ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เมื่อปลงใจเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

วันก่อนมีเพื่อนคนหนึ่งส่งข้อความมาปรึกษาว่า ทำอย่างไรดี ชีวิตนี้ทำไมหาความเป็นธรรมไม่ได้เลย สังคมมีแต่ความเห็นแก่ตัว คนทำงานขยันขันแข็งไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีแต่ระบบพวกพ้อง เป็นเด็กของคนนั้นของคนนี้ คนไม่ทำงานกลับได้ดี ยิ่งในระบบราชการยิ่งมีมาก ถ้าเช่นนี้จะดำรงตนอย่างไรดีในสังคมอย่างนี้

พอฟังปัญหาผมก็แทบจะตอบว่า มันก็เป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็จะเป็นไปอย่างนั้น ตามเหตุตามปัจจัยของมัน ทุกข์กับมันแล้วได้ประโยชน์อะไร อย่างนี้หลายคนคงยากเข้าใจ เพราะเรื่องนี้มันเป็นจริงสัมผัสอยู่จริงในสังคมที่กำลังดำเนินไป สำหรับข้าราชการคนทำงานอุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนกลับไม่มีที่ยืนในสังคมข้าราชการด้วยกัน ยิ่งหัวหน้าไม่เห็นด้วย ก็จะถูกกลั่นแกล้ง เพราะจะทำให้เป็นข้อเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องทำงานหนักขึ้น ยิ่งทำไปมากขึ้นก็ยิ่งเหนื่อยแถมถูกกดดันจากเพื่อนร่วมงานด้วย เงินก็ไม่ได้ ความชอบก็ไม่มี ขั้นก็ไม่เคยเลื่อน เพราะไม่มีเวลาทำตำแหน่ง คนที่ไม่ทำอะไรมัวแต่ปั่นแต่งผลงานตัวเองกลับได้ดี เห็นๆ กันอย่างนี้จะให้ยอมรับกันได้อย่างไร

อันนี้ไม่ใช่แต่ระบบราชการ ระบบไหนๆ ที่นิ่งแล้วตายแล้วก็เป็นเช่นนี้ บริษัทเอกชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ใด ที่ระบบตายนิ่งก็เป็นอย่างนี้ คือ ระบบไม่ดูแลคนทำงาน เป็นระบบที่ต้องการรายงานแต่ไม่ดูผลงาน คนก็มัวแต่ทำรายงานจนไม่ทำงาน ระบบอย่างนี้ก็ส่งเสริมการเห็นแก่ตัวทั้งระบบ สุดท้ายมันก็ตายไปเอง เป็นอนิจจังเช่นนี้

ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร โดยทั่วไปคนที่ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรเดิมได้ จะไม่มีความอึดอัด ไม่รู้สึกเป็นทุกข์กับการทำงาน และจะไหลไปตามระบบขององค์กรนั้นๆ จะขึ้นสู่จุดที่สูงได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเกื้อหนุนและความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งมีให้ได้ไม่มากคนนัก ก็เหมือนกับรูปพีระมิดที่มีพื้นที่ให้คนยืนได้ไม่กี่คน แน่นอนต้องมีการแข่งขันสูงอย่างเอาเป็นเอาตาย ถามว่าอยากเป็นไปอย่างนั้นไหม แล้วจะไปแค่ไหน เพื่ออะไร เพื่อเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองหรือไม่ แล้วมีแค่วิธีนี้หรือที่จะได้มาซึ่งเรื่องเหล่านี้ ?

บางคนอ้างว่าก็ถนัดเรื่องง่ายๆ แบบนี้ เป็นลูกน้องเขา เป็นข้าราชการลูกน้องประชาชน(ไม่เคยจริง) ทำตามสิ่งที่คนอื่นกำหนดให้มันง่ายดี ไม่ต้องคิดมาก สิ้นเดือนก็มีเงินเดือน ถ้าเราคิดอย่างนี้ คนอื่นก็ต้องคิดอย่างนี้ด้วย เมื่อมีคนคิดอย่างนี้มาก ทรัพยากรที่จะมาดูแลคนเหล่านี้ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นก็ต้องแข่งขันแย่งชิงกัน จึงเป็นธรรมดาที่มีความอึดอัดคับข้อง ช่วงชิงกันสูง ยิ่งในระบบเอกชนที่ต้องเอาตัวเองให้รอดยิ่งมีการแข่งขันกันสูง แต่ระบบราชการเป็นระบบที่ปลอดภัยและมั่นคงสุดๆ ซึ่งถ้าปล่อยให้ไหลไปตามเหตุปัจจัยพาไปเช่นนี้ ก็จะเป็นไปอย่างคนที่เราตั้งข้อสังเกตในตอนแรกอย่างไม่รู้ตัว

สำหรับคนที่มีความเข้มเข็งมั่นคงทั้งจิตใจและร่างกาย สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบนี้ได้ คงไม่ใช่คำพูดที่เกินไป เพราะเรื่องนี้มีให้เรียนรู้กันมากจากมหาบุรุษหลายคนในประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่เราจะเลือกแบบไหน จะปักใจมั่นวางตนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนในเรื่องใหญ่โต แค่เรื่องเล็กๆ เรื่องการทำงาน เรื่องชีวิตสารพัดเรื่อง นั้นหมายความว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นนั้น เราต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าพูดให้ง่ายคือ มี vision ที่ถูกต้อง และมี mission เป็นเหมือนตัวกำกับเป้าหมายให้เกิดการกระทำจริง ไม่ใช่คิดแล้วไม่ทำ ต่อมาต้องมี operation เป็นกระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีสติคอยระลึกรู้ทุกขณะการกระทำ มีสมาธิอดทนจดจ่อกับการงาน นี่คือเรื่องของอริยมรรคมีองค์แปดที่พุทธศาสนาสอนไว้ โดยไม่ต้องไปเรียน MBA ที่ไหนให้เสียเงินเป็นแสนๆ แต่ทั้งหมดจะได้ผลแค่ไหนก็ยังมีอีกหลายเหตุปัจจัย ขนาดในห้องทดลองที่ควบคุมเหตุปัจจัยทุกอย่างแล้วยังเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะยังมีเหตุปัจจัยที่เราคาดคิดไม่ถึงอีกมาก แต่สำหรับคนที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต หรือมีความรอบรู้ จะเข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ ได้มาก และสามารถควบคุมปัจจัยแห่งความสำเร็จได้ดี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องเดียวกัน ทำไมคนหนึ่งทำสำเร็จได้ผล ทำไมอีกคนถึงไม่ได้ผล และที่สำคัญผลของแต่ละคนที่ได้รับก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็เป็นสุขกับความไม่สำเร็จ เพราะได้เข้าใจข้อผิดพลาดและเงื่อนไขชีวิตของตนเอง บางคนทำสำเร็จแต่ล้มเหลวในชีวิตของตนเองเพราะไหลไปกับความไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้จักตนเอง ทำงานจนถึงอายุสี่สิบห้าสิบแล้วถึงรู้ว่าตัวเองไม่ชอบ จะถอยหลังก็ไม่ได้ จะเดินหน้าก็เป็นทุกข์ เช่นนั้นความสำเร็จจึงไม่ใช่เครื่องพิสูจน์หนทางพ้นทุกข์ข้อบีบคั้นของชีวิตเสมอไป

กลับมาที่เหตุปัจจัยของการทำงานในระบบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อันนี้เราจะโทษระบบอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าทุกคนโทษระบบโทษคนอื่นก็ไม่มีใครทำอะไร นั่นหมายความว่าระบบนี้ก็รอวันสลายไปเท่านั้น แต่ถ้ามีใครลุกขึ้นมาทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แค่คนตัวเล็กๆ อย่างนิทานยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาที่ท่องกันสมัยเด็กว่า ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้าปล่อยให้นกกามากิน หลานกลัวยายมายายตี ตามาตาตี หลานจึงไปบอกนายพรานให้ไปยิงนก นายพรานบอกว่าไม่ใช่ธุระของข้า หลานจึงไปบอกให้หนูไปกัดสายธนูนายพราน หนูบอกไม่ใช่ธุระของข้า หลานจึงไปบอกแมวไปกัดหนู...บอกหมาไปกัดแมว...บอกไม้ค้อนไปยอนหัวหมา...บอกไฟไปเผาไม้ค้อน...บอกน้ำไปดับไฟ...บอกตลิ่งไปถมน้ำ...บอกช้างไปพังตลิ่ง...บอกแมลงหวี่ไปตอมตาช้าง เรื่องนี้แมลงหวี่บอกธุระไม่ใช่ก็จะทำให้เรื่องขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยตามเหตุปัจจัยไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าในทางกลับกัน แมลงหวี่อาสาไปตอมตาช้าง ช้างกลัวจึงไปพังตลิ่ง...ไปจนถึงนายพรานยอมไปไล่นกกาให้ สุดท้ายเรื่องก็จบ เพราะทุกคนลุกขึ้นมาทำหน้าที่ ยิ่งเรื่องนี้บอกถึงคนเล็กคนน้อยที่ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในสังคมนี้ที่ใหญ่โตซับซ้อนได้ ไม่ใช่ทำตัวเหมือนหลานในนิทาน

ทั้งนี้สำหรับคนที่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องในสังคมที่บิดเบี้ยวนี้ แน่นอนต้องพบกับแรงกดดันแรงปะทะทั้งต่อตนเองและคนอื่น ไม่ว่าความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ผลที่ตามมา ว่าทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี ในเมื่อเพื่อนร่วมงานและคนอื่นไม่ได้เห็นอย่างที่เราเห็นจึงไม่แปลกที่ค่าของผลงานเราจึงไม่มีค่าในสายตาของคนอื่น ดังนั้นถ้าเราเห็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพื่อสร้างสังคมในการทำงานแบบใหม่ ต้องมีความอดทนทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพิ่มปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใครจะมองเห็นค่าหรือไม่เห็นไม่สำคัญเท่ากับเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะผลของความถูกต้องจะพิสูจน์ตัวมันเองในอนาคต ถึงวันนี้เหตุปัจจัยจะไม่เพียงพอในการเปลี่ยนแปลง เพราะเราพึ่งมาใส่ปัจจัยที่ถูกต้องไปไม่นาน ในขณะที่เขาซึมซับความบิดเบี้ยวนี้มาตลอดชีวิต จึงต้องเห็นใจเขา เข้าใจเขา ให้โอกาสเขาที่เขายังรับรู้ไม่ได้ แต่ท้ายสุดต้องรู้จักปล่อยวาง เมื่อเราประเมินแล้วว่าเกินกำลัง ในการทุ่มเทก็ต้องปล่อยวางไปตามเวรตามกรรม เมื่อใครทำกรรม(การกระทำ) ใดไว้ก็จะได้ผลกรรม(การกระทำ)ตามสิ่งนั้น

“กมฺมุนา วตฺตตีโลโก....สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

ไพโรจน์ สิงบัน
วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔

for ever

for ever