ตถตา

ตถตา

บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ

วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ

วัฒนธรรม คืออะไรกันแน่ ?
หรือเข้าใจวัฒนธรรมเพียงแค่รูปแบบที่สืบทอดต่อกันมา !
แล้วเหมารวมเอากิจกรรมในวิถีชีวิตที่เคยชินของสังคมแล้วยกขึ้นมาเป็นวัฒนธรรม เช่น เรื่องการดื่มเหล้า การเล่นพนัน หรือหญิงบริการ ซึ่งถ้าคิดแบบตื้นๆ ใช้นิยามอนุมานเอากับสิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมมนุษย์ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ส่งเสริมความเจริญงอกงามของสังคม ดังนั้น ความโลภ ก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกสังคมเช่นกัน ถ้ายอมรับเรื่องนี้ได้ นิยามความหมายของวัฒนธรรมตามราชบัณฑิตยสถานที่ให้ไว้ว่า “วัฒนธรรม คือ ความเจริญ, ความงอกงาม, สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ” คงใช้ไม่ได้ตามเหตุผลข้างต้น หรืออาจจะใช้ได้กับการเจริญงอกงามในทางลบก็เป็นได้
จะอย่างไรก็ตาม เราคงไม่มาติดกับดักกันแค่เรื่องภาษาวาทกรรม ต้องเรียนรู้ไปให้ถึงความจริงที่ซ่อนอยู่หลังม่านละครชีวิต ทุกฉากการแสดงตั้งแต่เกิดจนตายเราได้เห็นความจริงของกระบวนการจิตเราหรือไม่ สิ่งที่สำคัญของชีวิตคืออะไร ความเจริญงอกงามของชีวิตคืออะไร และสิ่งประเล้าประโลมชีวิตควรมีแค่ไหนอย่างไร เมื่อตอบเรื่องนี้ได้เราก็จะตอบได้ว่าอะไรคือความเจริญงอกงามของเราและหมู่คณะ
หรือเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของคนคิดมาก แค่เรื่องรูปแบบ พิธีการ และพิธีกรรม ก็เป็นเรื่องยุ่งยากจนแทบไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น งานบุญ งานบวช งานแต่ง งานศพ ก็จัดไปตามที่เคยทำมาปรับบ้างตามความสะดวกหรือเพิ่มเรื่องทำมาหากินเข้าไปอีก เช่น เรื่องงานศพที่ไปกันใหญ่จนมีคำพูดต้องฉุกคิดที่ว่า “คนเป็นขายคนตาย” ถ้าลองทบทวนดูจะเห็นว่าวัฒนธรรมประเพณีที่เคยดีงามสร้างความเจริญงอกงามของหมู่คณะได้ย้อนศรพุ่งหัวกับเติบโตอีกทางหนึ่งเสียแล้ว
ส่วนเรื่อง วัฒนธรรมกับการจัดการสุขภาวะ ที่คนใต้กำลังสนใจอยู่นี้ จะส่งเสริมการเรียนรู้เข้าถึงการเจริญงอกงามทางปัญญาเพื่อหลุดพ้นสภาวะทุกข์ได้หรือไม่ ทำอย่างไรให้เป็นการเรียนรู้แบบสากลโลก เรียนรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วของโลกปัจจุบัน แต่โดยสาระสำคัญของการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของท้องถิ่นนั้น รับ ปรับ เปลี่ยน ขยาย อนุรักษ์ สืบสาน ความรู้ ภูมิปัญญาที่จำเป็นต่อการพ้นทุกข์ของท้องถิ่น
ประวัติศาสตร์ภาคใต้มีงานศึกษาและหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่มีอารยธรรมผู้คนอาศัยมายาวนานกว่า ๑๐๐๐ ปี มีผู้คนหลากเผ่าพันธุ์ทั่วโลกเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนตั้งแต่ยุคโบราณ จากความหลากหลายดังกล่าวก่อให้เกิดรากเหง้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมักเกี่ยวเนื่องกับการนำ “สภาวะ” ตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ตามวิสัยที่จะจัดการได้ หรือการนำ “ภาวะ” ที่เกิดจากการกระทำ การเสาะสร้างของคนรุ่นก่อน ๆ มาปรับปรุง ให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีพขั้นพื้นฐานหรือปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยาและการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ แล้วภูมิปัญญาเหล่านั้นค่อย ๆ ต่อยอดเป็นภูมิปัญญาเพื่อจรรโลงจิตใจ เป็นเครื่องประเทืองอารมณ์ ประเทืองปัญญา “ยาไส้ - ยาใจ” ก่อให้เกิดภาวะแห่งความสุข “สร้างสุขตามภาวะ”
บทสรุปจากการศึกษาวัฒนธรรมคนใต้พบว่ามีความหลากหลายทางด้านชีวภาพมีพลวัตและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดส่วนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสุขภาวะ ดังนี้

วัฒนธรรมด้านที่พักอาศัย
ในอดีตชาวภาคใต้จะมีคติในการเลือกสถานที่และบริเวณตั้งบ้านเรือนให้ “แค่บ่อ (น้ำ) แค่ท่า แค่นา แค่วัด” การเข้าใจสภาวะของดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล และความแปรปรวนของธรรมชาติได้หลอมรวมกลายเป็นภูมิปัญญาและคติทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวใต้หลายประการ วัสดุที่นำมาสร้างที่พักอาศัย คือสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น หลังคาและฝามักใช้ใบปาล์ม ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในภาคใต้และต่างกันไปตามท้องที่ องค์ประกอบของบ้านชาวใต้เป็นไปตามประโยชน์การใช้สอยและวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของครอบครัว คติความเชื่อบางประการ มีผลต่อรูปแบบ และองค์ประกอบของที่พักอาศัย เช่น สมัยโบราณ ไม่นิยมปลูกบ้าน 2 ชั้น เพราะวัฒนธรรมการยึดมั่นด้านคารวะธรรม ถือว่าถ้านั่ง นอน ยืน หรือเดิน อยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้อาวุโสเป็นบาป ไม่เป็นสิริมงคล ทำให้เครื่องรางของขลังเสื่อม คติการทำระดับพื้นระเบียงให้ต่ำกว่าระดับพื้นเรือนนอนเผื่อญาติมิตรบุตรหลานมาเยี่ยมเยียนหรือพบปะสนทนาจะได้เลือกนั่งต่างระดับกันตามฐานะและอาวุโส นิยมทำ “เชิง” (ที่เก็บวางของ) ไว้ในห้องนอนเพื่อเก็บของมีค่าและของที่เคารพนับถือไว้ในที่สูงที่ปลอดภัย นิยมทำ “ผลา” (เชิงที่อยู่เหนือเตาไฟ) เพื่อใช้เก็บอาหารแห้งโดยการรมควัน กันความชื้นเชื้อรา ที่ทำให้เน่าบูดเร็ว และกันมดแมลงกัดกิน บ้านชาวใต้โดยทั่วไปมักมี “นอกชาน” หรือชานเรือน เพื่อให้เป็นที่เก็บพักของชั่วคราว ใช้ตากผ้า ตากปลาและพืชผล และสำรองไว้ใช้เก็บพักข้าวของและสัตว์เลี้ยงในฤดูน้ำท่วม ตอนเย็นหรือค่ำคืนก็ใช้เป็นที่พักผ่อนพบปะสนทนากันและใช้ทำงาน
สำหรับบ้านชาวไทยมุสลิม มักต่อเติมติดกันเป็นหลายหลังเพราะมักเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ชาวไทยมุสลิมไม่ตกแต่งบ้านด้วยลวดลายที่เป็นรูปคนหรือสัตว์ เพราะขัดต่อหลักศาสนา แต่นิยมตกแต่งจั่ว ช่องลม ราวบันได ประตู ชานบ้านของไทยมุสลิมนิยมมุงหลังคาเพื่อใช้สอยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น บ้านชาวใต้มักยกพื้นสูง นอกจากกันน้ำท่วมแล้ว ยังใช้ใต้ถุนเป็นที่ทำงาน เช่น จักสาน ทอผ้า เย็บจาก สีข้าว เก็บเครื่องมือที่ใช้ ทำนา ทำสวน เครื่องมือจับสัตว์ เป็นที่เล่นหมากขุม เล่นสะบ้า หรือทำเป็นคอกสัตว์ ทั้งนี้แล้วแต่ระดับ และสภาพของดินใต้ถุนรวมทั้งความจำกัดด้านพื้นที่ของแต่และครอบครัว
แต่อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันนี้วัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัย หรือสถานที่บริการทางสังคมได้เปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ชุมชนชาวใต้ได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งต่าง ๆ พร้อมทั้งการนำความรู้ ความคิด และเทคโนโลยีที่นำสมัยทำให้การจัดหาวัสดุพื้นถิ่นดังที่เคยปฏิบัติในการดำเนินการดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ยังก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาหลายประการ เช่น มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขาดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม

วัฒนธรรมด้านอาหารการกิน
ภูมิประเทศภาคใต้ อากาศค่อนข้างร้อนจัดและลมแรง ทำให้การสูญเสียพลังงานในร่างกายมีสูง จึงต้องบริโภคอาหารเพื่อสร้างพลังงานชดเชย เชื่อกันว่าอาหารที่มีธาตุไฟมากๆ จะให้พลังงานและความร้อนได้มาก ช่วยกระตุ้นการสูบฉีดของหัวใจทำให้เลือดลมเดินสะดวก เหตุนี้ชาวใต้จึงนิยมอาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด และหวานจัด พืชผักที่มีธาตุไฟมากมักมีรสเผ็ด ฝาด และขมเจือปน เช่น สะตอ ลูกเนียง ลูกเหรียง ยอดหมุย ทำมัง ใบมะม่วงหิมพานต์ พาโหม (กระพังโหม) เป็นต้น อาหารแต่ละมื้อของชาวใต้จะต้องการผักเหล่านี้มาก ๆ ถ้ารับประทานคู่กับน้ำพริก เรียกว่า “ผักเหนาะ” หรือ “ผักจุ้ม” ถ้ารับประทานคู่กับอาหารประเภทแกง คั่ว ยำ ที่มีรสเผ็ดเรียกว่า “ผักแกล้ม” สิ่งที่ใช้ผสมในเครื่องแกงเป็นประจำคือ “ขมิ้น” ใช้แก้รสคาว ให้พลัง และเชื่อกันว่าเป็นพญายาที่สามารถป้องกันยาเบื่อ ยาพิษได้ส่วนหนึ่ง ภูมิปัญญาที่จะให้ได้ธาตุอาหารชนิดนี้มาก ๆ โดยตรงก็คือ การนำมาปรุงเป็น “ข้าวยำ” ซึ่งมักใช้ ใบขมิ้น ใบพาโหม ใบยอ ตะไคร้ พริกป่น น้ำบูดูหรือน้ำเคย มะพร้าวคั่ว และผลไม้หรือยอดไม้ที่รสเปรี้ยว ผสมคลุกเคล้ากัน รับประทานข้าวยำอย่างเดียว คล้ายข้าวราดแกง ชาวใต้นิยมทำอาหารแห้ง อาหารเค็มไว้รับประทานในฤดูฝนเพราะอาหารรสเค็มจะให้พลังงานความอบอุ่นเป็นพิเศษ ยิ่งอากาศเย็นยิ่งช่วยให้เจริญอาหาร เช่น ปลาทูเค็ม จิ้งจัง บูดู เป็นต้น ในฤดูแล้งซึ่งอากาศร้อนจัดนิยมรับประทานอาหารหวานจัดในมื้อเที่ยงและเย็น ยิ่งหวานจัดอย่างจุใจชาวบ้านมักจะอุทานหลังรับประทานว่า “หายแสบอก” แสดงว่ายิ่งเสียพลังงานมากจนอ่อนเพลีย อาหารรับประเภทหวานจัดจะบรรเทาได้เร็ว

วัฒนธรรมการบำบัดรักษาโรค
การบำบัดรักษาโรคของชาวภาคใต้ครั้งเมื่อประมาณ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาย้อนไปสู่อดีตนิยมอาศัยแพทย์ แผนไทย โดยใช้ยาพื้นบ้านและหมอกลางบ้าน เช่น การบริบาลครรภ์ การทำคลอด และการบริบาลทารก อาศัยวิธีการของหมอตำแย ถ้าเป็นโรคสามัญ นิยมใช้ยาสมุนไพร ถ้าเส้นเอ็นขัดเคล็ด ใช้วิธีนวดจับเส้น ถ้ากระดูกเคลื่อนหรือหักใช้วิธีจัดเส้นและต่อกระดูกแบบพื้นบ้าน ถ้าเป็นโรคร้ายและเรื้อรัง ใช้หลายหมอหลายขนานยายังไม่มีทางหาย หรือโรคทางจิตมักหันไปพึ่ง เวทมนตร์คาถา การสะเดาะเคราะห์ไล่เหนียด (เสนียด) ไล่ผี ครั้นล่วงถึงประมาณ 4 ทศวรรษเศษต่อมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นโรคสามัญไปจนถึงโรคร้ายแรง นิยมใช้ยาและแพทย์แผนปัจจุบันแต่หากแพทย์แผนปัจจุบันปฏิเสธที่จะรักษาหรือถ้าจะรักษาหมอจะต้องตัดอวัยวะบางส่วน หรือผ่าตัดที่เสี่ยงชีวิต หรือเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนให้พิกลพิการ ผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิดมักย้อนกลับไปเลือกพึ่งแพทย์แผนไทย เพื่อเลี่ยงความทุกข์ทรมานระยะยาว หรือเพื่อต่อความหวังเป็นทางสุดท้าย
วิธีการบำบัดรักษาโรคของหมอกลางบ้านมี 2 ทาง คือ “การใช้องค์ความรู้” และ “การใช้อุบาย” หมอบางรายเน้นทางแรก บางรายเน้นประการหลัง แต่ส่วนมากจะใช้ทั้ง 2 ทาง ผสมกัน การใช้องค์ความรู้ หมายถึง ใช้ตัวยาหรือใช้กายภาพบำบัด อันเป็นภูมิปัญญาที่สะสมสืบทอดกันมาประกอบกับความชำนาญและความสามารถเฉพาะราย ต้องรอบรู้คุณลักษณะและข้อจำกัดของตัวยา ส่วนการใช้อุบาย หมายถึง การใช้หลักธรรม จิตวิทยา หรือใช้มายาการเวทมนตร์คาถาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้หลายอย่างเพื่อจูงใจ ให้ผู้ป่วยศรัทธาเชื่อถืออันจะนำไปสู่การปฏิบัติทางกายและทางจิต เพื่อช่วยเสริมแรงให้การรักษาพยาบาลสมประสงค์ยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมเครื่องนุ่งห่ม
เนื่องจากภาคใต้ตั้งอยู่ในแถบศูนย์สูตรมีผลให้กลางคืนกลางวันและระยะเลาที่ได้รับแสงอาทิตย์เท่ากันเกือบตลอดปี ความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างฤดูไม่แตกต่างกันเด่นชัด ทำให้ชาวใต้ใช้เครื่องแต่งกายในลักษณะเดียวกันตลอดทั้งปี แต่งแบบง่าย ๆ เสื้อผ้าหลวมๆ มีเสื้อผ้าไม่กี่ชิ้น รูปแบบเครื่องนุ่งห่มของชาวภาคใต้ตอนล่างส่วนใหญ่ร่วมลักษณะกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะอยู่ในเขตภูมิอากาศใกล้เคียงกัน วัฒนธรรมแต่งกายมีการปรับปรนผสมผสานสูง ชาวไทยมุสลิมแต่งกายตามศาสนาบัญญัติ (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ,2542) นอกจากนี้ผ้าและเครื่องนุ่งห่มยังเป็นเป็นสื่อภาษาทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมการประเทืองปัญญา
ชุมชนวัฒนธรรมคนใต้ในอดีตได้บริโภคข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่าต่างๆ ของสังคม เพื่อประเทืองปัญญา ส่วนใหญ่จะบริโภคจากแหล่งต่าง ๆ หลายแหล่ง ที่สำคัญ เช่น บ้าน วัด ศิลปินพื้นบ้าน เป็นต้น โดยบ้านเป็นแหล่งแรกที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ให้องค์ความรู้และระบบคุณค่าแก่สมาชิกในครอบครัว โดยส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันทั้งปู่ย่า ตายาน พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน เมื่อกระทำกิจกรรมใดๆ ก็ร่วมกันทำ และทุกๆ คนมักจะอยู่พร้อมพร้อมตากัน ได้พบกันทุกวันโดยเฉพาะเมื่อจะรับประทานอาหารร่วมกัน วัตรปฏิบัติของแต่ละคน สิ่งที่มาประเทืองปัญญา เช่น การอบรมสั่งสอนผ่านการเล่านิทาน ปริศนาคำทาย คำพังเพย เพลงกล่อมเด็ก เพลงเด็กและการเล่นของเด็ก ซึ่งจะเป็นตาหนาด้วยการสื่อสารจากวาจาและท่าทางกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา นอกจากนั้นการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนให้สอดคล้องกับระบบคุณค่าของสังคมที่มีหลักยึด ง่ายๆ ว่า “ความเป็นคนดี เป็นเกียรติภูมิอันสูงสุด” คือ คนที่ประพฤติตนเป็นตาหนาที่ดี สมฐานะ เพศวัย แล้ว “บ้าน” จะเป็นแหล่งบริโภคข้อมูลองค์ความรู้และระบบคุณค่าเพื่อประเทืองปัญญาของสมาชิกในครอบครัว
วัด เป็นแหล่งสำคัญ แหล่งที่สองที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่าการประเทืองปัญญาแก่ชุมชน ปฏิสัมพันธ์ที่วัดมีให้แก่ชุมชนชาวใต้ เริ่มตั้งแต่การที่บิณฑบาตรทุกๆ เช้า เทศนาทุกวันพระ จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณค่าและความหมายประเพณีและพิธีกรรมตามเทศกาล และถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ผู้คนทุก ๆ ระดับที่เข้าวัด เช่น การสวดมนต์ การสวดพระมาลัย คำกลอน วรรณกรรมคำสอน เพื่อประเทืองปัญญาองค์ความรู้และระบบคุณค่าโดยกลั่นกรองมาอย่างดีจากพุทธศาสนา ส่วนชาวใต้ที่เป็นมุสลิม ก็ได้รับข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้เพื่อประเทืองปัญญาจากมัสยิดโดยผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติศาสนกิจ มุสลิมมีโอกาสเข้าถึงหลักธรรมคำสอน โดยการละหมาดทุกวันห้าเวลา แล้วยังมีทุกวันศุกร์ที่จะต้องละหมาดใหญ่ในแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นวัด มัสยิด และโบสถ์ของศาสนคริสต์ เป็นสถานที่ประเทืองปัญญาให้กับชาวภาคใต้ในอดีตเป็นอย่างดี
ศิลปินพื้นบ้าน หนังตะลุง โนรา เพลงบอก เพลงเรือ ลีเกฮูลู เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในชุมชนชาวภาคใต้ ผู้คนในชุมชนได้บริโภคข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่าต่างๆ จากศิลปินเหล่านี้ปีละหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในงานที่จัดขึ้นตามประเพณีเทศกาลต่างๆ พิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาหรืองานมงคลของปัจเจกชนที่เจ้าภาพค่อนข้างฐานะดี (หนังล้อมสะกำ,2541) ศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้ให้ทั้งความบันเทิงใจ สาระความรู้และคติธรรม หรือระบบคุณค่าทางสังคมแก่ผู้ชม ตามทำนองท้องเรื่อง ซึ่งศิลปินหนังตะลุง โนรา เพลงบอกรุ่นเก่า ๆ จะเน้นความบันเทิงที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมนั้น ๆ ข่าวสาร องค์ความรู้ และระบบคุณค่า เพื่อประเทืองปัญญาที่ชุมชนชาวใต้ได้บริโภคจากศิลปินพื้นบ้าน จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าเป็นสื่อที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาภูมิปัญญา ภูมิธรรมและอารมณ์สุนทรีย์ของผู้คนชาวใต้เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าผู้คนของชุมชนชาวใต้ที่นับถือศาสนาพุทธบริโภคข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้และระบบคุณค่า จากศิลปินพื้นบ้านมากกว่าจากวัด ดังมีถ้อยคำสำนวนที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ที่ว่า “กลองหนัง กลองโนรา ดังหวากลองวัด”

ปัจจุบันผู้คนดิ้นรนหาทางพ้นทุกข์ เรียนรู้ลองผิดลองถูกกันไปเรื่อย แต่ถ้าจับหลักไม่ดี อาจเหนื่อยเปล่า หาทั้งชีวิตก็หาไม่เจอ ถ้าจะเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมประเพณีจารีตปฏิบัติของท้องถิ่นก็ต้องหาหลักให้เจอ หลักคิด หลักปฏิบัติ รูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมให้เจริญสติและปัญญา พิจารณาด้วยกาลามสูตรในการเรียนรู้กิจกรรมชีวิตทุกขั้นตอน อย่าเชื่อเพราะมีการสืบต่อกันมาหรือผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์สั่งสอน จนกว่าที่จะพิจารณาด้วยปัญญาเห็นแล้วว่าเป็นจริงเช่นนั้น และเมื่อวัฒนธรรมท้องถิ่นใดได้ผ่านการตรวจสอบเรียนรู้ด้วยปัญญา จะทำให้ท้องถิ่นนั้นมีความสงบสุขที่แท้จริง หรือจะเรียกว่ามีอารยธรรมก็ย่อมได้

เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ สิงบัน
จัดพิมพ์เผยแพร่ ในหนังสือ “สุขสร้างได้ด้วยปัญญา” งานสร้างสุขภาคใต้ ๒๕๕๒
ปรับปรุง กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

“สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้” ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒

“สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้” ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒
งานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ ๓ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วันที่ ๑ -๓ เมษายน ๒๕๕๒
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

งานสร้างสุขภาคใต้ “วาระสร้างสุขของฅนใต้” ได้จัดอย่างต่อเนื่องกันมาเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งแรกจัดที่จังหวัดสงขลา ครั้งที่ ๒ จัดที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนครั้งนี้จัดที่จังสุราษฏร์ธานี นอกจากรูปแบบที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพแล้ว กระบวนการขับเคลื่อนงานสร้างสุขยังมีรูปแบบและขบวนสนับสนุนชัดเจนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนหลักจาก สสส. และ สปสช. องค์กรร่วมจัดในท้องถิ่น และกำลังพยายามพลักดันให้เกิดการพึ่งตนเองด้านงบประมาณในภูมิภาคให้ได้ ด้วยกลไกภาคที่ผูกโยงโดยผู้รับผิดชอบหลักอย่าง สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วย Orgranize ขบวนงานสร้างสุขภาคใต้มาโดยตลอด มีการตั้งคณะทำงานภาค ที่มีผู้ประสานงานแต่ละจังหวัด และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น หลากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกำหนดประเด็นขับเคลื่อนของภาค

การเตรียมงานสร้างสุขครั้งนี้เริ่มเมื่อการจัดงานสร้างสุขที่จังหวัดภูเก็ตเสร็จสิ้นลง ภารกิจต่อเนื่องหลายอย่างก็เริ่ม โดยเฉพาะขบวนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เพื่อมาพบกันอีกในงานสร้างสุขที่สุราษฎร์ธานี จากข้อเสนอแต่ละประเด็นที่ต้องไปพลักดันให้เกิดผลสำเร็จ และกระบวนการติดตามข้อเสนอต่างๆ ที่คณะทำงานกลไกภาคต้องทำงานต่อ และ สวรส. ในฐานะผู้ประสานก็ต้องมีภารกิจที่ตามมาจากประเด็นงานที่มากและฐานเครือข่ายที่กว้างขึ้นทุกปี

นอกจากกลไกคณะทำงานภาค ยังมีกลไกวิชาการเป็นแรงหนุนเสริมสำคัญกล่าวคือ หลังจากที่ได้ร่วมกำหนดประเด็นขับเคลื่อนในภาคจากการทำ Mapping แล้ว ก็แบ่งออกเป็นคณะทำงานในแต่ละประเด็น โดยในปีนี้มีทั้งหมด ๘ ประเด็น ประกอบด้วย ความสุขที่มี ความดีที่ทำของเด็กใต้, วาระเมืองคนดี ลดอบายมุขสร้างสุขด้วยปัญญา, เกษตรและอาหารปลอดภัยของคนใต้, นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้, วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ, พหุปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรม, ท้องถิ่นกับการสร้างสุขภาพ, คนใต้กับการเมืองภาคประชาชน (แต่พอในวันงานจริงๆ มีเพิ่มมาอีก ๒ ประเด็น คือ ธรรมะบันเทิง และปฏิบัติการสื่อคนใต้สร้างสุข) แต่ละประเด็นต่างไปดำเนินการจัดเวทีศึกษา สำรวจ ถอดบทเรียนกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นนั้นด้วย โดยมีนักวิชาการจากสถาบันศึกษาต่างๆ ในภาคใต้เข้าร่วมสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในแต่ละประเด็น

ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการ สวรส. บอกว่างานนี้คือการสานต่อกลไกสร้างสุขภาคใต้ที่เกิดขึ้นมา ๒ ปีแล้ว เป็นการประกาศวาระคนใต้ซึ่งจะขับเคลื่อนต่อให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ
“..กลไกภาคใต้มีบอร์ดซี่งเป็นตัวแทนหลายหน่วยงาน สสส. สช. สวรส. สปสช. ภาครัฐ อปท. อบต. เทศบาล ภาคประชาชน ชมรมแพทย์ชนบท ฯลฯ ร่วมกันกำหนดทิศทางระบบสุขภาพภาคใต้ มีคณะทำงานจากภาคใต้ตอนบนตอนล่าง ใช้ สวรส.เป็นศูนย์ประสานงาน มีเครือข่ายระดับจังหวัด เครือข่ายเชิงประเด็น.. ใช้กระบวนการทำ Mapping ให้เห็นว่ามีสถานการณ์สุขภาพอะไรบ้าง มีใครทำอะไรอยู่ในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันก็สร้างกลไกทำงานร่วมกัน แล้วก็สร้างงานโดยของบ สสส. มาทำโครงการ ที่แต่ละจังหวัดแต่ละประเด็นเสนอเข้ามาผ่านกลไกภาค..”

รูปแบบงานสร้างสุขครั้งนี้ ได้รับการการันตีจากเจ้าภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองคนดี ที่มีแหล่งศึกษาเผยแผ่ธรรมะ แจกดวงตาให้เห็นธรรมจนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกอย่างสวนโมกขพลาราม ได้เสนอคอนเซ็ปต์การจัดงาน สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้ ๕๑ – ๕๒ เลือกสถานที่จัดในมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยการยึดเอา ๓ อาคารหลัก คือ ๑ หอประชุมใหญ่ ๑ อาคารอำนวยการ และ อีก ๑ อาคารทีปังกร พร้อมกับ ๒ ห้องอาหาร และอีก ๒ หอพักนักศึกษา พร้อมทั้งลานโล่งเชื่อมต่อของอาคารเหล่านี้เป็นปริมณฑลงานด้วยการแปลงทั้งหมดให้เป็นเสมือนสวนโมกข์ลำลอง โรงหนัง ลานหินโค้ง สระนาฬิเกร์ ศาลาธรรมโฆษณ์ ฯ กับยังมีเวทีกลางแจ้งใต้ร่มไม้ครึ้มอีก ๒ เวที นับว่าสถานที่ลงตัวอย่างยิ่ง คนเข้าร่วมทั้งหมดก็กินนอนอยู่ในที่เดียวกันทั้งนั้น ๓ วัน ๓ คืน

เมื่อผ่านเข้าประตูงานสร้างสุขจำลองประตูสวนโมกข์ พบกับซุ้มนิทรรศการละลานตาไปด้วย สิ่งนำเสนอ แบบจำลอง แสดง สาธิต แผนผัง และเอกสารหนังสือ เผ่ยแผ่ให้ผู้สนใจ ประเด็นเกษตรและอาหารก็ได้ยกครัวมาทำข้าวยำให้ลองซิม และยังมีผักยำยำผักพื้นบ้านจากยะลา ประเด็นการจัดการลุ่มน้ำ ก็เด่นไม่แพ้กันนำน้ำจากแต่ละแหล่งใส่ขวดมาอธิบายให้เข้าใจเห็นภาพชัดเจนจนหายสงสัย เด็กเยาวชนกับวัยสดใส สื่อด้วยการร้อง เล่น เต้นกันสนุก แถมมีต้นความคิด ใครคิดอะไรดีดี เขียนแล้วไปปักที่ต้นกล้วยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน วัฒนธรรมคนใต้ก็สาธิตวิธีการย้อมผ้าสีธรรมชาติข้างๆ เวทีเสวนา และมีผลิตภัณฑ์ให้ชมด้วย พหุวัฒนธรรมพหุสังคมก็ยกชาชักมาทำให้ได้ทานกันจริงๆ ส่วนสื่ออาสาขบวนนี้น่าสนใจมีปฏิบัติการจริงในงานเป็นรูปแบบของอาสาสมัคร ช่วยกันเผยแผ่สิ่งดีดีที่ได้แลกเปลี่ยนกันตลอด ๓ วันในงานนี้ ให้สังคมได้รับรู้ มีทั้งสื่อ เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น วิทยุชุมชน อินเตอร์เน็ต และสื่อสิ่งพิมพ์

กระบวนการจัดการในวันงาน เมื่อแต่ละส่วนได้รับมอบหมายภารกิจตามคำสั่งแต่งตั้งคณะจัดงานสร้างสุขโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีคุณทวีศักดิ์ สุขรัตน์ ประชาคมสุราษฏร์ธานีเป็นเลขาและผู้ประสานงานดำเนินการหลัก นอกจากต้องเตรียมสถานไว้รองรับแล้ว ยังต้องจัดการให้งานเป็นไปตามกำหนดการ ตั้งแต่ขั้นลงทะเบียน จัดเข้าที่พัก ประชาสัมพันธ์ชี้แจงการกินอยู่ร่วมกันตลอด ๓ วัน และรับผิดชอบงานเวทีกลางด้วย

การลงทะเบียน ได้ให้นักเรียนนักศึกษามาเป็นผู้ช่วยในการลงทะเบียนและแจกหนังสือ เสื้อ คูปองอาหาร ที่บรรจุในย่าม พร้อมดูแลข้าวกล่องอาหารเที่ยง อาหารว่าง และบริการอื่นๆ ถึงจะคลุกคลักไปบ้างแต่ ทุกคนก็ได้พยายามทำเต็มที่แล้ว

สำหรับหนังสือที่ใช้ประกอบในงาน สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของคนใต้ ๕๑ -๕๒ ที่ทุกคนต้องได้รับมีทั้งหมด ๓ เล่มหลัก พร้อมกับหนังสืออีก ๙ ประเด็นย่อยที่แจกให้สำหรับผู้เข้าประชุมในแต่ละประเด็น ทั้งหมดได้ตกลงร่วมกันว่าจะเอา ปัญญา เป็นตัวเคลื่อน โดยทุกประเด็นมีคณะทำงานขบคิดประสานขับเคลื่อนมาเป็นระยะ ๆ จนออกมาเป็นเอกสารนำเข้าสู่การพิจารณาเชิงประเด็น ๙ เล่ม คือ
ความสุขที่มี ความดีที่ทำของเด็กใต้ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ อบต.ปากพูน...ต้นแบบการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็ก, “มหาสดัม” สร้างเยาวชน, ชมรมหนำเทพศิลป์...หน่วยบ่มเพาะเยาวชนสืบสานวัฒธรรมภาคใต้, แรงบันดาลใจ...สู่ พฤติกรรมสุขภาวะ, เยาวชนฟ้าใส “หัวใจ” คือการเรียนรู้
วาระเมืองคนดี ลดอบายมุขสร้างสุขด้วยปัญญา ที่เปลี่ยนจากประเด็นสุขภาวะปัญญาของคนใต้ ซึ่งได้เตรียมกรณีศึกษาประกอบคือ สร้างสุขแบบพุทธทาสที่สวนโมกข์, โนราสร้างสุขภาวะที่เมืองนคร, แผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง, ออมทรัพย์ออมปัญญาแบบครูชบ ยอดแก้ว, ธนาคารต้นไม้ ธนาคารแห่งภูมิปัญญา และไม่ทันจัดพิมพ์อีก คือสุขภาวะทางปัญญา ณ บ้านคีรีวง, กระบวนทัศน์อิสลามเพื่อการพัฒนา, วาระเมืองฅนดี : ลดอบายมุขสร้างสุขด้วยปัญญา

เกษตรและอาหารปลอดภัยของคนใต้ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ เส้นทางข้าวในโรงแรมนา ชุมพรคาบาน่ารีสอร์ท, ความสุขมวลรวมของชุมชนบ้านศาลาแม็ง, “ผักปลอดสารพิษ” บางเหรียง “ปลุกกินเอง เหลือขาย เรากินได้ คนอื่นกินได้” , ข้าวพันธุ์พื้นบ้านของชาวบางแก้ว, จากยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหารของชาติเมื่อวันวาน...สู่สภาฯอาหารปลอดภัยของชาวสงขลาในวันนี้
นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ “ทำนา หาปลา ขึ้นโหนด”...ความสุขแบบพอกิน ของคนคาบสมุทรสทิงพระ, องค์กรชุมชนกับการจัดการลุ่มน้ำตรัง, กระบวนการเรียนรู้...สู่การสร้างสุขของชุมชนลุ่มน้ำเทพา, ลุ่มน้ำสายบุรีในวิถีชุมชนมุสลิม, ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา, เครือข่ายฯ รัตภูมิวิถีความร่วมมือแห่งลุ่มน้ำ, ความร่วมมือที่ลุ่มน้ำหลังสวนดัชนีชี้เป็นชี้ตาย “สิ่งแวดล้อม” , ปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ของผืนป่าและวังปลา ณ ลุ่มน้ำคลองยัน
วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ ผลิตภัณฑ์อาหารจากกล้วยอาหารภูมิปัญญาพัทลุง, โครงการฟื้นฟูกระบวนการย้อมครามในวิถีผ้าพื้นบ้านภาคใต้, ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรและการนวดพื้นบ้าน, เส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนวิถีพุทธคลองแดน, การแสดงพื้นบ้านกับสุขภาวะคนใต้

พหุปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรม
ท้องถิ่นกับการสร้างสุขภาพ ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ การจัดการขยะฐานศูนย์การประยุกต์แนวความคิดของเทศบาลตำบลปริกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างเสริมสุขภาพชุมชน, องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูนกับการสร้างสุขภาวะชุมชน, ตำบลสุขภาวะท่าข้าม
คนใต้กับการเมืองภาคประชาชน ประกอบด้วย บทเรียนกรณีศึกษาของ ประชาคมท้องถิ่นตรังกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่นสู่จังหวัด, การเมืองสมานฉันท์ที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา, ธรรมนูญชุมชนเกาะปอ, ชุมชนหลอมปืนกับอำนาจในการจัดการตนเองและทรัพยากรชายฝั่ง, สภาผู้นำกับประชาธิปไตยฉบับชาวบ้านเพื่อการสร้างสุขชุมชนจากหมู่บ้านน้ำซับถึงตำบลขุนทะเล
ธรรมะบันเทิง บันเทิงได้ด้วยปัญญาเพื่อการถึงธรรม ว่าด้วยคาราโอเกะเพลงธรรมะ ๑๑ เพลง และแนวสร้างสุขแบบพุทธทาสที่สวนโมกข์
และยังมีเอกสารหลักอีก ๓ เล่ม คือ
FACTS AND FIGURES ๒๐๐๘ ข้อเท็จจริงและสถิติภาวะคุกคามสุขภาพภาคใต้ ประกอบด้วย ไข้มาลาเรีย โรคไข้เลือดออก โรคเอดส์ วัณโรค โรคชิคุนกุนยา อนามัยแม่และเด็ก สุขภาพช่องปากในเด็ก สถานการณ์การดื่มสุราของเยาวชนในภาคใต้ สถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้
สุขภาวะคนใต้ สถานการ์และข้อเสนอเพื่อการสร้างสุข เป็นเอกสารที่ทีมวิชาการและคณะทำงานของแต่ละประเด็นร่วมกันสรุปสถานการณ์สุขภาวะในประเด็นนั้นๆ พร้อมข้อเสนอเพื่อการสร้างสุขใน ๘ ประเด็นหลัก
สุขสร้างได้ด้วยปัญญา เป็นอีกความพยายามที่ต้องการร้อยเรื่องราวของทุกประเด็นในงานสร้างสุขภาคใต้ “สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้ ๕๑ -๕๒” ให้ตอบโจทย์เรื่องปัญญา โดยได้ประมวลเนื้อหาออกมาเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ ๑ สุขภาวะปัญญาของฅนใต้ เป็นนิยามความหมาย และหลักคิดเรื่องปัญญาของฅนใต้ ส่วนที่ ๒ สุขสร้างได้ด้วยปัญญา เป็นการประมวลจากบทเรียนทั้งหมดใน ๘ ประเด็น มีแง่มุมทางสุขภาวะทางปัญญาอย่างไร

ส่วนของแถมในงานนี้ นอกจากธรรมะบันเทิง ถามตัวเอง ที่เปิดห้องประชุมใหญ่ร้องเพลงคาราโอเกะธรรมะกันแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนากับชาชักของพี่น้องมุสลิม แล้วก็การนั่งสมาธิออกกำลังใจกับการออกกำลังกายไทเก๊กและอื่น ๆ อีกมากที่เอากันมาผสมผสานกันในตอนเช้าตรู่

เมื่อเปิดฉากเวทีงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ ๓ การแสดงศิลปะ–วัฒนธรรมสร้างสุข ๔ มุมเมืองก็เริ่มขึ้น มาพร้อมกับทีเด็ดที่มาเสริม เปิดเวทีกับนักร้องลูกทุ่งสาวเสียงใสมาร้องนำสามสี่เพลงพร้อมนางรำนุ่งน้อยห่มน้อยให้เป็นที่ตกกะใจกับ “ปัญญานำของคนใต้” อยู่พักใหญ่ก่อนที่จะพากันนิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ากับโต๊ะครูออกจากหอประชุมกันแทบไม่ทัน ทราบทีหลังว่ามีขาใหญ่ อบต.ในสุราษฎร์เมืองเจ้าภาพบอกมาว่ามีรายการดีมาขอสมทบแทรกเสริม แล้วใครก็ไม่ทันคิด ยกให้เป็นรายการพิเศษเปิดเวทีทำเอาได้ปัญญากันตาม ๆ กัน ก่อนจะตามด้วยดีเกฮูลูของเด็ก ๆ จากภูเก็ตที่เต็มไปด้วย สุขภาวะทางปัญญาอย่างยิ่ง เพราะน้องร้องเล่นอย่างมีสติลีลาและรื่นเริง แถมเนื้อหาก็พาให้ปลงกับน้องสาวนุ่งน้อยทั้งหลาย เพราะน้องดีเกฮูลูร้องเพลงว่าเป็นมุสลิมต้องศรัทธาในศาสนา เป็นคนไทยต้องรักชาติและบ้านเกิด ฯ ...งานนี้มีข้อคิดสำหรับคนคุมเวที
ต่อมาเป็นการรายงานสุขภาวะคนใต้ โดยศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสุ่วิวัฒน์วงศ์ และ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ชี้เรื่องโรคระบาด ซิคุนกุนยา มาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคเอดส์ วัณโรค ปัญหาสังคมเศรษฐกิจจากความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ แต่จากที่ดูรายงานผ่านมา ๓ ปี เรื่องนี้ยังขยับไม่ออกจากการนำเสนอเพียงข้อมูลด้านระบาดวิทยาเท่านั้น

จากนั้นพิธีเปิดอย่างเป็นทางการก็เริ่มในเวลา ๑๓.๐๐ น. ที่คนเข้าร่วมแน่นขนัด รมว.สธ.ไม่มาเอง มอบผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายสุเชษฐ์ แวอาแซ เป็นประธานเปิดงาน มีนายแพทย์ณัฐวุติ ประเสริฐสิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้กล่าวรายงาน ว่า การจัดงานสร้างสุขเป็นเพียงจังหวะการเคลื่อนไหวหนึ่งเพื่อการสร้างสุขของฅนใต้ที่เชื่อมประสานไปกับจังหวะของแผ่นดินที่ผ่านการพัฒนามาเนิ่นนานแม้จะเป็นเพียงจังหวะเล็กๆ แต่ก็เป็นจังหวะแห่งการก้าวใหม่ของ "ชุมชนชาวบ้านและคนเล็กคนน้อย" ที่ขอมีส่วนบ้างตามกำลังและศักยภาพที่ประสานไปพร้อมกับการขับ "ความรู้" เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสุขด้วยกัน
ทั้งนี้ โดยมีหลักคิดว่า สุขภาพ สุขภาวะ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของชีวิต ของผู้คนในสังคม การทำให้คนตื่นรู้ เรื่อง สุข-ทุกข์ รู้ตามสภาพเป็นจริง รู้หาเหตุ รู้ว่าสุขมีได้ เสริมสร้างได้ด้วยหนทางต่างๆ ภาคใต้มีการคิดค้นริเริ่มเรื่องนี้มาเนิ่นนานมีนวัตกรรมแก้ทุกข์ สร้างสุขออกมาอย่างหลากหลาย เช่น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ธนาคารหมู่บ้าน สภาผู้นำ และแผนแม่บทวิสาหกิจชุมชน เชื่อมประสานกับศาสนธรรมที่สืบต่อกันมาช้านาน ๕ ปีที่ผ่านมากระแสการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาพองค์รวมได้ยกระดับเป็นวาระสร้างสุขสู่การเคลื่อนไหวไปสู่เครือข่ายภาคีพันธมิตรสร้างสุขในภูมิภาค
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงาน คือ ๑. เพื่อยกระดับให้เรื่องสุขภาพ-สุขภาวะ หรือสุข-ทุกข์ และการสร้างเสริมสุขภาพเป็นวาระสำคัญของฅนใต้ ๒. เพื่อประมวลและประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพของภาคใต้สู่การพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะเชิงรุก ๓. เพื่อการเรียนรู้ขยายผลกิจกรรมงานสร้างเสริมสุขภาวะสู่ภาคีพันธมิตรหน่วยงาน ชุมชน ท้องถิ่นและสาธารณะ ๔. เพื่อสร้างกลไกระดับภาคในการเชื่อมประสานบูรณาการและขยายเครือข่ายภาคีพันธมิตรสร้างสุขภาพในภาคใต้
ลักษณะการจัดงาน คล้ายกับการเข้าค่ายของผู้คนใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้จำนวน ๑,๐๐๐ คนมาร่วมกันกำหนดวาระคนใต้ เพื่อเสนอนโยบายที่สำคัญ จำนวน๑๐ เรื่อง ได้แก่
๑. ความสุขที่มี ความดีที่ทำ ของเด็กใต้ ๒. ลดอบายมุข สร้างสุขด้วยปัญญา ๓. เกษตรและอาหารปลอดภัยของคนใต้ ๔. นโยบายสาธารณะการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนภาคใต้ ๕. วัฒนธรรมคนใต้กับการจัดการสุขภาวะ ๖. สื่อคนใต้สร้างสุข ๗. ท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ๘. ธรรมะบันเทิง สร้างสุขด้วยปัญญา ๙. คนใต้กับการเมืองภาคประชาชน ๑๐. พหุปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรม
โดยการคาดหวังว่า เมื่อเสร็จสิ้นงานนี้แล้ว มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อนำข้อเสนอไปสู่การขับเคลื่อนในพื้นที่และระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ขณะที่นายสุเชษฐ์ แวอาแซ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า จากการรายงานของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ได้ข้อคิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อทุกคน และมีความหมายกว้างขวางไปถึงสุขภาวะ ที่รวมเอาร่างกาย จิตใจ ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ถือเป็นการให้นิยามที่สะท้อนถึงการพัฒนาอย่างรอบด้านเป็นองค์รวมและมีการเชื่อมโยงบูรณาการกันอย่างน่าสนใจยิ่ง ในแต่ละปีรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากกับการรักษาหรือซ่อมสุขภาพ ขณะเดียวกัน หากว่าเราได้มีการสร้างนำซ่อม จะสามารถทำให้สุขภาวะสังคมไทย ชีวิตคนไทย โดยเฉพาะคนใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพแข็งแรง ท้องถิ่นน่าอยู่ การที่มีกลุ่ม องค์กรหน่วยงาน ทั้งภาคเอกชน ชุมชน ประชาสังคม และหน่วยราชการได้สร้างสรรค์สิ่งดีงาม และมีคุณค่าขึ้นในท้องถิ่นและชุมชนพร้อมๆ ไปกับการนำหลักศาสนาเข้ามาเชื่อมโยงเป็นฐานการพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมา นับเป็นการก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่งของการลดทุกข์ สู่การสร้างสุขให้เกิดขึ้นในภาคใต้
ต่อจากนั้นอยู่ดี ๆ ไม่ทราบว่าประสานกันอย่างไร พิธีกรก็ประกาศเชิญชวนผู้เข้าร่วมตามประธานออกไปชมนิทรรศการ กินของว่างแล้วไปประชุมห้องย่อย ทั้ง ๆ ที่มีรายการสำคัญ ปาฐกถานำเรื่องสุขภาวะทางปัญญา โดยเจ้าอาวาสสวนโมกข์ พระภาวนาโพธิคุณ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เพื่อเปิดประเด็นทางปัญญาตามแนวพุทธและมุสลิม ใช้เป็นหลักคิดสำหรับการเสนาในประเด็นย่อย จนเกิดโกลาหลเล็กน้อยก่อนที่จะกลับเข้าสู่รายการปกติได้ คนก็หายไปจากห้องเกือบหมด งานนี้มีข้อคิดสำหรับคนทำสคริปต์กับพิธีกรรับเชิญที่มาเพื่อเป็นพิธีกรโดยไม่ได้รู้เรื่องงานมาก่อน

บ่ายแรกมี ๓ เวทีย่อย เวทีลดอบายมุข สร้างสุขด้วยปัญญาของคนสุราษฎร์ ที่ห้องประชุมโรงมหรสพทางวิญญาณ ดูท่าจะกร่อยที่สุด เพราะอยู่ไกลและไม่มีคนเข้าเลย ส่วนอีกสองเวทีมีคนมากเพราะเตรียมกันมาก่อน คือ เวทีวาระคนใต้ เรื่อง ‘ความสุขที่มี ความดีที่ทำของเด็กใต้ ที่ห้องประชุมธรรมทโฆษณ และที่ห้องประชุมสระนาฬิเก เรื่อง เกษตรและอาหารปลดภัย ของคนใต้

ตกเย็นหลังอาหารมีเวทีพิเศษ คาราโอเกะเพลงธรรมบันเทิง คนก็น้อย มีแต่ขาประจำที่รู้จักและชักชวนกันไว้เท่านั้น ภาคีเข้าร่วมอื่น ๆ แทบไม่มีมาเลย คงต้องทบทวนทั้ง ๓๖๐ องศา งานนี้ทีวีไทยมาบันทึกรายการไปออกอากาศด้วย

วันที่สองของงานสร้างสุข เริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด ณ ลานกิจกรรมหน้าอาคารทีปังกรณ์ เป็นการทำกิจกรรมทางศาสนา ต่อด้วยการออกกำลังกาย ไท้เก็ก หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จก็เข้าสู่สาระของแต่ละกลุ่ม มีเวทีวาระคนใต้อีก ๘ เวที เช้า ๔ บ่าย ๔ โดยมีเวทีหลักคือการจัดการลุ่มน้ำที่เหมายาวเช้าบ่าย ยกพลคนลุ่มน้ำและบรรดากูรูของภาคใต้มากันพร้อมหน้า คนเข้าก็คับคั่งจริงจัง อีกเวทีที่เห็นครูใหญ่ทางวัฒนธรรมภาคใต้มากันตรึม คือเวทีวัฒนธรรมคนใต้ ในขณะที่เวทีท้องถิ่นนั้น นายกมากันมากหน้า ที่สำคัญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมท้อมถิ่นมาอยู่ตลอดเวที ที่สำคัญที่สุดคือไฟดับอยู่นานนับชั่วโมง แต่ห้องประชุมขนาด ๓๐๐ กว่าคนที่แน่นขนัด มืดมิดและค่อย ๆ อบอ้าวจนอุ่นนั้น ไม่มีการขยับลุกออก จนท่านรองปลัดบอกว่าเป็นเวทีที่ให้สาระอย่างยิ่ง มีสองเวทีที่แถมเสริมเข้ามา คือ เวทีสื่อคนใต้สร้างสุข กับ ธรรมบันเทิง ก็มีคนเข้าร่วมตามสมควร ในขณะที่เวทีอื่นก็มีคนเข้าร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนเวทีวัฒนธรรมวิถีมุสลิมเสวนากับชาชักนั้น เข้าใจว่ามีความไม่พร้อม จึงลดรายการลง ไม่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมใด ๆ

วันที่ ๓ เป็นเวทีสรุปผลการประชุมระดมปัญญา ที่ออกแบบให้เป็นการเชิญตัวแทนจากแต่ละเวทีประเด็นมานำเสนอข้อสรุปที่ได้โดยมีเอกสารการสรุปแจกจากทุกประเด็นให้กับทุกคน ให้อ่านเสนอสั้น ๆ ๓ – ๔ นาที กำหนดให้ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เป็นคนดำเนินรายการ ก็ดูว่าวิธีนี้น่าสนใจเหมือนกัน มีสาระ กระชับ ไม่แห้งแข็ง แถมยังได้เสียงฮาเป็นระยะ ๆ มีคนเข้าร่วมราว ๆ ๓๐๐ - ๔๐๐ คน โดยมีตัวแทนจากภาคีหุ้นส่วนมาเพิ่มข้อสังเกต คือ อ.กรรณิการ์ รองเลขา สช. กับ นพ.ภูมิวิชช์ ผอ.สปสช.ภาคใต้ตอนบน โดยรอง ผจก.สสส.ดร.สุปรีดา ที่แจ้งว่าจะมานั้นเกิดติดกิจขอยกเลิกการมา ก่อนที่ท่านผู้ว่าสุราษฎร์จะมาเป็นประธานปิดด้วยการประกาศเจตนารมณ์ลดอบายมุข สร้างสุขด้วยปัญญาของเมืองสุราษฎร์ และคุณลุงประยงค์ รณรงค์มาให้ปัจฉิมพจน์ พร้อมกับการแสดงปิดกับการรับไม้ต่อของนครศรีธรรมราช
ข้อสังเกตต่องานสุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของฅนใต้ ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒
ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษของงานภาคใต้มีอีก ๖ - ๗ ประเด็น
หนึ่ง การมุ่งมั่นเรื่อง สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขของคนใต้ ที่ขอให้ทุกประเด็นเน้นการขับเคลื่อนด้วยปัญญา นำเสนอกรณีศึกษา ยกระดับความรู้และปัญญาออกมาขับเคลื่อน โดยยังมีการถอดรหัสทางปัญญาจากแต่ละกรณีศึกษาและประเด็น ออกมาเป็นเล่มน้อย ‘สุขสร้างได้ ด้วยปัญญา’ อีกด้วย ส่วนจะเกิดผลกี่มากน้อยค่อยดูกันอีกที
สอง การขับเคลื่อนเป็นประเด็นโดยกลุ่มขับเคลื่อนเชิงประเด็นที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเดิมจนถึงประเด็นใหม่ ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ อย่างเกาะติดจนแม้ในการมาประชุมก็เกาะติดกันตลอดดังปรากฏในการเข้าร่วมกลุ่มเชิงประเด็น
สาม การออกแบบพื้นที่และบรรยากาศงานได้อย่างลงตัวยิ่ง ทั้งที่พัก อาหาร ลานนิทรรศการ เวที และ ห้องประชุม ในทัศนะของผมเห็นว่าสถานที่ของภาคใต้ปีนี้เข้าขั้นสุดยอดเลยทีเดียว ขอปรบมือให้ทีมสุราษฎร์ดัง ๆ อีกที หลังจากเสียท่าไป ๒ ทีเมื่อตอนพิธีเปิด
สี่ ที่พัก กับ อาหาร ได้รับการชื่นชมมาก ๆ กล่าวคือนอนกันง่าย ๆ ในหอพักนักศึกษา ผมพบอดีตอธิการบดี ศิลปินแห่งชาติ ฯ ท่านนอนหอนักศึกษากันทั้งนั้น ด้านอาหาร โดยเฉพาะเช้ากับเย็นที่ยึดโรงอาหารมาตั้งหม้อ เตา กระทะ ผัดผัดไทย ทอดปาท่องโก๋ ชงชากาแฟ ให้กินกันอย่างนี้ นับว่าสุดยอดเช่นกัน คุยกันไป กินกันไป ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ได้อะไรมากกว่าที่คิด
ห้า บรรยากาศพิเศษตอนเช้าตรู่ตั้งแต่ตีห้าของวันที่ ๒ และ ๓ นั้น เชื่อว่าคนที่เข้าร่วมจะรู้และสัมผัสได้เองถึงความวิเศษ กล่าวคือ มีการสวดมนตร์ทำวัตรเช้าและบทพิเศษบางบทแบบครบเครื่อง ตามด้วยการนั่งสมาธิภาวนาชั่วขณะ แล้วร่วมเต้นไท้เก๊กกับชมรมไท้เก๊กสุราษฎร์ธานีที่ย้ำเรื่องการออกกำลังใจและปัญญา ต่อด้วยนานาการออกกำลังกายในวิถีคนใต้ ตั้งแต่โนรา รองเง็ง แถม แทงโก้ กะ ชะชะช่า จบแล้วพากับไปกินป่าท่องโก๋ ข้าวต้ม ชากาแฟ ก่อนอาบน้ำแล้วเข้าประชุมกัน
หก นิทรรศการมีการจัดอย่างง่าย ๆ พอเสริมบรรยากาศ ที่ทำได้น่าสนใจมากน่าจะเป็นของกลุ่มวัฒนธรรม กับ กลุ่มลุ่มน้ำ ของเพื่อนคริสต์น่าเสียดายที่ตั้งไกลออกไป เช่นกันกับของสวนโมกข์ที่ไกลห่างออกไปนิดนึง แต่อย่างอื่นก็ลงตัวยิ่งแล้ว
เจ็ด การสื่อสาร เห็นการตั้งเวทีจัดรายการและถ่ายทอดวิทยุ และ เคเบิ้ลทีวีตลอดงานทั้ง ๓ วัน เรียกว่าทำคู่ขนานอย่างไม่ลดละ โดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมแผนเปิดรับทั่วไป สสส. ก็ถูกตามตัวไปออกอากาศสดทางเคเบิ้ลทีวี กับ วิทยุประเทศไทยที่ตลาดในเมืองกว่า ๒ ชั่วโมง
แปด ที่ภาคใต้ทำอย่างนี้ได้อาจจะเพราะจัดเป็นเจ้าสุดท้ายก็ได้ ข่าวว่าข้อสังเกตจาก เหนือและอีสานส่งผลต่อการเตรียมการที่ภาคใต้อย่างมาก ก็หวังว่าการทำข้อสังเกตทั้งหมดมานี้มิได้มีเจตนาอื่น ดู เห็น คิด เขียนโดยสุจริตใจและด้วยปรารถนาดีทั้งสิ้น เพื่อให้ได้ร่วมเรียนรู้อย่างกว้างขวางเพื่อเอามาประการขบคิดขบวนการงานสร้างสุขทั่วไทยของพวกเราต่อไป

“ร่วมเรียนรู้...สานข่าย ขยายปัญญา พาเคลื่อนงาน” งานสร้างสุขภาคกลาง

“ร่วมเรียนรู้...สานข่าย ขยายปัญญา พาเคลื่อนงาน”
งานสร้างสุขภาคกลาง
วันที่ ๒๗ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ



งานสร้างสุขภาคกลาง ที่เป็นการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนงานสร้างสุขในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รวม ๒๖ จังหวัด ต้องยอมรับว่าเป็นงานที่ยากมาก ด้วยความซับซ้อนทางสังคม ขนาดพื้นที่และความแตกต่างของบริบทสังคม ถึงจะผ่านประสบการณ์การจัดงานสร้างสุขกันมาหลายครั้ง รวมถึงเป็นพื้นที่รองรับการจัดเวทีระดับประเทศมาโดยตลอด เช่น การจัดงานรวมพลังสร้างสุขปี ๒๕๔๖ และ ๒๕๔๗ ที่จัดที่กรุงเทพฯ แต่นั้นก็เป็นการจัดงานเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนภาคกลาง เมื่อต้องมาจัดงานกันเองเหมือนกับว่ายังหาจุดลงตัวกันไม่พบ โดยงานสร้างสุขภาคกลาง ครั้งที่ ๑ จัดที่สนามกีฬาจังหวัดราชบุรี ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ยังไม่มีรูปแบบชัดเจน เพียงมาพบกันเหมือนเป็นแค่งานแฟร์นำเสนอผลงาน เสร็จงานแยกกันกลับก็จบกันไป
งานสร้างสุขภาคกลาง ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ ครั้งนี้มาจัดกันที่ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ สมุทรปราการ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากภาคอื่น คือการหาทิศทาง สร้างเครือข่าย หากลไกขับเคลื่อนขบวนสุขภาวะระดับภาค ภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการจัดงานสร้างภาคกลางครั้งนี้ ๒ โครงการ คือ
๑.โครงการขบวนสร้างสุขภาคกลาง รับผิดชอบโดยคณะทำงานประสานงานและกลไกการจัดงานสร้างสุขภาคกลางทำหน้าที่เกาะเกี่ยวเชื่อมร้อยพื้นที่อันหลากหลายมาร่วมกัน มีผู้ประสานงานคือ ปิยะ พวงสำลี และยังมีทีมจังหวัดเจ้าภาพคือสำนักงานสาธารณสุขสมุทรปราการร่วมด้วย
๒.โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้และพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนงานสร้างสุขในพื้นที่ภาคกลาง รับผิดชอบโดยคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

“..ที่ผ่านมาเราชวนคนมาทำเรื่องเดิมๆเสร็จแล้วก็บ้านใครบ้านมันเพราะทิศทางข้างหน้ามันไม่มี แต่ตอนนี้เราชวนยกระดับไปทำเรื่องใหม่ คือการทำงานเชิงพื้นที่ไม่ใช่เชิงประเด็นไม่ได้มองว่าประเด็นเป็นตัวนำแต่เป็นเครื่องมือในการถักทอให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่..”
ปิยะ พวงสำลี ผู้ประสานงานสร้างสุขภาคกลาง เล่าเส้นทางงานสร้างสุขภาคกลางว่ามีการจัดเวทีย่อยๆเวิร์คช็อปในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก ปริมณฑล
“..เพื่อระดมสถานการณ์สุขทุกข์ หาว่าทุนเดิมมีอะไร มีกระบวนการ บทเรียน ความสำเร็จอะไรบ้าง แล้วก็วิเคราะห์ทิศทางข้างหน้า เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม คาดหวังว่าพบจบงานสร้างสุขก็จะได้ร่างแนวทางการเคลื่อนขบวนของคนภาคกลางร่วมกัน..”

จากที่ได้ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมฯ เพื่อค้นหาประเด็นร่วมทางสุขภาพของภาคกลางก่อนที่จะมาพบกันในงานสร้างสุขที่สมุทรปราการ ได้ชักชวนคนทำงานด้านสุขภาพทั้งภาคประชาชน สังคม ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชนมาร่วมในโครงการวิจัย และร่วมพัฒนายุทธศาสตร์ของภาคกลาง พัฒนาชุดความรู้เพื่อสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ ภายใต้กรอบคิดการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาคกลางที่เน้นการทำงานเชิงพื้นที่ (Area – based) โดยใช้ประเด็นปัญหาหาร่วม หรือ สุข-ทุกข์ร่วมของพื้นที่เป็นประเด็นเชื่อมโยงความร่วมมือในทุกภาคส่วน และมีเป้าหมายมากกว่าการแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมสุขภาพ ปลุกจิตสำนึกท้องถิ่น และการเกิดเครือข่าย

จากผลงานวิจัยจึงได้ชุดความรู้การทำงานเชิงพื้นที่ออกมาทั้งหมด ๑๑ เรื่อง ประกอบด้วย
๑. สุขภาวะภาคกลางปี ๒๕๕๑ สถานการณ์และแนวโน้ม
๒. ฐานข้อมูลสุขภาวะภาคกลาง บทสังเคราะห์การบริหารจัดการโครงการและแนวทางการสร้างสุขภาวะ
๓. การพัฒนาสุขภาพเชิงพื้นที่ หลักการ กรณีศึกษาและข้อเสนอที่ท้าทายต่อการขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง
๔. การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะเชิงพื้นที่
๕. การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่
๖. การสังเคราะห์บทเรียนการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายสุขภาวะเชิงพื้นที่
๗. เครือข่าย กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่
๘. ชุดเครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่
๙. แผนที่ข้อมูลทุนทางสังคม
๑๐. นวัตกรรมสุขภาพภาคกลาง
๑๑. ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง

และในรายงานสถานการณ์และแนวโน้มสุขภาวะภาคกลาง พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศ ทั้งเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม ก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการพัฒนามากเช่นกัน
คนภาคกลางมีปัญหาสุขภาพจากสภาพแวดล้อม การประกอบอาชีพ พฤติกรรมการบริโภคเป็นหลัก และมีความเจ็บป่วยทางจิตสูงกว่าพื้นที่อื่น อุบัติการณ์ของโรคพบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกมากที่สุดในประเทศที่ อ่างทอง อยุธยา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนอัตราการตายสูงที่สุดของประเทศคือมะเร็งปากมดลูกที่ ลพบุรี ชลบุรี กรุงเทพฯ, มะเร็งเต้านมที่กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม, โรคหัวใจที่กรุงเทพฯ สิงห์บุรี นนทบุรี, โรคหลอดเลือดสมองที่จันทบุรี สิงห์บุรี พิษณุโลก ยังพบว่าภาคกลางติด ๕ ใน ๑๐ อันดับที่อัตราตายจากเอดส์สูงสุดที่ ลพบุรี ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี, อุบัติเหตุมีอัตราตายสูงสุดในประเทศที่ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร, อัตราการฆ่าตัวตายติด ๓ ใน ๑๐ อันดับของประเทศ ที่จันทบุรี ระยอง นครนายก
สถานการณ์ครอบครัวและชุมชนพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) แม้ว่าจะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าทุกภาค แต่ก็มีหนี้สูงที่สุดเช่นกัน และขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสสูงกว่าภาคอื่น แต่ก็มีอัตราการอย่าร้างสูงที่สุด
ภาคกลางมีป่าไม้น้อยที่สุดในประเทศและต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมในระบบนิเวศน์ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้งเพิ่มขึ้น, ชลบุรีและระยองซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักยังประสบภาวะขาดแคลนและแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม, ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เกิดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การก่อสร้าง ส่วนสระบุรีมาจากโรงโม่หินและอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, ภาคกลางมีขยะและของเสียอันตรายถึงร้อยละ ๗๗ ของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม และยังพบว่าคนภาคกลางป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะ จันทบุรี ตาก ตราด
คนในภาคนี้ยังเผชิญกับมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง ซึ่งยังคงเป็นความขัดแย้งยาวนาน กรมควบคุมมลพิษพบสารอินทรีย์ระเหยซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งถึง ๑๙ ชนิด รวมทั้งก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงกว่ามาตรฐาน ยังมีปัญหาการปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนโลหะหนักสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายบริเวณชุมชนและพื้นที่สาธารณะ ผลกระทบต่อสุขภาพพบว่าระยองมีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจมากถึง ๖๙๖ คนต่อประชากรพันคน และโรคมะเร็ง ๑,๒๖๓ คนต่อประชากรแสนคน

จากสถานการณ์สุขภาพภาคกลางดังกล่าว ทำให้ภาคีหลักของภาคมีความเห็นร่วมกันว่า การจะสร้างสุขได้ต้องจัดการกับ ๓ เรื่องหลัก โดยกำหนดเป็นประเด็นขับเคลื่อนงานสร้างสุขของภาคให้ผสมผสานสอดคล้องกัน กล่าวคือ
๑. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย การจัดการทรัพยากรน้ำ (ความพอเพียง และคุณภาพของน้ำ) การจัดการทรัพยากรดินอันเกิดจากสารเคมี การจัดการทรัพยากรป่า การขจัดมลพิษทางเสียง การขจัดมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะและของเสียที่เป็นพิษ และอื่นๆ
๒. ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน ประกอบไปด้วย การลดพฤติกรรมเสี่ยงของทุกกลุ่มประชากร ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความขัดแย้งทางความคิดในชุมชน ความเสื่อมถอยของคุณธรรมและจริยธรรม
๓. การขจัดความยากจน โดยเน้นที่การลดหนี้ภาคครัวเรือน

พร้อมได้ร่วมกันพัฒนา ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง ภายใต้วิสัยทัศน์งานสร้างสุขภาคกลาง ว่าด้วย การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของภาคประชาชน ภาคเอกชนภาควิชาการ ผู้นำทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน มีสุขภาพดีในทุกด้าน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขจัดความยากจนที่เน้นการลดหนี้สินภาคครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัวและชุมชน ที่ผสมผสานกลมกลืนกันควบคู่ไปกับการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ตามพันธกิจ ดังต่อไปนี้
สนับสนุนส่งเสริมงานสร้างสรรค์ หรืองานนวัตกรรมสุขภาพของพื้นที่ในภาคกลาง
สนับสนุนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพในด้านต่างๆ ให้โอกาสได้แบ่งปันความรู้ (knowledge sharing) และทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สูงขึ้นไปอีก
สนับสนุนและพัฒนาการทำงานเครือข่าย
การพัฒนาศักยภาพ ให้กับบุคคล กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์งานตามพันธกิจ
สนับสนุนกระบวนการนโยบายสาธารณะของพื้นที่ภาคกลาง
ผลักดัน สนับสนุนและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะ และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง

สำหรับเชิงโครงสร้างและกลไกหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาคกลาง พบว่า ยังไม่มีกลไกภาค แต่การผลักดันยุทธศาสตร์ภาคจำเป็นต้องมีกลไกอำนวยการ กำกับทิศทาง และการหนุนเสริม และการเคลื่อนงานภาคก็มีต้นทุนสูง จึงจำเป็นต้องมีกลไกภาคคอยเชื่อมร้อยองค์กรและแหล่งทุนต่างๆ เพื่อหนุนเสริม โดยแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น ๒ ระยะ ระยะแรก เป็นการขับเคลื่อนของจังหวัดนำร่องโดยมีจังหวัดอื่นร่วมเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกิดความพร้อม มีโครงสร้างคณะทำงานระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด
ระยะที่ ๒ เป็นการขับเคลื่อนงานสร้างสุขเต็มพื้นที่ มีโครงสร้างคณะทำงานระดับภาค ระดับโซน และระดับจังหวัด โดยถูกกำหนดแบ่งโซนตามพื้นที่ภูมิสังคมวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันเป็น ๔ โซน คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก
และจากข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง พร้อมชุดความรู้การทำงานเชิงพื้นที่ออกมาทั้งหมดนี้ จะถูกเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันในเวทีสร้างสุขภาคกลาง ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ วันที่ ๒๗ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อไป

การจัดงานสร้างสุขภาคกลางปีนี้ เลือกสถานที่จัดงานในอาคารประชุม เป็นสัดส่วน เหมือนจำกัดเฉพาะคนที่เชิญมาร่วมประชุม ซึ่งอาจจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของภาคกลาง โดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วม “บรรยากาศเป็นเอกภาพและคึกคักดี แถมหน้าห้องยังมีน้ำหวานสีสวย ๆ เป็นสีธรรมชาติให้ดื่มด้วย การเริ่มงานจึงคึกคักคลาคล่ำด้วยผู้คน จนได้เวลามากันพร้อมหน้าเต็มห้องประชุมหลายร้อยแต่คงไม่ถึงพัน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการมาเป็นประธานเปิด มีนายแพทย์ สสจ.สมุทรปราการกล่าวรายงานแถมด้วยแหล่เสภาสร้างสุขของคนภาคกลางที่ นพ.สสจ.ว่าเองอย่างเหลือเชื่อ ส่วนวิดิทัศน์นำเสนอก็ทำได้ง่าย ๆ แต่ได้ความ ด้วยการบันทึกลำดับความเป็นมาของขบวนการขับเคลื่อนงานปีนี้ผ่านเวทีต่าง ๆ พร้อมโจทย์ คำถาม ประเด็น ข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อการนำเข้าสู่ที่ประชุมในงานนี้ ถือเป็นดำริที่ดีอาจเทียบเคียงกับอีกแนวของภาคอีสานที่เน้นเสนอภาพรวมเรื่องสุขทุกข์แล้วชี้ชวนสร้างสุขตามที่มักนิยมทำกัน

หลังพิธีเปิด เป็นการปาฐกถานำของคุณแม่ชีศันศนีย์ ที่เก๋เสมอด้วยการชวนทำสมาธิดอกไม้บานผ่านแอนิเมชั่นสวย แม้บรรยากาศจะจอแจไปสักนิดเพราะคนมาก แต่ก็เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมด้วยดี เพียงแต่ปาฐกถาที่คาดหวังนั้นไม่ได้เป็นปาฐกถาเท่านั้น
ด้วยบริเวณการจัดงานอยู่ในห้องประชุมใหญ่ทั้งหมด เพียงแต่มีฉากกั้นออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นลานนำเสนอนวัตกรรมสร้างสุข อีกฝั่งเป็นเวทีประชุม เมื่อประธานเปิดงานเดินชมนิทรรศการ เจ้าของซุ้มก็นำเสนอเต็มที่ ซุ้มข้างๆ ก็แข่งเรียกความสนใจ ทั้งเสียงกลอง ฉิ่ง ฉาบ เดือดร้อนถึงคนคุมเสียงไม่รู้จะไปบอกให้ลดเสียงอย่างไรดี อีกฝั่งหนึ่งก็กำลังจะเปิดประชุมเวทีกลางของภาค แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี ท่านประธานคงเห็นเสียงดังรบกวนการประชุมจึงรีบเดินกลับออกไป แล้วก็มาต่อกันที่การนำเสนอกรณีศึกษาของสมุทรปราการ ได้แก่ การจัดการความยากจนที่หมู่บ้านบางน้ำผึ้ง, การต่อสู้ผลกระทบโลกร้อนที่บ้านขุนสมุทรจีน, ครอบครัวลดเหล้าในโรงงานไทเกรียง ซึ่งผสานกับการเดินชมกรณีศึกษาในลานตามสมัครใจของคนเข้าร่วม

ตอนบ่ายมีการแบ่งเป็น ๓ ห้องย่อยตามประเด็นขับเคลื่อนที่วางไว้แต่เดิม ได้แก่ ห้องที่ ๑ ประเด็น ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน มีการนำเสนอกรณีศึกษา พลังคนสามวัยดับไฟยาเสพติดที่ชะไว อ่างทอง, โครงการเรียน ๒ ระบบจบ ๒ หลักสูตรเพื่อครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง สุพรรณบุรี และตำบลสุขภาวะและบูรณาการ จันทบุรี ประเด็น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอกรณีศึกษาของ ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ตราด, ป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง ชัยนาท, ป่าต้นน้ำศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม กาญจนบุรี ส่วนห้องที่ ๓ ประเด็นการขจัดความยากจน นำเสนอกรณีของ ศาลาสร้างสุขบางระกำ นครปฐม, มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุทรสงคราม, ซึ่งทุกประเด็นมีคนเข้าร่วมแน่นทุกห้อง แลกเปลี่ยนกันแบบจริงจัง ขนาดที่ผู้นำเสนอในห้องประเด็นการขจัดความยากจนยังต้องถอยตั้งหลัก เมื่อถูกผู้เข้าร่วมรุกถาม ชัก แลกเปลี่ยนไม่ให้พักยก สุดท้ายต้องตัดสินที่กรรมการผู้ดำเนินการบนเวที คือคุณปิยะ เข้าคลี่จึงปิดเวทีลงได้ ถ้าไม่งั้นคงอดเที่ยวเมืองโบราณแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ได้เห็นถึงความพยายามรักษามรดกไทยของคุณเล็ก วิริยะพันธ์ ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม จึงนับเป็นสถานที่แห่งความสุขแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าภาพจัดงานก็ใจดีจัดโปรแกรมทัวร์เมืองโบราณนี้ให้ด้วย

ภาคกลางคืน ไม่มีพิธีการอะไร เพียงเป็นการเลี้ยงอาหารโต๊ะจีน มีการแสดงของภาคีเครือข่ายและน้องๆ นักเรียนโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ นั่งคุยแลกเปลี่ยนกันด้วย กินอาหารไปด้วย พออิ่มได้เวลาก็แยกย้ายกันกลับโรงแรมที่พัก

เริ่มงานวันที่สอง เป็นการสรุปประมวลการประชุมย่อยทั้ง ๓ ประเด็น และนำเสนอ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาคกลาง เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนร่วมกัน จากการสรุปสังเคราะห์เชิงวิชาการที่คณะนักวิชาการเข้าร่วมอย่างจริงจังก่อนที่จะหาข้อสรุปเพื่อการขับเคลื่อนการสร้างสุขร่วมกันของคนภาคกลาง แต่พอมานำเสนอรวมเพื่อขบคิดขับเคลื่อน โดยออกแบบให้จัดกลุ่มเป็น ๔ กลุ่มตามภูมิสังคมวัฒนธรรมของพื้นที่ภาคกลางที่คาดว่าน่าจะขับเคลื่อนกันต่อได้ คือ ตะวันออก, กลางตอนบน, ภาคตะวันตก, กรุงเทพและปริมณฑล แต่กลับกลายเป็นการเสนอและคิดเป็นรายจังหวัดทำให้ที่เตรียมการและตั้งใจจะได้แนวทางการขับเคลื่อนขบวน กลับกลายเป็นการคิดกิจกรรมของจังหวัดมากกว่าการขับเคลื่อนขบวนของจังหวัดเพื่อการประสานเป็นขบวนของคนภาคกลาง จนทำให้การขบคิดและประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนขบวนของคนภาคกลางเหมือนจะไม่ออก

“..ภาคกลางมีความพยายามทำงานเป็นภาคมานาน แต่ไม่ค่อยจะรวมกันได้ เราก็พยายามลงไปเกาะเกี่ยวผู้คน และที่ผ่านมายังไม่มีกลไกการสนับสนุนทางวิชาการชัดเจน ไม่มีฐานข้อมูลสุขภาวะภาค ปีนี้เราก็ทำงานวิชาการควบคู่ไปกับงานเคลื่อน โดยทั้ง ๓ ทีมมีธงร่วมกันว่าจะทำงานเชิงพื้นที่ จึงพยายามชวนทุกภาคส่วนมาร่วมทั้งภาครัฐ วิชาการ ประชาชน เอ็นจีโอ ประเด็นร่วมของภาคก็มีการระดมกันในเวทีย่อยๆออกมาเป็นสิ่งแวดล้อม ครอบครัว ความยากจน เป็นปัญหากว้างๆเพราะพื้นที่ภาคกลางใหญ่มาก ซึ่งคิดว่าในปีต่อไปจะมีประเด็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้..”
ผศ.ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ หัวหน้าทีมวิชาการงานสร้างสุขภาคกลาง เล่าแนวคิดและความพยายามสร้างขบวนสุขภาวะภาคกลางว่าปีนี้แม้ไม่เห็นรูปธรรม แต่ก็เป็นจุดเริ่มให้ก้าวต่อ
“..เราเริ่มทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ สังเคราะห์องค์ความรู้ ถอดบทเรียน และระยะต่อไปก็จะพยายามสร้างภาคีเครือข่ายสถาบันวิชาการต่างๆในภาคเช่น ม.ศิลปากร, ม.เกษตร ส่วนการขับเคลื่อนเชิงประเด็น ฝันไว้ว่าจะให้ทั้ง ๒๖ จังหวัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาร่วมกันเป็น action plan ของภาคกลาง แต่ตอนนี้ได้เป็นข้อเสนอยุทธศาสตร์ร่วมเป็นจุดเริ่มให้ก้าวต่อ ให้พื้นที่ที่อยากจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันแสดงความจำนงออกมาเป็นจังหวัดนำร่องก็ได้ประมาณ ๑๐ จังหวัดซึ่งจะคุยต่อว่าจะทำอะไรร่วมกันไหม มาพัฒนาข้อเสนอโครงการด้วยกันแล้วหาแหล่งทุน แล้วโครงสร้างและกลไกภาคมันก็จะเกิดได้จริงจากเนื้องาน ไม่ใช่แค่ข้อเสนอแล้วจบไป..”

ในเวทีระดมความคิดเพื่อหาทิศทางจังหวัด ทิศทางแต่ละโซนที่จะเชื่อมร้อยสู่การขับเคลื่อนขบวนสุขภาวะภาคกลางโดยรวมยังไปไม่ถึงเป้าหมายคือเป็นเพียงการนำเสนอประสบการณ์หลากหลายจากชุมชน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำกระบวนการและอาศัยเวลาต่อไป งานสร้างสุขปีนี้จบลงด้วย “การประกาศปฏิญญาเมืองโบราณว่าด้วยความร่วมมือขับเคลื่อนวาระสุขภาพภาคกลาง ๒๖ จังหวัด” ตามแนวทางข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ และมอบธงเจ้าภาพต่อให้จังหวัดนครปฐม
การขับเคลื่อนขบวนสุขภาวะภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ที่มีบริบทความแตกต่างเชิงพื้นที่อยู่มากให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้นมิใช่เรื่องง่าย และนับเป็นความท้าทาย งานสร้างสุขภาคกลางปีนี้เป็นการจุดประเด็นดังกล่าว คงต้องติดตามว่าเมื่อตั้งโจทย์เช่นนี้จะขยับต่ออย่างไร และคงต้องเอาใจช่วยให้ความพยายามเกาะเกี่ยวเชื่อมร้อยทุนทางสังคมอันหลากหลายในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนขบวนสุขภาพภาคกลางเกิดเป็นรูปธรรมได้จริง

มี ๓ ข้อสังเกตพิเศษของภาคกลางคือ
เอกสารนำเข้าอย่างเป็นทางการที่มีมากที่สุด และพิมพ์ปกสี่สีสดสวยที่สุด ๑๑ เล่ม คือ ๑)สุขภาวะภาคกลาง ปี ๒๕๕๑ สถานการณ์และแนวโน้ม ๒) ฐานข้อมูลสุขภาวะภาคกลาง ๓) นวัตกรรมสร้างสุขภาคกลาง ๔) การพัฒนาสุขภาพเชิงพื้นที่ ฯ ภาคกลาง ๕) ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพภาคกลาง ๖) ชุดเครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ ๗) แผนที่ข้อมูลทุนทางสังคม ๘) การพัฒนานโยบายสาธารณะ ๙) เครือข่าย กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ ๑๐) การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่ และ ๑๑) การสังเคราะห์บทเรียนการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายสุขภาวะเชิงพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เน้นเชิงหลักคิด ทฤษฎีเชิงวิชาการจากกรณีศึกษาซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย มีที่เป็นข้อมูลเนื้อ ๆ เชิงกรณีศึกษาและนำสู่การหารือ คือ ลำดับที่ ๑ – ๕
มีกิจกรรมพิเศษแถมสามรายการคือ หนึ่ง อาหารกลางวัน ที่นั่งรถรางเข้าไปจัดเลี้ยงในเขตเมืองโบราณกลางลานพิพิธภัณฑ์อะไรสักอย่างซึ่งจำไม่ได้ แต่บรรยากาศดีมาก กับตอนบ่าย ๑๖๓๐ น. มีการนำชมเมืองโบราณรอบพิเศษแก่ทุกคนด้วยขบวนรถรางชุดใหญ่จนทั่วทั้งเมืองโบราณก่อนกลับมารับประทานอาหารเย็นแบบโต๊ะจีนที่มีวงดนตรีของเด็ก ๆ มาเล่นประกอบโดยไม่กิจกิจกรรมอะไรนอกจากกินกับดูและฟังดนตรีจนเลิก
เท่าที่สังเกตดู ดูเหมือนว่างานของภาคกลางยังจำกัดขอบเขตค่อนข้างมากด้วยบริบทจำเพาะที่ยากยิ่งและไม่เหมือนภาคไหน ๆ เข้าใจว่าเพื่อนพ้องน้องพี่และภาคี รวมทั้งพวกเราทั้งหลายต้องเอาใจช่วยอีกไม่น้อย

“ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ”งานอีสานสร้างสุข ๕๑ - ๕๒

“ตุ้มโฮมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ”
งานอีสานสร้างสุข ๕๑ - ๕๒
วันที่ ๒๐ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ทุ่งศรีเมือง (ลานเทียน) ถนนหน้าศาลากลาง และศาลาประชาคมจังหวัดอุบลราชานี


“อีสานสร้างสุข” เป็นชื่องานที่เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการรวมตัวของภาคีเครือข่ายสุขภาพ ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน ชื่อนี้ได้เกิดขึ้นและใช้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่เกิดงานสร้างสุข ๔ ภาคครั้งแรกในปี ๒๕๔๙ ที่นครราชสีมา และ ปี ๒๕๕๐ ที่มหาสารคาม ส่วนปีนี้จัดที่จังหวัดอุบลราชธานี คาบเกี่ยวปี ๕๑ – ๕๒ ภายใต้แนวคิดการจัดงาน “ตุ้มโฮมภูมิปัญญาสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยครั้งนี้คณะทำงานภาคอีสานได้ใช้โลโก้ที่พยายามสื่อเอกลักษณ์ ความสุข และ ความเป็นเครือข่ายของภาคได้อย่างชัดเจน ใช้รูปองค์พระธาตุพนม เป็นฉากหลัง มีดอกจาน และแคนตัดอยู่ข้างหน้า แถมในวันแถลงข่าวเปิดงานอีสานสร้างสุขรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นประธาน ยังเสนอให้เพิ่มรูปเทียนพรรษาที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลเข้าไปด้วย แต่ทางผู้รับผิดชอบบอกว่าดำเนินการไม่ทันแล้ว สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการร่วมกันเชิงสัญลักษณ์อันจะมีความหมายอย่างมาก ซึ่งถ้างานใดแสดงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ร่วมได้ จะเสริมพลังให้เกิดความรู้สึกร่วมอย่างมีความหมาย และยังเป็นการสื่อถึงเป้าหมายของงานอีกทางหนึ่งด้วย
งานอีสานสร้างสุข ปี ๕๑ – ๕๒ จัดขึ้น ณ ทุ่งศรีเมือง (ลานเทียน) และศาลาประชาคมจังหวัดอุบลราชานี ซึ่งเป็นใจกลางการสัญจรของผู้คนในจังหวัด มีซุ้มประตูงานทำด้วยไม้ไผ่สุดเก๋ เรียบง่าย เป็นสัดส่วน พร้อมแล้วที่จะเปิดรับผู้เข้าร่วมงาน ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยมีโฆษกประกาศประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมงานดังไปทั่วบริเวณรอบทุ่งศรีเมือง หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี พอเดินเข้าไปในงาน พบกับความสวยงามและบรรยากาศสบาย แบบฉบับคนอีสานที่เป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง สนุกสนาน เข้าทาง Concept การจัดนิทรรศการ “ลดเศร้า สร้างสุข” นำเสนอ “นวัตกรรมสร้างสุข” และใครที่เดินหลงเข้ามาคงไม่รู้สึกเค่อเขินแปลกแยกเป็นแน่
การตกแต่งแบบงานผ้าป่า มีธงตุง ริ้วผ้า ซุ้มดอกไม้ และสัดส่วนบูทแสดงนิทรรศการ เตรียมไว้อย่างสวยงามรอให้เจ้าของพื้นที่ที่จับจองเพื่อนำฟิวเจอบอร์ดนิทรรศการมาติดก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ ในเช้าวันงานหลายซุ้มก็ยังไม่มีข้อมูล อาจจะยังมากันไม่ถึง อย่างกลุ่มภาคีเครือข่ายที่เดินทางมาไกลจากจังหวัดเลย ต้องมานั่งแปะรูปกว่าจะเสร็จก็ทำเอาเหงื่อตกพอควร เพราะสายๆ มาอากาศเริ่มร้อนจัด
ที่กองอำนวยการ คึกคักกับเอกสารและของแจกกำลังลำเรียงเข้ามา ส่วนหนึ่งให้ลงทะเบียนรับกันเป็นจังหวัดหรือเป็นกลุ่มตามเครือข่าย มีผู้ประสานงานมาลงทะเบียนรับให้ โดยใส่ในย่ามสวยงาม มีหมวก คูปองอาหารเที่ยงที่ต้องจัดการกันดีๆ แล้วยังมีหนังสือเล่มงามน่าอ่าน ประกอบด้วย นวัตกรรมอีสานสร้างสุข ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ บทเรียนสร้างสุขที่ร้อยเรียงใหม่ให้เหมาะสมกับคนทั่วไปเป็นงานเชิงวรรณกรรมสั้นๆ ได้ใจความ ทั้งหมดจาก ๖๐ กรณีศึกษากระจายพื้นที่ทั่ว ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ๑ ขอนแก่น ๔ ชัยภูมิ ๔ นครราชสีมา ๓ นครพนม ๑ บุรีรัมย์ ๒ มุกดาหาร ๒ มหาสารคาม ๓ ยโสธร ๕ ร้อยเอ็ด ๒ เลย ๓ ศรีสะเกษ ๒ สกลนคร ๕ สุรินทร์ ๔ หนองคาย ๑หนองบัวลำภู ๒ อุดรธานี ๑ อำนาจเจริญ ๒ อุบลราชธานี ๖ และกรณีเชิงประเด็นไม่ระบุพื้นที่อีก ๕ กรณี
ส่วนอีก ๓ เล่มย่อย ประกอบด้วย รายงานสุขภาวะคนอีสาน ปี ๒๕๕๑ พบว่าผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้หญิง ๕.๓๘ ปี อยู่ที่ ๗๑.๖๕ ปี สุขภาวะทางจิตใจ มีโรคซึมเศร้า วิตกกังวล การฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น สุขภาวะทางสังคมที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และสุขภาวะทางปัญญายังไม่มีรายงานบ่งชี้ชัดเจน เรื่องภาวะภัยคุกคามคนอีสานปีนี้เน้นที่ความไม่มั่นคงเรื่องอาหาร ทรัพยากรและเมกะโปรเจค ส่วนงานวิจัยเรื่องพระสงฆ์กับสุขภาวะ พบพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพร่างกายมากขึ้นจากอาหารที่ได้รับถวาย

และเดินชมในงานต่อไป ติดกับซุ้มอำนวยการเป็นซุ้มเอกสารของแจกของเครือข่าย สสจ. และ สปสช. มีคนไปรับกันมากแต่ต้องลงชื่อผู้รับและเครือข่ายก่อน คงเก็บไว้เป็นทำเนียบ
ฝั่งที่มีเสียงคึกคัก นอกจากซุ้มประชาสัมพันธ์แล้วยังมีซุ้มเด็กเยาวชน มีกลุ่มผีตาโขนน้อยที่เตรียมจะแสดงในงานแสดงแสงสีเสียงตอนเย็นนี้ ในซุ้มต่างเพลิดเพลินกับงานประดิษฐ์ฝีมือตัวเอง ทำการ์ด แกะเทียน หนังสือทำมือ ละครโรงเล็ก หนังสั้นฝีมือเด็ก สื่อธรรมด้วยเพลง นวดประคบและต้มยาสมุนไพรจากชมรมหมอพื้นบ้าน พร้อมแวะซื้อผลิตภัณฑ์ปลอดสาร สินค้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ของซุ้มบ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธานสินี น้อยอินทร์

ใกล้เวลาเปิดงาน โฆษกแนะให้เดินผ่านเข้าไปหลังป้ายกำหนดการงาน ไปยังอาคารศาลาประชาคมจังหวัด ก่อนเข้าอาคารเห็นซุ้มป้ายงานอีสานสร้างสุขล้อมรอบด้วยดอกไม้สีแดงสดใสเก๋ไก๋ชวนให้หลายคนต้องมายืนถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย เมื่อขึ้นชานอาคารก่อนเข้าห้องประชุมใหญ่จุคนได้หลายร้อยคน ถูกกั้นด้วยกระดาน เหมือนกับห้องเรียนสมัยก่อน เพื่อแบ่งเป็นห้องเสวนาย่อยๆ ได้อีก ๕ ห้อง รวมห้องใหญ่
มีทีมสื่อเคเบิ้ลทีวีพร้อมรถถ่ายทอดมาทำการถ่ายทอดสดกันคณะใหญ่ และอีกฝากของอาคารด้านติดกับถนน หน้าเทศบาลเมือง ก็มีร้านค้ามาตั้งขาย ไม่รู้ถูกเชิญมาเพื่องานนี้เฉพาะหรือไม่ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ เพราะเห็นมีแผงพระมาด้วย งานนี้คงไม่เอาด้วยแน่ เพราะเป็นงานสุขภาวะทางปัญญา

พิธีเปิดที่ออกแบบให้การเปิดหลายที ช่วงเช้าเป็นการเปิดเวทีชาวบ้านในกำหนดการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเป็นคนเปิด แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชานีมอบหมายให้มาอยู่ประจำในงานตลอดนั้น อยู่ด้วย จึงถูกเชิญให้เป็นประธานเปิด พอช่วงเย็นงานพาแลงและแสดงแสงสีเสียงเป็นพิธีเปิดงานอีสานสร้างสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาเป็นประธานเปิดอีก นายแพทย์สาธารณสุขก็ยังไม่ได้เป็นประธานสักที ผู้จัดก็คิดอยู่ตลอดว่าจะให้ได้ขึ้นแสดงตนต่อสาธารณะช่วงไหน เพราะเคยพลาดมาครั้งหนึ่งแล้วในเวทีแถลงข่าวเปิดงานอีสานสร้างสุขที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสได้พูด งานนี้จึงต้องหาโอกาสให้ได้ นี่จะเห็นได้ว่าพื้นที่และการปรากฎตัวในเวทีสาธารณะกับผู้มีอำนาจทางนโยบายนั้นยังเป็นเรื่องสำคัญของทุกฝ่ายในภาคอีสาน

ก่อนพิธีเปิดมีการแสดงด้านศิลปะพื้นบ้านของชาวบ้านหลายชุด เห็นแล้วก็ดูพอดี ไม่ยืดยาวเกินไป ต่อด้วยการฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ และชมวิดีทัศน์ หมายเหตุจากหมู่บ้าน และกล่าวรายงานการจัดงานโดย อาจารย์สมพันธ์ เตชะอธิก ผู้ประสานงานกลไกภาคจากมหาวิทยาลัยขอนแกน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน พร้อมมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ ๗ และหน่วยราชการอื่น และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาสารคาม และอุบลราชธานีที่เป็นคณะทำงาน กับคนเข้าร่วมพิธีเปิดราว ๓๐๐ คน สงสัยภาคีเครือข่ายยังมากันไม่ถึง
เมื่อเสียงฆ้องที่ดังขึ้นสามที จึงเป็นการส่งสัญญาณว่างานอีสานสร้างสุข ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ ได้เริ่มขึ้นแล้ว ตามกำหนดการ ด้วยเวลา ๑๐.๐๐ น. – ๑๒.๓๐ น. ของงานวันแรก ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ เวทีชาวบ้านเรื่อง “สุขภาวะทางปัญญา...สร้างสุขอีสานได้จริงหรือ” กับพ่อผาย สร้อยสระกลาง เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสาน พ่อครูบัญชา ตั้งวงศ์ชัย นักธุรกิจร้อยล้านที่รู้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบ แม่รัชนี อัคราช ผู้นำสตรีภาคอีสาน พ่อบัวพา ปราณี แกนนำโครงการปลอดเหล้า ครูติ๋วหรือแม่ติ๋ว บ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ ดำเนินรานการโดย นายสมศักดิ์ รัฐเสรี ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลราชธานี โดยเนื้อหาเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ผู้ดำเนินรายการพยายามชวนคุยและค้นความคิดและข้อเสนอจากประสบการณ์ของแต่ละท่านเพื่อสุขภาวะทางปัญญาของคนอีสาน แต่ประเด็นที่ได้ ยังเป็นแค่ประสบการณ์และเรื่องที่อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของปัญญาเท่านั้น โดยแต่ละคนก็พยายามนำเสนอกิจกรรมที่ตนเองทำอยู่ และมีการนำเสนอเชิงหลักคิดบ้าง ของพ่อครูบัญชาและทีมงานที่มาแจกเอกสารประกอบอยู่ด้านล่างเวที ซึ่งก็เป็นหลักคิดที่ไกลเกิน เป็นเรื่องของหลักธรรมทางศาสนาเป็นปัญญาเพื่อการหลุดพ้นไปเลย หลายคนนำเสนอแบบเล่าจึงทำให้กินเวลามาก ไม่ค่อยได้ประเด็นมาก มีของครูติ๋ว กระชับกุมประเด็นตามแบบของนักพัฒนา แต่สำหรับแนวของชาวบ้านที่ยังไม่คุ้นกับการนำเสนอบนเวทีแบบนี้ ยังต้องช่วยกันเอาความรู้แฝงฝังหรือบทเรียนออกมานำเสนอสู่สาธารณะให้ได้ จะด้วยกระบวนการเวทีที่ผู้ดำเนินรายการต้องกุมประเด็นและดึงความรู้ออกมาเอง หรือมีเครื่องมือเสริมเช่น การมีเอกสารประกอบ หรือสื่อภาพประกอบอื่น เป็นต้น ส่วนที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างในเวทีนี้คือ การกระจายเสียงการประชุมทั่วทุ่งศรีเมืองใครอยู่ตรงไหนก็ได้ยินชัด

เวทีชาวบ้านจบลง ก็นำคูปองที่ได้รับแจกไปแลกอาหารที่ถนนอาหารปลอดภัย บริเวณข้างทุ่งศรีเมืองใกล้ๆ กับงาน ซึ่งจัดโดยชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดอุบลราชธานี ในรายการ “การพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารท้องถิ่นแบบมืออาชีพ” Restaurant Champion อาหารอีสานสร้างสุข

ในช่วงบ่ายไม่มีเวทีเสวนา มีแต่กิจกรรมการฟ้อนกลองตุ้ม เปิดลานนวัตกรรมสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม และขบวน เดิน – วิ่ง – จักรยาน – สามล้อ รณรงค์มหกรรมอีสานสร้างสุขจาก ๔ มุมเมือง พร้อมกิจกรรม ทัวร์ไหว้พระ ๙ วัด ที่จัดวันละ ๒ รอบ

เมื่อตะวันใกล้ลับแสง ทุกคนก็มารวมกันที่ลานเทียน ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย คนเมืองอุบลมาออกกำลังกายกันรายรอบงานอย่างปกติเช่นทุกวัน ทั้งสนใจใคร่เรียนรู้ด้วยก็มี แต่ด้วยการจัดที่แบบพาแลงเป็นที่จับจองเฉพาะ หลายคนจึงได้แค่ชะเง้อดูอยู่ข้างๆ งานพาแลง แสดงแสดงสีเสียง และสัมโมทนียกถา เรื่อง “ปัญญานำสุขสู่คนอีสาน” โดยพระครูวิมลธรรมรัตน์ (หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล) วัดป่าสวนกล้วย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ให้ข้อคิดในการจัดงานอีสานสร้างสุขว่า การจัดงานอีสานสร้างสุขงานของ ๑๙ จังหวัดภาคอีสานนั้น ควรใช้ปัญญาในการสร้างสุขให้เกิดขึ้น ลด ละ เลิก กิเลส และทิฐิ ไม่มีใครที่มีความสุขโดยที่ไม่มีศีลธรรม อย่างเช่น การไม่รักษาศีล ๕ ไม่ปฏิบัติตาม มีแต่อยากได้อยากเป็นแต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ ความสุขจึงไม่เกิดขึ้น การไม่ยอมละทิฐิ ละทิ้งสิ่งที่ตนเองมีอยู่มากเกินไป ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่สงบสุข ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้ทุกคนทำดีแต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ทำตาม คนโบราณจัดงาน “บุญผะเหวด” ขึ้นมาเพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักละทิ้งกิเลสดังที่พระเวสสันดรท่านได้ละทิ้งกิเลสทุกอย่างเพื่อให้ทานแก่คนที่ขอ แม้กระทั่งบุตรธิดาของท่านเอง ท่านยังประทานแก่ชูชกได้ แม้ชูชกจะทุบตีบุตรของท่าน แต่ท่านก็ต้องอดทนอดกลั้นไว้ให้ได้ แต่บ้านเมืองของเราไม่ยอมปฏิบัติตามยังคงมีทิฐิมากเกินไป จึงทำให้บ้านเมืองไม่มีความสงบสุขวุ่นวายดังเช่นในปัจจุบัน

ส่วนพิธีเปิดงานพาแลงแบบอบอุ่นนี้ รองผู้ว่ามาร่วมนั่งสื่อกินข้าวพาแลงปั้นข้าวแหนียวจิ่มแจ่วในฐานะที่เป็นประธานเปิดงาน โดยการายงานของ ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต่อด้วยการแสดงแสงสีเสียง ฮุ่งตาเว็น โฮมธรรมนำสุข โดยการรับผิดชอบของ อาจารย์คำล่า มุสิกา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ทำการศึกษาเรื่องการแสดงและศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสาน ได้นำมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานแสดงแสงสีเสียง ชวนให้เข้าใจว่าทำไมคนอีสานถึงอยู่ได้มาหลายชั่วอายุคน เข้าใจถึงการต่อสู้กับสภาพแร้นแค้นของคนอีสานได้อย่างดี และสื่อถึงการเรียนรู้ สังคม วิธีคิด วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ตามความหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่มาร่วมอาศัยอยู่ด้วยกันในภาคอีสานอย่างสงบและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พร้อมชมการแสดงรำตรจ(สุรินทร์) รำมวยโบราณ (สกลนคร) เพลงโคราช(นครราชสีมา) ผีตาโขน(เลย) แถมด้วยหนังบักแก้ว(ตะลุงอีสาน) เปิดโรงหน้าทางเข้างาน ใครอยากชมก็ไปหยิบเก้าอี้มานั่งหน้าโรงในบรรยากาศสบายๆ ถ้าใครเหนื่อยก็กลับไปนอนพักเอาแรง เพื่อมาเรียนรู้กันใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เช้าวันที่สองของงาน มีกิจกรรมการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๙๙ รูป พอสายขึ้นก็เข้าร่วมเวทีวิชาการ “นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการสร้างสุขภาวะทางปัญญา” โดย ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส. กับ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกรณีศึกษาของ ผอ.โรงเรียนบ้านคูเมือง ที่ดำเนินรายการโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องนี้ ซึ่งเนื้อหามีทั้งการผลักดันการบูรณาการเชื่อมงบประมาณกับแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้ขนาดไหน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับทีมเลขาของงานที่จะเอาบทสรุปและเสนอสู่การปฏิบัติจริงได้ขนาดไหน พอช่วงบ่ายก็มีเวทีวิชาการ ๕ ห้องย่อย เพื่อปฏิญญาทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย ห้องที่ ๑ “จะอยู่อย่างไร...ไม่ให้ภัยคุกคาม” ห้องที่ ๒ “ตุ้มโฮมความสุข” ห้องที่ ๓ “พระสงฆ์กับสุขภาวะ (กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี) ห้องที่ ๔ ส่องซอดสุขภาวะ (นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาวะ) ห้องที่ ๕ ม่วนซื่อนเยาวชน (เด็กและเยาวชนสร้างสุข)

ส่วนวันสุดท้ายที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ก่อนที่จะแยกกันกลับบ้าน มีกิจกรรมทอดผ้าป่าสุขภาวะทางปัญญาเพื่อเด็กและเยาวชนบ้านโฮมฮัก มูลนิธิสุธานสินี น้อยอินทร์ จ.ยโสธร และร่วมเสวนา “สุขภาวะของเด็กและเยาวชน” ชมการแสดงของเด็กและเยาวชนมูลนิธิสุธานสินี ปิดงานด้วยการผูกข้อต่อแขนส่งขวัญกลับบ้านตามประเพณีชาวอีสาน

คำประกาศทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
งานอีสานสร้างสุข ๕๑-๕๒ ที่ศาลาประชาคม จ.อุบลราชธานี
จะอยู่อย่างไร ไม่ให้ภัยคุกคาม...ตุ้มโฮมความสุข...พระสงฆ์กับสุขภาวะ ..ส่องซอดสุขภาวะ ..ม่วนซื่นเยาวชน

ห้องที่ ๑ จะอยู่อย่างไร ไม่ให้ภัยคุกคาม
ผู้นำเสนอ นายพงษ์พยัคฆ์ ภูธา
• พี่น้องชาวอีสานต้องปรับวิธีคิด และช่วยกันฮักแพงมูนมังที่พ่อแม่สร้างไว้ ทั้งต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ว่าจะวิถีการบริโภค วิถีการผลิตให้หันมาสู่การพึ่งตนเอง ทั้งต้องรู้จักที่จะรวมกลุ่มและสร้างการเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การจัดการระบบการผลิตด้วยเอง โดยสรุปก็คือ การหันมาสืบทอดวัฒนธรรมการกิน การอยู่ การปลูก ตามวิถีไทยท้องถิ่นอีสาน (ตัวอย่างชัดๆ เช่น การชักชวนลูกหลานมาบริโภคอาหารอีสานพื้นบ้านมากกว่าการกินฟาสต์ฟู้ด ทานข้าวพื้นบ้าน ไม่บริโภคอาหารจีเอ็มโอ เป็นต้น)

ห้องที่ ๒ ตุ้มโฮมความสุข
ผู้นำเสนอ นายชาติพิพัฒน์ บุญสุนทรสวัสดิ์
กรณีที่ ๑ ทุกข์ของเมียฝรั่ง
- จัดตั้งชมรมสหวัฒนธรรมผลักดันเรื่องสุขภาพ การศึกษา และกฎหมาย ว่าด้วยเมียฝรั่งและสามีฝรั่ง
กรณีที่ ๒ unseen กะหล่ำปลี
- ส่งเสริมการปลูกการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของคนในตำบลและคนไทยทั้งประเทศ
กรณีที่ ๓ ชุมชนปลอดเหล้า
- ผู้นำชุมชน องค์กรส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นบุคคลหรือหน่วยงานต้นแบบในการลด ละ เลิกเหล้า และประสานทุกภาคส่วนของสังคม ส่งเสริมพัฒนาชุมชนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของชาวอีสาน
กรณีที่ ๔ อุบลคนเดินดีกว่ารถวิ่ง (ชุมชนริมมูล)
๑) ผลักดันและพัฒนาเรื่องที่ว่างสาธารณะให้เป็นพื้นที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้คนแต่ละท้องถิ่น (เช่น กรณีลานริมมูล ที่ควรเป็นที่ว่างสาธารณะให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้คน ได้ใช้ชีวิตริมน้ำมากมากว่ากลายเป็นถนนให้รถวิ่ง)
๒) หน่วยงานไม่ว่าองค์กรท้องถิ่นหรือหน่วยราชการในพื้นที่ควรร่วมมือกันทำงานอย่างสมานฉันท์ โดยเฉพาะในเรื่องหรือประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมือง

ห้องที่ ๓ พระสงฆ์กับสุขภาวะ
ผู้นำเสนอ นายกฤษณ แก้วหลอดหัน
๑) ไม่ถวายบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง
๒) ญาติโยมควรใส่บาตร ทำบุญด้วยอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยการปิ้ง นึ่ง

ห้องที่ ๔ ส่องซอดสุขภาวะ ( นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาวะ)
ผู้นำเสนอ ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี
๑) กระบวนการผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพควรเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของพื้นที่โดยเริ่มจากชุมชนและพื้นที่มากกว่าเป็นการกำหนดมาจากส่วนกลาง
๒) ประเด็นการดำเนินกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพควรตอบสนองและสะท้อนความจริงที่มาจากพื้นที่ โดยคนในพื้นที่มีส่วนในการแก้ปัญหาของตัวเอง
๓) ควรตระหนักถึงสิทธิของบุคคลและชุมชนในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้ง สร้างเสริมสุขภาวะทางเพศอย่างเท่าเทียมและการมีจริยธรรมที่เหมาะสมเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดี
๔) ส่งเสริมการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและการสื่อสารสาธารณะอย่างกว้างขวางเพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี

ห้องที่ ๕ ม่วนซื่นเยาวชน (เด็กและเยาวชนสร้างสุข)
ผู้นำเสนอ เด็กชายพงศธร ฐานเทศ
๑) สนับสนุนให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้และช่องทางในการสื่อสารสำหรับกลุ่มเยาวชนมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องมากขึ้นด้วย
๒) ภาคส่วนต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นของตนเอง
๓) มีกลไกการทำงานของภาคอีสานในการขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดี

ข้อสังเกตต่องานอีสานสร้างสุข ๕๑ – ๕๒
งานอีสานสร้างสุข ๕๑ -๕๒ จัดงานได้น่าชื่นชม ทุ่มเทกับการจัดบรรยากาศให้น่าเรียนรู้ มีเอกสารนวัตกรรมอีสานสร้างสุขอย่างเยี่ยมยอด และเอกสารวิชาการอื่นประกอบอย่างสมควร แต่พบว่านิทรรการยังเป็นจุดอ่อน หรือกลัวคนไม่เข้าห้องประชุมเหมือนของภาคเหนือ แต่อย่างไรก็ลองอ่านข้อสังเกตดังต่อไปนี้
“การจัดแผนผังบรรยากาศและบริเวณที่ทุ่งศรีเมือง มี ม.อุบลที่เป็นมืออาชีพกับเทศบาลที่หนุนอุปกรณ์การจัด ทำให้เข้าขั้นงานมาตรฐานที่งดงาม เรียบง่าย เก๋ และเป็นสัดเป็นส่วนอย่างมาก
การประชาสัมพันธ์สื่อสารต่าง ๆ ทั้งก่อนงาน รอบงาน ในงาน ออกไปนอกงาน ตลอดจนแม้กระทั่งหลังงาน ก็เป็นไปอย่างเหลือเชื่อและน่านิยมมาก ๆ เรียกว่ามาถึงอุบลแล้วทุกคนต้องรู้และอยากมางาน มาเรียนรู้ ๖๐ กรณี ด้วยป้ายติดเต็มเมือง รวมทั้งที่ท้ายรถสามล้อ รวมถึงตุงที่รอบทุ่งศรีเมือง มีกองโฆษกประจำงานเป็นกิจจะลักษณะชัดเจน มีการถ่ายทอดเสียงและเคเบิ้ลทีวีไม่รู้กี่ช่อง ก่อนหน้างานก็มีเพรสทัวร์มาก่อน สื่อวิทยุ โทรทัศน์ท้องถิ่น อินเตอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ เอาว่าต้องเป็นกรณีศึกษาของทุกฝ่าย
งานวัฒนธรรมในกิจกรรมพาแลงที่ถือว่าสุด ๆ ทีเดียว เริ่มด้วยการฟังธรรมที่สนุกสนานก่อนอาหารจากหลวงพ่อ พอพาแลงก็เป็นนาฏกรรมเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมวิถีชีวิตคนอีสานหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่ผูกอยู่กับเรื่องความสุขและปัญญาที่เป็นประเด็นนำของงานได้อย่างลงตัว สวย สนุกและได้สาระอย่างยิ่ง งานนี้น่าจะนำมาตัดต่อเป็นซีดีไว้เผยแพร่โดยอาจจะควบคู่กับ presentation ตอนเปิดงานที่ตั้งชื่อว่า หมายเหตุจากหมู่บ้าน ที่ให้แรงบันดาลใจดีแท้
การเชื่อมประสานร่วมงานกันอย่างน่านิยมยิ่ง ทั้งในอุบลราชธานี และภาคีภาคอีสาน กล่าวคือ ในอุบล เห็นเด่นชัดของ ๓ ส่วนที่มามีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเอาจริงเอาจังและตั้งใจ ตั้งแต่ทีมประชาสังคมที่มีตัวตนชัดเจนเด่นชัด เป็นมูลนิธิ ได้รับการยอมรับและประสานอย่างขันแข็ง จังหวัดไหนภาคประชาสังคม ประชาชนหรือเอ็นจีโอยังไม่ได้ถึงไหน ควรมาศึกษากรณีที่อุบล, ทีมที่สองคือทีมสาธารณสุขอุบลที่ยกมากันทั้งขบวน ตั้ง แต่ สสจ. ศูนย์อนามัย ฯลฯ คือว่ามากันทั้งหัว ตัว และหาง ทีมที่สาม แม้ยังไม่มากนัก แต่การที่ ผู้ว่า รองผู้ว่ามาเอาจริงเอาจังอย่างนี้ ภาคราชการทั้งหมดก็จะต้องตามมาในที่สุด ส่วนที่ ๔ มีตามมาติด ๆ คือภาคีวิชาการที่สามารถเชื่อมทีมวิชาการจาก ม.อุบลมาร่วมได้พอประมาณ โดยมีภาคีวิชาการจาก มข. ม.สารคาม และอื่น ๆ เข้ามาสมทบอย่างน่านิยมเช่นกัน ทั้งนี้มีภาคีท้องถิ่นที่หายไปในงานที่อีสาน-อุบล ปีนี้ คงจะต้องคิดค้นหนทางเชื่อมร้อยเอามาให้ได้ในอนาคต
งานวิชาการ ด้วยมีการประสานกันเป็นขบวนของหลายมหาวิทยาลัยมากันเป็นทีม ทั้งอาจารย์และนักศึกษา ออกงานมาเป็นหนังสือเล่มงาม ๖๐ กรณีศึกษา ที่น่าอ่านมาก ๆ กับอีก ๓ เล่มประเด็นย่อยที่แม้ไม่ค่อยเด่นนัก แต่ก็เป็นข้อมูลนำเข้าของกลุ่มย่อยได้ดี ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์, ภัยคุกคาม และ สุขทุกข์ของคนอีสาน
ลานนวัตกรรมในงานอีสานสร้างสุขปีนี้ทั้ง ๆ ที่ได้วางผังและออกแบบไว้อย่างดีมาก ไม่ว่าจะแผนผัง ฉากนิทรรศการและเรื่องกรณีศึกษา แต่ว่ากลับไม่ได้รับความสนใจสมดังที่ตั้งใจและเตรียมมา อาจจะเนื่องจากไม่ทันได้คิดให้มีกิจกรรมประกอบนิทรรศการที่เพียงพอ ทำให้บริเวณที่วางไว้ดีกว่าของภาคเหนือมาก กลับมีสีสันน้อยกว่าภาคเหนือและงานในปีก่อน ๆ มาก ๆ อย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้การที่เกิดลานอาหารที่นอกถนนพร้อมกับสินค้ามาขายจึงดึงคนไปเดินแถวโน้นหมด ทราบมาว่าเดิมวางไว้ให้อยู่บริเวณเดียวกันแต่ทางเทศบาลขอให้แยกกันก็เลยออกมาอย่างที่เห็น นับว่าเป็นข้อด้อยที่ได้พยายามแล้วแต่เกินกำลังจัดการก็แล้วกัน
เวทีเชิงประเด็นทั้ง ๕ ห้อง เห็นว่าได้พยายามจัดการพื้นที่ศาลาประชาคมที่มีจำกัดออกมาเป็น ๕ เวทีได้อย่างเหลือเชื่อ นอกจากปัญหาคนเข้าร่วมที่อาจไม่อินเพียงพอต่อประเด็นดังที่เกิดในแทบทุกเวที ทั้ง ๆ ที่มีคนเข้าร่วมเวทีเป็นจำนวนมากทั้ง ๕ ประเด็น แต่การเตรียมการเพื่อนำประเด็นเพื่อค้นหาแนวทางนำเสนอจนถึงขั้นเป็นปฏิญญาของคนอีสานนั้นน่าจะยังต้องคิดหาวิธีมากกว่านี้ ที่เห็นนอกจากปัญหาความสนใจในประเด็นของผู้เข้าร่วมแล้ว เห็นว่าแม้คนดำเนินการหรือวิทยากรที่เชิญมาก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญ หากไม่ได้ทำความเข้าใจหรือเตรียมความคิดมาเพียงพอ เพราะดูส่วนใหญ่จะกลายเป็นการมาอภิปรายแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ เท่านั่นเอง
มีทีมประเมินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นทีมประเมินภายในเพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของคนทำงาน โดยร่วมสังเกตการณ์ในงานตลอด และนำบทเรียนที่ได้ไปร่วมสรุปปิดงานด้วยกัน
หลังงานใหญ่ ๒ วัน วันที่ ๒๐ – ๒๑ แล้ว มีการริเริ่มที่น่าสนใจด้วยการชวนกันไปทอดผ้าป่าสร้างสุขใส่บ้านโฮมฮักของครูสุทธาสินีที่ยโสธร เรียกว่าทำงานกันมาเหนื่อยแล้วยังตามไปทำบุญร่วมกันอีกด้วย ได้เงินตั้ง ๖ หมื่นกว่าบาทจากสารพัดเงินทำบุญทั้งจากในงานและจากอื่น ๆ เห็นว่าปีหน้าหลังงานก็จะหาสถานที่ทอดผ้าป่าอย่างนี้อีก ภาคอื่นสนใจก็อาจลอกเลียนแบบได้
อีกอย่างที่น่าสนใจมากคือ การตามติดเรียนรู้ดูงานเพื่อนอย่างจริงจังของภาคอีสานนั้นน่าจะเป็นกรณีศึกษาของภาคอื่น ๆ ด้วย เพราะมีการจัดไปดูกันเป็นคณะที่ภาคเหนือแล้วมีการบันทึกสรุปรายงานการดูงานมานำเสนอในวงประชุมของภาค ทราบว่าในงานภาคใต้ก็จะจัดคณะใหญ่ลงไปดูงานด้วย แล้วจะต่อด้วยการสรุปงานกันที่เกาะใดเกาะหนึ่ง ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาเพราะเห็นภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยได้ใช้โอกาสการเรียนรู้อย่างนี้อย่างน่าเสียดาย เมื่องานภาคเหนือ เห็นภาคอีสานไปเป็นคณะ ภาคกลางไม่กี่คน ไม่มีภาคใต้ แต่ในงานของภาคอีสานไม่เห็นภาคีภาคอื่นๆ เลย
สำหรับ สสส. แม้จะมี ผอ.ดวงพร กับคุณศิรินภาไปร่วม แต่ก็ยังเป็นเพียงการไปร่วมเป็นวิทยากรและสังเกตการณ์วันเดียวเช้าไปเย็นกลับ ไม่เห็นเรื่องอื่นๆ อย่างเป็นที่สังเกตว่า สสส.คิดอย่างไรต่องานสร้างสุขของภาคีพี่น้องในภูมิภาค ผิดกับที่ผ่านมาที่เคยเป็นงานของ สสส.เองที่ส่วนกลาง พอขยายไปแต่ละภาค ๒ ปีก่อน ยังยกคณะไปกันทั้งการเข้าร่วม ทั้งการไปตั้งบูททั้งการนำสื่อไปเรียนรู้และขยายผล จนกระทั่งมีการตั้งเป็นคณะที่ปรึกษาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ดูเหมือนว่าปีนี้ไม่มีอะไรไปเสียทั้งหมด เรื่องนี้เป็นของภาคีพี่น้อง สสส.ทั้งขบวนทีเดียว

“ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข” งานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑-๒๕๕๒

“ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข”
งานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑-๒๕๕๒
วันที่ ๒๕ – ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์และสวนสาธารณะเพชบุระ
จังหวัดเพชรบูรณ์


งานสร้างสุขภาคเหนือที่หลายฝ่ายร่วมกันทุ่มเทกำลังจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มาคราวนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ มีความอลังการงานสร้างกับการจัดแสดงนิทรรทัศการนวัตกรรมสร้างสุขกว่า ๖๐ บูท และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมครบเครื่องตลอดงาน ส่วนในด้านเนื้อหาวิชาการทั้งเอกสารและสิ่งนำเสนออื่นประกอบงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยมา ถึงแม้จะมีหลายอย่างที่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ในเชิงกระบวนการที่มีทีมวิชาการจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวรมาเป็นหลักชัดเจน และพยายามพัฒนาให้เป็นกลไกวิชาการของภาคคอยหนุนเสริมงานด้านนี้ โดยนักวิชาการอีกหลายมหาวิทยลัยและสถาบันการศึกษาในภาคเหนือมีกำลังและความสามารถเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นทีมวิชาการที่เข้มแข็งและสร้างผลงานทางวิชาการประกอบงานสร้างสุขอย่างยิ่งใหญ่ได้ในงานสร้างสุขครั้งหน้าที่จังหวัดเชียงรายต่อไป
และเมื่อพิจารณาจุดเด่นของการจัดงานสร้างสุขภาคเหนือกับสองครั้งแรก โดยครั้งที่หนึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกเด่นในเรื่องวัฒนธรรมสายน้ำ ภูมิปัญญาที่ล้ำค่า ครั้งที่สองที่จังหวัดแพร่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมขับเคลื่อนจริงจัง จนน่าเอาเป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่อง ส่วนครั้งที่สามนี้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเจ้าภาพที่จัดงานในรูปแบบมหหรรมกึ่งวิชาการ ภายในงานมีนิทรรศการกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ นวัตกรรมสร้างสุขที่รวบรวมจากเครือข่าย ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ กว่า ๖๐ นวัตกรรม และนำเสนอข้อมูลทางวิชาการนโยบายสาธารณะในหลายประเด็น
งานสร้างสุขภาคเหนือครั้งนี้จุดเด่นของงานก็มีมาก จุดด้อยก็มีให้พบเป็นบทเรียนเพื่อการแก้ไขในครั้งต่อไป และในฐานะที่ภาคเหนือจัดขึ้นเป็นภาคแรกของประเทศ บทเรียนของภาคเหนือจึงเป็นครูให้กับการจัดงานของภาคอื่น อย่างกรณีของภาคอีสานที่เตรียมจะจัดต่อจากภาคเหนือ ได้ส่งทีมคณะทำงานมาร่วมสังเกตการณ์ ศึกษาบทเรียนของภาคเหนือและมีรายงานในที่ประชุมเตรียมงานสร้างสุขภาคอีสาน บอกจึงจุดอ่อนที่ควรปรับ และจุดเด่นที่น่าเอาอย่างหลายเรื่อง และอีกส่วนหนึ่งได้รับการสังเกตการณ์จากทีมงานสนับสนุนงานสร้างสุข ๔ ภาค โดยได้สรุปรายงานการเตรียมการและผลการจัดงานส่งให้กับคณะทำงานของทุกภาคอย่างรวดเร็วทันท่วงที
ดังนั้นเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จึงเป็นเสมือนต้นแบบของงานสร้างสุข ๔ ภาค ในปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ จึงควรพิจารณาด้วยสายตาที่เป็นธรรม เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงหลายเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่องานสร้างสุขในครั้งนี้ ตามความรับผิดชอบร่วมกันในแต่ละดับของทุกฝ่าย ไม่ใช่จากความรับผิดชอบของภาคเหนือเพียงฝ่ายเดียว การที่ภาคเหนือต้องจัดงานก่อนภาคอื่นก็เป็นการขาดโอกาสเรียนรู้และปรับตัวส่วนหนึ่ง และความรับผิดชอบต่อการจัดงานก็ส่วนหนึ่ง การที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันที่อยากเห็นงานสร้างสุข ๔ ภาค เป็นวาระของภาค มีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้น เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะเป็นจริงได้ขนาดไหนขึ้นกับประสบการณ์และการเรียนรู้ของคนในภาค จากการที่เคยจัดงานต่อเนื่องมาถึงสามครั้งคณะทำงานของภาคเหนือก็น่าจะได้บทเรียนที่เหมาะสมกับตนเองระดับหนึ่ง
ส่วนบทเรียนในครั้งนี้ ได้ถูกถ่ายทอดถึงความตั้งใจและเป้าหมายในการจัดงานโดย นายสุรพงษ์ พรมเท้า ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์และผู้ประสานงานโครงการสร้างสุขภาคเหนือ เล่าให้ฟังว่า การจัดงานภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมสุขภาพบนฐานวัฒนธรรมภาคเหนือเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน” นั้น มีเหตุจากสภาพสิ่งแวดล้อมของภาคเหนือที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ อาทิ ไฟป่า ควันไฟ ฝุ่นละออง และอาจนำไปสู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด
ด้วยเป้าหมายในการจัดงาน ๔ ประการ คือ ๑.เพื่อเป็นการพัฒนากลไกการเสริมสร้างวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเสริมสร้างในระดับภาคเหนือและระดับจังหวัด ๒.จัดระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขในภาคเหนือ ๓.จัดทำบทเรียน ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมงานสร้างสุข และ ๔.เพื่อจัดทำวาระสร้างสุขภาคเหนือ
และงานนี้ยังใช้สโลแกนในการจัดงานว่า “ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข” หมายถึง การรวมพลังในการสร้างความสุข โดยมีสัญลักษณ์เป็น หนุ่มน้อยนครบาล ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม และมีความสุข บ่งบอกให้รู้ว่าคนเมืองเหนือ เป็นเมืองแห่งความสุข....

งานนี้เปิดฉากได้อย่างอลังการ เริ่มตั้งแต่ วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๐๐ น. ด้วยขบวนจักรยานสร้างสุข กว่า ๑๐๐ คัน ที่สตาร์ทออกจากจุดนัดหมายบริเวณโรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ ไปสมทบกับขบวนพาเหรดรณรงค์สร้างสุข ที่มีทั้งวงโยธวาทิต รถแห่ประชาสัมพันธ์งาน พร้อมกำลังพลทหารบก จำนวน ๒๐๐ คน กองพลทหารม้าที่ ๑ จำนวน ๕๐๐ คน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจจาก ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ ร่วมแรงร่วมใจกันเดินขบวนแจกจ่ายความสุขให้คละคลุ้งไปทั่วทุกพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มุ่งหน้าสู่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ด้วยความคึกครื้น ที่มีขบวนแห่รำแขบลานรอรับ พร้อมการแสดงเพลงฉ่อย เล่านิทานและละครคุณธรรม จากชาวบ้านและนักเรียน ต.สะเดียง สร้างความตืนตาตื่นใจให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี
เมื่อได้เวลา ๑๘.๐๐ น. พิธีเปิดงานสร้างสุขภาคเหนือ ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ จึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ประธานในพิธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวเปิดงาน แสดงความยินดีที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานและกล่าวต้อนรับเครือข่ายที่มาร่วมเรียนรู้สร้างสุขในครั้งนี้ พร้อมเดินชมบูทนวัตกรรมสร้างสุขจาก ๑๗ จังหวัดภาคเหนือที่นำมาแสดง

“ผมเดินลงจากรถแล้วตรงเข้างานซึ่งเป็นช่วงพิธีเปิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นประธานในงานกำลังกล่าวเปิดงานสร้างสุขภาคเหนือ มีคนร่วมงานราว ๘๐ – ๑๐๐ คน โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกับนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์นั่งอยู่กับคุณสุรพงษ์เท่านั้น จึงเห็นว่าควรออกไปมีส่วนเกรงว่าจะหงอยเกินไป และได้แสดงตัวว่าเป็นหมอ สสส.ให้มาช่วยประสานจึงมาเป็นกำลังใจ พอได้คุยกับทั้งสามท่านเป็นสีสันแล้วก็ติดขบวนร่วมเดินชมนิทรรศการกับคณะอีกครู่หนึ่ง พบตามซุ้มนิทรรศการหลายซุ้มกำลังสาวลจัดแจงแสดงป้ายกันอยู่ ทั้งหมดกว่า ๖๐ ซุ้ม มีคนเดินตามซุ้มบ้างสี่สิบห้าสิบคน วันต่อมาได้พบผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านแวะมาเยี่ยมงาน ได้ฝากบอก สสส.ว่างานระดับภาคเช่นนี้ ท่านเห็นว่า สสส.ควรมีผู้ใหญ่มาร่วมด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้จัดกันเอง เปิดกันเองอย่างนี้ เพื่อให้คนในภาคทุกภาคส่วนได้เห็นว่าเป็นงานที่สำคัญ สสส.ก็ให้ความสำคัญ เรื่องนี้ก็นับว่าน่านำไปคิดทั้งในฝ่ายจัดงานทั้งจังหวัดเจ้าภาพ ภาคีภาค และ สสส.เอง” นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สสส. เล่าบรรยากาศงานในช่วงพิธีเปิด

เมื่อเสร็จพิธีเปิด คณะผู้จัดงานก็เชิญชวนเข้าชมหนังสั้นในรอบสื่อมวลชน ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน (ค.อสช.) เขียนบทถ่ายทำเป็นหนังสั้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ทั้งหมดมี ๔ เรื่อง ๓ เรื่องแรก สะท้อนความสุขในแง่มุมของเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นการฉายภาพชีวิตวัยรุ่น มุมมองความรัก สังคม และค่านิยม อีกเรื่องเป็นการสะท้อนประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนผ่านเรื่องขยะ ด้วยการประชาสัมพันธ์เชิญชวน และเห็นว่าเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ดี จึงมีคนเข้าไปชมและให้กำลังใจมากเต็มห้อง อีกส่วนหนึ่งเป็นกองเชียร์ดาราจำเป็นทั้งกลุ่มเพื่อนๆ และญาติมิตรพี่น้อง ทำให้เต็มไปด้วยเสียงเกรียวกราวสร้างความสุขเล็กๆให้กับเครือข่ายเพชรบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ถึงจะมีมุมมองแบบเด็กเยาวชน ผ่านเรื่องที่ผู้ใหญ่หลายคนดูแล้วเข้าใจยาก แต่ถ้ามีการพัฒนาเชิงเรื่องราวและสิ่งที่ต้องการนำเสนอให้มากกว่านี้ จะทำให้งานสร้างสุขภาคเหนือมีสีสันและได้เนื้อหาเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นแน่

....เปิดฉากความสุขกันวันที่สอง ๒๖ ก.พ. ๕๒ ด้วยการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอนสร้างสุข เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ พร้อมกับนำทัพการแสดงวัฒนธรรมสร้างสุขภาคเหนือที่หลากหลาย อาทิ การแสดงพิณไทย การแสดงรำมวยจีน การแสดงภาษามือ การแสดงมวยไทยโบราณ การแสดงตุ๊บเก่ง การแสดงฟันดาบ และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ด้านเวทีวิชาการมีละครเด็กเล็กสาวกันตรึมแสดงเรียกความสนใจเชิญชวนคนเข้าห้องประชุม จนต้องเสริมที่นั่งและยืนอัดกันแน่นในห้องที่จุคนราวๆ ๒๐๐ กว่าคน ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมื่อถึงเวลาพิธีเปิดเวทีวิชาการ ก็เริ่มกล่าวรายงาน โดย หัวหน้าฝ่ายพยาบาล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ ผู้แทนสภาพยาบาล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่อง “การสร้างสุขภาวะ” ที่เน้นไปที่ประเด็นพยาบาลกับการสร้างสุขนั้น ทำให้ประเด็นนำเสนอแคบและเฉพาะกลุ่มมาก จนเหมือนเป็นงานพยาบาลเท่านั้น ทำให้เป็นที่น่าเสียดายเหมือนไม่ใช่งานสร้างสุขภาค ไม่มีการนำเสนอประเด็นสุขทุกข์ของภาคเพื่อการพิจารณาร่วมกัน นอกจากนั้นยังกินเวลาจนภาคต่อที่เป็นการเสวนาเรื่อง จะสร้างสุขภาวะอย่างไร ที่วิทยากรหลายคนแต่เวลาน้อยและต้องแบ่งให้พูดเพื่อออกอากาศถ่ายทอดสดคนละสั้น ๆ จึงไม่ได้ประเด็นอะไรสักเท่าไร และที่เป็นที่น่าสังเกตมากคือวิทยากรเกือบทั้งหมดเป็นของเพชรบูรณ์ จึงกลายเป็นเวทีเรื่องของเพชรบูรณ์ค่อนข้างมาก ต่างคนต่างเสนอประเด็นกรณีศึกษาข้อเสนอของตนเอง ไม่เห็นเป็นเรื่องร่วมหรือวาระของภาค

พอเที่ยงวันจบการเสวนาในเวทีกลางก็แยกย้ายไปรับประทานอาหารเที่ยง โดยใช้คูปองที่ได้รับแจกพร้อมกับย่ามเอกสารประกอบงานสร้างสุขไปแลกที่ร้านอาหารในงานมีราว ๑๐ กว่าร้าน นั่งกินพลางก็ดูเอกสารในย่ามไปพลาง เพื่อเตรียมตัวไปเรียนรู้ในประเด็นห้องย่อยอีก ๔ ห้อง ในช่วงบ่ายนี้
เอกสารในย่ามทั้งหมดประกอบด้วย สูจิบัตรงานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ จัดทำเป็นเอกสารหนังสือเล่ม หน้าปกสีเขียวมีภาพเสก็ตสัญลักษณ์งานคือ หนุ่มน้อยนครบาล ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม และมีความสุข มีโลโก้ของงานสร้างสุขภาคเหนือ และโลโก้ของภาคีสนับสนุน ประกอบด้วย สสส. สช. สปสช. องค์การเรียนรู้ภาคประชาสังคม จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ กองทัพบก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเล่มประกอบด้วย บทเกริ่นนำของนายสุรพงษ์ พรหมเท้า ที่ชี้แจงวิสัยทัศน์งานสร้างสุขตามหลักคิด สสส. และการแสดงความยินดีในฐานะการเป็นเจ้าภาพนำเสนอจุดแข็งของจังหวัดและเชิญร่วมงานสร้างสุขครั้งนี้ แต่ไม่ได้ชี้ความเป็นมาของงานสร้างสุขภาคเหนือ เป้าหมายร่วม และสิ่งที่ต้องเรียนรู้ค้นหาร่วมกัน ส่วนเนื้อหากำหนดการมีความละเอียดระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์คือเรื่องของแผนที่ห้องประชุมย่อย และสิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือ วิธีปฏิบัติตนในการร่วมงานสร้างสุขครั้งนี้ และข้อชี้แนะต่างๆ ในการร่วมเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์นี้ ซึ่งจะเสริมประโยชน์ของสูจิบัติได้อีก
เอกสารข้อมูล ๖๐ กรณีพื้นที่ต้นแบบ โดยคณะทำงานวิชาการสร้างสุขภาคเหนือ ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ จัดทำเป็นรูปเล่มขนาดเอ ๔ ความหนา ๕๒๒ หน้า จัดพิมพ์แบบก๊อปปี้พริ้น หน้าปกสี่สี เนื้อหาแบ่งเป็นกรณีศึกษาตามจังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก จังหวัดละ ๓ กรณีศึกษา พะเยา แพร่ จังหวัดละ ๔ กรณี เชียงใหม่ ๑ เชียงราย ๗ พิษณุโลก ๖ กำแพงเชร อุทัยธานี พิจิตร จังหวัดละ ๒ กรณี ส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ๑๑ กรณีศึกษา และมีเอกสารสรุปการถอดบทเรียนกรณีศึกษากิจกรรมการสร้างสุขจากเล่มใหญ่ ที่พิมพ์เป็นรูปเล่มเล็กสวยงามอย่างดี เนื้อหาประกอบด้วย ข้อมูลโดยสังเขป และบทเรียนที่ได้รับในแต่ละกรณี ถือได้ว่าเป็นคู่มือเพื่อการศึกษาเอกสารบทเรียนเล่มใหญ่อย่างเยี่ยมยอด
เอกสารรายงานสถานการณ์สุขทุกข์ของคนเหนือ ปีนี้นำเสนอว่าด้วย ๑๐ สถานการณ์โรคภัยที่คุกคามคนภาคเหนือ ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดย ดร.สมตระกูล ราศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก และทีมคณะ พบว่า อหิวาตกโรคเป็นภัยคุกคามที่กลับมาใหม่, ไข้หวัดนก, มาลาเรีย...เดือดที่ชายแดน, โรคมือ เท้า ปาก ภัยของเด็กที่ป้องกันได้ แต่รักษาไม่ได้, ไข้เลือด...ภัยที่มาจากโลกร้อนและพฤติกรรมของมนุษย์, โรคฉีหนู, โรคบิด...อิทธิพลโลกร้อน, ไรป่าหรือสครับไทฟัสเป็นความสุขหรือความทุกข์จากการท่องเที่ยวแบบผจญภัย, ผัก...ก็เป็นภัยต่อชีวิต, สารเคมีกำจัดศรัตรูพืช
เอกสารสุขภาวะของคนเหนือกับ...ภาวะโลกร้อน วัฒนธรรมและการสร้างเสริมสุขภาพ จัดพิมพ์อย่างดีหน้าปกสีเขียวอ่อนเป็นซีรี่เดียวกันทั้งงาน ความหนา ๔๐ หน้า เป็นการให้ข้อมูลเรื่องภาวะโลกร้อน และเป็นการอธิบายให้เข้าใจสังคมและวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของคนเหนือกับการสร้างสุขอย่างน่าสนใจ พบว่า สังคมภาคเหนือมีที่มาจากกลุ่ม ๓ อารยธรรมหลัก คือ อารยธรรมล้านนา ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและเชียรายบางส่วน มีรากฐานมากจากไทใหญ่ มอญ พยู ศรีเกษตร เป็นต้น
อีกเล่มเป็นวารสารเรื่อง “บทเรียนการทำงาน...สร้างสุข” โดย รศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ภักดีวงศ์ ว่าด้วยอะไรคือบทเรียนและการถอดบทเรียน เสนอไว้อย่างได้ใจความว่า บทเรียน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการปฏิบัติ และเป็นเครื่องเตือนสติว่า “สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ” ในอันที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของกระบวนการทำงานในคราวต่อๆ ไป บทเรียนจึงมีอยู่และซ่อนไว้ในทุกอิริยาบถของการกระทำ การถอดบทเรียน จึงควรพิจารณาถึงการกระทำหรือผลของการกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางบวกและทางลบ ว่า “อะไรสำคัญที่สุด” “อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง” “ความแตกต่างนั้นก็ให้เกิดพฤติกรรมอย่างไร” ความสำคัญของบทเรียนคือการเป็น “ทางลัด” ทำให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จด้วยเวลาที่ย่นย่อลง
ดังนั้นเอกสารวิชาการประกอบงานสร้างสุขภาคเหนือ ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ จึงเพรียบพร้อมทั้งบทเรียนกรณีศึกษา สถานการณ์สุขทุกข์ของภาค และหลักคิดสำหรับการมาร่วมเรียนรู้เรื่องบทเรียนในงานสร้างสุขครั้งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายในกระบวนการเวทีกลางไม่สามารถนำเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอเป็นหลักคิด หลักวิชาประกอบงานสร้างสุขครั้งนี้ได้

พอถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายไปเรียนรู้ในห้องประชุมประเด็นย่อยตามที่สนใจหรือที่แต่ละภาคีเกี่ยวข้อง หลายคนก็ไปไม่ถูกไม่รู้ว่าแต่ละห้องอยู่ที่ไหน เมื่อดูในสูจิบัตรกำหนดการงานสร้างสุขภาคเหนือ เพียงแค่บอกว่า ๒ ห้องแรก คือ ประเด็น เด็กเยาวชน ผู้สูงอายุและครอบครัว และประเด็นเกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย จัดที่ห้องประชุมเทศบาล แผนที่ก็ไม่มี มาทราบจากการถามผู้จัดงานว่าอยู่ห่างจากสถานที่จัดงานทางทิศเหนือราว ๓๐๐ เมตร
เวทีประเด็น เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและครอบครัว เริ่มด้วยการนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาของ Child Watch ซึ่งใช้เวลานำเสนอและข้อมูลละเอียดยิบจนคนหมดกำลังฟัง ในขณะที่คนร่วมก็แบบเดียวกับห้องอื่น ๆ คือ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก และมีจำนวนน้อยจนดูเหงียบเหงา
เวทีประเด็น เกตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย เหมือนใช้วิธีวิทยากรคนเดียวเตรียมมานำเสนอประเด็นปัญหาและข้อชวนพิจารณาหาข้อเสนอซึ่งมีปัญหาเหมือนทุกห้องคือคนเข้าร่วมน้อยมาก ๆ เป็นภาคีคนสนใจหาคำตอบจริง ๆ น่าจะราว ๆ ๒๐ คน นอกนั้นเป็นคนที่เข้ามานั่งฟัง กับนักเรียนนักศึกษาที่ครูพามาบ้าง อาจารย์ให้มาทำรายงานบ้าง รวมทั้งที่เจ้างานให้มาเป็นหน่วยประสานจัดการ บริการ และสำรวจประเมินผล
ส่วนประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การจัดการลุ่มน้ำ ก็ต้องเดินเลี้ยวเลาะหลบมุมไปจัดอยู่ที่ห้องประชุมชาญอนุสรณ์ สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ที่อยู่คนละฟากของงานกับ ๒ ประเด็นแรก ซึ่งห้องนี้เตรียมมาเป็นกระบวนอย่างดี มีการศึกษาเตรียมการทั้งกรณีศึกษา ข้อเสนอและข้อชวนพิจารณาเพื่อขับเคลื่อน แต่เวทีใช้เวลาในการรอคนอยู่นาน แล้วเกือบหมดเวลากับการนำเสนอกรณีศึกษา ซึ่งมีการเสนออย่างเป็นระบบ มีทิศทาง น่าจะได้ข้อเสนอที่ดีถ้ามีผู้เข้าร่วมที่ตั้งใจมาหาคำตอบร่วมกันมากพอ
ประเด็นที่ ๔ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ เรื่อง แพทย์พื้นบ้านและแผนไทย ก็จัดในห้องประชุมกลางที่ใช้ในพิธีเปิด ทั้ง ๆ ที่มีเอกสารกรณีศึกษาที่อยู่ในเอกสารอย่างดี แต่ไม่ได้นำมาใช้ กลับเปิดเป็นเวทีนำอภิปรายเสนอของแต่ละกรณีซึ่งมากกรณีจนหมดเวลา พอแบ่งกลุ่มย่อยคนก็หายหมด
และถ้าใครอยากจะไปสังเกตการณ์ให้ครบทุกห้องต้องใช้รถเป็นพาหนะเดินทางเท่านั้น ขืนมัวแต่เดินอยู่กว่าจะไปถึงห้องสุดท้ายคงเลิกงานพอดี นี่ก็ทำให้เป็นจุดอ่อนอย่างมากที่ทำให้ผู้เข้าร่วมในแต่ละห้องไม่มากเท่าที่ควร
ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าทั้ง ๔ ห้องที่ทางงานตั้งใจให้เป็นเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะ วาระสร้างสุขของภาคนั้นอาจจะไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เข้าใจว่าไม่ได้มีการประสานขับเคลื่อนจัดเตรียมประเด็นอย่างเพียงพอ นอกจากนี้การนำคนมาร่วมงานจากจังหวัด ภาคีต่าง ๆ ก็เหมือนไม่ได้มีการซักซ้อมเพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าคนหายไปไหนหมด มีหลายคนเป็น อสม.บ้าง ภาคีบ้าง บอกว่ามาอย่างไม่ค่อยรู้หรือเตรียมตัวอะไร หลายคนบอกว่าเสียดายไม่ได้เตรียมมา หลายคนบอกว่ามาก็มานั่งฟัง ๆ ดู ส่วนปัญหาเรื่องห้องประชุมอยู่กระจายห่างจากบริเวณงานนั้น แม้จะเป็นปัญหาบ้าง แต่ถ้ามีการเตรียมมาอย่างตั้งใจ เชื่อว่าน่าจะได้อะไรมากกว่านี้

พอกลางคืนมีงานเลี้ยงพาแลงที่สวนเพชรบุระ นายแพทย์ สสจ.มาเป็นประธาน เน้นการแสดงวัฒนธรรมบนเวที และนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ที่ต้องตกฐานะเป็นตัวแทน สสส. ได้แนะและชื่นชมการจัดงานไป ๓ เรื่อง คือ ๑) เพชรบุระ เมืองพืชพันธ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ๒) ศิลาจารึกพันปีหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่ระบุถึงการสร้างสุข และ ๓) กรณีนายบรรพตคนได้รับแรงบันดาลใจจนเลิกเหล้าได้ พร้อมกับบอกไปว่า สสส.เป็นองค์กรบริการสร้างสุข หากเห็นเป็นประโยชน์ก็ให้ใช้ เช่น ปีหน้าถ้ายืนยันจะจัดงานกันต่อ ๆ ไป ก็ไม่ต้องรอช้า รีบคิดเขียนและเสนอโครงการเข้าไปเลยเพื่อจัดต่อ

วันที่ ๒๗ ก.พ. ๕๒ วันสุดท้ายของงาน ช่วงเช้าแบ่งเป็น ๒ ห้องย่อยที่กำหนดว่าจะเป็นวาระสำคัญของภาคเหนือ ถือเป็นเวทีนโยบายสาธารณะที่น่าจะสำคัญกว่าวานนี้ เพราะห้องหนึ่งนั้นว่าด้วยธรรมนูญสุขภาพของคนเหนือ กับอีกห้องว่าด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกับการสร้างเสริมสุขภาพ ปรากฏว่าทั้งสองห้องไม่เป็นไปตามคาดเพราะคนเข้าร่วมน้อยมาก ๆ ห้องที่สองนั้น จวนจะสิบโมงยังมีเพียง ๑๐ คน รวมวิทยากรและคนประสานดำเนินการและบริการห้อง ในขณะที่ห้องแรกที่น่าจะสำคัญมาก ดร.สุรศักดิ์ จาก สช.มาดำเนินการเอง ก็ประมาณกัน มีคนเข้าร่วมจริง ๆ ไม่น่าจะถึง ๒๐ – ๓๐ คน นอกนั้นเป็นเด็กนักเรียนเล็ก ๆ ที่ครูพามา ไม่ว่าจะพลิกแพลงดำเนินการอย่างไร ซึ่งเห็นว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะรอบนี้ไม่น่าจะนับได้ว่าเป็นแล้ว แต่ก็นับถือคนดำเนินรายการที่รับผิดชอบดำเนินการตามกำหนดและแผนจนจบได้

สำหรับพิธีปิดตอนบ่าย เดิมในที่ประชุมเตรียมงานเคยบอกจะเป็นการประกาศนโยบายท้องถิ่นสร้างสุขของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะนำ อปท.มาร่วมประกาศ แต่พอถึงวันงานได้รับแจ้งว่าจะมีการลงนาม MOU ของ สช.กับ จ.เพชรบูรณ์เรื่องกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด นพ.บัญชาจึงได้ถามในเวทีประชุม After Action Review ของคณะทำงานว่า เรื่องเดิมยังมีไหม รวมทั้งการส่งมอบข้อเสนอจากที่ประชุมแก่ตัวแทนจังหวัดต่าง ๆ ด้วย ก็ได้รับการตอบว่ายังมีเหมือนเดิมทั้ง ๓ อย่าง โดยเรื่อง MOU ของ สช.กับเพชรบูรณ์นั้นก็ได้เตรียมการมาแล้ว งานนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขา สช.มาเอง พิธีกรรมจึงเริ่มด้วยการชมวิดีทัศน์เรื่องของ สช. แล้วเชิญ ปลัดจังหวัดขึ้นกล่าว ต่อด้วย นพ.อำพล ซึ่งก็ได้ให้เกียรติแก่ สสส.ด้วยการเอ่ยถึงและบอกว่า นพ.บัญชา พงษ์พานิช ก็มาในฐานตัวแทน กก.แผน. ของ สสส.หลังจากเห็นว่าไม่มีผู้แทนของ สสส.ในงาน กรณีเช่นนี้ สสส.ควรจะต้องใคร่ครวญให้มาก และต้องไม่มองว่า สช.มาแทรก แต่ต้องมองว่า ดีที่ สช.กรุณามาเสริมให้งานดีขึ้น ไม่เช่นนั้นงานนี้จะไม่มีอะไรเลยอย่างที่ท่านผู้ว่าบอกไว้ มิหนำซ้ำ สช.ยังไม่มาเปล่าๆ ยังเอางานเกี่ยวกับการสร้างสุขมาลงนามเป็นพันธสัญญากับเมืองเจ้าภาพเพชรบูรณ์ด้วย แม้กระบวนการลงนามจะยาวไปสักหน่อยด้วยการมีตัวแทนทางการและท้องถิ่นมาร่วมมากโดยมีข้อสังเกตว่าไม่มีภาคีภาคประชาชนและประชาสังคม องค์กรเอกชนเลย หลังจากนั้นสีสันภาคเหนือที่เด่นมาตลอดคือการวัฒนธรรมประกอบการส่งมอบธงเจ้าภาพให้เชียงรายที่มีสีสันเร้าใจ ทราบว่าจะจัดกัน พย.นี้แน่นอน ตอนท้ายเป็นพิธีปิดที่คุณสุรพงษ์กล่าวรายงานข้อเสนอจากทั้ง ๖ ห้องประเด็น ค่อนข้างยาว แล้วประธานในพิธีที่ทางคณะทำงานภาคขอพลเอกศิริ ทิวะพันธ์มาเป็นประธานกล่าวปิดและส่งมอบข้อสรุปเสนอให้กับตัวแทนแต่ละจังหวัดเป็นการจบพิธี โดยผู้ที่มาร่วมลงนามตอนต้นทยอยกลับกันก่อนเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเพราะรายการยาวเกินไป ส่วนรายการประกาศนโยบายท้องถิ่นสร้างสุขของเพชรบูรณ์นั้นหายไปไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด

แต่ถ้าพิจารณาโดยภาพรวมงานสร้างสุขอของภาคเหนือในปีนี้ ถือได้ว่ามีวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีความเด่น และเป็นเอกลักษณ์ มีความสวยงามอบอวลไปทั่วลุ่มน้ำ และในงานสร้างสุขเอง ผู้จัดงานก็ได้ทำการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแบบตั้งร้าน ให้กลายเป็นลานวัฒนธรรมที่มีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ ๔ ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากงานสร้างสุขที่ จ.แพร่ ที่สำคัญ คือ ข้อเรียนรู้จากบทเรียนการทำงานด้านสร้างสุขภาวะ ในพื้นที่ภาคเหนือ ๖๐ กรณี จากทุกจังหวัดในภาคเหนือ มีการสรุปบทเรียนการศึกษาออกมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งโดยละเอียดและย่อ ทำให้ภาคเหนือปีนี้ งดงามในเรื่องเอกสารวิชาการ

ตลอด ๓ วันของการจัดงานมีประชาชนกว่า ๘๐๐ คน ตบเท้าเข้ามาชมงานกันอย่างคับคั่ง ทำให้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างครึกครื้น พร้อมกับโชว์สุดอลังการจากเจ้าภาพ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจในความอ่อนช้อย งดงามของศิลปะภาคเหนือได้เป็นอย่างดี

และแล้ว... งานสร้างสุขภาคเหนือก็จบลงอย่างสวยงาม ด้วยการมอบธงต่อจากเพชรบูรณ์ เมืองมะขามหวาน สู่ดินแดนเชียงราย เมืองเหนือสุดยอดแดนสยาม ที่เตรียมชักธงรบ พร้อมรับหน้าที่เจ้าภาพงานสร้างสุขปีต่อไป... แล้วพบกับงานสร้างสุขภาคเหนืออีกครั้งที่ จ.เชียงราย ปีหน้า

สรุปข้อสังเกตในงานสร้างสุขภาคเหนือ
๑. มีพัฒนาการด้านงานวิชาการอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งภาคี กระบวน และเนื้อหาสาระ
๒. การประสาน เตรียมการของภาคีภาคและกระบวนการเชิงประเด็นอาจมีอุปสรรคในการดำเนินการจนส่งผลให้เวทีประเด็น การเข้าร่วม และ ฯลฯ ไม่บรรลุตามที่ตั้งใจไว้
๓. จังหวัดเจ้าภาพมีการประสานเตรียมการเต็มกำลัง การเสริมจากภาคีทั้งในระดับภาคและเพื่อนพ้อง ตลอดจน สสส.เอง ควรได้มีการพิจารณาอย่างยิ่ง
๔. ตอนเย็นมีการทำ After Action Review เป็นกิจจะลักษณะดี ในหอประชุมมีการฉายหนังสั้นของชมรมหนังสั้นเมืองเพชรบูรณ์ มีสีสันคนสนใจมาดูกันมาก แต่เนื้อหายังจับประเด็นไม่ได้ว่าบอกชี้เรื่องสร้างสุขอย่างไร
๕. นิทรรศการที่นำมาจัดค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นกรณีศีกษาของเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุข มีปัญหามากเรื่องอากาศร้อน สถานที่จัดงานไม่ใช่ทางผ่านสัญจรของคนเพชรบูรณ์ แถมยังมีการปิดถนนไม่ให้รถผ่านด้วย จึงเงียบมาก มีแต่คนกันเองเดินเที่ยวไปมา พอเย็นก็เก็บเลิก วันรุ่งขึ้นไม่ทันเที่ยงก็เก็บเกลี้ยงหมดแล้ว รู้สึกว่าสีสันจะด้อยกว่า ๒ ปีก่อนที่พิษณุโลกและแพร่ ที่เตะตามาก ๆ ก็ของบ้านนาป่า ของเครือข่ายเชียงราย และของนายบรรพต คนปั้นดินน้ำมันที่มีแรงบันดาลใจน่าสนใจจนเลิกเหล้ามาทำดีได้

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ธรรมะภาคีหรือผู้มีส่วนร่วมในธรรม

ธรรมะภาคี

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

ธรรมะภาคี คืออะไร ?

ธรรมะภาคี : ผู้มีส่วนในธรรม หรือ ผู้มีส่วนร่วมในงานธรรมะ คือคำที่เลือกนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายระบบงานอาสาสมัครของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่มุ่งหมายการส่งเสริมธรรมะ การปฏิบัติธรรม การได้รับผลเข้าถึงธรรมพร้อมกับการสนับสนุนงานหอฯ ที่มีเป็นจำนวนมาก มีแต่คนใจอาสา-สมัครเท่านั้นที่จะช่วยกันทำได้ไหว

ทำไม ต้องเป็นธรรมะภาคี : ผู้มีส่วนในธรรม

ท่านอาจารย์พุทธทาสเสนอหลักคิดว่าด้วย ธรรมะ ๔ ความหมาย ไว้ว่าหมายถึงตัวธรรมชาติ(๑) ที่เป็นไปตามธรรมอย่างจริงแท้แน่นอนไม่ผิดเพี้ยนแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ(๒) ที่เป็นตัวกำหนดแห่งธรรมชาติทั้งหลาย ซึ่งมีแต่การกระทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ(๓)เท่านั้นจึงจะได้รับผลจากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ(๔) ที่สำเร็จสมบูรณ์บรรลุซึ่งเป้าหมายโดยธรรม ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ใด ๆ ตั้งแต่การกิน อยู่ หลับ นอน ประกอบสัมมาอาชีพเลื่อนระดับชีวิตให้สูงขึ้นเพื่อการรับผลแห่งความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นตามลำดับโดยมีธรรมอยู่กับเนื้อกับตัว หากไม่เป็นไปโดยธรรมในขั้นตอนใดก็ยากที่จะบรรลุถึงซึ่งผลสำเร็จแห่งความสุขสงบและสันติได้

ธรรมะภาคี แห่งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จึงเป็นการเชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันปฏิบัติธรรมผ่านงานธรรมะตามนัยยะความหมายทั้ง ๔ เพื่อการเจริญเติบโตและมีส่วนในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยกัน ในลักษณะ คนได้ธรรม-ธรรมได้คน หรือ คนมีธรรม-ธรรมมีคน กับนานางานธรรมไม่ว่าจะเป็นงานอนุรักษ์และฐานข้อมูล งานบริการ ค้นคว้าและเผยแผ่ งานวิจัยและพัฒนา งานกิจกรรมสนับสนุน และงานบริหารจัดการ ทั้งนี้นอกจากการได้เรียนรู้และปฏิบัติท่ามกลางงานธรรมแล้ว หอฯ จะจัดให้มีกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทางธรรมเป็นการเฉพาะกับธรรมะภาคีเป็นระยะ ๆ ทั้งที่หอจดหมายเหตุและที่สวนโมกขพลาราม

ทำไม ต้องทำงานธรรมะ

ธรรมบรรยายของท่านอาจารย์พุทธทาสเกี่ยวกับงานธรรมมีมากมาย เช่น

· ธรรมะคือหน้าที่ ...หน้าที่คือธรรม ถ้ารู้จักธรรมะถูกต้อง จะรู้จักชีวิตถูกต้อง ว่าคืออะไร มาจากอะไร เพื่อประโยชน์อะไร โดยวิธีใด...ธรรมะเป็นเครื่องแสดงความเป็นมนุษย์ แสดงความสามารถของมนุษย์ เป็นเครื่องชำระความเป็นมนุษย์ของเราให้สะอาด โดย : หากเป็นงานที่จัดไว้ดี ที่จัดไว้ถูกต้อง ย่อมไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

· การปฏิบัติงานคือการปฏิบัติธรรม; ...เราทำงานในความมุ่งหมาย ที่ทำให้โลกนี้งดงาม งานเป็นเครื่องมือให้จิตใจเป็นสุข สงบเย็น...ถ้ามีจิตใจประกอบอยู่ด้วยธรรม; ทำงานที่บ้านก็เป็นสุข ทำงานที่ออฟฟิศก็เป็นสุข เวลาพักผ่อนก็เป็นสุข เวลาทำการงานก็เป็นสุข...

ซึ่งทุกท่านสามารถจัดการให้การปฏิบัติงานและการทำหน้าที่ของท่านให้เป็นการปฏิบัติธรรมได้ไม่ยาก รวมทั้งการมาอาสาสมัครกับงานธรรมะที่หอจดหมายเหตุ ฯ ซึ่งเปิดกว้างไว้อย่างหลากหลาย

ธรรมะภาคีมีรูปแบบ อย่างไร ?

เพื่อให้เอื้อต่อการเป็นธรรมภาคีได้ตามอัธยาศัยสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมทุกในวันนี้ หอจดหมายเหตุฯ ได้ออกแบบงานอาสาสมัครไว้ในหลายลักษณะสามารถเลือกใน ๔ x ๓ ลักษณะ เอื้อต่อการเข้าร่วมเรียนรู้และปฏิบัติธรรมที่อาจเข้าร่วมได้ทั้งที่เป็นรายบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร บริษัท ห้างร้าน สถาบันและหน่วยงาน ดังนี้

ความผูกพันต่อเนื่องในงาน

(๑) ผูกพันเป็นประจำ

เป็นหลักแบบเกาะติด

(๒) กึ่งผูกพัน เป็นงาน ๆ

หรือบางช่วงจังหวะเวลา

(๓) ไม่ผูกพัน ทำเป็นครั้งคราว

เสร็จแล้วเสร็จเลย

สถานที่ปฏิบัติ

(1) ที่สำนักงานหอ ฯ

(2) ที่หน้างานที่กำหนด

(3) ที่บ้าน สถาบัน หน่วยงาน ฯ

การบริหารจัดการงาน

(ก) จัดการโดยหอ ฯ

(ข) ร่วมกันจัดการ

(ค) ภาคีรับไปจัดการเอง

การดูแลและสนับสนุน

(A) อาสาสมัครดูแลตัวเองได้

และอาจเสริมสมทบ

(B) ร่วมกันมีส่วนดูแลตามสมควร

(C) หอ ฯ ให้การสนับสนุน

ดูแลเป็นหลัก


ธรรมะภาคีที่มีอยู่แล้วของหอฯ เช่น

งาน

รายชื่อธรรมะภาคี

(บุคคล/คณะบุคคล/บริษัท)

ลักษณะงาน

รายละเอียดงาน

ผู้ดูแลงาน/เบอร์ติดต่อ

งานจดหมายเหตุ

พญ.กรรณิการ์ ตันประเสริฐ

คุณสวนีย์ วิเศษสินธุ์

คุณปราณี ธรรมโสภิณฑ์กุล

คุณวิลาวัลย์ สุนันทวดี

2A

2A

2/3B

2/3B

จัดทำหมวดหมู่เอกสาร ลงรายการ

คุณสวนีย์ วิเศษสินธุ์

งานสำรวจ ออกแบบอาคาร
และโครงสร้าง

บจก. สำนักงานสถาปนิก อาศรมศิลป์

บจก. แปลน อาคิเต็ค

บจก. แปลน แอสโซซิเอทส์

บจก. แปลน สตูดิโอ

บจก. เอส เอส เค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์

บจก. อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส

3A

ออกแบบอาคารและโครงสร้าง และควบคุมการก่อสร้าง

คุณปรีชา รุ่งรุจิไพศาล

งานออกแบบตกแต่งภายใน

บจก. ออกัสต์ ดีไซน์ คอนซัลแทนต์

3A

ออกแบบตกแต่งภายใน

คุณพงษ์เทพ สกุลคู

งานออกแบบนิทรรศการการเรียนรู้

นายภูธร ภูมะธน

นายปรมินทร์ เครือทอง

บจก. แปลน โมทิฟ

3A

ออกแบบนิทรรศการ “นิพพานชิมลอง”

งานบริหารโครงการก่อสร้าง

บจก.แปลน คอนซัลแตนท์

2/3A

บริหาร ควบคุม ดูแลการก่อสร้าง

คุณสุพล เพ็ชรเพ็ง

ระบบฐานข้อมูลดิจิตัล

ศูนย์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NECTEC)

3A

ออกแบบและวางระบบฐานข้อมูลดิจิตัล

คุณราชบดินทร์

ระบบงานการเงินและบัญชี

บจก. สำนักงาน เอินส์ท แอนด์ ยัง

สำนักงานสอบบัญชี สุนันท์ธนะวัฒน์

คุณพิลาสินี ปรมาภูติ

3A

ออกแบบ วางระบบการเงินและบัญชี

วางระบบและตรวจสอบ

ลงบัญชี

คุณจรรยา ธนบุญสมบัติ

งานตรวจสอบภายใน

บจก.เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี

3A

ตรวจสอบบัญชีและการดำเนินงานของมูลนิธิ

คุณสมบูรณ์ ศุภศิริภิญโญ

งานกฎหมาย

บจก. เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่

3A

ให้คำปรึกษา ชี้แนะ ด้านกฎหมาย

ร.ท.ยุทธนา ศิวะรักษ์

งานบริหารจัดการ ประสานงานต่างๆ

บล. ภัทร จำกัด (มหาชน)

3A

เอื้อเฟื้อ ประสาน และอำนวยความสะดวก ในการติดต่อประสานงาน

คุณปกรณ์ เกษมธนกุล

กิจกรรมเผยแผ่

ค้นหาข่าวจากโปรแกรม Newcenter

ทางอินเตอร์เน็ต

คุณกนกจันทร์ (เอ)

3A

รับหน้าที่ค้นหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิหอจดหมายเหตุทาง Ineternet จากโปรแกรม Newcenter (.ธรรมศาสตร์) จัดเก็บเป็นไฟล์ Word โดยรวบรวมข่าวในแต่ละเดือนส่งเมล์มายังมูลนิธิฯ เพื่อทำการเก็บรวบรวมข่าว

ธีรเดช 080-925-9935

ออกแบบการ์ดอวยพรปีใหม่

คุณขัณฑชัย ชัยตระกูลพิบูลย์

3A

ออกแบบการ์ดอวยพรปีใหม่ ตามข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯกำหนดคร่าวๆ เช่น ข้อความ รายละเอียดของข้อความ ส่วนรูปแบบให้ทางอาสาฯนำเสนอได้โดยอิสระ

ธีรเดช 080-925-9935

ธรรมะใกล้มือ

บริษัท AIS และบริษัท playwork

3A

ให้บริการส่ง sound clip , บริการส่ง sms ธรรมะให้กับหอจดหมายเหตุฯ

ธรรมะใกล้มือ

สุภมาส ปันทรนนทะกะ

อ.ประโมทย์ เกตุบุญเลี้ยง

3B

3B

๑. ฟังและกลั่นกรองเนื้อหาของเรื่องเพื่อให้ได้สาระของเรื่องที่เราต้องการเช่น เรื่องความรัก ก็ดูว่าช่วงเวลาไหนที่ได้สาระของเรื่อง แล้วตัดเอามาแยกไว้ในโฟลเดอร์

๒. ตั้งชื่อเรื่องนั้นๆ พร้อมกับจดเวลาของไฟล์เสียงนั้นด้วยว่าได้ตัดคลิปตั้งแต่นาทีที่เท่าไร เช่น 12.30-14.39

๓. ทำสาระสับเขปเพื่อจะใช้ในการส่ง sms

๔. นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดกรอกใส่แบบฟอร์มexcel

๕. upload ข้อมูลทั้งหมดไปไว้ใน server ของdhamma4u(ตามที่ได้ส่งวิธีuploadไปให้)

ธรรมะบันเทิง

ในสวนรถไฟ

ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน

เวลา ๗.๐๐ น. เป็นต้นไป

อ.ประโมทย์ เกตุบุญเลี้ยง

คุณอิศรา

2B

๑. ทำตักบาตรและฟังธรรมะบรรยาย

๒. เสวนาธรรม

๓. กิจรรมสุนทรียธรรม

๔. สื่อธรรมะ เช่น หนังสือ ธรรมะทำมือ กิจกรรมเรียนรู้แลกเปลี่ยนธรรมะ

ธรรมะบันเทิง

ในงานสร้างสุขภาวะทางปัญญาของคนใต้ที่ราชภัฎร์ราษฎร์ฯ

วันที่ ๑ - ๓ เมษายน ๕๒

มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส

สวนโมกข์และมูลนิธิธรรมทาน

เครือข่ายสร้างสุขเมืองนคร

ยุวชนสุราษฏร์ฯและชาวสุราษฎร์ฯ

2B

๑. จัดนิทัศการนำเสนอการจัดสร้างหอฯ

๒. โรงหนังจำลองนำเสนอภาพปริศนาธรรม

๓. เปิดรับสมัครธรรมะภาคี

๔. ร้องเพลงธรรมะและไขข้อธรรม

ไพโรจน์ 0849693620

ออกแบบหน้าเว็บไซต์

คณะทำงานธนาคารกรุงไทย

3A

ออกแบบระบบหน้าเว็บและดีไซน์หน้าเว็บไซต์ www.bia.or.th

กรุณพล 0815615863

ตัดต่อวีดีโองานเผาศพท่านพุทธทาส

บริษัทด้านการตัดต่อวีดีโอ

คุณอมร ......

3A

จัดทำวีดีโองานเผาศพในรูปแบบ DVD รวมถึงงานตัดต่อ กึ่งแนว สารคดี

กรุณพล 0815615863


งานธรรมในระยะนี้ที่หอจดหมายเหตุฯ ต้องการธรรมะภาคี ( มกราคม ธันวาคม ๒๕๕๒)

งานอนุรักษ์ และข้อมูลพื้นฐาน : งานทำทะเบียน และข้อมูล

เผยแผ่ : จัดทำหนังสือธรรมะภาษาไทยและภาษาต่างประทศ, หนังสือธรรมะเล่มน้อย, โครงการธรรมใกล้มือ

สนับสนุน ประกอบด้วย งานฐานข้อมูล IT : พัฒนา Website โดยใช้ภาษา PHP , ดูแล Update ข้อมูลบน Website , งานจัดระบบเอกสาร, ป้อนข้อมูลเข้าฐานข้อมูล, Scan เอกสาร, ถอดเทปธรรมะ, ปรับคุณภาพเสียง, ตัดต่อ Clip เสียง, ถ่ายภาพ, ถ่าย VDO , ตัดต่อ VDO , Graphic Design : โครงการเที่ยวสวนโมกข์ให้ถึงธรรม, งานด้านการออกแบบเว็บไซต์และมัลติมีเดีย, งานด้านการออกแบบสิ่งพิมพ์ต่างๆ

งานประชาสัมพันธ์ : งานฐานข้อมูลสื่อมวลชน, งานด้านการข่าวสารของหอจดหมายเหตุฯ

กิจกรรม : โครงการธรรมะบันเทิง, โครงการวิ่งการกุศลร่วมสร้างหอจดหมายเหตุ, โครงการปฏิบัติธรรมอานาปานสติ, โครงการคอนเสริต์จีวินและภัทราวดี, งานวันล้ออายุท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์, งานปาฐกถาประจำปีของหอจดหมายเหตุฯ, งานวันเปิดหอจดหมายเหตุฯ อย่างเป็นทางการ

งานบริการ ตามโอกาสที่มีงานหรือในการจัดกิจกรรมต่างๆ

กระบวนการการมีส่วนร่วมในงานธรรมะภาคี

๑. เสาะและสรรหา แบบเจาะจงตามคุณลักษณะและคุณสมบัติ, แบบเชิญชวนเป็นบุคคล เป็นกลุ่ม เป็นองค์กร และเป็นเครือข่าย โดยวิธีการสมัครผ่านใบสมัครและแบบสอบ สมัครผ่านระบบ Website ผ่านคนแนะนำ หรือได้รับการติดต่อโดยวิธีการอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อข้อมูลการติดต่อเข้ามาที่หอจดหมายเหตุฯ ผู้ประสานงานอาสาสมัครจะประสานชี้แจง แนะนำรายละเอียด พร้อมพูดคุยเพื่อทำความรู้จัก จากนั้นร่วมกันเลือกลองทำงานตามกลุ่มงานที่หอจดหมายเหตุได้ออกแบบไว้

๒. เลือกลองและส่งเสริม

เมื่อกลั่นกรองงานได้เหมาะสมแล้ว ก็เลือกทดลองทำ โดยแต่ละงานจะมีทีมงานและพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน อำนวยการ แนะนำให้ผู้เข้ามาใหม่ได้รู้จักวิธีการทำงานในรูปแบบต่างๆ ให้รู้จักทีมงาน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนธรรมะระหว่างกัน ตลอดจนการดูแลตามความเหมาะสม

๓. สนับสนุน

เป็นการสนับสนุนในงานนั้น ๆ และการเข้าถึงธรรมะร่วมกัน โดยมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องธรรมะร่วมกัน ตลอดจนการพัฒนาระบบงานอาสาสมัครร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อคนทำงาน ต่อระบบงาน ต่อการสร้างสังคมที่สงบเย็นเป็นประโยชน์

for ever

for ever