ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

WHO AM I ? เราเป็นใคร ? แล้วเรามาที่นี่ทำไม ? กำลังจะไปที่ไหน ?



WHO AM I ? เราเป็นใคร ?
แล้วเรามาที่นี่ทำไม ? กำลังจะไปที่ไหน ?


เชื่อว่านี้เป็นเสียงร่ำร้องจากหัวใจของใครหลายคน อย่างน้อยผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น ที่เหมือนจะรู้ตัวแต่ก็ไม่รู้จักตัวเอง รู้แค่สมมติ จนทำให้บางทีสับสนไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ในตัวเรา หลายคนคงมีช่วงเวลาที่สงสัยอยู่เหมือนกันว่าชีวิตนี้ใครกำหนด เรา พ่อแม่ ครอบครัว สังคม การงาน หรือเงื่อนไขชีวิต ?????

แล้วตัวเราที่แท้จริงมีไหม พุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ ด้วยการลดตัวตน ไม่ยึดติดตัวตน แต่ก็คงยากที่จะมีใครปฏิเสธความคิดเรื่องการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก หรือสร้างอัตลักษณ์ แต่สุดท้ายก็เอามาใช้เพื่อชื่อเสียงเงินทอง แล้วอย่างไหนมันถูก

ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกหลายคนบอกว่าเป็นคนที่ไม่มีตัวตน ซึ่งความหมายไม่รู้ว่าเป็นแบบไร้ตัวตนในสังคมนี้ หรือเป็นแบบไม่ยึดติดตัวตน แต่ก็คงปนๆ กันอยู่ บางทีก็ไร้ตัวตน บางทีก็ไม่ยึดติดหรืออาจจะไม่มีอะไรให้ยึดติดก็เป็นได้ ลองมีเงินหมื่นล้านคงไม่ทำตัวแบบนี้ก็ได้

ความจริง ชีวิตของแต่ละคนก็แตกต่างกัน เงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ สัญชาตญาณเอาตัวรอดออกจากการบีบคั้นของชีวิต ทั้งทางกายและจิตใจ บางคนถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจการเงิน บางคนบีบคั้นด้วยปัจจัยครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่เงือนไขของแต่ละคน

สำหรับคำถามสำคัญเรื่องสัญชาตญาณการเอาตัวรอดนี้ มีข้อจำกัดไหม หรือจะอย่างไรก็ได้ ไม่สนวิธี ไม่อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ธรรมะ กฎกติกาหรือกฎหมาย เพียงเพื่อดิ้นรนเอาชีวิตรอดก็พอ

เรื่องนี้มีใครเคยจำลองชีวิตของตัวเองหรือไม่ ถ้าตกอยู่ในสภาวะต่างๆ นี้ จะจัดการตัวเองอย่างไร
ส่วนผมเคยคิดเรื่องนี้ เพราะมันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในนี้ผมว่าสำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอก หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงทางความคิดภายในตัวเรา จะทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายนอกได้

เมื่อเรามาลองทบทวนบทเรียนชีวิตของตนเองที่ผ่านมา จะพบว่ามีช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่สำคัญ ๆ อยู่ จนอาจเป็นปัจจัยกำหนดชีวิตของเราในอนาคตได้ ถ้าตัดสินใจผิดไม่เข้าใจด้านในของตัวเองที่เพียงพอ ก็จะทำให้เสียเวลาเรียนรู้นาน หรือหลงเดินทางผิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดเป็นทุกข์กับชีวิตไปตลอด เรื่องนี้เหมือนทุกคนจะยอมรับ แต่ก็น้อยคนที่จะเอาจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน ส่วนมากจะมุ่งการเปลี่ยนภายนอกเป็นส่วนใหญ่ หรือเปลี่ยนแปลงคนอื่นมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง แล้วมันเป็นไปได้จริงหรือไม่ ถึงแม้จะหาคำอธิบายบอกว่าเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา แต่สุดท้ายการตัดสินใจอยู่ที่เรา

เรื่องนี้ไม่ต้องมีใครตอบ ต่างรู้ด้วยตัวของตัวเองดีอยู่แล้ว แค่จะยอมรับจากจิตสำนึกของตัวเองหรือไม่แค่นั้น ผมได้ยินคำสะกิดใจอย่างมากจากอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้ที่ออกเดินทางค้นหาความจริงของชีวิต อาจารย์บอกว่า “ผมจบ Ph.D. ทางด้านศาสนาและปรัชญามาจากอินเดีย มาสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เหมือนไม่รู้อะไรในชีวิตตนเองเลย ที่ผ่านมาอธิบายทฤษฎีชีวิตจากความคิดให้ลูกศิษย์ฟังเป็นฉากๆ แต่ไม่ได้สัมผัสจากความรู้สึก จึงต้องออกเดินให้รู้สึกเห็นความทุกข์ความสุขจากข้างในตัวเองจริงๆ”

ส่วนตัวผมเองก็เหมือนกับได้สัมผัสชีวิตที่เป็นจริงอยู่หลายกรณี จนส่งผลต่อแนวทางการดำเนินชีวิตอยู่มาก เช่นกรณีพบเห็นการเจ็บตายจากการไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิในภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เห็นถึงความบอบบางของชีวิตมนุษย์ และชีวิตนี้จะมีคุณค่าเมื่อมีความหมายเท่านั้น ถ้าปล่อยเลยไปแบบไม่คิดอะไร ไม่รีบค้นหาความหมายของชีวิต ไม่ให้คุณค่ากับชีวิตตัวเอง เมื่อถึงคราวมัจจุราชมาพรากชีวิตเราคืนก็ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แม้จะยิ่งใหญ่มีเงินทองล้นฟ้า เป็นเทวดาตาน้ำข้าวมาจากไหน ก็ตายกันเกลื่อนกลาดเหมือนมดแมง ทำให้เรื่องนี้ผมนึกถึงชีวิตตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รักอย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็ลืม ไม่รู้หลงไปทำอะไรอยู่ ลืมความรู้สึกนึกคิดในช่วงเวลานั้นไปหมดสิ้น จนมาถึงคราวที่แม่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ความรู้สึกนี้จึงมาเตือนอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องความตายแน่นอนทุกคนก็รู้อยู่เต็มอก ว่าวันหนึ่งต้องมีการสูญเสียคนอันเป็นที่รักอย่างแน่นอน แต่ทุกคนก็หวังว่ายังไม่ถึงเวลาของเรา คงอีกนาน ๆ แล้วเคยมีการเตรียมใจเรื่องนี้หรือไม่ ผมก็เช่นกัน ตอนที่แม่แข็งแรงอยู่ไม่เคยคิดและไม่พยายามคิด แต่เมื่อปัจจัยหลายอย่างส่งสัญญาณเตือนให้ต้องเตรียมตัวเตรียมใจทั้งที่ไม่พร้อมแต่ก็ต้องยอมรับ

ผมเติบโตมาด้วยการโอบอุ้มเรียนรู้จากแม่เป็นส่วนใหญ่ แม่เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่จนยากลืมเลือน ทุกการกระทำของแม่อยู่ในความทรงจำของผมแทบทุกอย่าง เป็นแม่แบบให้เอามาปรับใช้ในชีวิตเมื่อโตขึ้น ถึงแม้พ่อจะพร่ำสอนขนาดไหนในแต่ละเรื่องก็ไม่เหลือในความทรงจำ หรือถ้าจะเหลือก็นึกนานมาก ซึ่งต่างกันอย่างมากกับแม่ ไม่ว่าเรื่องดีไม่ดีจำได้หมด ทั้งที่ก็สนิททั้งพ่อและแม่ อยู่ด้วยกันเท่าๆ กัน จนมาได้ยินคำของท่านอาจารย์พุทธทาสที่บอกว่า “แม่คือผู้สร้างโลก” นี่แหละจึงเริ่มเข้าใจความผูกพันของแม่ลูก เราจะเติบโตมาอย่างไรแม่มีส่วนสร้างเราอย่างมาก แต่หลายคนก็ลืมบทบาทนี้

ด้วยแม่เป็นคนที่ทำงานหนักเหมือนชาย ทำไร่นาสวน ไม่มืดค่ำไม่เข้าบ้าน เอาจริงเอาจังกับการทำงานมาก จนเป็นนิสัยที่ติดตัวผมมาตลอด เป็นคนที่มุมานะในการทำงาน ออกจากบ้านมาเรียนต่อและทำงานที่ภาคใต้จนแทบไม่มีเวลากลับบ้าน เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงาน จนลืมคนข้างหลัง พ่อแม่พี่น้องก็คิดถึงและแสนห่วง แต่ก็คิดว่าคงมีโอกาสสักวันหนึ่งจะได้อยู่พร้อมหน้าทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันเหมือนสมัยเด็ก หวังไว้ปีแล้วปีเล่าไม่เคยทำสักที ผ่านไปห้าปีก็แล้ว สิบปีก็แล้ว จนวันหนึ่งอยากทำขึ้นมาก็ไม่มีโอกาสแล้ว

สมัยที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยที่เราคุ้นเคยกันแบบคนชาวบ้านอีสาน วิถีการแสดงออกเรื่องความรักต่อกันถือเป็นเรื่องขัดเขิน ทั้งที่ก็เข้าใจความต้องการความรักความอบอุ่นต่อกัน แต่ก็ไม่มีใครแสดงออกมา ผมก็เช่นกัน คิดแต่ว่ากลัวแม่เป็นห่วงไม่พยายามโทรหา ไม่คุยด้วยโดยตรงเพราะกลัวว่าเมื่อแม่ได้ยินเสียงแล้วจะพานให้ร้องไห้ไปด้วย เพียงแต่ฝากถามข่าวจากพี่น้องเฉยๆ จนแทบนับการพูดคุยด้วยกันตลอดสิบปีได้ไม่ถึง ๕๐ ครั้ง แต่ที่ผมภูมิใจคือผมกอดแม่กอดน้าอาทุกครั้งที่เจอหน้าไม่ว่าจะอยู่กลางฝูงชนขนาดไหนไม่สนใจ อันนี้ผมทำเมื่อตอนโตแล้ว จากที่ได้ยินน้ากับแม่คุยกันเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่าชอบที่ลูกหลานมากอดแสดงความรัก ผมก็เลยทำเลย จนใครเห็นก็คิดว่าเป็นลูกแหง่ แต่สิ่งนี้แหละที่ทดแทนความค้างคาใจหลายเรื่องที่ไม่ได้ทำ

ผมถามตัวเองว่า ที่เราดิ้นรนทำงานหาเงินหาทองนี้ไปเพื่ออะไร หามาเป็นสิบยี่สิบปีไม่ได้อะไร แถมเสียชีวิตส่วนหนึ่งไปโดยไม่รู้ตัว บางคนทำไปทำมาเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ คือ จากตอนแรกทำงานเพื่อหาเงิน มาเป็นทำงานเพื่อหากินหาใช้ มาเป็นทำงานเพื่อใช้หนี้ สุดท้ายก็เลยหลุดไปไม่ได้ อยากกลับบ้านนอกแทบตายแต่กลับไม่ได้ มีหนี้สินติดตัว ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีทุนพอจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ สุดท้ายชีวิตครอบครัวญาติพี่น้องก็ถูกทิ้งไปโดยปริยาย เหลือแต่ชีวิตแบบตัวใครตัวมันที่ถูกทิ้งกลางกรุงอันแห้งแล้งความรักความอาทร จนบางคนต้องซื้อหาความรักข้ามคืนซึ่งไม่มีจริง

ความโหดร้ายของสังคมแห่งการเอาตัวรอดมันเป็นอย่างนี้ หาความรักความอาทรอย่างแท้จริงยาก จะแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์โลกก็ต้องแอบทำ กลัวถูกหาว่าเป็นคนโง่ ถูกคนเขาหลอก การหลอกลวงมีมากจนเป็นเรื่องปกติ และทุกคนที่เข้ามาในเมืองใหญ่ก็มาเพื่อแสวงโชคตักตวงโอกาสและผลประโยชน์ เพื่อจะกลับไปเสพสุขในสังคมที่สงบสุขแบบเดิม แต่เมื่อมาแล้วก็ถูกเมืองใหญ่กลืนกินจนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่ไป ไม่สามารถถอนตัวออกได้ จึงต้องคอยหาผลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างไม่มีสิ้นสุด แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกทรัพยากรที่เลี้ยงเมืองกรุงมาจากไหน คงหนีไม่พ้นบ้านนอก การที่คิดจะมาขุดทองจากเหมืองกรุงไปเลี้ยงบ้านนอกคงไม่เป็นจริง เป็นเพียงแค่มาเสพชีวิตแห่งความสะดวกสบายในช่วงชีวิตหนึ่งเท่านั้น ก่อนที่จะกลับไปสู่ธรรมชาติที่ชีวิตโหยหาโดยแท้จริง

กรณีแม่ผมก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ความอบอุ่นของสังคมบ้านนอกอย่างลึกซึ้ง เมื่อแม่อายุย่างเข้า ๖๕ สังขารก็เริ่มเสื่อมอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะการใช้งานมาหนัก โรคประจำตัวรุ่มเร้า เข้าโรงหมอบ่อย เงินทองหามาได้ก็หมดไปกับการรักษาตัวเอง ตอนแรกด้วยความห่วงสารพัด แม่ต้องกัดฟันสู้ทนฝืนสังขารไม่ยอมปล่อยวางกลัวการจากไปอย่างที่สุด ลูกหลานพี่น้องก็ต้องเฝ้าเอาใจ ทั้งปลอบและบ่น ทุกข์ไปตามๆ กัน เรื่องอย่างนี้ถ้าจัดการกันไม่ดีคนอยู่ข้างหลังแทบจะประคองชีวิตกันเอาไม่อยู่ ไหนเรื่องค่าใช้จ่าย เชื่อว่าใครมีเท่าไหร่คงทุ่มกันหมดตัวแน่ หรือยืมกันเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว

จากประสบการณ์เรื่องนี้ผมถือว่าโชคดีที่มีกัลยาณมิตรทั้งญาติพี่น้องเพื่อน ๆ ครูบาอาจารย์ คอยให้คำชี้แนะช่วยเหลือ ที่สำคัญกำลังใจจากคนบ้านเดียวกันสังคมเดียวกันไปเยี่ยมไปให้กำลังใจ หยิบยื่นค่ารักษาให้คนละเล็กละน้อยเป็นน้ำเลี้ยงอย่างดี เท่าที่ผมสังเกตคนในหมู่บ้านผม ทั้งหมู่บ้านห้าร้อยกว่าครัวเรือน เห็นหน้ากันเกือบทุกคนไม่มาเยี่ยมที่โรงพยาบาลก็ไปเยี่ยมกันที่บ้าน สิ่งนี้แหละที่ทำให้แม่มีกำลังใจปล่อยวางกับชีวิต ไม่ทุกข์ไม่ร้อนเหมือนตอนช่วงแรกที่เข้าโรงพยาบาล

ไพโรจน์ สิงบัน
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔

โอกาสของคนรากหญ้า
กับแนวทางการรักษาในวงการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่

(เรื่องต่อ)

for ever

for ever