ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การสร้างสันติภาพเป็นหน้าที่ของมนุษย์โดยตรง


หลังจากท่านอาจารย์พุทธทาสได้ริเริ่มกิจกรรม ‘ล้ออายุ’ เนื่องในวันเกิดตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ เป็นต้นมาจนตลอดถึงปีสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ที่ไม่ทันได้ถึงวันงานเนื่องจากเกิดเหตุปัจจุบันจนถึงแก่การละสังขารนั้น นับได้ ๒๘ ปี มีธรรมกถาล้ออายุออกมาทั้งสิ้น ๒๖ ปี ปีละ ๓ กัณฑ์ กัณฑ์ละ ๓ ชั่วโมง ประมวลได้ทั้งหมด ๗๘ กัณฑ์ ๒๓๔ ชั่วโมง โดยแต่ละปี แต่ละกัณฑ์ และ แต่ละขณะของธรรมกถานั้น เต็มไปด้วยสาระธรรมที่ท่านตระเตรียมไว้เป็นพิเศษเพื่อเป็นของขวัญตอบแทนแก่ผู้ที่เข้าร่วมบุญล้ออายุของท่าน ขณะนี้มีการถอดความและจัดพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว

สำหรับธรรมกถาประจำปี ๒๕๒๐ ในหัวข้อ ‘โลกมีสันติได้ด้วยทุกคนใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์’ นี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันนำสันติสุขกลับมาสู่สังคมไทย โดยท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้เทศนาสั่งสอนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนจะเห็นธรรมนั้นไหม หรือเพียงแค่สัมผัสทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์ การไม่เห็นทุกข์ก็ยากที่จะเห็นธรรม ดังนั้น การที่เราจะศรัทธาแล้วน้อมนำหลักธรรมของพระพุทธองค์ไปใช้เป็นหลักนำเนินชีวิตในสังคมจึงเป็นเพียงคำพูดชวนเชื่อ แต่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญถึงขั้นว่าเป็นวิกฤตร่วมกันของสังคมที่ต้องมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และยกเป็นเรื่องแรก อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยกตัวอย่างให้เห็นว่า "ถึงจะพ้นสภาพทุกข์ยากทางปากท้องทางกาย แต่เราก็ยังไม่พ้นบ่วงทุกข์ของชีวิตได้" สิ่งสำคัญต้องสร้างความสุขทั้งภายในและภายนอก ทั้งตัวเองและสังคม ทั้งระดับปัจเจกและส่วนร่วม มีหลายคนที่บอกว่าในเมื่อคนอื่นเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรมจะมามัวรักษาศีลธรรม และปฏิบัติกับคนไม่ดีแบบคนโง่ได้อย่างไร ซึ่งนั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ คนนั้นยังไม่มีศีลธรรมขั้นพื้นฐานแห่งความเข้าใจธรรมะด้วยซ้ำ คนเข้าใจธรรมะไม่ใช่คนโง่ แต่ต้องเข้าใจและเท่าทันสภาวะการณ์ เข้าถึงธรรมะหรือธรรมชาตินั้นอย่างเท่าทัน มั่นคง มีสติ และขันติธรรมอย่างยิ่ง ยึดถือความถูกต้องตามธรรมเป็นพื้นฐาน สิ่งที่เป็นความถูกต้องตามหลักธรรมก็จะมีคนตั้งคำถามอีกมากมายเหมือนกันว่าอะไรคือความถูกต้อง คำตอบก็จะวนกลับไปที่ธรรมะคือความถูกต้อง แล้วก็จะวนกลับไปที่อะไรคือธรรมะ แค่คำถามแค่นี้ หลายคนก็คงยอมแพ้แล้วหันเข้าหากิเลสให้เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตเสียแล้ว แต่ถ้าใครสนใจศึกษาลองตั้งใจอ่านและทบทวนงานเทศนาล้ออายุของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เทศนาไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งเหตุปัจจัยสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความวุ้นวายในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ก็มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน สามารถเป็นบทเรียนแล้วยึดหลักธรรมเดียวกันได้ โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาสได้ถอดจากเทปธรรมบรรยายที่ท่านได้แสดงไว้ทั้งหมด ๓ กัณฑ์ รวม ๙ ชั่วโมง ๓๒ หัวข้อ แสดงธรรมเรียงลำดับในกัณฑ์เช้า ๑๒ หัวข้อ กัณฑ์บ่าย ๑๐ หัวข้อ และกัณฑ์ค่ำ ๑๐ หัวข้อ ประกอบกับบัตรคำเตรียมบรรยายธรรมหรือเท่ากับ power poit ในสมัยนี้ ที่ท่านเตรียมมาล้อตัวเองในปีนี้ทั้งหมด ๔๙ หัวข้อ แต่ได้แสดงธรรมล้ออายุจริงๆ เพียง ๓๒ หัวข้อเท่านั้น และส่วนที่ยังไม่บรรยายก็ได้ทำการรวบรวมไว้ในส่วนท้ายของหนังสือด้วย

มีคนรุ่นหนุ่มสาวกลางคนที่ได้ฟังและอ่านเอาเรื่องอย่างจริงจัง ระบุว่า ช่างเป็นธรรมกถาที่กระตุกวิญญาณและการเรียนรู้ของชีวิตมนุษย์ยุคทุนนิยมได้เป็นอย่างดี พระอาจารย์พุทธทาสได้ประมวลและถอดบทเรียนที่ท่านได้ศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติธรรมออกมาแบบโดนกับคนในยุคปัจจุบันทุกเรื่อง เหมือนท่านมีญาณทัศนะล่วงหน้าว่าจะเกิดทุกข์หรือปัญหาอะไรขึ้นในโลกอนาคต ท่านได้ชวนทุกคนมาช่วยกันล้อตักเตือนตัวเอง เพื่อเตือนสติ ทำให้เข้าใจธรรมะหรือธรรมชาติที่แท้จริง ว่าชีวิตต้องการอะไร มีเป้าหมายอะไรเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่ทำให้ทุกข์ร้อน อันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเหนือไปจากสิ่งที่ห่อหุ้มด้วยความสุขหลอกๆ ทางเนื้อหนัง

ท่านได้เอาทุกเรื่องมาล้อแบบปอกเปลือกให้เห็นแก่นแท้ของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อลืมตาขึ้นมาดูโลกแล้วต้องถูกหล่อหลอมเรียนรู้ในเรื่องที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อะไรบ้าง พร้อมข้อเสนอ ‘การเรียนรู้ในระดับศีลธรรมและโลกุตตรธรรมต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เมื่อแก่ตายจะได้ไม่เสียดายทีหลัง’ ให้เด็กกลับมาเห็นว่า ‘สัตว์โลก เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย’ และมีศีล ๕ เป็นรากฐาน ด้วยวิธีสอนให้เด็กเข้าใจปรมัตถธรรม หรือโลกุตตระ ให้เขาเปรียบเทียบ : Sad กับ Glad, หัวเราะ กับ ร้องให้, การได้ กับ การเสีย, การชนะ กับ การแพ้ จนกระทั่งพบ ความเป็นกลาง ระหว่างคู่นั้นๆ

ท่านบอกว่า ‘แม้ ฝรั่ง นักศึกษา ก็เห็นด้วยในข้อที่ว่า ถ้าเด็กยังถือศาสนา มีพระเจ้า การศึกษาไม่เฟ้อ ก็ยังเป็นการง่าย ที่โลกนี้จะมีคนที่เป็นสุขแท้จริง’ เราจึงต้องปรับระบบการเรียนการสอนใหม่หมด ‘ให้เรียนรู้ศีลธรรม ๘๐ % เรียนวิชาชีพ ๑๕% เรียนความรู้พื้นฐานทั่วไป ๕%’ ซึ่งตรงข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนนำมาซึ่งความวิกฤตทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่ได้สร้างความเดือดร้อนกันไปทั่วโลก

อาจารย์พุทธทาสยังได้ชี้ว่า ‘กิเลสของวัยรุ่นบางพวกสมัยนี้ขึ้นมาถึงระดับเดรัจฉาน’ แม้ที่อ้างตัวเป็นนักศึกษา ก็ทำอะไรตามอำนาจกิเลสไม่มียางอาย ทำให้ต้องมาล้อกันว่า ‘การศึกษากำลังรับใช้วัตถุนิยม การศึกษากำลังนำไปสู่ภาวะเดรัจฉาน’ ปัจจุบัน ; โลกยิ่งใกล้วินาศ ยิ่งขึ้นทุกที เพราะความรู้มากเกินไป ของโลกนั้นแอง ความรู้มากขึ้นของผู้รู้ ทำให้คนลังเล ลำบากใจในการไม่รู้ว่าทำอะไรดี ยิ่งมีหนังสือท่วมโลก ยิ่งไม่มีกลิ่นไอสันติภาพ ไม่ชี้ว่าจะเอาอะไร เกิดมาทำไม ว่าอะไรคือทางรอด

ด้านการพัฒนา ต้องเป็นการนำศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้จน ต้องมีธรรมะ มีความสุขชนิดแก้ปัญหาอื่นได้ ไม่มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ต้องพัฒนาจิตกันก่อน นำหน้าพัฒนาวัตถุ

ด้านสันติภาพ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง หากเป็นการเมืองบริสุทธิ์ คือมีรากฐานอยู่ที่ธรรมะ เดี๋ยวนี้ เรามีแต่การเมืองสกปรก สมัยใหม่, จอมปลอม, เราเลยมีแต่สันติภาพจอมปลอม เสียดายสติปัญญาของผู้มีปัญญากลายเป็นหมันไปสำหรับสันติภาพ ไม่กล้าแตะต้องแม้ปัญหาศีลธรรมของบ้านเมือง หรือของโลกส่วนร่วม เลยไม่มีส่วนในการสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์โดยตรง เรื่องนี้ ‘ทำไม่ได้ หรือไม่ทำ’ ส่งกองรบไปรบที่ไหนก็ได้ ฆ่ากันทั้งโลกก็ทำได้ ไปโลกพระจันทร์ หรือโลกไหนก็ได้ มีของทิพย์ : อิเล็คโทรนิค – คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ล้น แล้วทำไมทำให้อยู่ร่วมกันโดยสินติไม่ได้ ทำให้ทุกคนในโลกอยู่อย่างพอกินพอใช้ตามควรก็ไม่ได้ แม้ในการประชุมก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เกี่ยวกับสันติภาพ เรา ‘กำลังขี้ขลาด หรือขบถต่อความบริสุทธิ์ใจของตนเอง’ หรือไม่

เรารู้จักประโยชน์ของธรรมะน้อยเกินไป มีการพูดหนาหูว่า ‘โลกียะ ก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงโลกุตตระ เรารู้เรื่องอิทธิบาท ๔ ฆราวาสธรรม ๔ ทิศ ๖ ก็พอแล้ว’ การกล่าวเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่หลายฝ่าย และทำให้พุทธธรรมด้อยค่าลงไป ถึงกับไม่มีพุทธศาสนาไปเลย ถึงแม้จะประพฤติโลกียธรรมเหล่านั้นถึงที่สุดแล้ว ความทุกข์ยังเหลืออยู่อีกมาก ซึ่งต้องดับกันต่อไปอีก และแม้ในขณะประพฤติธรรมเหล่านั้นอยู่ ก็มีทุกข์หลายทิศทางเกิดขึ้นควบคู่กันไป เราจึงต้องมีธรรมส่วนโลกุตตระพร้อมกันไปในขณะนั้น นั่นคือการมีโลกุตตรธรรมเพื่อควบคุมโลกียธรรม พร้อมกันไปในตัว ในลักษณะ แห่งธรรมคู่ที่แยกกันไม่ได้

โดยสรุปพระอาจารย์พุทธทาสได้ชี้ให้เข้าใจธรรมชาติของจิตใจที่แท้จริงของมนุษย์เรา ว่ามีความดีงามหรือความประภัสสรอยู่เป็นพื้นฐาน ความไม่ดีต่างๆ เกิดขึ้นมาเพียงชั่วขณะเท่านั้น พวกเราอย่าไปท้อกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาแล้วดับไป ธรรมชาติแห่งความดีงามยังคงอยู่กับเรา แค่พวกเราช่วยกันป้องไม่ให้ความไม่ดี ความชั่วร้าย ความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความโกรธหลงทั้งหลาย อย่าให้เข้ามาสู่เรา ลูกหลานเรา เพื่อนพี่น้องเรา เพื่อนร่วมโลกเรา สังคมมนุษย์เราก็จะเกิดสันติสุขได้ ด้วยวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมะหรือธรรมชาติ ตามแนวทางการเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน โดยพุทธศาสนาก็มีแนวทางที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้แล้วในหนแห่งวิมุตตายตนะ สูตร เป็นหลักธรรม ที่ควรสนใจเป็นพิเศษ คือ บอกให้รู้ว่า คนเรา สามารถบรรลุธรรม ได้ถึง ๕ เวลา คือ เมื่อกำลัง ฟังธรรมอยู่, เมื่อกำลัง แสดงธรรมให้ผู้อื่นอยู่, เมื่อกำลัง สาธยายธรรมอยู่, เมื่อเพ่งธรรมอยู่, และ เมื่อพิจารณา ใคร่ครวญธรรมอยู่ นับว่าโอกาสมีมาก ในการบรรลุธรรม แต่พวกเรา พากันประมาทเสีย ไม่ฉวยเอาได้ แม้แต่ โอกาสเดียว.

เรื่องเหล่านี้พระอาจารย์พุทธทาส ได้อรรถาธิบายไว้อย่างชัดเจนสั้นๆ ง่ายๆ เข้าใจได้ทุกคน เหมาะกับคนสมัยใหม่ที่ท่านมีความเคยชินกับความรู้แบบโลกวิทยาศาสตร์ แล้วท่านจะตื่นเต้นกับความกับความรู้ทางโลกวิญญาณหรือความรู้ในระดับจิต ที่อยู่ในธรรมกถาล้ออายุประจำปี ๒๕๒๐ เรื่อง ‘โลกมีสันติได้ด้วยทุกคนใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ : ล้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่โลกมันจะดีขึ้นได้’ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นหนังสือตามที่ท่านได้ถืออยู่นี้

หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ จึงขอเลือกจัดพิมพ์ธรรมกถานี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในวาระของการจัดตั้งและเปิดดำเนินการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในปี ๒๕๕๓ นี้ ด้วยมุ่งหวังให้เป็น ‘อีกเล่ม’ สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ ได้ใช้ในการศึกษา ค้นคว้าและประกอบการปฏิบัติทั้งในระดับของศีลธรรม(โลกิยธรรม)และโลกุตตรธรรม รวมทั้งเพื่อเป็นการเชื้อเชิญยุวชนคนใหม่ ๆ ในรุ่นหนุ่มสาวมาเข้าใช้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญแห่งนี้ ที่มุ่งหมายให้เป็นสถานบันเทิงธรรม ในรูปแบบของ Spiritual Edutainment & Fitness Center ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ให้สมกับที่ได้รับฉันทานุมัติจาก สวนโมกขพลาราม และ คณะธรรมทาน แห่งอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งการเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนจากมหาชน ตลอดจนองค์กรธรรมภาคีมากมายในการก่อสร้างเป็น ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ ณ สวนวชิรเบญจทัศ ภายในอุทยานสวนจตุจักรอันร่มรื่น ที่รัฐบาลไทย กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และ กรุงเทพมหานคร น้อมเกล้า ฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้ก่อสร้าง

หวังให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือเชื้อเชิญท่านทั้งหลายเข้ามาช่วยใช้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ แห่งนี้ อย่าให้เป็นไปในลักษณะ ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสล้อดักคอไว้ ทั้งนี้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้รำลึกถึงแบบอย่างที่ท่านอาจารย์ได้ลงท้ายในธรรมกถานี้ว่า ‘อาตมาสรุปความว่า มีความจริงใจ มีความเสียสละ มีความอุทิศเพื่ออุดมคตินี้จริง ๆ เพื่อจะยืนยันว่าอาตมานี้ได้ทำสุดความสามารถแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนพยายามทำให้สุดความสามารถจริง ๆ ด้วยกันทุกคน อาตมายืนยันว่าได้ทำสุดความสามารถ ไม่เสียทีที่ว่าได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลหลายคนและหลายฝ่าย บางคนก็หุงข้าวให้กิน บางคนก็ให้สตางค์ใช้ บางคนก็ช่วยเหลือทุกอย่าง ให้เกิดความสะดวกสบายเกี่ยวกับปัจจัยสี่ บางคนก็สนับสนุนด้วยกำลังทุกอย่างรอบด้าน แม้ที่สุด บางคนอุตส่าห์ให้เกียรติยศความเคารพนับถือ เพราะเราไม่มีอะไรจะให้มากกว่านั้น ก็เรียกว่าเป็นการให้ที่อาตมายอมรับรู้และขอบคุณ แล้วก็สนองตอบด้วยความยืนยันว่า อาตมาจะทำให้สุดความสามารถ สมตามที่เขาไว้วางใจ ด้วยความระมัดระวังสุดความสามารถตลอดเวลาจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต นี่จะไม่เหลวไหล จะทำให้สุดความสามารถ ให้สมกับที่ทุกคนให้ความช่วยเหลือ หรือให้อะไรก็ตาม จะได้รับผลเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุปัจจัยหรือการกระทำนั้น ๆ เราคงจะได้รับผลตอบแทนกันบ้างเป็นแน่นอน แม้ว่าจะไม่ได้รับเต็มที่ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาตมาก็ยืนยันว่าทำสุดความสามารถที่จะทำได้ แม้ในวันนี้ที่จะสนองความประสงค์ของท่านทั้งหลาย’

สวนโมกขพลาราม และ คณะธรรมทาน
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
พฤษภาคม ๒๕๕๓

คัดจากบทนำหนังสือ โลกมีสันติได้ด้วยทุกคนใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ : ล้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่โลกมันจะดีขึ้นได้

for ever

for ever