ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อถึงคราวต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก

เมื่อเดือนก่อน ผมได้เขียนบทความเชิงแชร์ประสบการณ์เล่าบทเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องแม่ โดยความตั้งใจในส่วนลึกก็เพื่อส่งดวงวิญญาณของแม่ให้ไปสู่สุคติ และให้กำลังใจกับเพื่อนพี่น้องที่แม่ได้จากไปหรือกำลังจากไป และตั้งใจจะเล่าต่อเรื่องความยุ่งยากทรมานในขั้นตอนการรักษายื้อชีวิตในหัวข้อ "โอกาสของคนรากหญ้าในระบบการแพทย์ที่แสนยิ่งใหญ่" ที่จริงไม่ได้จะกระทบวงการแพทย์ไทย ที่เป็นนักบุญช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยอย่างไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อย เพราะผมก็รู้อยู่เต็มอกว่า ที่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะบุญคุณของหมอ เมื่อคราวที่ประสบอุบัติเหตุ แต่ที่อยากจะแชร์คือเรื่องความไม่เข้าใจ การรู้ไม่หมด หรือการไม่รู้เรื่องอะไรเลยในขั้นตอนการรักษาทำให้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง จนแทบเป็นบ้าได้ หรือเกิดปัญหาใหม่ตามมา อันนี้ผมเห็นเป็นปัญหาจริงจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรื่องนี้ขอทิ้งประเด็นไว้แค่นี้ก่อนค่อยมาต่อกันในคราวหลัง

ส่วนที่อยากจะนำเสนอคราวนี้ คือเรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อถึงคราวต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ ถ้าใครยังไม่เคยสัมผัสก็คงยากรู้ได้ แต่เรื่องนี้คงไม่มีใครหนีพ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องประสบเรื่องนี้ขึ้นมา เพียงขอให้มีสติพอ มีกัลยาณมิตรให้กำลังใจและชี้แนะก็จะผ่านไปได้ด้วยปกติ และเมื่อกลางเดือนก่อน หลังจากที่ผมได้มีโอกาสนึกทบทวนกับตัวเองในเรื่องนี้อยู่พอดี เพื่อนธรรมภาคีที่ช่วยงานออกแบบปกหนังสือของสวนโมกข์กรุงเทพก็ได้ส่งอีเมลมาปรึกษาในเรื่องนี้ ผมเห็นว่าเรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์กับหลายท่านที่ประสบกับเรื่องนี้อยู่ จึงขออนุญาติลงบทสนทนาดังกล่าว แต่จะสงวนบางส่วนไว้ไม่ให้กระทบกับบุคคลอื่น และขออนุโมทนากับบทเรียนของทุกท่าน ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาเรียนรู้เข้าถึงความจริงของชีวิตด้วยกันทุกคน

เรียนคุณไพโรจน์

เนื่องจากมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งกำลังเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะคุณแม่ของเขากำลังป่วยหนักอาการทรุดมาก รอเวลาที่จะสิ้นลม ดิฉันอยากให้เขาได้ฟังหรืออ่านธรรมะเพื่อปรับสภาพจิตใจที่กำลังย่ำแย่ให้สงบทั้งตัวเขาเองและตัวคุณแม่ของเขาก่อนที่จะสิ้นลม (หากท่านยังพอได้ยิน)

ดิฉันค้นดูใน internet พบบทความของพระไพศาล วิสาโล ตามลิงก์ด้านล่างนี้ http://www.visalo.org/article/D_dhammakangTieng.htm
จึงขอรบกวนปรึกษาคุณไพโรจน์ว่าเหมาะสมสำหรับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ อย่างไร หรือหากคุณไพโรจน์มีบทความหรือหนังสือธรรมะอื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่านี้
สำหรับคุณแม่ให้เตรียมตัว และสำหรับรุ่นน้องให้ทำใจ รบกวนโปรดแบ่งปันให้ดิฉันนำไปมอบให้กับน้องคนนี้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ


ตอบ
น่าจะเหมาะสมครับ เพราะท่านพระอาจารย์ไพศาล ท่านทำเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างมีสติ เขียนหนังสือออกมาชื่อ ก่อนอาทิตย์อัสดง เรื่องนี้ก็ดีครับ ที่สวนโมกข์กรุงเทพมีครับ ถ้าต้องการจะจัดส่งให้ ส่วนเรื่องอื่น มีธรรมะสำหรับคนเจ็บไข้ของอาจารย์พุทธทาส ฯลฯ

ฝากถึงเพื่อนพี่น้องที่กำลังทุกข์ครับ

ในความเห็นของผม เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสอย่างดีที่จะได้ฝึกปฏิบัติธรรม และคงไม่มีโอกาสใดดีกว่านี้แล้ว ผมก็เคยผ่านเรื่องนี้มาเมื่อสองปีก่อน แม่ได้จากไปอย่างสงบ ตอนแรกก็พบปัญหาเหมือนกับทุกคน ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความกังวลสารพัดอย่าง ส่วนแม่ก็ต้องทรมานทั้งทางกายและใจ ไม่ยอมปล่อยวาง เพราะห่วงคนข้างหลัง ผมต้องหาสารพัดวิธีในการช่วยให้คลายทุกข์ อ่านหนังสือธรรมะให้ฟังท่านก็ไม่ค่อยฟัง สุดท้ายคนที่ทุกข์หนักคือคนรอบข้าง เต็มไปด้วยอาการโศกเศร้ากังวลให้ท่านเห็น ท่านก็ยิ่งห่วงและไม่ปล่อยวางไปใหญ่.

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ แทนที่จะแก้ปัญหาความทุกข์ใจให้กับแม่ ผมกลับมาทำกับตนเองและญาติพี่น้อง ลองตั้งสติใหม่ ทบทวนตัวเองว่าเราเป็นทุกข์เพราะอะไร กลัวแม่จากไปใช่ไหม พอนึกก็ตอบตัวเองได้ว่าใช่ แต่พอคิดทบทวนก็เริ่มทำใจได้ เข้าใจว่าไม่มีใครฝืนความตายได้ คิดไปคิดมาก็พบว่า ทั้งหมดเกิดจากความไม่พร้อมทางใจของเราเอง เกิดความกังวลที่ไม่ได้ดูแลแม่ให้ดีที่สุด จากความไม่รู้ว่าถึงเวลาที่แม่จะจากไปจริงๆ หรือไม่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทรมานสุดๆ เป็นการต่อสู้ภายในตัวเองอย่างถึงที่สุด ใจหนึ่งก็คิดว่าแม่ยังอยู่กับเราได้ อีกใจหนึ่งก็บอกว่า แม่เหนื่อยมามากแล้วให้หลับให้สบายเถิดไม่ต้องกังวลเป็นห่วงอะไร แต่ผมก็โชคดีที่มีกัลยาณมิตรที่เป็นหมออยู่หลายท่าน ซึ่งโดยทั่วไปญาติคนไข้จะมีโอกาสรู้สภาพที่แท้จริงของคนไข้น้อยมาก เพราะหมอคิดว่าญาติคนไข้ไม่ค่อยรู้เรื่องภาษาหมอ และหลายครั้งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ญาติพี่น้องของผมหลายคนก็กังวลและเป็นทุกข์เพราะไม่รู้เรื่องชัดเจนในอาการและคิดไปสารพัดอย่าง กล่าวหาว่าหมอไปสารพัดเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมก็เลยแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ให้เฉพาะผมเป็นคนประสานพูดคุยกับหมออย่างตรงไปตรงมา แล้วมาอธิบายให้ญาติพี่น้องคนอื่นๆ เข้าใจอาการอย่างแท้จริง และเมื่อหมอจะทำการสิ่งใดที่มีผลต่อชีวิตและร่างกายก็ขอให้แม่และพวกเราได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ จึงทำให้ทุกข์เรื่องนี้ก็เลยคลายไปอีกขั้นหนึ่ง.

กรณีต้องตัดสินใจในช่วงวิกฤติยื้อชีวิตของแม่
เมื่อแม่ดีขึ้นและกลับไปพักฟื้นที่บ้าน เกิดเดินสดุดเป็นแผลถลอกนิดเดียว แต่ด้วยความชล่าใจในการดูแล เรื่องโรคเบาหวานระยะสุดท้าย ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ถึงจะพาไปพบหมอและทำแผลล้างแผลกันอยู่ทุกวัน ได้มีการขูดล้างแผลให้แผลสดไม่เน่าเปื่อยจากการตายของปลายประสาทที่ไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้ต้องขูดไปเรื่อยๆ จนนิ้วเท้าหายไป ตอนแรกแม่ยังแข็งแรงพอเดินได้ แต่เมื่อแม่รู้สึกตัวว่านิ้วเท้าหลุดไปก็ทุกข์มาก อาการทรุดลงทันที ไม่สามารถยอมรับสภาพที่ตัวเองจะจากไปโดยไม่ครบสามสิบสองได้ จึงไม่ยอมให้หมอทำการรักษาอะไรทั้งสิ้น ไม่ยอมตัดเท้า ไม่ยอมรับอาหารทางสายยาง ทำให้หมอ พยาบาล และพวกเราปั่นป่วนวุ่นวายกันไปหมด
แต่เมื่อตั้งสติได้ ผมก็คิดใหม่ มองว่าชีวิตก็เป็นของแม่ เมื่อแม่ปราถนาอย่างนั้นแล้วเราจะไปดึงดันเพื่ออะไร จึงปรึกษากับญาติพี่น้องว่าจะทำตามใจแม่ คือเอาแม่กลับบ้าน แต่หมอที่รักษาเองก็ยังไม่ยอม บอกว่าต้องรักษาตามแบบเขาและมีสิทธิ์อยู่ได้อีก ๕ - ๑๐ ปี แต่ถ้ากลับไปอยู่สภาพอย่างนี้ หมอบอกว่าจะอยู่ได้ไม่ถึงเดือนแน่ คราวนี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าตัดสินใจผิดก็เหมือนกับพวกเราฆ่าแม่ทางอ้อม ต้องคิดกันอย่างหนัก พวกเราก็คุยกันหลายรอบ ถามความต้องการแม่ แม่ก็ยืนยันกลับบ้าน แต่แม่ก็กลัวตาย และกลัวที่สุดคือกลัวร่างกายไม่ครบสามสิบสอง แต่ผมก็คิดว่าอีกอย่างที่แม่กังวลคือเรื่องค่ารักษาที่นับวันยิ่งหมดไปมาก
ผมก็ปรึกษากับหมอหลายคน โดยเฉพาะคุณหมอบัญชาที่ช่วยชี้แนะและประสานช่วยเหลือให้ปรึกษากับหมอผู้รักษาอย่างตรงไปตรงมา และนำมาบอกเล่าอาการให้แม่ฟัง เมื่อแม่รู้อาการที่แท้จริงของตัวเอง แม่ก็บอกเลยว่าขอกลับบ้าน ตายก็ขอให้ตายที่บ้าน พวกเราส่วนหนึ่งคัดค้านส่วนหนึ่งเห็นด้วย แต่เมื่อคุยกันมากขึ้น อ้างเหตุผลเพื่อให้แม่มีความสงบใจก็เลยตกลงกันได้ว่าให้กลับบ้าน.

เมื่อถึงบ้านก็แบ่งหน้าที่กันเฝ้าดูแล
ต่างคนก็รู้อยู่ว่าแม่จะต้องจากไป จึงขอให้ทุกคนทำใจ จะทำใจได้หรือไม่ได้ แต่อย่างน้อยในช่วงที่ดูแลนี้ห้ามแสดงการการโศกเศร้าให้แม่เห็น นี้เป็นข้อตกลงร่วมกัน และต้องทำใจให้เข้มแข็ง เบิกบานก่อนที่จะเข้าไปพบแม่
อาการของแม่ทานอะไรไม่ได้เนื่องจากลำใส้ไม่ทำงาน ทานได้แต่น้ำกับอาหารสกัดวันละ ๑ ช้อน ส่วนน้ำเกลือก็เข้าไม่ได้ เพราะบวมน้ำตัวเขียวไปหมด เกิดจากไตไม่ทำงาน ตอนที่อยู่โรงพยาบาลจะทรมานมาก คนเฝ้าไม่ได้หลับไม่ได้นอนเหมือนจะตายก่อนคนไข้เอา แต่เมื่อมาอยู่ที่บ้าน ผมก็ไม่ทราบด้วยเหตุใด แม่ลดความทรมานไปอย่างมาก และระบบดูแลเป็นไปแบบดีที่สุดเท่าที่พวกเราจะมีปัญญาทำกันได้ในสภาพของบ้านนอก ญาติพี่น้องเมื่อว่างจากงานแล้วมานอนเฝ้ากันเต็มบ้านเสียงคุยกันสนุกสนานพูดหยอกล้อกันจนแม่หัวเราะได้ แม่เหมือนอาการดีขึ้นๆ สภาพจิตใจเข้มแข็งและพร้อมจากไปได้ทุกเมื่อ พวกเราก็ลืมความกังวลไปเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจว่ามีพลังอย่างมากนอกจากกำลังใจ ก็คือพิธีกรรมต่างๆ ที่ได้ทำร่วมกัน ทำให้เป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกัน พลังนี้ยิ่งใหญ่มาก ตอนเย็นเรามาร่วมสวดมนต์ให้แม่กัน ทำพิธีรับขวัญสู่ขวัญ ญาติพี่น้องก็มากันมาก จากหมอที่บอกว่าจะอยู่ได้ ๑๕ วัน อย่างมากก็ไม่เกินเดือน แต่เมื่อตัดสินใจทำเช่นนี้แม่อยู่ได้ถึง ๓ เดือน และก่อนที่แม่จะจากไปก็ทำให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ถึงที่สุด ให้ทุกคนมาขอขมาลาโทษ สั่งเสียจนถ้วนหน้า ใครมีโอกาสทำอะไรให้ได้ก็ทำกันเลย เช่น บางคนก็ร้องเพลงให้ฟัง บางคนก็สวดมนต์ให้ฟัง บางคนก็เล่านิทานให้ฟัง บางคนมาพัดวีเช็ดตัว บีบนวด สุดท้ายทุกคนได้ทำหน้าที่ของตน จะมากจะน้อยก็ได้ทำหน้าที่.
สำหรับผมเองอยู่ไกล ต้องเทียวไปเทียวมา และไม่ยอมขอขมาลาโทษ สั่งเสีย เสียที ขอเป็นคนสุดท้าย เมื่อคิดว่าเหมาะสมผมก็บอกลา ผมคิดว่าแม่ก็คงรออยู่ เพราะเคยถามตลอดว่ากลัวตายไหม ตอนแรกบอกว่ากลัวมาก เมื่อกลับมาอยู่ในการดูแลของลูกหลานญาติพี่น้อง ก็บอกว่าหมดห่วงแล้ว พร้อมแล้ว สุดท้ายก็บอกว่าไม่กลัวแล้ว.
เช้าวันนั้นก่อนที่แม่จะจากไป ในส่วนลึกของจิตใจผมบอกให้ขอขมาลาโทษ ผมจึงไปหยิบขันดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมาทำพิธี ปากก็พูดไป แต่ใจก็หวิวๆ เมื่อพูดจบก็บอกแม่ให้รอ บอกว่าจะลงไปประชุมที่กรุงเทพเสร็จแล้วจะกลับ แม่ก็ยังรับปากแบบหน้าตาก็สดชื่น แต่พอตอนเย็นผมก็ได้รับโทรศัพท์ว่าแม่ได้จากไปอย่างสงบ จากการดื่มนมหลับไปเอง เหมือนนอนหลับ พวกเราก็ใจหาย แต่ก็ไม่มีใครร้องไห้ ผมเองก็ซึมแต่ก็พูดกันแล้วว่าจะส่งแม่แบบไม่ให้ดวงวิญญาณของแม่ต้องห่วงกังวลอะไร พอนั่งรถกลับก็คิดแต่เรื่องการจัดการงานศพแบบไหนให้เป็นกุศลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายก็ถือศีลและบวชให้ ก็ทำใจได้และจิตก็เป็นปกติมากขึ้นๆ เรื่องนี้ทุกคนก็ต้องผ่าน แต่จะผ่านอย่างไรก็ต้องหาทางของตนเอง ที่ผมเขียนเล่านี้ก็หวังว่าจะเป็นบทเรียนสำหรับคนที่กำลังต่อสู้กับตนเองในเวลานี้กันอยู่
พระอาจารย์หลายคนท่านก็พูดตรงกัน ที่พากเพียรเรียนปฏิบัติกันมาก็เพื่อมาต่อสู้กันในเวลานี้แหละ ไม่ว่าความตายของคนที่เรารัก หรือของเราก็ต้องให้มีสติ สงบ รำงับถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไพโรจน์ สิงบัน
วันแม่ ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

for ever

for ever