่วนบนบกนายทุนก็กวาดกว่านซื้อที่ดินริมทรายหาดทำธุรกิจการท่องเที่ยว และชาวบ้านเองก็ตกอยู่ในบ่วงเงินตรา ออกหาปลาหาปูเพื่อขายและนำเงินมาชื้อบริโภคนิยมตามกระแสสังคม พยายามหาให้ได้มากๆ ใช้เครื่องมืออย่างไม่ปราณีสัตว์ทะเล แถมยังได้รับการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ จากกรมประมง เช่น ลอบปู ก็เหมือนกับเสือติดปีก พอช่วงเวลาผ่านไปไม่กี่สิบปี ทำให้ทุกวันนี้แทบจะหาอาหารหน้าอ่าวปากน้ำทำยาไส้ไม่พอ
เมื่อสภาพเศรษฐกิจบังคับให้วิถีชีวิตเปลี่ยนเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ความกลมเกลียวในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่สาธารณะที่เคยมีร่วมกันเริ่มเจือจางลง แต่ก็ไม่ได้จางหายไปเสียทีเดียว เพราะเมื่อเกิดเรื่องราวใดที่เป็นประเด็นกระทบต่อชุมชน ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันเช่น เรื่องการต่อสู้เพื่อชิงพื้นที่ในการทำกินในท้องทะเล เมื่อถูกเอาเปรียบจากเรือประมงพาณิชย์

ชาวชุมชนหนองบัวจึงได้รื้อฟื้นความเป็นมาของชุมชนภายใต้ “ชื่อบ้านนามเมือง” บ้านหนองบัวนั้นมีรากที่มาอย่างไร?? เพื่อหล่อหลอมให้คนในชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชุมชนหนองบัว เรียกขานตามสภาพพื้นที่เดิม ซึ่งเคยมีหนองน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัว อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ บางปีน้ำทะเลได้ไหลเข้าสู่หนองน้ำเพราะพายุกระหน่ำ ทำให้ดอกบัวทนน้ำเค็มไม่ได้ จึงสูญพันธุ์หมด สภาพหนองน้ำก็กลับตื้นเขิน และรกร้างไปในที่สุด พื้นที่บางส่วนของหนองบัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของนายทุนเอกชนเพราะเจ้าของที่เดิมขายไปในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ เมื่อเริ่มคิดฟื้นฟูในปี ๒๕๔๗ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการดับบ้านดับเมืองเป็นจำนวนเงิน ๔๖,๐๐๐ บาท ผู้นำและชาวบ้านได้เจรจากับนายทุนเพื่อขอฟื้นฟูหนองบัวให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนอีกครั้ง ซึ่งโครงการนี้ช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้มาก เพราะชาวบ้านเป็นคณะจัดการ ช่วยกันพัฒนา มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นของชาวบ้านเรื่องแผนการดำเนินการพัฒนาหนองบัวอย่างไร รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนความเป็นมาของชุมชน สร้างความรับรู้ร่วมกันในระดับชุมชน และลงมือทำการฟื้นฟูหนองบัวโดยการลงแรงร่วมกัน ใครที่ไม่ได้ช่วยออกแรงก็ทำอาหารมาเลี้ยงคนที่ลงแรง เป็นต้น
การร่วมมือกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและย้อนรอยประวัติศาสตร์บ้านเกิดของตนเอง ทำให้ชาวหนองบัวกลับไปสู่อดีตอีกครั้ง เมื่อครั้งคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เข้ามาบุกเบิกผืนแผ่นดินสร้างชุมชน ร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองจากสองมือ สองเท้า แต่สำหรับคนรุ่นนี้เป็นการร่วมมือร่วมใจกันสร้างความมั่นคงด้านต่างๆ ในกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม และด้านจิตใจ
ประมงพาณิชย์มา...ปลาหมด
“เมื่อก่อนคนบ้านหนองบัวจับปลา ปู กุ้งได้ทุกอย่าง แต่ทรัพยากรทยอยหมดไปที่ละอย่าง ปลาหมดก่อน ต่อมาก็กุ้ง ตอนนี้เหลือแต่ปู ชาวประมงจับปลาไม่ได้มากเหมือนที่ผ่านมา เรือมากขึ้น คนมากขึ้น เครื่องมือดีขึ้นเรื่อย ทรัพยากรก็ร่อยหรอลงไปมาก ช่วงก่อนปี ๒๕๓๐ ชาวบ้านจะรู้เลยว่าฤดูไหนกุ้งจะมา ชาวบ้านไปวางอวนดักกุ้งที่เดิมสี่ห้าวันก็ยังได้กุ้งมาเป็นร้อยกิโลทำให้มีรายได้เป็นล่ำเป็นสัน กุ้งมากขนาดมองไม่เห็นตาอวนเลยเวลาเราลากอวนขึ้นเรือ แต่พอเรือประมงพาณิชย์รู้ว่าชาวบ้านจับกุ้งได้มากในอ่าวนี้ ก็เริ่มมีเรือพาณิชย์เข้ามามากขึ้น (เรือยี่สิบเมตร อวนและคันรุนสี่สิบเมตร ใหญ่สุดยี่สิบห้าวา กวาดหน้าดิน ทำให้หน้าดินเสีย) ชาวบ้านเริ่มสังเกตว่ากุ้งหมดเพราะเรือพาณิชย์ เมื่อก่อนชาวประมงจะวางอวนกุ้งในที่เดิมๆ ประมาณสี่ห้าวัน และเรือประมงพื้นบ้านจะออกเรือตอนเช้าประมาณช่วงบ่ายสองโมงก็กลับ เรืออวนรุนพาณิชย์จะรอสังเกตการณ์อยู่ก่อนแล้ว พอเรือชาวบ้านกลับ เรืออวนรุนก็เริ่มลากอวนกวาดไปหมด ไปจนถึงเก้าโมงเช้าของอีกวัน พอชาวบ้านออกเรือช่วงหัวรุ่ง (ช่วงประมาณตีสองตีสาม) อีกครั้งก็ไม่สามารถหากุ้งได้ในปริมาณเหมือนเดิมแล้ว ระยะหลังก็เริ่มหมดและในที่สุดก็หยุดถาวร” ผู้ใหญ่บ้าน สุริยา นาคแก้วกล่าว

“...ของมันโตช้า ไม่ทันขาย เมื่อก่อนปูตัวแค่ๆ นี้โล ๒ บาทเองนะ เอาไปขายลาด(ตลาด)แทบจะไม่มีใครชื้อ แกะเนื้อขายโลละ ๑๐ บาท แต่ทุกวันนี้กิโลตั้ง ๒๐๐ มีเท่าไรไม่พอ หมดเร็วเกิน”
“เมื่อก่อนในคลองข้างศาลาประจำหมู่บ้านนี่ เวลาน้ำขึ้น ฝนตกปลาดุกทะเลดำเต็มหมด เหมือนลูกกบลูกเขียดลอยเต็มผืนน้ำเลย...ผ่านไปไม่ ๓๐ ปี แทบไม่เหลือให้เห็น”
“ทุกวันนี้มันมีเครื่องมือเอาเปรียบเกินมีดาวเทียม จอเรดาร์ เหมือนจอทีวีมันเห็นหมด แล้วมันจะเหลืออะไร”
“เมื่อก่อนปลาไก่ที่เป็นปลาเล็กๆ เอาทำอาหารสัตว์...เรืออวนรุนอวนลากมันลากทำลายหมด ขุดลงไปในผิวดินจนถึงข้างบน...แล้วมันก็กวาดไปหมด...ทุกวันนี้ใครได้กิน...ไม่เหลือ”
“พอถึงหน้าฝนเรือรุนมันจะมา ปล่อยปูไปมันก็เอาไปหมด”
“คืนหนึ่งมันได้ไปเป็นแสน...มันเสียกี่บาทกัน...ปีหนึ่งแค่ ๒๐๐ บาท”
นานาเสียงสะท้อนจากชาวประมงบ้านหนองบัว ที่ร่วมเล่าสู่กันฟัง เมื่อคราวลงพื้นที่เก็บข้อมูล

หลังจากที่ทรัพยากรในท้องทะเลเริ่มเข้าขั้นวิกฤต ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มจับปลาได้จำนวนน้อยลงแทบจะทำมาหากินไม่ได้ พวกเขาก็เริ่มคิดหาวิธีการปกป้องอาชีพประมงพื้นบ้านของตนเอง ในยุคแรก เมื่อปี ๒๕๔๕- ๒๕๔๖ ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยตนเองอย่างมาก และเริ่มปะทะกับเรือประมงพาณิชย์ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน
“ในหมู่พวกเรามีการประชุมกัน วางกฎเกณฑ์ให้มีการเฝ้าระวัง ใครเห็นเรือรุนพาณิชย์มาก็ออกไปไล่ หรือไม่ก็แจ้งจับ บางครั้งก็มีเรื่องต่อยตีกันบ้าง ช่วงนั้นเรือรุนพาณิชย์ก็เริ่มเกรงๆ ชาวบ้านอยู่ เพราะช่วงนั้นชาวบ้านเข้มแข็ง รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น แต่บางทีก็รอดหูรอดตา เพราะเขาใช้วิธีดับไฟแล้วก็เข้ามาลากปลา ชาวบ้านไม่เห็น ก็ไม่สามารถทำอะไรเขาได้” นายสมมาตร เอียดแก้ว สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนแตงกล่าว
“บางทีแจ้งจับ จับไปแล้วเสียค่าปรับไม่กี่พันบาทก็ออกมาหากินได้เหมือนเดิม เรือก็ไม่ถูกยึดเพราะทำเป็นเรือเช่า เจ้าของเรือไม่ยอมรับว่าเป็นเรือตัวเองก็ไม่ผิด บางทีก็จับไม่ได้คาหนังคาเขา เพราะเอาของกลางทิ้งหมด”

การต่อสู้กับเรือประมงพาณิชย์เหมือนเอาไม้ซีกงัดไม้ซุง ผู้นำบางคนถูกคุกคาม ชาวบ้านเหนื่อยล้า เพราะวิกฤตความขัดแย้งดังกล่าว เครื่องมือหากินของชาวบ้านมักจะถูกเรือประมงพาณิชย์กวาดติดเครื่องมือของเขาไปด้วย ชาวบ้านสูญเสียทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ มีปัญหาเรื่องหนี้สินเพิ่มขึ้น จากที่เคยปลดหนี้ได้ภายในหนึ่งปี ในปัจจุบันต้องใช้เวลามากกว่าสองหรือสามปี ประกอบกับทรัพยากรในท้องทะเลไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

“เรือรุนพาณิชย์เวลาเขาออกเรือแต่ละครั้ง เขาก็ต้องได้คุ้มทุน ปลาเล็กปลาน้อย ปูเล็กปูน้อยเขาเก็บหมด เพราะมีตลาดรองรับทุกประเภท ตัวเล็กก็เอาไปทำปลาป่น ทำอาหารสัตว์ แต่ชาวบ้านเวลานี้ต้องเก็บตัวเล็กตัวน้อยบ้างไม่ใช่เพราะอยากจะทำ แต่เพราะมันไม่มีอะไรเหลือ แต่เราก็ต้องทำเพื่อมาประทังชีวิต เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ชาวประมงพื้นบ้านมีอาชีพเดียว ไม่มีทุนไปลงในธุรกิจอื่น” นายสุริยา นาคแก้ว ผู้ใหญ่บ้านพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

นโยบายการประมงพาณิชย์ ก่อให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลจากเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยมีประมงพื้นบ้านเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และเรือประมงขนาดใหญ่ทำลายทรัพยากรทะเลเสียหายเป็นอย่างมาก ชาวบ้านเล่าว่า แม้ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนเครื่องมือทำกินที่สามารถจับสัตว์น้ำได้มาก แต่ไม่เคยใช้อวนตาถี่เหมือนอย่างเรือประมงขนาดใหญ่ที่เน้นการจับปลาให้คุ้มค่าและคุ้มทุน ชาวบ้านใช้คำว่าเอาเปรียบปลาและเอาเปรียบทะเล นอกจากนี้เรือขนาดใหญ่ยังใช้เครื่องมือทันสมัยในการตรวจสอบทรัพยากรทางทะเล อย่างเช่น เรดาร์ ดาวเทียม ที่ทำให้รู้ตำแหน่งแห่งที่ของปลา หิน ฯลฯ มีความแม่นยำในการจับสัตว์น้ำทุกชนิด ก่อนปี ๒๕๓๐ ปากอ่าวแถวหนองบัว ปากน้ำละแม คอเขา-กลางอ่าว เต็มไปด้วยเรือประมงพาณิชย์ที่เข้ามาจับสัตว์น้ำ ในช่วงนั้นชาวบ้านไม่ได้มองว่า เรือเหล่านี้มีส่วนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ ซึ่งพวกเขาบอกว่า ตอนนั้นต่างคนต่างก็ทำมาหากิน ทรัพยากรยังพอมี เราก็ไม่ว่ากัน แต่ในเวลาต่อมาชาวบ้านก็เริ่มรู้ว่า เพราะเรือประมงพาณิชย์ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดน้อยลง

บทเรียนรักษาทะเล...กลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองบัว
ชาวชุมชนหนองบัวมีบทเรียนและผ่านภาวะวิกฤตร่วมกันมาโดยเฉพาะเรื่องการรักษาอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำให้พวกเขาตระหนักว่า การร่วมมือร่วมใจกันจะทำให้ชุมชนอยู่รอดได้ โดยธรรมชาติของชาวบ้านหนองบัวไม่มีความไว้วางใจต่อบุคคลภายนอก หากจะกล่าวว่า ลักษณะนี้เป็นจุดแข็งของชุมชนก็สามารถกล่าวได้ เพราะไม่ใช่ง่ายเลยทีเดียวที่องค์กรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นที่ไว้วางใจแก่ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่ยอมให้บุคคลภายนอกมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของคนในชุมชน ต้องมีการตรวจสอบเสียก่อนว่า กลุ่มนั้นๆ มีความจริงใจต่อการพัฒนาชุมชนจริงหรือไม่ หากองค์กรใดต้องการแค่เข้ามาหาผลงานหรือประโยชน์ส่วนตัว มักจะได้รับการปฏิเสธจากผู้นำและชาวบ้าน เช่น ไม่รับเงินช่วยเหลือหรือไม่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มองค์กร เป็นต้น หากเจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้นๆ ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านแล้วก็สามารถเข้านอกออกในหมู่บ้านได้ แต่กิจกรรมต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน

“กิจ เข้ามาใหม่ๆ ถูกผมซักจนหมดเปลือกแหละ เวียนกันอยู่เกือบเดือนจนกว่าจะคุยกันรู้เรื่อง ทุกหน่วยงานเขาเข้ามาอย่างมีเป้าแหละ เป้าแข็งนั้นแหละทำให้เป็นปัญหา มันไม่ตรงกับบริบทวิถีวัฒนธรรมชาวบ้าน แต่กับกิจคุยกันจนเข้าใจ เขาตั้งใจเกิน มากินมานอนอยู่ที่นี่จนชาวบ้านรู้จักหมด ทุกเรื่องเขาแหละเป็นคนนำมา”
ผู้ใหญ่บ้านบอกเล่าถึงคุณชาญกิจ แสงเสน ผู้ช่วยชุมชนโครงการดับบ้านดับเมืองของเครือข่ายการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาฝังตัวในชุมชนตั้งแต่เริ่มโครงการปี พ.ศ.๒๕๔๖ กว่าที่จะสามารถเข้ามาทำงานในชุมชนนี้ได้ต้องฝ่าด่านเกราะเหล็กป้องกันตัวเองของคนในชุมชนอยู่มาก
เพราะในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แหลมคมอย่างยิ่ง ชาวบ้านถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวต่อสู้ด้วยตนเองมายาวนาน แถมรัฐยังให้ท้ายฝ่ายตรงข้าม ปิดหูปิดตา แลกกับผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ คอยดูการล้มหายตายจากของชาวบ้านลงทีละคนสองคน เขาจำเป็นต้องแข็ง ถ้าไม่แข็งอยู่ไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นการประเชิญหน้าที่ยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งที่รู้ว่าต้องแพ้แต่ชาวบ้านก็ต้องสู้ เพื่อเอาชีวิตให้รอด เขายอมแพ้ต่อภัยธรรมชาติมาครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะไม่ยอมแพ้ต่อมนุษย์ที่มารังแกกันเอง ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองบัว
กลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองบัว เกิดจากในช่วงที่หน่วยงานประมงเข้ามาเพื่อพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์การทำประมง คือ พัฒนาลอบดักปูให้แก่ชาวชุมชนนั้น ได้มีการกระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ด้วย ซึ่งชาวบ้านก็ได้มีการออมเงินมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนจำนวนสามแสนบาทเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อไปลงทุน ชื่อกลุ่มกองทุนประมงชายฝั่งพื้นบ้าน กลุ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อซื้ออุปกรณ์การทำประมง มีจำนวนสมาชิกห้าสิบคน

“ครอบครัวหนึ่งเป็นสมาชิกได้ทั้งสามีและภรรยา เพราะทางคณะกรรมการจำกัดวงเงินกู้คนละเจ็ดพันบาท แต่จำนวนดังกล่าวมักจะไม่พอต่อการลงทุนในแต่ละครั้ง จึงเปิดโอกาสให้อีกคนกู้เมื่อรวมกันแล้วเป็นเงินหมื่นกว่าบาท ก็สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันขึ้น เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านมักจะปลดหนี้ได้ภายในหนึ่งปี แต่ปัจจุบันบางทีก็มีหนี้สูญหรือส่งช้า ระยะเวลาการปลดหนี้ยืดออกจากหนึ่งปีเป็นสองปีสามปี ตรงนั้นก็จะมีดอกเบี้ยร้อยละสองบาท เป็นค่าปรับที่ส่งช้า แต่โดยส่วนมากในหมู่พวกเราก็จะเข้าใจกัน เพราะทรัพยากรน้อยลง ทำมาหากินยากขึ้นกว่าแต่ก่อน” นางอนงค์นาถ นาคแก้ว สมาชิกกลุ่ม ซึ่งเป็นอดีตประธานกลุ่มฯ กล่าว

เป้าหมายของกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้านในขณะนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์แต่อย่างใด แต่เป็นการออมเพื่อนำทุนมาให้ชาวบ้านได้กู้ยืมหมุนเวียนในการลงทุนซื้ออุปกรณ์การประมงเพื่อป้อนตลาดเท่านั้น ก่อนที่จะปรับตัวมาเป็นกลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองตัว หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี ๒๕๔๖

สร้างเครือข่ายหาแนวร่วม...กับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน
ชุมชนหนองบัวเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ชุมพร (ตอนล่าง) เมื่อปี ๒๕๔๗ หลังจากที่ใช้วิธีการการเผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์อย่างโลดโผนเมื่อปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ การได้เข้าสู่สมาชิกเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ชุมพร มีผลดีต่อชุมชนในด้านการเชื่อมปัญหากับชุมชนอื่นๆ คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล เพราะเป็นสายเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกชุมชนรอบอ่าวแห่งนี้ ชาวบ้านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีโอกาสได้เรียนรู้การจัดการด้านอนุรักษ์จากสมาชิกในเครือข่ายสมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน และร่วมมือกับกิจกรรมของชุมชนอื่นๆ ก่อให้เกิดความสามัคคีและความเข้าใจกันมากขึ้น รวมทั้งได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำรวจทรัพยากรทางทะเล ในการดำเนินโครงการวางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในทะเล หลังจากนั้นก็ดำเนินโครงการปล่อยปูไข่ เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มปริมาณปูในท้องทะเล

จับปูไข่ใส่กระชัง
ชาวบ้านหนองบัวเองได้บทเรียนจากการทำในโครงการปล่อยปูไข่เมื่อปี ๒๕๔๗ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตจังหวัดชุมพร โดยการประสานของผู้ช่วยชุมชนในการหาวิธีการต่อสู้อย่างสันติและดิ้นรนพาชีวิตให้รอดของชาวหนองบัว เพื่อเพิ่มทรัพยากรปูในท้องทะเล หลังจากปล่อยปูไข่นอกกระดองใส่ในกระชังกลางขิงชุมชนที่ร่วมกันสร้างมา ๖ ลูก จากงบการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยถ้าใครออกเลแล้วได้ปูไข่นอกกระดองให้มาใส่ไว้ในกระชัง ปริมาณปูจึงเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดแพปูคึกคักอีกครั้ง แต่พอเข้าหน้าฝนปี ๒๕๔๘ กระชังถูกคลื่นชัดพังหมด แล้วชาวบ้านไม่ได้สร้างใหม่ และเครื่องมือลอบดักปูที่ติดทั้งปูตัวเล็ก ปูไม่ได้ขนาด ประกอบกับตลาดมีความต้องการสูง ชาวบ้านจึงไม่ได้ระมัดระวังในการคัดเลือกปู เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ ปูทุกขนาดนำสู่ท้องตลาดตลอดเวลา จนกระทั่ง ๒๕๔๙ ชาวบ้านก็พบว่า ปูเหลือไม่มากพอให้ดักลอบอีกแล้ว

“ปีนี้เป็นปีที่แย่มากสำหรับชาวบ้าน มีสองสามรายที่หยุดประมงไปรับจ้างขายแรงงานแล้ว ชาวประมงที่เหลือก็ต้องออกไปหากินไกลจากบ้านตัวเอง”

แต่ในทางกลับกัน กรณีที่ปูขาดแคลนอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเมื่อสองปีที่แล้ว ทำให้พวกเขาหันกลับมาทบทวนตัวเอง และเริ่มพูดคุยกันในแวดวงน้ำชาแล้วว่า ต้องหันมาอนุรักษ์และวางกฎเกณฑ์ร่วมกันในการหาจับสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ เริ่มต้นจากการจะเลิกใช้ลอบและหันมาใช้อวนจับปูเหมือนเดิม เพราะจะมีแต่ปูขนาดใหญ่เท่านั้นที่ติดอวนมา จากเรือประมงจำนวนแปดสิบลำในหมู่บ้านหากไม่คิดอนุรักษ์แล้ว พวกเขาอาจจะต้องออกไปขายแรงงานในต่างถิ่นแน่นอน

เริ่มด้วยนากุ้งชีวภาพแล้วขยายสู่ไบโอดีเซล

ที่ห้วยไทร เมืองนคร

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร


“กระบวนการกลุ่มเลี้ยงกุ้งชีวภาพ ได้พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพการเรียนรู้ของชุมชน ที่ตั้งสติคิดได้และค้นหาแนวทางแก้ปัญหา ตลอดจนเชื่อมประสานกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน....อันจะสามารถสร้างความยั่งยืนของชุมชนได้”

แกะรอยบ้านห้วยไทร
ชุมชนบ้านห้วยไทร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยตระกูลขุนดำ ยลธรรม์ธรรม และผลาวรรณ์ ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ป่ารกร้าง ทำการหักล้างถางป่าเพื่อปลูกมะพร้าว ทำนาข้าว และปลูกพืชผักต่างๆ เลี้ยงชีพ โดยภาพรวมของพื้นที่ชุมชนห้วยไทรเป็นดินทรายร้อยละ ๔๐ ดินร่วนร้อยละ ๑๐ และดินเหนียวป่าชายเลนร้อยละ ๕๐

ดินดี น้ำสมบูรณ์ คนก็สุข
ในอดีตที่ตั้งของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก ข้าว ปลา อาหารต่างๆ อุดมสมบูรณ์จึงทำให้สมาชิกของชุมชนมีความเป็นอยู่กันอย่างสุขสบาย มีอาชีพหลากหลายให้เลือกทำ แล้วแต่ใครจะมีความพอใจที่จะทำอาชีพอะไร ซึ่งบ้างก็ทำสวน บ้างก็ทำนา บ้างก็หากุ้ง หอย ปู ปลา ในแม่น้ำลำคลอง สุดแล้วแต่ว่าใครจะถนัด สะดวก หรือชอบ ที่จะทำอาชีพอะไร
แต่เดิมนั้นจะหนักไปทางอาชีพการทำสวนมะพร้าวเพราะปลูกได้ง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามากนัก การทำนาข้าวทำเพียงไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนการหากุ้ง หอย ปู ปลา ในแม่น้ำลำคลองนั้น จะหามาเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลือกินก็นำไปขายในชุมชนบ้างตามความสามารถของแต่ละคน เพราะในช่วงนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก การที่จะนำของไปขายนอกชุมชนนั้นทำได้ยาก ขายกันเองในชุมชนก็ขายได้ไม่มากนัก เพราะต่างคนต่างก็สามารถหามาเลี้ยงครอบครัวของตนเองได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาเรื่องการครองชีพและอาหารของคนในชุมชน เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในอดีตที่ธรรมชาติสรรสร้างมา จนมีคำกล่าวติดปากต่อ ๆ กันมาว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" เป็นสวรรค์ของแผ่นดินสยามประเทศที่บรรพบุรุษเราได้รักษาไว้ให้ลูกหลาน

จากปลูกพืช...หันไปสู่การเลี้ยงกุ้ง
กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ กระแสเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มแผ่ขยายแทรกซึมเข้ามาในชุมชนห้วยไทร สมาชิกของชุมชนกลุ่มหนึ่ง เห็นว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีจำนวนมากในแม่น้ำลำคลอง ถ้านำมาเลี้ยงหรือขังไว้ในบ่อให้มีจำนวนมากๆ และให้เจริญเติบโตขึ้นกว่าเดิม คงจะสามารถนำมาขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และคงจะดีกว่าการที่ต้องเสียเวลาไปหาจับจากแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ สมาชิกกลุ่มนี้จึงได้คิดริเริ่ม ขุดพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชน เป็นด้านที่ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย เพื่อทำเป็น “นากุ้ง” ที่เลี้ยงกันตามแบบธรรมชาติ
ราวปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ก็ได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนให้กับทหารผ่านศึก โดยการจับสลากแบ่งกันเป็นแปลงๆ แปลงละ ๔๐ ไร่ ประมาณ ๓๐ แปลง เมื่อมีคนข้างนอกเข้ามาทำกินได้ คนเดิมในชุมชนก็เอาบ้าง โดยการเข้ามาจับจองทำในพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการจัดสรรให้ทหารผ่านศึก ขุดทำนากุ้งกันเป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ช่วงนี้ธุรกิจนากุ้งเริ่มรุ่งเรืองเฟื่องฟูเริ่มมีนายทุนเข้ามาเปิดแพกุ้งในตัวเมือง มีรถแบคโฮเข้ามาใช้ในการขุดคู ขุดคันนาแทนแรงงานคน มีการปล่อยเงินกู้จากนายทุนให้เอามาลงทุนในการทำนากุ้งก่อน จากการที่มีแพหรือตลาดรอบรับการซื้อกุ้งนี้เอง จึงเริ่มมีการเลี้ยงกุ้งแบบบ่อพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยระบบการเลี้ยงที่ทันสมัยมากขึ้น มีการปล่อยลูกกุ้งจากการเพาะเลี้ยง ใช้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น มีการใช้เครื่องตีน้ำให้ออกซิเจน มีการให้อาหารกุ้ง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งสูงมาก เพียงแค่เกิดความเสียหายกับกุ้งในบ่อแค่ครั้งสองครั้งก็มากพอที่จะทำให้ติดหนี้สินล้นพ้นตัวจนล้มละลายได้
ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งรุ่งเรืองมากที่สุดในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นบ่อธรรมชาติ หรือบ่อพัฒนาล้วนแล้วแต่สามารถทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ถึงแม้จะมีนายทุนรายใหญ่มาขอซื้อที่ดินโดยเสนอราคาให้แพงลิบลิ่ว ก็ไม่มีผู้ที่อยากจะขาย เพราะคิดว่าอาชีพนี้คืออาชีพที่สามารถทำเงินทองได้มากที่สุดของยุคนี้ ทุกคนจึงมีความคิดว่าทำอย่างไรที่จะสามารถให้ได้เงินจากอาชีพเลี้ยงกุ้งมากที่สุด

เห็นราคากุ้งแพง...ตาลุก อยากได้เงินมากๆ จึงนำสารเคมีมาใช้
ราคากุ้งเป็นแรงจูงใจให้หลายคนที่ทำนากุ้ง หันมาใช้สารเคมีเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงกุ้ง เพราะหาซื้อได้ง่าย การนำไปใช้สะดวกสบาย สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในปริมาณที่มากกว่าเก่าหลายเท่าตัว ใช้สารเคมีในการเบื่อปลา สารเคมีในการปรับสภาพน้ำ สารเคมีในการเร่งการเจริญเติบโต สารเคมีในการรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับกุ้งที่เลี้ยง
ซึ่งการใช้สารเคมีต่างๆ เหล่านี้ เป็นไปตามคำโฆษณาว่าดีสารพัดนึกของนักธุรกิจสารเคมี โดยไม่ได้คิดถึงผลเสียที่จะย้อนกลับมาเป็นอย่างไร กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่จะฟื้นฟูได้ทัน ประกอบกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน จากชุมชน และจากเรือประมงลงสู่คลองท่าแพ
ทุกคนที่ประกอบอาชีพนี้ต่างไม่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ความมักง่ายความเห็นแก่ตัวและความอยากได้ ทำให้สภาพความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเสื่อมถอยลง เป็นเหตุปัจจัยสำคัญให้ น้ำ ดิน ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงกุ้งเหมือนดังแต่ก่อน การทำนากุ้งแบบพัฒนาจึงเริ่มขาดทุนกันทีละรายสองราย จนเลิกเลี้ยง บ้างก็ขาย บ้างก็ให้เช่า บ้างก็ทิ้งร้างไว้เฉยๆ คนที่ไม่เคยทำก็อยากที่จะมาลองทำดู แต่ก็ต้องพบกับการขาดทุนและในที่สุดก็ถึงจุดจบของบ่อพัฒนา
แต่สำหรับการเลี้ยงแบบธรรมชาติก็ยังคงทำกันไปเรื่อยๆ โดยมีการแก้ปัญหาและปรับตัวกันอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง โดโลไมล์บ้าง ปูนขาวบ้าง ตามแต่ใครจะบอกว่าอะไรดี ก็ลองใช้ตาม ๆ กันทั้งนั้น แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ซ้ำยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

หาหนทางแก้ทุกข์...จึงเดินเข้าหาแนวทางชีวภาพ

“สื่อวิทยุ สร้างโอกาสการเรียนรู้ใหม่”
“หลายวิธีหลายแนวทางถูกนำมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาเหมือนกับหมาจนตรอก”
โชคดี สุวรรณมณีย์ สมาชิกของชุมชนซึ่งมีอาชีพเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติสะท้อนความรู้สึกสุดทน หลังจากที่ได้รับความรู้จากการฟังรายการวิทยุ “สนทนาภาษากุ้ง” ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และรายการ “โฟกัสเมืองคอน” โดยมีพระอาจารย์สุวรรณ เจ้าอาวาสวัดป่ายางโทรศัพท์เข้ามาในรายการแนะนำให้ลองทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในการแก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้ง ด้วยความที่อยากเห็นแนวทางที่ยั่งยืนในการเลี้ยงกุ้ง โดยไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร คิดเพียงว่าวันนี้เรากำลังเจ็บไข้ยาอะไรที่เขาบอกว่ากินแล้วน่าจะหายก็น่าจะกิน “กินยาเพื่อรอวันหายไข้ ดีกว่านอนรอวันตายโดยไม่ได้กินยา” ถ้าดีก็คงอยู่ได้ถ้าไม่ดีก็ไม่ได้เสียหายอะไรในเมื่ออาการหนักขนาดนี้แล้วก็สมควรที่จะทดลองทำใช้ดู จึงตัดสินใจไปพบกับพระอาจารย์สุวรรณ เพื่อขอสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพ และขอกากน้ำตาลมาด้วย เพื่อทำน้ำหมักชีวภาพสูตรแรกไว้ใช้ กากน้ำตาล ๑๐ ก.ก. : สับปะรด ๓๐ ก.ก.
โดยนำสับปะรดมาสับให้ละเอียด ผสมกับกากน้ำตาลใส่ลงในภาชนะที่มีฝาปิด ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ประมาณ ๓๐ วัน ให้สังเกต ถ้ามีฝ้าขาวขึ้นบนหน้าน้ำหมักก็สามารถนำมาใช้ได้เลย น้ำหมักที่ดีจะต้องมีกลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยว ถ้ามีกลิ่นเหม็นถือว่าใช้ไม่ได้
ในการใช้น้ำหมักชีวภาพกับนากุ้ง จะใช้ในอัตราส่วน น้ำหมักชีวภาพ ๑ ลิตร : พื้นที่ ๑ ไร่ ใส่ผสมลงไปกับน้ำช่วงที่ดันน้ำเข้าแปลงนา ทดลองใช้ได้ประมาณ ๑ ปี โดยระยะเวลาการใช้ไม่แน่นอนนักแล้วแต่ความสะดวก คือ ถ้าเปิดกุ้งครั้งก็ใส่น้ำหมักครั้งหนึ่งในช่วงที่ดันน้ำใหม่เข้าแปลงนา เห็นผลดี มากกว่าผลเสีย คือ
• ดินดีไม่มีกลิ่นเหม็นหน้าดินมีขี้เลนมากขึ้น
• น้ำสีสวย คือ ไม่มีลักษณะเป็นเมือก สีไม่เขียว จนผิดปกติธรรมชาติ
• ปลาตัวอ้วนขึ้น รสชาติดี
• กุ้งรอดมากขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่ใช้น้ำหมัก
• หอยเจดีย์ ซึ่งเป็นสัตว์กินหน้าดินเริ่มน้อยลง
จึงได้แนะนำให้สมาชิกที่ทำนากุ้งด้วยกันลองใช้ดูบ้างบางคนที่เชื่อก็ลองทำดู บางคนที่ไม่เชื่อก็ไม่ทำ แถมยังหาว่าทำอะไรบ้าๆ เสียอีก แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเขายังคิดทำแบบคนบ้าต่อไป

ก่อเกิดการรวมกลุ่มคนเลี้ยงกุ้ง
จากการทำคนเดียวก็เริ่มมีผู้ร่วมทำร่วมคิดเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะปรึกษาหารือกัน ในช่วงเวลาที่เสร็จจากงานได้นั่งคุยกันถึงข้อดีข้อเสีย และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในที่สุดก็ได้บทสรุปว่าน่าจะตั้งกลุ่มของชุมชนขึ้นมาสักหนึ่งกลุ่ม เพื่อที่จะได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน และเพื่อที่จะได้ขอสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ หรือจากองค์กรต่างๆ ให้กับชุมชนบ้าง สมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนเห็นดีด้วย
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเกิดกลุ่ม “ออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์” ขึ้นที่ชุมชนบ้านห้วยไทร โดยมีสมาชิกอยู่ในพื้นที่ หมู่ ๓ , ๔ , ๘ และหมู่ ๑๒ ของตำบลปากพูน ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ที่ทำอาชีพเลี้ยงกุ้งทั้งหมด กลุ่มดำเนินการไปได้ประมาณ ๑ ปี ก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากมายนัก จะมีอยู่เป็นหลักก็เพียงการออมทรัพย์ และการพูดคุยปรึกษากันเรื่องการเลี้ยงกุ้งบ้างเป็นครั้งคราว ตามความสะดวกและความเหมาะสม ส่วนผู้ที่ศรัทธาในเรื่องน้ำหมักชีวภาพก็ทำชีวภาพใช้กันไป ผู้ที่ไม่ใช้ก็คิดว่าขอดูคนอื่นใช้ไปก่อน ซึ่งตอนนั้นมีผู้ทำใช้กันอยู่ ๓ ราย คือ คุณโชคดี สุวรรณมณีย์ คุณรัญญา แพรกเมือง คุณจรวย แพรกเมือง ทำกันแบบลองผิดลองถูกใช้ไปเรียนรู้ไป ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อยๆ แล้วนำกลับมาดูพูดคุยปรึกษาหารือกันหลังจากเสร็จภาระกิจการงานประจำวัน

ก้าวเข้าร่วมกับเครือข่ายเกษตรชีวภาพ
กระทั่งวันหนึ่งขณะที่คุณโชคดี สุวรรณมณีย์ ซึ่งเป็นเลขากลุ่มไปซื้อกากน้ำตาลที่วัดป่ายาง ซึ่งตรงกับวันที่เครือข่ายเกษตรชีวภาพ ภายใต้โครงการดับบ้านดับเมืองประชุมเพื่อเตรียมโครงการในปีที่ ๒ จึงได้พบกับคุณช่วน ยอดวิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยชุมชนของเครือข่ายนี้ และได้เข้ามาสนทนาทำความรู้จักกับชุมชนบ้านห้วยไทร
เมื่อคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ได้มีการประชุมกันภายใน และอยากจะให้กลุ่มออมทรัพย์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรชีวภาพ และประธานกลุ่มและสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงทำให้แกนนำที่ใช้ชีวภาพอยู่แล้วต้องจัดกระบวนการใหม่ โดยรวบรวมเฉพาะผู้ที่สนใจที่จะใช้ชีวภาพทั้งส่วนที่ปลูกพืชและส่วนที่เลี้ยงกุ้งโดยให้ คุณสุวิทย์ เครือเสนา เป็นแกนนำกิจกรรมด้านพืช คุณโชคดี สุวรรณมณีย์ เป็นแกนนำกิจกรรมด้านการเลี้ยงกุ้ง
ต่อมาชุมชนได้มีโอกาสร่วมประชุม “การอบรมชีวภาพขั้นพื้นฐานควบคู่กับเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ที่วัดป่ายาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีฯ สมาชิกของชุมชนได้รับความกรุณาจากวิทยากร คือ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร อบรมพิเศษเกี่ยวกับการทำนากุ้งชีวภาพให้ ๒ ชม. หลังจากการอบรม สมาชิกของชุมชนก็ได้นำความรู้ที่ได้มาใช้กับการเลี้ยงกุ้ง และก็เป็นผลดีขึ้น แต่ก็ยังหาผลสรุปที่เป็นองค์ความรู้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอนไม่ได้ว่า ชีวภาพนั้นมีผลต่อการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะการกระทำนั้นทำกันแบบต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือระบบใดๆ ที่จะใช้มาตรฐานในการเปรียบเทียบหรือวัดผลดี ผลเสีย หรือเปรียบเทียบการใช้ชีวภาพในปริมาณที่แตกต่างกัน ไม่สามารถนำองค์ความรู้ที่เกิดไปบอกเล่าให้คนอื่นเข้าใจได้ ต่อมา เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์บ้านห้วยไทร ได้จัดเวทีเกษตรชีวภาพขึ้นที่ชุมชนห้วยไทร จากการสนับสนุนงบประมาณของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ได้รับการประสานงานจากนายช่วน ยอดวิจารณ์ คณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพ ได้รับเกียรติจากพระอาจารย์สุวรรณ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดป่ายาง จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรยายเกี่ยวกับการสร้างกลุ่มให้เข้มแข็งและยั่งยืน ต่อจากนั้นนายอนุภัทร จันตราชู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเอง นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปาพูน ได้มาพูดถึงบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลกับการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มจึงคิดกันว่า น่าจะทำการศึกษารวบรวมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ เกี่ยวกับการใช้ชีวภาพในการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติของชุมชนให้แน่นอนเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ทำกันในทุกวันนี้ ทางกลุ่มจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคณะทำงานเครือข่ายเกษตรชีวภาพ และสำนักงานโครงการดับบ้านดับเมือง ทางสำนักงานเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงให้ทางกลุ่มทำโครงการเสนอมา เพื่อให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาโครงการตามขั้นตอน โครงการได้รับการพิจารณาและอนุมัติให้การสนับสนุน
กลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์ชุมชนบ้านห้วยไทรจึงได้ทำการศึกษาตามโครงการ วิจัยการศึกษาปัจจัยในการเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยแบบธรรมชาติในแนวทางในแนวทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังว่างานวิจัยจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน โดยเน้นการนิยามความสุขของตนเอง ความสุขของชุมชน ซึ่งนิยามง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านว่า อยู่ดี กินดี และบ้านห้วยไทรมีบริบทของชุมชนเกษตรกรรมที่ดำรงชีพแอบอิงพึ่งพิงระบบธรรมชาติ ด้วยอาชีพการเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติ ได้ทำการค้นหานิยามความสุขแบบ อยู่ดี กินดี ด้วยมุมมองของชาวบ้านที่สัมผัสอยู่จริงในชีวิต ดูด้วยสายตาที่เป็นจริง ดูทั้งเรื่องปากท้อง และการเป็นอยู่ในสังคม ตลอดจนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้น ผ่านมิติมุมมองทั้งในเชิงมูลค่าและคุณค่า


ทำวิจัยนากุ้งชีวภาพ…เพื่อความอยู่รอด
โครงการวิจัยการศึกษาปัจจัยในการเลี้ยงกุ้งแชบ๊วยแบบธรรมชาติในแนวทางในแนวทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินการโดยกลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมงานวิจัยในครั้งนี้
เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมโดยมีชุมชนเป็นนักวิจัยเอง ทำการศึกษาการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติในวิถีปกติที่ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่งานวิจัยนี้ออกแบบการเก็บข้อมูลและการควบคุมปัจจัยบางอย่างเท่านั้น โดยควบคุมไม่มีการให้อาหาร ไม่ใช้เครื่องตีน้ำ และไม่ใช้สารเคมี
ทีมวิจัยที่เป็นเจ้าของบ่อกุ้งทดลองนอกจากทำการทดลองเองแล้วยังร่วมสนับสนุนงบประมาณสำหรับวิจัยด้วย ซึ่งโครงการวิจัยเพียงสนับสนุนค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ส่วนค่าใช้จ่ายปุ๋ยชีวภาพและค่าน้ำมันสำหรับสูบน้ำเข้านากุ้งออกคนละครึ่งกับเจ้าของบ่อกุ้ง และผลผลิตที่ได้ยกให้ทีมวิจัยจัดการเอง

การออกแบบวิจัย
การออกแบบวิจัยโดยการปล่อยกุ้งแชบ๊วยขนาด พี ๑๕ ในอัตราส่วน ๕,๐๐๐ ตัวต่อพื้นที่ ๑ ไร่ โดยบ่อส่วนใหญ่มีขนาด ๔๐ – ๘๐ ไร่ ได้แบ่งการวิจัยออกเป็น ๓ ชุดการทดลอง คือ ชุดการทดลองที่ ๑ บ่อที่ใช้ชีวภาพมาก่อนแล้ว ๓ ปี ชุดการทดลองที่ ๒ บ่อที่ใช้ชีวภาพมาก่อนแล้ว ๑ -๒ ปี และชุดการทดลองที่ ๓ บ่อที่ไม่เคยใช้ชีวภาพมาก่อนเลย
และได้ทำบ่อควบคุม ๑ บ่อ ที่ไม่มีการใช้ชีวภาพเพื่อเปรียบเทียบกับแต่ละชุดการทดลองที่มีการใช้ชีวภาพในระดับแตกต่างกัน ๓ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ ใช้ในอัตราส่วน ๑๕๐ กก. : ๓ ลิตร : ๔๐ ไร่ (ชีวภาพเม็ด ต่อ ชีวภาพน้ำ ต่อ ไร่) ระดับที่ ๒ ใช้ในอัตราส่วน ๒๐๐ กก. : ๔ ลิตร : ๔๐ ไร่ และระดับที่ ๓ ใช้ในอัตราส่วน ๒๕๐ กก. : ๕ ลิตร : ๔๐ ไร่ ทำการเก็บข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ต้นทุน และผลผลิตที่ได้รับ การสูบน้ำเข้า pH ของน้ำ ความเค็ม ควบคุมและสังเกตโดยนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกุ้ง น้ำ และดิน
สรุป และวิเคราะห์ผลการวิจัย
ด้านผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดิน สภาพจากการสังเกตก่อนการใช้ชีวภาพ ดินมีลักษณะแข็ง เวลาเหยียบลงไปจะไม่รู้สึกว่ามีโคลน หรือมีลักษณะร่วนซุย แต่เมื่อใช้ชีวภาพ พบว่าดินร่วนซุย และเป็นโคลนมากขึ้น ซึ่งสภาพแบบนี้จะมีผลดีต่อเรื่องอาหารของกุ้ง ปลา และปู ในบ่อเพราะจะมีอาหารจำพวกแพลงตอนและสัตว์น้ำเล็กๆ มากขึ้น รวมทั้งเป็นที่หลบภัยของกุ้งเวลาลอกคราบ จากการสังเกตจะพบว่าเวลาลูกกุ้งลอกคราบจะฝังตัวในดินโคลน เพื่อหลีกหนีการกินของปลา ถ้าดินแข็งการหลบภัยของลูกกุ้งก็จะไม่ปลอดภัย
ด้านการเปลี่ยนแปลงของน้ำ สภาพน้ำก่อนใช้ชีวภาพ จากการสังเกตพบว่า สีของน้ำจะมีลักษณะคล้ายสีน้ำทะเลเวลาที่ดันน้ำเข้า ส่วนหลังใช้ชีวภาพ จะมีลักษณะสีของน้ำคล้ายสีเปลือกไข่ไก่ ซึ่งเป็นน้ำที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงกุ้ง
ด้านผลผลิตอื่นๆ ที่ตามมาหลังใช้ชีวภาพ พบว่าผลผลิตปลาและปูในนามีมากขึ้น ลักษณะของปลาและปูอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากมีอาหารจากดินเลนที่เกิดจากกระบวนการชีวภาพ แต่สำหรับกุ้งนั้นจะได้ผลหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยเรื่องน้ำว่าดีเพียงใด(น้ำดี หมายถึงไม่มีสารเคมีจากโรงงานเจือปน) ถ้าไม่มีผลกระทบเรื่องปัจจัยน้ำเข้ามาแทรกผลผลิตก็จะได้ดี เพราะสภาพดินจะเป็นแหล่งอาหารของกุ้งและเป็นผลดีต่อการดำรงชีพ และการหลบภัยของกุ้งได้อย่างดี ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการชีวภาพ

ส่วนเรื่องมูลค่าในเชิงธุรกิจ ถึงแม้ผลที่ออกมาจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่การศึกษาทดลองเรื่องการเลี้ยงกุ้งนั้นจะต้องทำซ้ำกันหลายๆ ครั้ง เพื่อจะได้รู้ผลที่แน่นอน รู้ถึงผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย เพราะการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ ๗๐% ต้องอยู่ภายใต้สภาวะทางธรรมชาติยากที่จะเข้าไปควบคุม ซึ่งในบางช่วงเวลาก็เป็นปัญหาในบางช่วงเวลาก็ไม่เป็นปัญหา แต่ก็สามารถที่จะได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เกิดตามมาอีกมากมาย แม้การทำโครงการวิจัยจะเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน และอาจจะยุ่งยากในเรื่องของการบันทึกข้อมูล สำหรับสมาชิกของชุมชนที่มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ แต่ก็ถือเป็นความภูมิใจที่ได้ทำโครงการ การศึกษาวิจัย ในครั้งนี้ ซึ่งก็สามารถที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งในครั้งต่อๆ ไปได้อีกระดับหนึ่ง

สิ่งที่ได้รับมากกว่าผลการวิจัย
นอกจากนี้งานวิจัยในครั้งนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้เขาเหล่านั้นไม่มีใบปริญญาพ่วงท้าย แต่เขาสามารถทำงานวิจัยเพื่อการอยู่รอดในชุมชนได้ จนเป็นที่ยอมรับจากสังคมระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ทำวิจัยทั้ง ๘ คน ต่างภาคภูมิใจ และแส ดงความรู้สึกออกมาว่า
นางสอดแก้ว คงจันทร์ " รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาร่วมกลุ่ม เพราะเมื่อก่อนคิดคนเดียว ทำคนเดียว บางครั้งคิดไม่ออก ทำไม่ถูก ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร พอเกิดการร่วมกลุ่มได้ร่วมคิด ทำได้แล้วหลายเรื่องตามที่คิด"
นายรัญญา แพรกเมือง "ดีใจที่ได้ร่วมคิด ร่วมกันแก้ปัญหา ดีกว่าคิดคนเดียว ทำคนเดียว"
นายสุทิน สกกุณา "ดีใจที่ได้เข้าร่วมกลุ่มชีวภาพ เพราะหลังจากได้ใช้ชีวภาพทำให้กุ้งติดมากขึ้น ดินดีขึ้น ปลาชุกชุมกว่าเดิม"
นายสุริยา ผลาวรรณ "การรวมกลุ่มมีโอกาสได้ทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน ทำการเกษตรปลอดสารพิษ ก่อให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพึ่งพาตัวเองของชุมชน ก่อให้เกิดความสุขใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องซื้อหา"
นายจรวย แพรกเมือง "หลังจากหันมาใช้ชีวภาพรู้สึกว่านากุ้งดีขึ้น เกิดขี้แดคในน้ำแต่น้ำไม่เสีย ปลากินขี้แดดตัวอ้วนกว่าเมื่อก่อน"
นายประมวล เรืองศรี "แต่ก่อนผมไม่ใช้ชีวภาพกุ้งเป็นโรคสีส้ม หลังจากใช้ชีวภาพกุ้งไม่พบโรคสีส้ม ทั้ง ๆ ที่นารอบข้างเขาเป็นโรคสีส้มกันทั้งนั้น จนทำให้เพื่อน ๆ รอบข้างต้องเข้ามาศึกษาขอความรู้ในการใช้น้ำหมักชีวภาพ และจากการสังเกตหลังการใช้ชีวภาพขี้แดดที่เกิดในบ่อไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนก่อนหน้านี้ ปลาที่อยู่ในบ่ออ้วนขึ้น จับขายได้น้ำหนักดีกว่าแต่ก่อน"
นางสาวโชคดี สุวรรณมณีย์ "รู้สึกดีกับการทำงานเป็นกลุ่ม ถึงแม้บ้างครั้งความคิดเห็นอาจไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็สามารถแก้ปัญหากล่าวนั้นให้คลี่คลายลงได้ด้วยดี ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย อย่างการเลี้ยงกุ้งเมื่อก่อนมีหอยเจดีย์เข้ามาอาศัยอยู่มาก หลังการใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากสับปะรด หอยเจดีย์กลับหายไป แต่จากการทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดอัดเม็ดติดต่อกันมา ๑ ปี เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหอยเจดีย์ก็กลับมาเหมือนเดิม"
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ออกมาจากปากของผู้ปฏิบัติจริง วิจัยเพื่อความอยู่รอดของชุมชนโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่ได้ทำงานวิจัยตามงบประมาณที่ได้มา หรือวิจัยเพื่อการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น

องค์ความรู้ใหม่...บทพิสูจน์การวิจัยแบบชาวบ้าน
หลังจากชุมชนบ้านห้วยไทรได้ร่วมกันปฏิวัติตัวเองตามความสมัครใจของแต่ละคนหันมาประยุกต์ใช้ชีวภาพให้กลมกลืนกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
การใช้ชีวภาพกับนากุ้ง พบว่า การใช้น้ำหมักชีวภาพจากสับปะรดสุกแต่เพียงอย่างเดียว(สับปะรดสุก ๓ ส่วน กากน้ำตาล ๑ ส่วน น้ำสะอาด ๑๐ ลิตร) นำมาหมักรวมกัน ใช้ได้ผลดีที่สุดสำหรับเขตนี้ ทำให้หอยเจดีย์หายไปจากท้องนา น้ำเปลี่ยนสี กุ้งไม่เป็นโรคสีเหลือง ในนามีปู ปลาสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากเนื้อสัตว์(ปลา ๑ ส่วน กากน้ำตาล ๑ ส่วน) ไม่เหมาะกับการใช้ในนากุ้ง
การใช้ชีวภาพกับการปลูกพืช ในชุมชนบ้านห้วยไทรยังมีการใช้น้อยมาก เริ่มมีการใช้บ้างกับการปลูกปาล์มน้ำมัน เพิ่งจะเริ่มปลูกในระยะ ๑-๒ ปีนี้เอง ยังไม่มีผลที่ประจักษ์ชัดเจน และที่บ้านนายรัญญา แพรกเมือง เตรียมสร้างแปลงเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพริกและมะละกอเพื่อเป็นคำตอบให้กับชุมชนต่อไป
การใช้ชีวภาพในครัวเรือน ในชุมชนเริ่มมีการทำน้ำยาเอนกประสงค์ ประเภทน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แชมพูสระผม ตามสูตรที่แต่ละคนได้รับการถ่ายทอดมา ยังไม่สามารถสรุปเป็นบทเรียนของชุมชนที่ชัดเจน
การประยุกต์ใช้ชีวภาพกับการเลี้ยงสัตว์ นายสุริยะ ผลาวรรณ์ ใช้น้ำหมักชีวภาพจากสับปะรดผสมน้ำให้วัวได้ดื่มกิน และนำน้ำหมักชีวภาพไปผสมน้ำฉีดพ่นแปลงปลูกหญ้าบนคันนากุ้ง ในฤดูที่ผ่านมาระหว่างปี ๒๕๔๘ - ๒๕๔๙ เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยระบาดในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง แต่วัวที่ตนเองเลี้ยงไม่ติดโรคระบาดแต่อย่างใด แม้ยังไม่มีข้อมูลอะไรมายืนยัน แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนรอบข้าง

สรุปโครงการ...พบ ๔ ปัจจัยแห่งความสุขที่ห้วยไทร
เมื่อมองผ่านระบบคุณค่าแห่งความสุขที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยของชาวบ้านในครั้งนี้ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคุ้มค่าและได้กำไรมาก เพราะได้เรียนรู้เหตุปัจจัยแห่งความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการนี้ ได้แก่
ปัจจัยแห่งความสุขที่หนึ่ง คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบจับเข่าคุยกัน ทั้งชุมชน เจ้าหน้าที่โครงการ และนักวิชาการ ทำให้เกิดความเข้าใจกัน เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แล้วตามมาด้วยประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจัยแห่งความสุขที่สอง คือ เสริมสร้างความสุขและความมั่นใจในการประกอบอาชีพกับการเลี้ยงกุ้งในแนวทางชีวภาพที่สามารถสร้างองค์ความรู้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง เพื่อพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจัยแห่งความสุขที่สาม คือ การบริหารจัดการความสุขของกลุ่ม ที่มุ่งเน้นประโยชน์ของสาธารณะและของชุมชนเป็นหลัก
ปัจจัยแห่งความสุขที่สี่ คือ ความมั่นคงของครอบครัว ความอบอุ่นของครับครัวกับการประกอบอาชีพตามวิถีชุมชน ทำให้คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน มีอาหารการกิน กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ไม่ต้องซื้อหาเลี้ยงได้ตลอดปี เป็นการหาอยู่ หากิน สร้างอู่ข้าว อู่น้ำ ที่พอเพียงสมดุลกับระบบธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
ตลอดระยะเวลาในการจัดทำโครงการวิจัยนี้ ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการต่างได้รับผลกำไรแห่งความสุขที่ทำให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจ เกิดพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไป ตามแนวทางการเรียนรู้จากการใช้ชีวภาพ และการปรับตัวของชาวนากุ้ง

ข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของชาวนากุ้งชุมชนห้วยไทร
จากกระบวนการค้นความรู้ด้านการเลี้ยงกุ้งด้วยกระบวนการชีวภาพของกลุ่มออมทรัพย์เกษตรกรเพื่อการเลี้ยงกุ้งเชิงอนุรักษ์ที่บ้านห้วยไทร พบว่ากระบวนการเรียนรู้การใช้ชีวภาพสามารถแก้ปัญหาของชาวนากุ้งได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการทำให้สภาพดินและน้ำที่เป็น ๒ ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงกุ้งดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามปัจจัยน้ำยังเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และยังเป็นปัญหาใหญ่ต่อเกษตรกรในการการเลี้ยงกุ้งทั้งหมดด้วย ซึ่งจากการเรียนรู้ในงานวิจัยครั้งนี้ ได้บทเรียนแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรที่ทีมงานวิจัยเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
๑. แนวทางการเลี้ยงกุ้งชีวภาพกึ่งปิด
ระบบการเลี้ยงกุ้งแบบกึ่งปิดเป็นการแก้ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งระบบกึ่งปิด หมายความว่า มีการดันน้ำเข้านาเพียงครั้งเดียว โดยสามารถเลือกสภาพน้ำดีที่สุดในการดันน้ำได้ หลังจากนั้นก็ปิดนาไม่ดันน้ำอีกจนการจะเลี้ยงกุ้งครั้งใหม่ และใช้กระบวนการชีวภาพปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม ผลเสียของวิธีนี้ คือ ไม่สามารถดันน้ำครั้งที่สองเพื่อให้ได้ลูกกุ้งจากธรรมชาติที่มากับน้ำทะเลที่ดันเข้าใหม่ จึงต้องมีการปล่อยลูกกุ้งใส่ในบ่อผสมกับการดันน้ำครั้งแรกด้วย แนวคิดนี้ยังไม่มีการเริ่มทำอย่างจริงจัง เพียงแต่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ
๒. เกษตรกรเลี้ยงกุ้งควรให้ความสำคัญต่อผลผลิตอื่นที่ไม่ใช่กุ้งเพียงอย่างเดียวและควรหาอาชีพเสริม
ในการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติถึงแม้ต้นทุนจะต่ำ แต่ผลผลิตที่ได้ก็ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่ปัจจัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งต้นทุนเรื่องราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชาวนาเลี้ยงกุ้งไปไม่รอด แต่ถ้ายึดแนวทางพระราชดำริการทำเกษตรพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อขายแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มองระบบสมดุลสร้างภูมิคุ้มกันในนากุ้ง มองหาผลผลิตอื่นๆ ที่มากกว่ากุ้ง เช่น ปู ปลา โดยสร้างระบบนิเวศอย่างเกื้อกูล พร้อมกับการมองหาอาชีพเสริมในช่วงเวลาว่างจากการดูแลนากุ้ง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เช่น การทำน้ำตาลมะพร้าว ปลูกผัก วางแผนปลูกไม้ยืนต้นเพื่อใช้ประโยชน์และเป็นทุนสำรองในอนาคต ซึ่งควรออกแบบการจัดการเรื่องรายได้ของครอบครัว ด้วยระบบคิดการสร้างรายได้ ๓ ระดับ คือ
ระดับที่ ๑ การสร้างรายได้ระยะสั้น เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนเลี้ยงครอบครัว เช่น เก็บผักขาย เลี้ยงกุ้ง ทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งเป็นการหาได้เลี้ยงครอบครัวไปวันๆ
ระดับที่ ๒ การสร้างรายได้ระยะกลาง เพื่อสะสมเป็นทุนรอนในการลงทุนครั้งต่อไป ระยะนี้ต้องมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่าระยะที่หนึ่ง ลงทุนทำไปแล้วมั่นใจว่าได้ทุนกลับคืนมา และมีช่วงเวลาการลงทุนที่เหมาะสมด้วย อาจจะเป็นระยะ ๕ – ๑๐ ปี เช่น การปลูกไม้ใช้สอยจำพวกไม้สน ไม้เศรษฐกิจจำพวกไม้กฤษณา ซึ่งมีระยะเวลาการใช้ประโยชน์เพียง ๔ – ๕ ปีเท่านั้น
ระยะที่ ๓ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยการลงทุนนี้ต้องไม่มีปัจจัยเสียงใดๆ เป็นการสะสมเงินบำนาญสำหรับชีวิตในอนาคตเมื่อแก่ตัว โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรสำหรับปลูกไม้ยืนต้นจำพวกไม้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในภาคใต้ไม้ที่เหมาะสม เช่น ไม้จำปา ไม้เทียม ไม้ตะเคียน ฯลฯ ถ้าเริ่มปลูกตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี ในที่ ๑ – ๒ ไร่ เมื่อถึง ๖๐ ปี ก็จะมีทรัพยากรเพียงพอในการเลี้ยงชีพในปั้นปลายของชีวิต
๓. เกษตรกรควรให้ความสำคัญต่อชีวภาพน้ำที่ได้ผลดีกว่าการใช้ชีวภาพเม็ด
จากการสังเกตพบว่า เมื่อใช้ชีวภาพเม็ดหอยในนากุ้งหอยจะกลับมาอีก เมื่อเปรียบเทียบการใช้ชีวภาพเม็ดกับชีวภาพน้ำ ชีวภาพน้ำจะเป็นผลดีกว่า ดินร่วนกว่า สร้างอาหารในดินได้มากกว่า อีกทั้งชีวภาพน้ำไม่ต้องซื้อหาทำได้ด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้เกษตรกรเริ่มหันมาใช้ชีวภาพน้ำกันมากกว่าชีวภาพเม็ด


วันนี้ห้วยไทรไม่กลัวปัญหา...เพราะเรียนรู้และมั่นใจ
ณ วันนี้หลังจากการทำโครงการการศึกษาวิจัยเรื่องกุ้งแล้วเสร็จไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชุมชนก็ยังต้องพบกับปัญหาตามมาเกี่ยวกับการทำนากุ้งอีกอย่างคือปัญหาราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนประมาณ ๘๐% ของการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ จากชุมชนรวมกลุ่มกันใช้ชีวภาพเป็นผลสำเร็จไปได้ระดับหนึ่ง ชุมชนจึงคิดหาช่องทางแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงด้วยการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันเหลือใช้ในการประกอบอาหาร ขึ้นมาใช้เองในชุมชนได้ แต่ก็ยังมีปัญหาต่อเนื่องมาอีกอย่างคือการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งในชุมชนจะพยายามแก้ด้วยการที่จะใช้น้ำมันจากมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเพื่อที่จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องราคาของมะพร้าวให้กับชุมชนอีกด้วย โดย อบต.ปากพูน ยังให้การสนับสนุนเครื่องหีบน้ำมันมะพร้าวอีกแรงหนึ่งด้วย
จะเห็นได้ว่าจากพื้นฐานเดิมของชุมชนที่ไม่ค่อยได้คิดได้ทำได้แก้ปัญหาใด ๆ ในชุมเลย รอคอยแต่หน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ด้วยความที่สมาชิกของชุมชนคิดว่า เรานั้นมีความรู้แค่พออ่านออกเขียนได้จะไปคิดไปทำไปแก้ปัญหาอะไรได้ หลังจากได้ทำโครงการ “การศึกษาวิจัยการเลี้ยงกุ้ง” ผ่านไปแล้ว สมาชิกของชุมชนเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้แก้ปัญหาเองไม่ได้ ความจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนในชุมชนจะสามารถคิด ทำและแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ทุกเรื่อง ถ้าทุกคนไม่ร่วมแรง ร่วมใจ รวมพลังความคิด แก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน ย่อมยากที่จะสร้างชุมชนห้วยไทรเป็นสุขร่วมกันได้
วันนี้สมาชิกชุมชนบ้านห้วยไทร ไม่มีความทุกข์กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชุมชน เพราะสมาชิกของชุมชนมีความมั่นใจในการที่จะคิด ลงมือทำ เมื่อพบปัญหาต่างๆ ชุมชนสามารถร่วมแก้ไขได้ระดับหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความภูมิใจของชุมชนที่เราสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และชุมชนก็มีความหวังว่า
วันข้างหน้าชุมชนเองคงสามารถเดินตามแนวทาง ‘วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง’ ได้อย่างแน่นอน



บรรณานุกรม

ภาคผนวก

อนุภัทร จันตราชู, โชคดี สุวรรณมณีย์ และคณะ. นากุ้งชีวภาพที่ห้วยไทร. ปฏิวัติที่โลกใบเล็ก ; ปฏิวัติความคิดสู่ความสุขด้วยเกษตรชีวภาพ. โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้. กรุงเทพฯ. อุษาการพิมพ์, ๒๕๔๙.

วิทยุชุมชน...สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสุข เครือข่ายวิทยุชุมชน และสินปุน กระบี่

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

“วิทยุชุมชน” สื่อของชุมชนที่แท้จริง

ที่ผ่านมาสื่อวิทยุเป็นสื่อที่มีรัฐเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว สามารถเสนอข่าวสารต่างๆ ของรัฐได้เต็มที่ ประชาชนไม่มีสื่อเป็นของตนเอง ไม่สามารถเสนอข้อเท็จจริงของตนเองได้ ภาคธุรกิจแม้ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุแต่สามารถซื้อเวลาหรือสัมปทานจากรัฐได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงสามารถครอบครองสื่อทุกประเภทด้วยการจ่ายค่าโฆษณาราคาแพง เนื้อหาของสื่อต่างๆ จึงส่งเสริมการบริโภคอย่างล้นเกินและปกป้องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเท่านั้น ข่าวสารในสื่อวิทยุจึงมีแต่ข่าวสารจากรัฐและโฆษณาขายสินค้าและบริการของภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สื่อกระแสหลักในปัจจุบันมีส่วนทำลายวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ความเชื่อ จิตสำนึกที่ดีงามของสังคม เพราะเป้าหมายของการจัดทำสื่อคือแสวงหากำไร (ธุรกิจ) และโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความดีงามของสังคมและชุมชนแต่อย่างใด
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ บัญญัติให้คลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และมีพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่ออกมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์ร้อยละ ๒๐ ต้องเป็นของภาคประชาชน ในขณะที่องค์กรชุมชนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงสิทธิตรงนี้ และมีประสบการณ์ในการจัดทำสื่อน้อยมาก ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน คลื่นวิทยุซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นส่วนของภาคประชาชน จะถูกยึดครองโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหรือของธุรกิจ ถือว่าผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ สำหรับสื่อวิทยุเป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับชุมชน เพราะเป็นสื่อที่รวดเร็วทันเหตุการณ์และลงทุนในการกระจายเสียงน้อยเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ สามารถรับฟังข่าวสารได้ทุกหนแห่งแม้ขณะทำงานตามหัวไร่ปลายนาและราคาเครื่องรับวิทยุถูก นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๗ ระบุว่าประชาชนมีสิทธิในการติดต่อสื่อสารกันโดยไม่ถูกขัดขวาง การใช้วิทยุเป็นช่องทางหนึ่งของชุมชนในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ทั้งยังเป็นการสื่อสารที่ให้ประชาชนมีทางเลือกคือจะรับสาร(เปิดวิทยุ) หรือไม่รับ (ปิดวิทยุ) ก็ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนเป็นของตนเองขบวนการรณรงค์เรื่องวิทยุชุมชนเริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนหลายแห่ง เริ่มทดลองออกอากาศเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ของชุมชน

วิทยุชุมชน...เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเรียนรู้
บทบาทของวิทยุกระจายเสียงนอกจากเป็นเครื่องมือเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ กระจายข่าว โฆษณา และบันเทิง ซึ่งยังมีอีกหลายบทบาทที่คนรู้จักกันน้อยหรืออาจจะลืมบทบาทเหล่านี้ไปแล้ว เพราะทุกวันนี้ส่วนมากสื่อถูกยึดครองและตกเป็นเครื่องมือของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น จึงจำกัดบทบาทเฉพาะตามที่ผู้ใช้สื่อนี้ต้องการ แต่ก็มีคนบางกลุ่มในนามของเครือข่ายวิทยุชุมชนพยายามพูดถึงบทบาทวิทยุชุชมชนในเรื่องอื่นที่มากขึ้น เช่น เป็นช่องทางติดสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของผู้คนในโลกดิจิตอล หรือเวทีบอกเล่าเรื่องราวตนเองของชุมชน เสมือนห้องเรียนสาธารณะของชุมชนที่คนในชุมชนสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อนี้ เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารของชุมชน เป็นเครื่องมือสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนทางด้านต่าง ๆ เช่น ศาสนา สิ่งแวดล้อม เกษตรยั่งยืนการต่อต้าน ยาเสพติด ฯลฯ เป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของทุกภาคส่วน เป็นเวทีรณรงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เป็นเครื่องมือระดมพลังแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน สร้างความสมดุลของข่าวสารจากชุมชนและข่าวสารจากภาคอื่นๆ เป็นการอนุรักษ์คุณค่า สร้างปัญญาในด้านวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน เป็นสื่อในการศึกษา สอดส่อง สะสาง สกัดจุดอ่อนของชุมชน เป็นสื่อช่องทางที่คนด้อยโอกาสและคนทุกกลุ่มในชุมชนได้บอกข่าวสารและเรื่องราวของตนเองไปยังคนอื่น ทั้งในแง่ปัญหาและทางออก และเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารของชุมชน เป็นต้น

หลักการและลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว การดำเนินงานวิทยุชุมชน มีหลักการทำงานดังนี้
- องค์กรชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ
- ไม่แสวงหากำไร ดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- ดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตกลงว่าจะมีวิทยุชุมชน การจัดระบบบริหาร การระดมทุน การร่วมวางผังรายการ การจัดรายการ การร่วมรับฟัง และประเมินผล
- เข้าถึงง่าย สะดวก

วิทยุชุมชนเมื่อเริ่มต้นดำเนินงาน
ลักษณะของสถานีวิทยุชุมชนในระยะแรกดำเนินการ มีดังนี้
- เป็นสถานีวิทยุขนาดเล็ก กระจายเสียงในรัศมี ๑๐ - ๒๐ กิโลเมตร หรือภายใน ๑-๓ ตำบล ใช้งบประมาณในการดำเนินการต่ำ ชุมชนสามารถดูแลเองได้
- กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนมีทั้งที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ คนทุกเพศทุกวัยทุกศาสนา สามารถใช้ประโยชน์ได้ เข้าถึงง่าย
- คนทำงานเน้นอาสาสมัครซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญของสถานี
- คนฟังรายการกับคนจัดรายการคือคนกลุ่มเดียวกัน กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนจะร่วมกันกำหนดผังรายการ ร่วมจัด ร่วมฟัง ตามความพร้อมของคนฟังและคนจัด ออกอากาศตามเวลาที่มีคนฟังและมีคนจัดรายการ อาจจะเพียงพอสามชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
- สะท้อนความต้องการและลักษณะของท้องถิ่น เช่น ใช้ภาษาถิ่น ฯลฯ
- ปราศจากการครอบงำของกลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ และพรรคการเมืองทุกระดับ

เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้...สร้างศูนย์ปฏิบัติการฯ

หนุนเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

งานวิทยุชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “การเรียนรู้”
กลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานสนับสนุนและเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ได้ให้ความสำคัญ คือ แกนนำจากกลุ่ม/เครือข่ายที่มีอยู่แล้วในชุมชน เหตุผลสำคัญในการเลือกกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว
ประการแรก หน่วยงานสนับสนุนงานพัฒนาขององค์กรชุมชน มีการทำงานกับกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชนอยู่แล้ว
ประการที่สอง เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชนที่สนใจงานวิทยุชุมชน
ประการที่สาม มีความเชื่อมั่นว่า แกนนำที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้งานวิทยุชุมชน สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่แล้วอย่างชัดเจน

กว่าจะมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชน
เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ได้กำหนดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญในงานวิทยุชุมชนสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- การให้ความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหา เหตุผลที่มาของการปฏิรูปสื่อ เจตนารมณ์ของมาตรา ๔๐ แห่งรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนหลักการและแนวคิดเรื่องวิทยุชุมชนสากล ต่อแกนนำผู้ริเริ่มจากกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชน จนเกิดความชัดเจนในหลักการและเนื้อหาของวิทยุชุมชน
- แกนนำองค์กรชุมชนที่เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการให้ข้อมูลกับชุมชน เรื่องความสำคัญของสื่อที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน สิทธิของชุมชนในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุ มีการสอบถามความคิดเห็น และความพร้อมเรื่องการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในชุมชน
- ประชุมกลุ่ม/องค์กรชุมชนในพื้นที่ที่ประสงค์จะทำศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ให้มีความรู้ที่เป็นรายละเอียดในงานวิทยุชุมชน
- เมื่อกลุ่ม/องค์กรชุมชนตกลงที่จะทำศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนร่วมกันแล้ว ก็มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในงานบริหารจัดการและงานรายการ ตลอดจนภาระงานในศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่ลงรายละเอียดชุมชนในพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ
- การกำหนด ธรรมนูญ กติกา ข้อตกลง ในการทำศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชน รวมถึงการจัดโครงสร้างให้มีคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริการ ฝ่ายระดมทุน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
- การสำรวจ ค้นหา กลุ่ม/บุคคลที่สนใจจะเป็นเจ้าของรายการ ร่วมจัดรายการ หรือการสื่อสารผ่านสื่อวิทยุชุมชน
- การอบรมเรื่องการผลิตรายการ/การใช้วัสดุอุปกรณ์ในห้องส่งกระจายเสียง
- การจัดทำผังรายการ โดยส่วนใหญ่เจ้าของรายการคือ กลุ่ม/เครือข่าย/หน่วยงาน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเกษตรกร วัด โรงเรียน ฯลฯ
- การทดลองออกอากาศ ศูนย์ปฏิบัติการฯ แต่ละแห่งกำหนดวันเวลาออกอากาศตามความพร้อมของชุมชน บางศูนย์ปฏิบัติการฯ ออกอากาศวันละ ๒ ชั่วโมง บางศูนย์ฯ วันละ ๘ ชั่วโมง บางศูนย์ฯ วันละ ๑๒ ชั่วโมง บางศูนย์ฯ ออกอากาศสัปดาห์ละ ๕ วัน บางศูนย์ฯ สัปดาห์ละ ๓ วัน ฯลฯ
- การติดตามประเมินผลที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้รับสารและผู้ส่งสารในชุมชน
- การสรุปบทเรียน ถอดบทเรียน และพัฒนาองค์ความรู้ในงานวิทยุชุมชน

กระบวนการเรียนรู้หลังจากการทดลองออกอากาศ
เครือข่ายวิทยุชมชนภาคใต้ได้สนับสนุนให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่ทดลองออกอากาศแล้วมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องภายใต้กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ศึกษาดูงานศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนต่างพื้นที่ มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของทีมผลิตรายการ การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ในชุมชน การจัดอบรมเพื่อพัฒนาช่างเทคนิคในการใช้วัสดุอุปกรณ์ในห้องส่งกระจายเสียง มีการสรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนงานวิทยุชุมชนกับเครือข่ายวิทยุชุมชนระดับภาคและระดับประเทศ ร่วมเวทีสัมมนากับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อพัฒนางานวิทยุชุมชนและทำให้งานวิทยุชุมชนเป็นประเด็นสาธารณะ มีการสื่อสารกับนักวิชาการและสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะมากขึ้น

ร่วมดับบ้านดับเมืองเพื่อสื่อสุขภาวะ

เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗
ด้วยมีทิศทางคือ เสริมศักยภาพศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน เพื่อขยายสู่บทบาทการสร้างสุขภาวะชุมชน
โดยมีแผนงานคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจของศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนต่อมาตรา ๔๐ การสนับสนุนรายการด้านสุขภาวะ และการสรุปบทเรียนด้วยกระบวนการหนุนเสริมจากโครงการดับบ้านดับเมือง โดยมีผู้ช่วยชุมชนทำบทบาทในการประสานเครือข่ายและจัดกิจกรรมต่างๆ
ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือ ศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในพื้นที่รวม ๑๕ จุด ครอบคลุมพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช และชุมพร ถึงขั้นทดลองออกอากาศแล้ว ๑๔ จุด และศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนเคลื่อนที่สัญจร
ในศูนย์ปฏิบัติการฯ แต่ละศูนย์มีกลุ่ม/เครือข่ายองค์กรชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้สูงอายุ เยาวชน ผู้แทน อบต. ครูในโรงเรียน ฯลฯ เข้ามาเรียนรู้งานวิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ผลต่อชุมชน
- เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องงานวิทยุชุมชน สำหรับกลุ่ม/องค์กรชุมชน/หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ
- แกนนำจากศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เรื่องวิทยุชุมชนทั้ง ๑๔ ศูนย์ สามารถถ่ายทอดให้ความรู้เรื่องการทำงานวิทยุชุมชนที่เป็นงานปฏิบัติการได้
- ชุมชนตระหนักว่าวิทยุชุมชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ และสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง วิทยุชุมชนซึ่งชุมชนเป็นเจ้าของและดำเนินการเองกับวิทยุชุมชนซึ่งคนอื่นจัดรายการเกี่ยวกับชุมชนได้
- มีองค์กรชุมชนที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้งานวิทยุชุมชนโดยตรงจำนวน ๒๒๑ กลุ่ม
- ชุมชนเห็นว่าสื่อวิทยุเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและกระจายข้อมูลข่าวสารของชุมชน
- มีพื้นที่นำร่องให้ชุมชนเรียนรู้งานวิทยุชุมชนอย่างครบวงจร
- ในระดับประเทศมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ทำงานวิทยุชุมชนเพื่อผลักดันนโยบายเรื่องวิทยุชุมชน
- มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานวิทยุชุมชนมากขึ้น ทั้งระดับชาติ ระดับภาค และระดับพื้นที่
- ในระดับพื้นที่มีภาคีต่างๆ เข้าสนับสนุน เช่น อบต. โรงเรียน เทศบาล วัด มัสยิด ตำรวจ นายอำเภอ หน่วยงานราชการ ฯลฯ
- วิทยุชุมชนเคลื่อนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ความรู้เรื่องการปฏิรูปสื่อ/วิทยุชุมชนและเผยแพร่งานพัฒนาของขบวนการองค์กรชุมชนในภาค
- เกิดความตื่นตัวขององค์กรชุมชนในหลายพื้นที่ที่จะดำเนินการศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนโดยการระดมทุนของชุมชนเอง
- ตัวแทนกลุ่ม/องค์กรชุมชนในพื้นที่ชนบทและในเมือง ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไร่ ชาวนา คนยากจน ผู้ด้อยโอกาส คือ กำลังสำคัญที่สร้างสิทธิด้านการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชนบทหลายพื้นที่แล้ว
- เกิดพื้นที่ “กรณีศูนย์ปฏิบัติการวิทยุชุมชนต้นแบบ” จำนวน ๕ ศูนย์ ที่สามารถเป็นตัวอย่างของวิทยุชุมชนได้อย่างแท้จริง

ผลต่อขบวนการพัฒนาและสังคม
- งานพัฒนาของขบวนการองค์กรชุมชนในภาคใต้ถูกสื่อสารผ่านสื่อศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการแจ้งความประสงค์เพื่อการสื่อสารจากองค์กรชุมชนและหน่วยงานพัฒนา ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ
- ขบวนการพัฒนาและหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนา มีทัศนะคติเชิงบวกและพร้อมที่จะสนับสนุนงานวิทยุชุมชน
- ศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนในหลายพื้นที่เริ่มเป็นที่ศึกษาดูงานของนักศึกษาและประชาชน

โตนเพลงพัฒนา…บรรเลงหนังลุง โนราห์ กาหลอ

สร้างสำนึกเยาวชน ฅนหูโตน ที่นาข้าวเสีย เมืองตรัง

ไพโรจน์ สิงบัน
เพลินสถาน สวนสร้างสุขหมากปาล์มเมืองนคร

ฟังโตนเพลง...รำลึกความเป็นมาของบ้านหูโตน
เมื่อนั่งรถตามถนนสายคดเคี้ยวผ่านเขาพับผ้าเพื่อมุ่งหน้าสู่ชุมชนโตนเพลงทางฝากฝั่งจังหวัดตรัง ห่างจากทางลงเขาไม่ถึง ๕ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวตรงปากทางเข้าชุมชนข้างโรงเรียน....ไปบนเส้นทางถนนคอนกรีตที่หักเลี้ยวไปมาและห้อมล้อมด้วยป่ายางจนแทบมองหาบ้านคนไม่เจอ ก่อนเข้าถึงหมู่บ้านต้องข้ามคลองนางน้อยที่ไหลผ่านไปยังตัวเมืองตรัง คลองสายนี้ยังได้รวมเอาสายน้ำสองสายจากป่าต้นน้ำตำบลละมอ และป่าต้นน้ำบ้านในหูโตน ตำบลช่อง จากเทือกเขาบรรทัด ไหลมาบรรจบพบกันที่บ้านทุ่งมะม่วง อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของชุมชนโตนเพลงที่เรียกตามเสียงเพลงน้ำตกที่ได้ยินกันทั้งชุมชนไม่ขาดสาย ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นหูโตน
บ้านหูโตน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง มีประชากรทั้งหมด ๕๐๐ คน ๑๒๘ ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวนยาง ปลูกไม้ผล รับจ้างนอกบ้าน
ในอดีตชุมชนหูโตนมีชื่อเดิมว่า “บ้านทุ่งมะม่วง” ชาวบ้านเรียก ม่วงหวาน เนื่องจากมีต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมากในทุ่งนา รอบๆ ทุ่งนากอดล้อมด้วยขุนเขาที่มีป่าไม้และน้ำตกธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่านานาชนิด ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดลมหนาวมา น้าใบ ผู้อาวุโสในชุมชนและศิลปินพื้นบ้านด้านมโนราห์ เล่าว่า เหล่าสัตว์ป่านานาชนิด หลบลมหนาวมาจากเทือกเขาบรรทัดมารวมตัวกันที่บ้านต้นม่วงหรือบ้านหูโตนในปัจจุบัน ส่งเสียงร่ำร้องให้โหยหวน ท่ามกลางความเงียบสงบของผู้คนในชุมชน ซึ่งมีไม่กี่หลังคาเรือน
หนึ่งในสัตว์จำนวนนั้นคือเสือ มาร้องโหยหวนครวญครางเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า ฤดูกาล เสือจับมาร และเมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว มีครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานเพียง ๔ ครัวเรือน คือ ครอบครัวตาเรือง ครอบครัวตาคล้าย ครอบครัวตาแต้มและครอบครัวพ่อของน้าไบ และเพิ่มมาอีกหลายครัวเรือน คือ ครอบครัวยายทิม ครอบครัวทวดพุ่ม ครอบครัวตาแช็ค ครอบครัวตาลาย ครอบครัวตาแต้มครอบครัว ตาพลัด ครอบครัวตาชิม ครอบครัวตาหวาน ซึ่งมาจากบ้านช่อง ตำบลละมอและจากตำบลนาข้าวเสีย เข้ามาถางป่าเพื่อทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกมะพร้าวและเปลี่ยนมาเป็นปลูกยางพื้นเมือง โดยเมล็ดยางมาจากที่อื่นและขยายไปสู่บ้านหนองยวน นาหารเหนือ นาหารใต้และบ้านหูโตน
การทำมาหากินเก็บผลไม้พื้นบ้าน เช่น เก็บหมากแห้ง ใบกล้วย ลูกกอ(คล้ายลูกเกาลัด) เป็นไม้ยืนต้นที่มีเนื้อแข็งนิยมนำมาสร้างบ้าน ลูกสามารถนำไปรับประทานได้ ที่หูโตนมีไม้ชนิดนี้มาก ในปีหนึ่งๆ เพียงต้นเดียวก็เก็บได้มากถึง ๑๐ ปีบ แล้วนำไปขายที่ตลาดนาโยงเพื่อแลกกับเกลือ กะปิ ปลาเค็ม ของใช้จำเป็นต่างๆ ส่วนการเจ็บไข้ได้ป่วยอาศัยการรักษาด้วยหมอพื้นบ้าน หมอเอ็น หมอกระดูก หมอยาและหมอผี การสร้างบ้านเรือนของคนในชุมชนก็อาศัยไม้ในหมู่บ้านนำมาแปรรูปสร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้เพียงพอ

เพราะทำลายธรรมชาติ...ธรรมชาติจึงเอาคืน
หลังปี ๒๕๐๓ ความอุดมสมบูรณ์ภายในชุมชนลดน้อยลง มีการตัดไม้ป่าทำลายเพิ่มมากขึ้น ทำการโค่นยางพันธุ์พื้นเมืองเพื่อปลูกยางพันธุ์แทนที่ ขยายพื้นที่ทำกินรุกล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามของธรรมชาติ ส่วนหนึ่งก็ได้ลักลอบตัดไม้ จนพื้นป่าโล่ง เหลือพียงร่องลอยตอไม้ใหญ่ที่เคยยึดโยงผืนแผ่นดินและสายน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ คอยเป็นบ้านหลังใหญ่ให้สรรพสัตว์ และเป็นปากท้องห้องหัวใจให้คนในชุมชน แต่แล้วเมื่อถูกทำลายไปก็เหมือนกับการพังทำลายบ้านตัวเอง พอในปี พ.ศ ๒๕๒๔ ธรรมชาติก็เลยทวงคืน เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่น้ำตกกะช่องพังทลาย เสียงน้ำตกขับกล่อมคนในชุมชนจากดงป่าทึบเทือกเขาบรรทัดขาดหายไป เสียงที่เกิดจากคนคาดห้าง เอาไม้มาดัดแปลงเป็นลูกระนาด ตีดังขับกล่อมคนในชุมชนก็ขาดหายไปจากชุมชนด้วยเช่นกัน บ้านโตนเพลง ซึ่งเป็นชื่อบ้านอีกชื่อหนึ่งกลับกลายมาเป็นบ้านหูโตน ณ วันนี้

นี่คือวิถีเดิมของฅนหูโตน
ชุมชนหูโตนเป็นชุมชนเก่าแก่สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด มีศิลปินพื้นบ้าน กาหลอ มโนราห์ หนังตะลุง ที่คอยกล่อมบรรเลงจังหวะชีวิต ขัดเกลาจิตใจให้คนในชุมชนตั้งมั่นอยู่ในจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น รักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมในสังคม คอยให้ความคลื้นเคลงบรรเลงความบันเทิงใจ หลังจากคนในชุมชนพักเหนื่อยจากการทำงานหนักทั้งวัน จากกิจกรรมการเกษตร ทำนาดำ ทำสวนยางพารา หาของป่า เลี้ยงวัวเลี้ยงหมูและเลี้ยงไก่ ปลูกผลไม้ ปลูกผัก ทำมาหากินกันหลากหลายรูปแบบ บนพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
พอมีเวลาว่างจากการทำงานก็มารวมกันปรึกษาหารือ หาแนวทางการพัฒนาชุมชนหูโตน “มาร่วมกันบรรเลงเพลงโตนพัฒนา” ภายใต้ความคิดที่ว่า “ชุมชนบ้านหูโตน...ถ้าเราจะทำอะไรในชุมชนต้องมีการปรึกษาหารือ คิดคนเดียวทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีการเสียสละมีความสามัคคีในการจัดกิจกรรม ช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้นและสร้างสุขร่วมกันในชุมชน นอกจากนั้น ให้เราคำนวณดูว่าตนเองอยู่ในภาวะอย่างไร รู้จักประมาณตนเอง รายจ่ายไม่ติดลบ ไม่ให้เป็นหนี้รู้จักประหยัด ช่วยเหลือแบ่งปันมีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเอง มีการทำกิจกรรมสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ให้สูญหาย มีเครื่องอำนวยความสะดวก”
ได้จัดตั้งเป็นธนาคารหมู่บ้านของชุมชนที่ดำเนินการกันเอง โดยร่วมกันบริหารจัดการให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สมาชิกก็ซื่อตรงพร้อมเพรียง มีการปันผลจัดสรรสวัสดิการและการศึกษาดูงาน เป็นไปด้วยความราบรื่น เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน และสมาชิกทุกคนได้รับประโยชน์
ส่วนกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายหน่วยเหนือ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่ม อสม. กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มผู้ใช้ปุ๋ย กองทุนเงินล้าน ฯลฯ ผุดเกิดขึ้นมายังกับดอกเห็ด ซึ่งบางครั้งก็ซ้ำซ้อน หรือวนอยู่กับคณะทำงานไม่กี่คน คนทำงานเองก็ไม่มีเวลา เดี๋ยวนายจากหน่วยนี้สั่งที หน่วยนั้นสั่งที ทำเหมือนกับชาวบ้านเป็นลูกจ้างเขา สุดท้ายภาระงานที่เกิดขึ้นมีแต่รุงรังรั้งการพัฒนากลุ่มองค์กรชาวบ้านไม่โผล่หัวไปทำเรื่องใหม่ๆ ได้เลย เกิดการทะเลาะแตกกันในกลุ่ม ทั้งปัญหาเรื่องการจัดการที่มีนายสั่งแต่ไม่มีนายช่วย ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลที่ถูกระบบทักษิณแทรกซึมนำค่านิยมผิดๆ ผ่านมาในสังคม และต่างคนก็ต่างวางเฉยกับความไม่ถูกต้อง ยิ่งสื่อสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับสังคมโดยเฉพาะเยาวชนทำให้คุณความดี ความงาม วัฒนธรรมดีดีของท้องถิ่นถูกทำลายไป การเมืองในปัจจุบันตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงท้องถิ่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่ ได้ก่อให้ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เลือกกันทีแตกแยกกันทีจนเป็นวิถีปกติเกือบทุกชุมชนของประเทศไทย

ฅนหูโตนไม่ยอมแพ้
จากการปัญหาสังคมในปัจจุบันที่มากขึ้น กระทบชุมชนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งพิบัติภัยธรรมชาติรุ่นแรงและถี่ขึ้นทุกขณะ เรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหาเยาวชน ปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาร่วมเกือบทุกชุมชน เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันแม้แต่ในระดับชุมชน เกิดการแยกคนออกจากกัน ไม่มีเวลามาพบพูดคุยสร้างความเข้าใจร่วมกัน พอค่ำเข้าบ้านนั่งดูทีวี ไม่มีการประชุมชาวบ้าน ถ้าประชุมก็มีแกนนำไม่กี่คน ทำให้ขาดการเรียนรู้ร่วมกัน ความสามัคคีของคนในชุมชนและความสัมพันธ์รักและภูมิใจในถิ่นฐานน้อยลง ยิ่งถ้าชุมชนไหนส่งลูกหลานออกไปเรียนในเมือง ก็ยิ่งดึงคนออกจากชุมชน สภาพจิตใจของคนในชุมชนหยาบกระด้าง ขาดความเมตตาปราณี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ ความเป็นธรรมในชุมชน
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ชุมชนบ้านหูโตนจึงมีความเห็นร่วมกันในการแนวพัฒนาชุมชน เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกพึ่งตนเอง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สร้างเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่มีความปราณี ละเอียดอ่อน เพื่อนำไปสู่สุขภาวะชุมชน
ด้วยลองเริ่มดำเนินโครงการโตนเพลงพัฒนา ที่สนับสนุนการพัฒนาโครงการและติดตามโดยเครือข่าย อสม. มีคุณเฉลียว(กฤษณพร) สุวรรณวร เป็นผู้ช่วยชุมชน ซึ่งอยู่ภายใต้ขบวนของโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ หรือโครงการดับบ้านดับเมือง เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กิจกรรมที่ทำประกอบด้วย เวทีเรียนรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้าน เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ยาฆ่าศรัตรูพืช เรียนรู้ดนตรีไทย และการสรุปประเมินผล

เมื่อจับมือกับดับบ้านดับเมือง
โครงการดับบ้านดับเมืองโดยผู้ช่วยชุมชนได้เข้ามาชวนคิดทบทวน ร่วมปรึกษาหารือ ชีวิตชุมชนที่แอบอิงพึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ และมีสายเลือดศิลปินพื้นบ้าน กาหลอ มโนราห์และหนังตะลุง นอกจากนี้แล้วคนในชุมชนยังมีกิจกรรมรวมกลุ่มธนาคารหมู่บ้าน จัดกิจกรรมร่วมกันปีละ ๑-๒ ครั้ง และเคยร่วมกับกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม(SIF) ทำกิจกรรมเรียนรู้ดนตรีไทย แต่ขาดการฝึกสอนที่ต่อเนื่อง เหลือเพียงเยาวชนคนที่สนใจจำนวนหนึ่งที่ยังดำเนินการต่อ ดังนั้นเมื่อได้จับเมือกับดับบ้านเมืองจึงมาสานต่อเรื่องนี้ พร้อมกับเรื่องเกษตรชีวภาพ
ชาวหูโตนเห็นว่า ในเรื่องการเกษตรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการลดต้นทุนการผลิต เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเกษตรบ้านหูโตนมีการใช้จ่ายในการผลิตที่สูง การทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักถือได้ว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะในชุมชนมีวัตถุดิบมากพอที่จะทำปุ๋ยเอาใช้ได้ และเมื่อทำเองน่าจะใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า ผลผลิตที่ออกมามีความภาคภูมิใจมากกว่า เมื่อนำไปใส่พืชผักผลไม้ รับประทานเข้าไปได้อย่างสนิทใจ เพราะเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากส่วนที่ไม่เป็นพิษ สามารถปรับสภาพดินได้ดี รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างยั่งยืนตลอดไป ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทำให้ดินแข็ง ปรับสภาพดินได้ยาก เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงมีการนำสารเคมีมาใช้ในชุมชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ทำการปลูกต้นไม้ชายตลิ่งป้องกันน้ำกัดเสาะไม่ให้ตลิ่งพังทลาย รณรงค์การปลูกผักกินเองในครัวเรือน เลี้ยงปลาไว้กินเอง และเสาะหาพันธุ์ผักพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์รักษาขยายพันธุ์ต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดตรังและเจ้าหน้าที่ทางเกษตรอำเภอนาโยงโดยเฉพาะการทำปุ๋ยหมักใช้เอง จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำและการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในแต่ละสูตรที่เหมาะสำหรับพืชแต่ละชนิด และทำการศึกษาสูตรน้ำหมักชีวภาพเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้สมาชิกที่ร่วมโครงการเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่า จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการปฏิบัติจริง และทำการสังเกตศึกษาจากการติดตามประเมินผล ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกัน ๑๕-๑๗ ครัวเรือน
การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานการรู้จักใช้รู้จักเลือกสรรและพัฒนา ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้านนั้น เป็นหนทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่บนรากฐานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เหมือนคำโบราณที่เรียกศิลปินพื้นบ้านว่า พวกนักเลง ซึ่งหมายถึง พวกใจกว้าง ใจยาว ใจใหญ่ ไม่คับแคบ เป็นเรื่องความตั้งใจมั่น ค่อยๆ ขัด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สั่งสม จนตกผลึกเป็นตัวตนของความเป็นคน โดยมีใจ เป็นแกนของการกระทำ ซึ่งศิลปินจะดำรงอยู่ไม่ได้เลย ท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัว หรือชีวิตที่มุ่งมั่นบนฐานวัฒนธรรมบริโภคนิยม มิติ ครูหมอ ตายาย เป็นมิติทางจิตวิญญาณของท้องถิ่นต่อความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งที่สั่งสมเรื่อยมา จนสร้างคุณค่าผูกติดกับวิถีชีวิตผู้คนตลอดมา มิใช่เป็นแค่เพียงสินค้าในตลาดเศรษฐกิจของทุนนิยมเสรีเท่านั้น

สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านหูโตน...รำมโนราห์
น้าใบบอกว่า “...มาทำเรื่องศิลปินพื้นบ้าน เพราะเกี่ยวกับสายเลือดเชื้อสายตายาย ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษปู่ย่าตายาย สมัยโบราณ ชุมชนบริเวณนี้มีการนับถือตายายทุกครัวเรือน โดยเฉพาะตายายเชื้อสายมโนราห์”
มโนราห์มีความเชื่อพื้นฐานเรื่องการสืบทอดทางสายเลือด ที่เป็นสื่อเชื่อมผู้คนเข้าหากัน เข้าหาความสุข ยิ่งลูกศิษย์รำดี ตีเครื่องเข้าจังหวะ จิตเต็มตื่น ทำให้มีเรี่ยวแรง มีกำลังใจมาก ยิ่งทำให้มีความสุข
ผลของกิจกรรมการฝึกสอนมโนราห์ที่ชุมชนหูโตน จากการสอบถามผู้เข้าร่วมบอกว่า “...รำมโนราห์เพราะใจรักด้านการร่ายรำและมีเชื้อสายมโนราห์ ทั้งชอบท่าทางและบทกลอน รำได้ไม่ยากเข้าใจง่ายถ้ามีความตั้งใจฝึกหัด ตอนนี้รำได้ทั้งหมด ๑๒ ท่าพื้นฐาน คือ ท่า ๑. ท่าช้างชูงวง ๒. ท่าขี้หนอยน้อย ๓. ท่าสอดสร้อยมาลา ๔. ท่าช้างสารหว่านหญ้า ๕.ท่ารำท่าสูงสุด ๖. ท่ารำเขาควาย ๗. ท่ากระต่ายชมจันทร์ ๘. ท่าประถม ๙. ท่าจีบชายพก ๑๐. ท่าผาหลา ๑๑. ท่าเพียงไหล่ ๑๒. ท่าบัวตูมบัวบาน ได้รำมโนราห์แล้วรู้สึกภูมิใจ ผู้ชมปรบมือให้และตอบรับเป็นอย่างดี รำแล้วมีความมั่นใจมากขึ้น และเชื่อว่ามโนราห์ศิลปินพื้นบ้านขณะนี้ไม่มีวันสูญหายไปจากผู้ฅนหูโตน”
มโนราห์ใบย้ำว่า การรำมโนราห์เป็นของโบราณ ต้องเคารพตามภาษิต เช่น วันไหนควรแสดงวันไหนไม่ควรแสดง หากคิดแต่ให้ได้เงินอย่างเดียวการรำมโนราห์จะทำให้เราได้รับเคราะห์กรรม ทำมาหากินไม่ขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายก็คือว่า ทำให้การดำเนินชีวิตไม่พบกับความอยู่เย็นเป็นสุขนั้นเอง

ร่วมเรียนรู้ฝึกหัดดนตรีไทย
เป้าหมายของการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าหากเด็กและผู้ใหญ่มีความรู้เรื่องนี้ จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามโอกาสต่างๆและที่สำคัญคือ เมื่อได้ใกล้ชิดกับดนตรีไทยทำให้ทุกคนสนุกร่าเริง ปัจจุบันคนที่เล่นดนตรีไทยในประเภทต่างๆได้ รวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ๑๐ – ๑๕ คน กระจัดกระจายอยู่ในชุมชน การเรียนรู้และการฝึกหัดเป็นความสนใจเฉพาะบุคคล เป็นอิสระไม่ได้มีใครบังคับ
พอถึงบ่ายวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่ศาลาเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้านชุมชนหูโตน หมวดจิต อดีตนายทหารวงดุริยางค์กองทัพภาคที่ ๔ ได้บรรเลงเพลงดนตรีไทยก่อนทำการสอนทุกครั้ง วันนี้ได้สอนเด็กๆ และผู้เรียน ในการตั้งเสียงดนตรี ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ยเสียงซอล-เสียงเร เสียงหลัก การเทียบเสียง การใช้นิ้วแต่ละนิ้วกับเสียงที่ปรากฏ การอ่านตัวโน๊ต ที่มี ๘ ชั้น ๔ จังหวะ เป็นเสียงสำคัญที่สุดและเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายได้ให้การบ้านกับผู้เรียน กลับไปฝึกฝนบรรเลงเพลงตามตัวโน๊ต เช่น ลาวร้อย ๒ ชั้น ลมพัดชายเขา ๒ ชั้น ลาวต่อนก ๒ ชั้น แขกปัตตานี ๒ ชั้น ฯลฯ เวลาผ่านไป ๖ เดือน สมาชิกวงดนตรีไทยบ้านหูโตนก็ฝึกได้ ๒๕-๓๐ เพลงและสามารถออกตระเวนเล่นตามงานการกุศลและงานในโอกาสต่างๆได้
หลายคนสงสัยเหมือนกันว่า เด็กๆ และคนเหล่านี้มาเล่นดนตรีไทยไปทำไม ทั้งที่กระแสสังคมในปัจจุบันมันน่าจะหมดสมัยไปแล้ว แต่ก็ได้คำตอบที่มีความหมายน่าคิดอยู่ว่า “...ก็เล่นหนุกๆ บายอกบายใจ...” สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ไปโดยตัวของมันเอง เมื่อดนตรีของชุมชนไปเล่นที่ไหน ทำให้คนบ้านหูโตนภูมิใจ พร้อมกับได้รับคำยกย่องว่า เป็นชุมชนที่มีความพร้อมเพรียง สามัคคี รักกัน และคนที่เล่นได้ เชื่อว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์
นายเด่นชัย พันธุ์เกตุ สมาชิกเยาวชนวงดนตรีไทยบ้านหูโตนบอกว่า “...เล่นดนตรีไทยแล้วทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสมาธิความดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การฝึกฝนทำให้จิตใจประณีตละเอียดอ่อน จิตใจดี ไม่หยาบกระด้าง อันเกิดจากการรุกเร้าของปัญหานานานัปการในสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหามากมายนับไม่ถ้วน”
“การเรียนรู้การฝึกดนตรีไทยเป็นพื้นฐานหรือเป็นองค์ประกอบของศิลปินพื้นบ้านแขนงอื่นๆ”

ว่าบทหนัง...นั่งข้างนา...สื่อภาษาไอ้เท่ง
ทุกๆ ค่ำคืนที่ชุมชนหูโตนจะได้เสียงคณะหนังตะลุงฝึกหัดมีนายหนัง ๒ คน อาจารย์กับศิษย์และลูกคู่ ๗ – ๘ คน ดังมาจากโรงหนังกลางของชุมชนที่ตั้งอยู่ในศาลาประชุมของหมู่บ้าน ตรงข้างๆ นาจะมีกบเสียงกบเขียดร้องให้จังหวะเป็นการเพิ่มสีสันตามธรรมชาติอย่างลงตัว ฟังเสียงทับ ขับเสียงโม่ง ตะ...เท่ง...ปะ ผสมกับเสียงออกบทดังขับกล่อมคนในชุมชนด้วยสารพัดเนื้อหา ทั้งเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ธรรมะธัมโม เด็กและเยาวชน การรักษาดูแลสุขภาพ และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ
ชาวบ้านหูโตนเล่นหนังตะลุงเพื่อให้ความบันเทิงกับคนในท้องถิ่นแทบทุกคืน งดเพียงวันอาทิตย์วันเดียว หนังตะลุงจึงถือเป็นสื่อสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเวลาหนังกางผ้าใบเพื่อฉายหนัง มีทั้งเด็ก คนแก่มานั่งแลหนัง(ดูหนัง) นายหนังเป็นคนในชุมชนนั่นเองที่มาหัดเช่นขับบทผิดบ้างถูกบ้างก็ยังมีคนฟัง บางทีดนตรีไม่เข้าจังหวะก็เล่นกันจนเข้าจังหวะ เล่นกันแบบหนังยังไม่เข้ารูป เสียงไอ้เท่งยังไม่เป็นเสียงไอ้เท่ง แต่ก็เรียกเสียงฮาอย่างครึกครื้น ที่สำคัญเล่นกันเกือบทุกคืนทั้งคนเล่นและคนชมไม่ยอมถอย เรียกได้ว่าหนังลุงอยู่ในสายเลือด
เหมือนกับว่า เสียงที่ดังขับกล่อมฅนหูโตนทุกค่ำคืนเป็นภาษาชีวิต ที่ปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นตื่นยืนขึ้นสร้างเสริมสุขให้กับตัวตนและคนอื่น ด้วยภาษาไอ้เท่งที่พูดตรงไปตรงมา แต่ทว่าเข้าถึงชีวิต จิตวิญญาณของคนปักษ์ใต้ ดั่งในบทความของอาจารย์เปลื้อง คงแก้ว กวีปักษ์ใต้ที่ใช้นามปากกา “เทือกบรรทัด” เขียนไว้ว่า “เวทีชาวบ้านปักษ์ใต้: ต้องใช้ภาษาไอ้เท่ง”
“...ภาษาไอ้เท่งคือภาษาที่มีกลิ่นอายแห่งความเป็นท้องถิ่นภาคใต้สื่อลงไปในหัวใจของความเป็นคนปักษ์ใต้ ต้องภาษาที่ไม่เวิ้งว้างห่างไกลจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เมื่อพูดก็ได้ภาพ เช่น “อยู่กันแบบบายดี เป็นพี่เป็นน้องกัน” ฟังแล้วนึกเห็นภาพ ส่วนคำว่า “สุขภาพองค์รวม” ฟังแล้วล่องลอยห่งไกล แม้ว่าจะเข้าใจแต่ก็ไปไม่ถึงเขตแดนแห่งความรู้สึกนึกคิด อันเป็นปฐมเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง...”
ว่ากันว่า การสื่อระหว่างกันสามารถทำให้ผู้สงสารกับผู้รับสารห่างไกล – ใกล้ชิดกันได้ เพราะภาษาที่ใช้นั้นห่างไกลไปจากความรู้สึกนึกคิด นั้นเอง
“สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” หลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่ภาษาไอ้เท่งที่บ้านหูโตนเรียกอาการนี้ว่า “อิ่มอกอิ่มใจ” อันเป็นความสุขที่ถูกกระตุ้นจากส่วนลึกข้างใน เมื่อเกิดขึ้นก็ไหลเวียนแผ่ซ่านทั่วทุกอณูของร่างกาย เพราะอยู่ในภาวะ “ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว” ใจสบายจึงส่งผลถึงพลังความแข็งแรงของร่างกาย และเรื่องนี้จะรับทราบได้อย่างลึกซึ้งต้องรับสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น
ดั่งปรากฏการณ์การบำบัดด้วยจิตที่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะ อย่างกรณีชาวบ้านหูโตนที่ป่วยด้วยโรคความดันสูงมาเป็นเวลานาน เมื่อได้มาร่วมวงเล่นหนังตะลุงอาการของโรคกลับค่อยๆ ลดลงอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ รู้แต่ว่าอารมณ์แจ่มใสและจิตใจเบิกบาน รู้สึกกระชุ่มกระชวยเหมือนยังไม่ป่วย
นอกจากการสื่อสารภาษาไอ้เท่งและปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณ ชาวหูโตนยังเชื่อกันว่า ภาษาของฅนหูโตนภาษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะเป็นสื่อภาษาที่ทำให้เข้าใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความรักสามัคคีของคนในชุมชน และภาษานี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย ๔ ประการ ๑. ตัวศิลปินพื้นบ้าน ๒.ลูกคู่ ๓. ผู้ชม ๔. ผู้ให้การสนับสนุน
นอกจากนั้นแล้วยังต้องยึดหลักปฏิบัติ เพื่อการดำรงอยู่ของศิลปินพื้นบ้านอย่างครบถ้วน คือ ๑.ศิลปะ ๒.พิธีกรรม ๓.การเล่น ๔.ขนบ ๕.ธรรมเนียม ๖.จารีต ๗.ประเพณี ทั้ง ๗ ประการ ต้องได้รับการปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน มิเช่นนั้นแล้ว ความหมายและคุณค่าของศิลปินพื้นบ้านจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ พลังจะลดน้อยถอยลง ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เป็นศิลปินพื้นบ้านที่แท้จริงไม่ได้เลย

สืบทอดวัฒนธรรม...หัดหนังให้เยาวชน
โรงหนังบ้านหูโตน ปลูกสร้างง่ายเพื่อฝึกหัดให้กับเยาวชนและคนในชุมชน ด้วยการช่วยกันหาอุปกรณ์การแสดงเท่าที่หามาได้ ช่วยกันตัดรูปตัวหนัง ตัดจอ เสาะหาเครื่องหนังตะลุง และจัดลานเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้การฝึกแม่ไม้การแสดงหนังตะลุงกับอาจารย์บุญธรรม เทิดเกียติชาติ โดยเฉพาะแม่ไม้ ๕ อย่าง คือ ๑. นิทาน การเล่านิทาน ๒. ระดับเสียง ๓. ลูกคู่ ๔. เชื้อสาย ดีเอ็นเอ ๕. หลกใส่เหล็ก(ตะลกต้องมีธรรมะกำกับ) ถือเป็นขันธ์ ๕ ของการแสดงหนังตะลุง หากปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ลูกไม้การแสดงหนังตะลุงจะเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน และเป็นการสืบสานย่านครูหมอให้ดำรงศิลปะพื้นบ้านของฅนหูโตนให้คงอยู่ต่อไป
นายเตือน พันธุเกตุ บอกเล่าว่า “...เพื่อต้องการค้นหาว่า ใครสายเลือดอะไร ตอนเป็นเด็กไม่รู้ว่าแต่ละคนมีสายเลือดไหน เมื่อทำกิจกรรมเรื่องศิลปินพื้นบ้านทำให้รู้ว่า แต่ละคนมาจากปู่ย่าตายายไหน เป็นการให้เด็กได้เรียนรู้ บรรพบุรุษของตัวเองจากการสืบโยดสาวย่าน” ในบทหนังตะลุงยังให้ไว้ด้วยเรื่องทิศทั้ง ๖ เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เป็นหลักคิด หลักเรียนรู้ในการครองตน และเป็นการประสานความรักความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย



นายชิก อดีตนายหนังตะลุงก็ได้บอกเล่าให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ว่า “...หนึ่งเดือนเต็มแล้วที่ตนเองนอนป่วยกินแต่น้ำมะพร้าว กินข้าวไม่ได้ เมื่อตกลงเล่นหนังตะลุง ทำให้ไข้ที่เป็นอยู่หายวันหายคืน สุขภาพปกติดีขึ้นฉับพลันและเช่นเดียวกันที่หัดหนังตะลุง มาตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี เพราะเป็นการสืบสานมาจากสายเลือด ที่ตนเองเจ็บป่วยเขาบอกว่าเป็นการถูกครูหนังตะลุง หรือครูหมอหนังตะลุงลงโทษให้เจ็บไข้ป่วยหากไม่ทำการแสดงหรือบูชาให้ถูกต้อง”
นายชิกยังบอกอีกว่า “...การเป็นศิลปินลักษณะนี้ หากมีลูกศิษย์มารับช่วงต่อ ถือได้ว่านอนตายตาหลับ เป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต”
นอกจากนี้ชาวหูโตนยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ถึงคุณค่าและความหมายของศิลปะพื้นบ้านที่ถือได้ว่าเป็นเกราะป้องกันชุมชนให้เข็มแข็ง ป้องกันเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข และที่สำคัญคือสุขภาพจิตของคนในชุมชนดีขึ้น อันเป็นวิถีชีวิตต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต เรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง แบบที่เรียกว่าหัดในไถ ทำให้เกิดการแตกหน่อต่อยอด เกิดความงามดีความงามในชุมชนที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นการขยายสัมพันธ์ ขยายความสุขด้วยการพูดคุยกันมากขึ้น สร้างความสนิทสนมกันมากขึ้น ให้ความรักความผูกพันแก่กันและกัน ผู้ใหญ่ฟังลูกหลานมากขึ้น บุคคลและหน่วยงานภายนอกให้การสนับสนุน และเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ชุมชนหมู่บ้านข้างเคียง เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีเรียนรู้ ทำให้มีความรู้ความผูกพันกัน
หากชุมชนหูโตนมีคนเล่นดนตรีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ในเวลาที่ใครติดภารกิจอะไร ก็ยังสามารถดำเนินการแทนกันได้ ทำให้ชุมชนอื่นๆ รู้จักชุมชนหูโตนเพิ่มมากขึ้น ความภูมิใจจะเกิดขึ้นกับชาวหูโตนทุกๆ คนและเพื่อนบ้านข้างเคียง และเป็นที่น่าภูมิใจที่เด็กและเยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งที่ดีดีให้กับบ้านหูโตนบ้านเกิดของตนเอง
เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดความร่วมมือในชุมชน เกิดความสนิทสนมเป็นกันเอง เพราะหูนโตนมีรากฐานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ผูกยึดโยงกันไว้ ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันที่ว่า
“งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมเป็นงานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุและเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ของความเจริญด้านอื่นทั้งหมดและเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้สืบไป”

ณ วันนี้เพลงโตน ตรงข้างริมท้องทุ่งนา กลางชุมชน ห้อมล้อมด้วยทิวป่าไม้สีเขียวสดใส ถัดไปแลเห็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อน โอบอุ้มด้วยผืนแผ่นท้องฟ้าอันกว้างไกล เสียงโหม่ง ฉิ่ง ขลับ กลอง ซอ ปี่ และลำนำคำกลอน เป็นเสมือน การเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ของคนบ้านหูโตนในยุคปัจจุบัน เพื่อส่งทอดผ่านสู่ลูกหลานในอนาคต ให้ดำรงอยู่สืบไปชั่วนิรันดร์

for ever

for ever